นิมิตอนุพยัญชนะ

 
papon
วันที่  14 ก.ค. 2556
หมายเลข  23180
อ่าน  3,979

นิมิตอนุพยัญชนะหมายความว่าอย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่านิมิตนิมิตฺต (การกำหนด เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นโต๊ะเก้าอี้ ได้ยินเสียงผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสเป็ดไก่ ถูกต้องสัมผัสสำลี คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยอกุศลจิต เป็นการยึดนิมิต แต่ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐาน ความหมายต่างๆ ด้วยกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการยึดนิมิต แต่เป็นบัญญัติอารมณ์ของกุศลจิตเท่านั้นครับ

ส่วนคำว่า อนุพยัญชนะ มาจากคำว่า อนุ (น้อย ภายหลัง ตาม) + พฺยญฺชน (แจ้ง ปรากฏ) แปลได้ว่า ส่วนละเอียดที่ทำให้กิเลสปรากฏ หมายถึง ส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน หรือความหมาย ที่จิตคิดถึงจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ปาก คอ คิ้ว คาง ริ้วรอยของใบหน้า ที่เป็นส่วนละเอียดของร่างกาย หรือส่วนปลีกย่อยของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้นในขณะนั้นเป็นการยึดอนุพยัญชนะแต่ในขณะที่พิจารณาส่วนละเอียดด้วยกุศลจิต ไม่เป็นการยึดอนุพยัญชนะ ยกตัวอย่างเช่น พิจารณาความเหี่ยวย่นของผิวพรรณ และรู้ถึงความไม่เที่ยงของร่างกายซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นต้น

ดังนั้นขณะใดที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ รวมทั้งเห็นส่วนละเอียด เช่น มือและเท้า เป็นต้น แล้วเกิดอกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ยึดถือในนิมต อนุพยัญชนะครับ แต่ขณะใดที่เห็นเป็นสิ่งต่าง เป็นสัตว์ บุคคล หรือเห็นส่วนละเอียด แต่ไม่ติดข้องไม่เป็นอกุศลแต่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ถึงแม้ว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะในขณะนั้น แต่ ก็ไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นการไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะที่ประเสริฐจริงๆ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ไม่ยึดถือด้วยปัญญาไม่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีรูปร่างสัณฐานส่วนละเอียด ส่วนหยาบ เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ครับ

ขอเชิญอ่านคำบรรยายของท่าน อ.สุจินต์ เรื่อง นิมิต อนุพยัญชนะ ดังนี้

"ขณะใดที่เห็นแล้ว สนใจ เพลินในนิมิต คือ รูปร่างสัณฐาน และอนุพยัญชนะ คือ ส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะสีปรากฏ จึงทำให้คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐาน และส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกรู้และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณา ก็จะเริ่มรู้ว่านิมิตและอนุพยัญชนะทั้งหลาย ซึ่งเป็นสีต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือปัญญาที่เริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อสติเกิดระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจอรรถที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ (ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) และเริ่มละคลายอัตตสัญญา ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น"

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

นิมิตและอนุพยัญชนะ [อรรถกถาอาทิตตปริยายสูตร]

นิมิตและอนุพยัญชนะ

เป็นชื่อและรูปร่างสันฐาน [นิมิต อนุพยัญชนะ]

เห็นแล้วเป็นนิมิต อนุพยัญชนะ...อโคจร

นิมิต อนุพยัญชนะ

ข้อความเตือนให้ทราบความจริงซึ่งต่างจากนิมิตและบัญญัติ [สุภากัมมารธิดาเถรีคาถา]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 15 ก.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูก ไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น เป็นธรรมที่มีจริง ไม่่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ คือ จิต เจตสิก และ รูป อันเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดขึ้นได้ เพราะธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร ทั้งสิ้น ในภพนี้ชาตินี้ ตราบใดที่จุติจิตยังไม่เกิดขึ้น ก็ต้องเป็นไป คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง คิดนึก เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ซึ่งสลับกับภวังคจิต

ในประเด็นเรื่องการเห็น ควรที่จะได้พิจารณา เห็น เป็นนามธรรม เป็นจิต คือ จักขุ-วิญญาณ ซึ่งเป็นผลของกรรม ถ้าได้เห็นสิ่งที่ดี น่าปรารถนาน่าใคร่น่าพอใจ เป็นผลของกุศลกรรม แต่ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ส่วน สิ่งที่เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ คือ สี หรือ สิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นธรรมที่มีจริง เป็นรูปธรรมประเภทหนึ่งหนึ่ง เป็นธรรมที่สามารถเห็นได้ทางตา เท่านั้น ไม่ปรากฏทางหู ทางจมูก เป็นต้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นอะไร สิ่งที่ถูกเห็นก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แต่เมื่อเห็นแล้วก็มีการคิดนึกต่อ เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ เป็นเหตุให้อกุศลจิตเกิด เป็นเหตุให้ติดข้องยินดีพอใจ หรือ ไม่พอใจ ซึ่งเป็นยึดถือในนิมิตและอนุพยัญชนะ ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่จิตเป็นกุศล แม้จะเห็นเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ ก็ตาม ไม่เป็นการยึดถือในนิมิตและอนุพยัญชนะ เพราะการยึดถือนิมิตและอนุพยัญชนะ ต้องเฉพาะในขณะที่จิตเป็นอกุศล เท่านั้น ถ้าจะพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว นิมิตและอนุพยัญชนะจะมาจากไหน ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ครับ

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขณะใดที่ "เห็น" แล้วสนใจเพลินใน "นิมิต" คือ รูปร่าง สัณฐาน และ "อนุพยัญชนะ" คือ ส่วนละเอียด ของสิ่งที่ปรากฏให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะ"สี"ปรากฏจึงเป็น "เหตุปัจัย" ทำให้กิด "คิดนึก" เป็น รูปร่าง สัณฐาน และ ส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่ "สติ" เกิด ระลึกรู้และ "ปัญญา" เริ่มศึกษา พิจารณาก็จะเริ่มรู้ว่านิมิต และอนุพยัญชนะ ทั้งหลายซึ่งเป็น "สี" ต่างๆ ก็เป็นเพียง "สิ่งที่ปรากฏทางตา" เท่านั้น นี้คือ "ปัญญา" ที่เริ่มเข้าถึง "ลักษณะของสภาพธรรม" ที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลเมื่อ "สติ" เกิดระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจ "อรรถ" ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "ไม่ติด ในนิมิต อนุพยัญชนะ" (ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความจริง) และเริ่ม ละคลาย "อัตตสัญญา" ในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูกทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามระดบขั้น ของ "ปัญญา" ที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการอบรม.

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 15 ก.ค. 2556

นิมิต หมายถึง รูปร่างสันฐาน อนุพยัญชนะ คือ ส่วนละเอียดปลีกย่อย เช่น ขนตา

คื้ว เล็บ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
gboy
วันที่ 15 ก.ค. 2556

ผมอ่านจากกระทู้เดิมประกอบ เหมือนจะสรุปว่า มีทั้งนิมิตของปรมัตธรรมที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา และนิมิตของคน สัตว์ บุคคล เช่นเดียวกันกับบัญญัติที่มีทั้งชื่อของปรมัตธรรมและที่ไม่ใช่ปรมัตธรรมเช่นกัน ไม่ทราบว่าถูกต้องหรือไม่

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 15 ก.ค. 2556

ถูกต้อง ครับ แล้วแต่ว่า จะใช้คำว่า นิมิต โดยนัยไหน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
natural
วันที่ 15 ก.ค. 2556

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
gboy
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
gboy
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขอเรียนถามเพิ่มเติมครับว่า เกสา โลมา นขา ทันตาฯลฯ นี่จัดเป็นปรมัตธรรมหรือไม่ครับ

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 16 ก.ค. 2556

เรียนความเห็นที่ 9 ครับ

เป็นธรรมที่เป็นบัญญัติธรรม ที่ตั้งชื่อสมมติขึ้น จาก การประชุมรวมกันของรูปธรรม ที่ธรรมที่เป็นรูปธรรม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
gboy
วันที่ 16 ก.ค. 2556

ขอบคุณครับ แสดงว่ามหาภูตรูปมีเพียง ๔ เท่านั้น ส่วนเกสา โลมา นขา ทันตาฯลฯเป็นธรรมที่เป็นบัญญัติธรรม

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
papon
วันที่ 19 ก.ค. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 16 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
ก.ไก่
วันที่ 8 มิ.ย. 2564

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ