มีเรื่องอะไรที่ควร หรือว่าไม่ควรอธิษฐานไหมครับ

 
tanaprasith
วันที่  25 ก.ย. 2556
หมายเลข  23686
อ่าน  3,373

สงสัยครับว่า

ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นท่านเคยสอน/ชี้แนะ หรือว่ายกตัวอย่างบ้างไหมว่า มีเรื่องอะไรในชีวิตไม่ว่าทั้งทางโลก ทางธรรมที่สมควร/ไม่สมควรอธิษฐานบ้างไหม ครับ? แล้วเราควรใฝ่ใจ ใส่ใจให้น้ำหนักกับการอธิษฐานมากแค่ไหน ขอขยายรายละเอียดตามข้างล่างนะครับ


ยกตัวอย่าง อย่างเรื่องคู่ครอง เรื่องนี้สมควรอธิษฐานไหมครับ เช่น ในชีวิตปัจจุบันคนที่ยังไม่มีคู่ อยากได้คู่ หรือว่าปรารถนาจะมีคู่ หลายๆ คนก็ อธิษฐานขอให้ได้เจอคู่ที่ดี บางคนก็อาจจะลงรายละเอียดคุณลักษณะของคู่ในการ อธิษฐานว่าอยากได้อะไรแบบไหนก็ว่ากันไป

หรือบางคนที่ครองคู่บุญ คู่ธรรม คู่กุศลอยู่แล้วเกิดพึงพอใจในคู่ของตนก็อาจคิดนึก อยากอธิษฐานให้มาได้เจอกันอีก เกื้อกูลกันอีกในฐานะคู่ครองในภพถัดไป/บ้างก็ ขอให้ได้พบเจอ ได้เกื้อกูลกันในฐานะอื่นๆ ก็ได้หากได้เจอกันอีกในสังสารวัฏฏ์ บางคนก็มองว่า อธิษฐานก็ดี เพราะว่าสังสารวัฏฏ์ยาวนานและไกล หากพบเจอกันอีก ก็เป็นกำลังใจให้แก่กันได้ สนับสนุน เกื้อกูลกัน เพราะว่ามีจุดประสงค์ ความปรารถนา ที่ดีงามร่วมกัน

บางคนก็มองว่า การอธิษฐานเท่ากับเป็นการจองภพ จองชาติ รอการกลับมาเกิด ไม่ ควรทำหากปรารถนาไปให้ถึงที่สุดทางพระนิพพาน บางคนก็สนับสนุนไม่ควรอธิษฐาน ด้วยเหตุที่ว่า เกิดเหตุปัจจัยไม่พร้อม ไม่ได้มาครองคู่เพราะว่าแต่ละคนอยู่กันคนละภพ ตามแรงกรรม อีกฝ่ายอาจต้องรอเก้อ อะไรเป็นต้นอย่างนี้

เรื่องนี้พระพุทธองค์ได้มีตรัสสอนแนะนำไว้ชัดบ้างไหมครับ? (นอกจากที่บางท่านเคย ทราบว่ามีศีล ปัญญา ศรัทธา จาคะ เสมอกันในกาลก่อนแล้วอธิษฐานร่วมกัน) หรือว่าการอธิษฐานเรื่องคู่ครองนี้ (ทั้งที่หวังมาเจอกันอีก "และ" หวังไปให้ถึง นิพพาน) แล้วแต่จริต นิสัย ความปรารถนาของแต่ละบุคคล ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวว่า อะไรผิด ถูก ควรไม่ควรทำ?


ผมสงสัยไปต่อถึงขนาดว่า ควรอธิษฐานเพื่อให้เราได้มาเกิดในยุคพระศรีอริยเมตไตร เหมือนที่บางคนทำอยู่/หรืออธิษฐานว่าขอให้เกิดยุค สมัยใดๆ ก็ได้ตามเหตุ ตาม ปัจจัยที่ได้สั่งสมที่จะมีโอกาสได้พบกับพระพุทธศาสนาจนถึงเข้าสู่นิพพาน? หรือว่าเราควรอธิษฐานไหมว่า ขอให้ได้เกิดในครอบครัวสังคม บ้านเมือง ที่ดีงาม มีผู้ ปกครองบ้านเมืองที่ดี ได้เจอครูบาอาจารย์ที่สอนถูกต้อง ตรงทาง ตรงจริต เหมาะสม กับภูมิธรรม เหมาะสมกับวาสนาบารมีของเรา?

หรือว่า ทุกอย่างนั้นไหลไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามกาล ตามธรรมที่เหมาะสมของมัน สาระสำคัญจริงๆ ควรน่าจะอยู่ที่มีสติ หมั่นเรียนรู้ ศึกษาพระธรรม อบรมตรงนี้ไปอย่าง ที่ท่านๆ เคยแนะนำในกระทู้ผ่านๆ มาที่ผมถาม แล้วเน้นไปที่การทำหน้าที่ไปตามนั้น (หน้าที่่ทางโลก ทางธรรม) ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว?

ปล.จากประสบการณ์ในชีวิต/รวมถึงรู้และทราบจากคนอื่นๆ ในชีวิต หลายๆ คนอธิษฐาน ขอเรื่องทางโลกเช่น ให้ได้งานทำ ขอให้สอบสัมภาษณ์ผ่าน ขอให้ได้งานเฉพาะ เจาะจงที่องค์กรนี้/หรือว่าตำแหน่งที่ต้องการนี้ ขอความรวย และขอสารพัดที่จะขอ อย่างวิจิตรพิสดารตามประสาปุถุชน เท่าที่ผมสังเกตหรือว่ารู้สึกคือ ไม่ใช่ว่าเราจะได้ ตามที่เราขอ เราอยากได้เสียเมื่อไหร่

(ซึ่งอาจจะขัดกับหนังสือ how to ที่มีกลุ่มผู้อ่านชาวโลกที่มักต้องการตอบสนองความ ต้องการ ความปรารถนา ความสำเร็จทางโลกเช่น ทรัพย์สิน เงินทอง บริวาร ครอบครัว วัตถุ สุขภาพ ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ทำตามกฏ law of attaction กฏแห่งแรงดึงดูด ที่ให้เราคิด สร้าง ตามความต้องการของเรา ที่สอนผู้อ่านให้มักขอ อธิษฐาน เน้นให้จินตนาการ ลงไปในระดับรายละเอียด สเปคที่ต้องการกันจริงๆ เผลอๆ ไปสร้างความคิด ไปจินตนาการอย่างเข้มข้นในเรื่องเงื่อนไขเวลาที่จะต้องให้ ได้มากภายในเมื่อไหร่ก็ว่ากันไป)


ผมเลยไม่แน่ใจครับว่ามันมีอะไรที่ควร/ไม่ควรขอ ถ้าหากเรามีความตั้งใจที่จะเชื่อฟังคำสอนของพระศาสนาแล้วยึดเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง พิง มากกว่าให้ความสำคัญกับความคิด ความเห็นของนักเขียน นักคิด นักปราชญ์แบบ โลกๆ ที่ยังไม่แน่ใจว่าช่วยให้ตัวเองพ้นทุกข์อย่างถาวรแล้วหรือยังถึงมาแนะนำชี้แนะผู้ อื่นเราควรตั้งและวางมุมมองที่เหมาะสม สอดคล้องกับธรรมชาติ ธรรมะอย่างที่พระ ศาสดาชี้แนะไว้ในเรื่อง (การคาดหวัง เป้าหมาย การอธิษฐาน ผลลัพธ์ เงื่อนไขด้าน เวลา) นี้อย่างไรครับ?


ผมอยากขอบคุณ 2 ท่านที่่เข้ามาตอบข้อสงสัยของผมในกระทู้ที่ผ่านๆ มา มันทำให้ผมตระหนักครับว่า ในสมัยปัจจุบันที่เรารับรู้ ความรู้ หลักการ คำสอน ข้อ คิดเห็น มุมมอง การอ้างอิง อะไรมากมายหลากหลายสารพัดที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นั้น หากเราปรารถนาจะเดินไปบนเส้นทางของอริยมรรคในระยะยาวทั้งในชาตินี้ และกาลข้างหน้าแล้วนั้น "สัมมาทิฏฐิ" มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเป็นอันมาก

ผมรู้สึกว่าตัวเองพอมีโชคบ้าง ที่สงสัยในอะไรหลายๆ อย่าง แล้วใจไม่ค่อยยอมรับไม่ ค่อยเชื่อ ซึ่งผมว่าทั้ง 2 ท่านที่มาตอบคำถามผม ท่านคงทราบว่า มีอะไรหลายๆ อย่าง ในสังคมเมืองพุทธเถรวาทบ้านเราที่พูดๆ สอนๆ ปลูกฝัง ถ่ายทอด แชร์ พูดกันมาปาก ต่อปาก อาจไม่ตรงกับคำสอนของพระศาสดาเสียทีเดียว นำไปสู่การรับรู้ ความเข้า ใจ ความคาดหวังอย่างนึงที่อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีกับผู้ฟัง ผู้รับสาร หากสิ่งที่รู้มานั้น คาดเคลื่อนจากธรรมที่พระศาสดาสอนไว้ การได้เข้ามารู้จักเวบนี้ แล้วตั้งคำถามหลายๆ อย่างที่ตนสงสัยให้ความกระจ่าง อย่างไม่ค้างคา หรือว่า นึกคัดค้านไม่ยอมรับในใจ ขอบคุณมากจริงๆ กับการให้มุมมองที่ถูก ที่ควรในการดำเนินชีวิตบนเส้นทางสายนี้ ให้ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเหมาะสม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็เข้าใจ คำว่า อธิษฐานในพระพุทธศาสนาให้ถูกต้องก่อนครับ

ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ตรง เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำว่า อธิษฐานในภาษาไทยที่เข้าใจกันนั้น หมายถึง การขอ แต่ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว หมายถึง ความตั้งใจมั่น ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่น ไม่หวั่นไหว ในการที่จะ

สะสมคุณความดีประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของกุศลธรรมด้วยปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นจากการฟัง การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของกุศลทั้งหมด และเป็นไปในการสละกิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นอกุศลทั้งนั้น ถูกอกุศลกลุ้มรุมจิตใจอยู่เกือบจะตลอดเวลา เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความตั้งใจมั่น ก็เป็นผู้ที่รู้ตัวว่ามีกิเลสมาก มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องอาศัยความตั้งใจมั่นจริงๆ ในการเจริญกุศลประการต่างๆ เพื่อขัดเกลากิเลส มิฉะนั้นแล้วก็พลาดให้กับอกุศลทุกที อธิษฐาน ซึ่งเป็นความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล จึงเป็นปัจจัยให้กุศลเกิดขึ้นและสำเร็จได้ เป็นบารมี (ความดี) ที่ควรอบรมเจริญให้มีขึ้นในชีวิตประจำวันแต่ถ้าเป็นขออยากได้ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดนั้น เป็นอกุศลจิต ที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา ครับ

จากความเห็นที่กล่าวมา อธิษฐาน จึงไม่ใช่การขอ ด้วยโลภะ ที่เป็นอกุศล แต่เป็น ความตั้งใจมั่นในการกระทำกุศลประการต่างๆ อันเป็นไปเพื่อดับกิเลสครับ ซึ่ง ในความเป็นจริงแล้ว กุศลทุกประการที่ทำ แม้ไม่ขอ แต่ ผลย่อมมีตามสมควรแก่เหตุแล้ว แม้แต่การขอเป็นคู่ครองกันต่อไป ก็ควรเข้าใจว่า ไม่ใช่การห้าม หรือ ไม่ห้ามว่าอย่าขอ หรือ ไม่ขอ เพราะต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ ดั่งเช่น รู้ว่าโกรธไม่ดี ก็ กล่าวว่า อย่าโกรธนะ โกรธไม่ดี แต่ ธรรมก็เป็นอนัตตา ก็ทำให้เกิดความโกรธได้ อีก เป็นธรรมดา เพราะ มีเหตุปัจจัย แม้แต่การจะขอให้ได้ ลาภ ยศ สรรเสริญ และขอให้ ได้เป็นคู่ครองกันอีก ก็เป็นธรรมดาของผู้ที่มีกิเลส เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม ก็มีการ ขอให้มีการอยู่ร่วมกัน ให้ได้สิ่งที่ดีๆ ตามความติดข้องของสัตว์โลก ในกุศลที่ได้กระทำ ซึ่งก็แล้วแต่ว่า จะส่งผลตอนไหนอย่างไร เพราะ กรรมที่สัตว์โลกทำ มีมากมายนับไม่ ถ้วนโดยเฉพาะ อกุศลกรรมที่ทำ มีมากกว่า กุศลกรรมที่ทำมากมาย ซึ่งตัวอย่างใน พระไตรปิฎก ก็มี พระอริยสาวก ในอดีตชาติ ที่เคยปรารถนาขอเป็นครอบครัวเดียว กันอีก ด้วยบุญกรรมที่ทำ เช่น ครอบครัวของ นางวิสาชาอุบาสิกาผู้เป็นเลิศในการให้ ทาน และ เป็นพระโสดาบัน ครอบครัวของท่าน ในสมัยอดีตกาล ก็ได้ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า และ ปรารถนาการได้ทรัพย์สมบัติ ไม่อดอยาก ดั่งเช่น ในชาตินี้ และ ทั้ง 5 คน ก็ปรารถนาการอยู่ร่วมกัน จนเป็นเหตุให้ในสมัยพระพุทธเจ้าสมณโคดม ก็ เกิดมา เป็นครอบครัวเดียวกันอีก มีทรัพย์สมบัติมาก และ ท้ายสุดก็บรรลุเป็นพระ- โสดาบันกัน นี่แสดงให้เห็นว่า แม้อริยสาวกในอดีตชาติ ก็มีเหตุปัจจัยที่จะขอด้วยอำนาจ ของความผูกพันของกิเลสเป็นธรรมดา ที่เป็นไปตามปกติ และท่านเหล่านั้น ก็ไม่ละการศึกษา อบรมปัญญา ในอดีตชาติ และทำกุศลประการต่างๆ ที่เป็นบารมี ที่เกื้อหนุนต่อ การดับกิเลส หาก ทำบุญ แต่ขอเพียงการอยู่ร่วมกัน ไม่มีการอบรมปัญญา ศึกษาพระ ธรรมแล้ว ท่านเหล่านั้น ก็คงไม่ได้บรรลุเป็นพระอริยเจ้า เป็นพระโสดาบัน ครับ

นี่แสดง ให้เห็นถึง ความเป็นไปของชีวิตที่อยู่กับ สภาพธรรม ที่เกิดกิเลส ความติดข้องได้เป็น ธรรมดาของปุถุชน แม้การขอก็ยังมีกิเลสเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา จึงควรเข้าใจความเป็น ไปของชีวิตที่เป็นปรกติที่จะเกิด อกุศลกิเลสได้ เพราะ เป็นคฤหัสถ์ ผู้บริโภคกาม แต่ ท่านเหล่านั้นก็สะสมอบรมปัญญาด้วย และ ก็มีการทำกุศล ที่ปรารถนา การดับกิเลส ด้วยอีกเช่นกัน

ขอยกตัวอย่างอีกประการ ดั่งเช่น อดีตชาติของพระอุบลวรรณเถรี ผู้เป็นพระอรหันต์ และเป็นเลิศในด้านมีฤทธิ์ เมื่อในอดีตชาติที่เคยเป็นปุถุชน ก็มีการทำบุญ ประการต่างๆ คราหนึ่ง ในอดีตกาล สมัยที่พระพุทธเจ้า ยังไม่อุบัติขึ้นในโลก นางเป็นคนยากจน วัน นั้น เห็นดอกปทุมงดงาม ก็เก็บมา และเห็นข้าวสาลีออกรวงสวยงาม จึงเก็บมาทำข้าว ตอก คั่่วได้ข้าวตอก 500 ครานั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ก็เสด็จมานางจึง ถวายข้าวตอก 500 และดอกปทุม ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ มี บุตร500 คน เท่าจำนวนข้าวตอก และ เมื่อเดินไปที่ใด ก็มีดอกไม้ คือ ดอกบัวรองรับเสมอ ด้วยบุญกรรมนั้น ก็ได้เป็นพระ มเหสี มีบุตร 500 คน และ มีดอกบัว มารองรับแต่ ไม่ใช่จะได้ทันที ก็อีกนานแสนนาน เมื่อเหตุปัจจัยพร้อม นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของปุถุชน ที่ยังมีกิเลสเกิดขึ้นเป็น ธรรมดา แม้แต่การปรารถนา ขอในการทำกุศล อย่างใด อย่างหนึ่งในบางครั้งง หากแต่ว่า กุศลบางอย่างที่ท่านทำก็ไม่ได้ขอเป็นด้วยอำนาจกิเลสทั้งหมด บางคราวก็ปรารถนา เพื่อที่จะสิ้นกิเลสเช่นกัน และ ที่สำคัญที่สุด พระอุบลวรรณเถรี แม้ในอดีตชาติ แม้ท่าน จะขอด้วยกิเลสบ้าง แต่ท่านก็อบรมปัญญา ศึกษาพระธรรม มาแล้ว ในอดีตชาติ ไม่เช่น นั้นก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมได้เลย เพราะ สำคัญที่สุด ในบารมี คือ ปัญญาบารมี และ ขอเล่าเรื่องสุดท้าย ที่น่าฟัง และ แสดงถึง การปรารถนา หลายประการในการ ทำบุญของ ผู้ที่มีบุญในอดีต ครับ

ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ภิกษุรูปหนึ่ง สะสมปัญญา อบรม สมณธรรม สองหมื่นปี ไม่ได้บรรลุธรรม กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ แต่ในชาตินั้น ทำกรรม บาป คือ ล่วงภรรยาผู้อื่น เป็นเหตุให้ตกนรก และ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้เป็นผู้หญิง ด้วยเศษ กรรมนั้น ทำให้ เมื่อเกิดมา มีแต่คนไม่รัก เป็นที่รังเกียจ แม้แต่งงาน กับ บุตรเศรษฐี ก็ ถูกรังเกียจ จาก ทั้งสามี และ ครอบครัว คราหนึ่ง มีการนักกษัตร บุตรเศรษฐีก็ไม่ชวน นางไปเล่นเลย จนนางรบเร้า สุดท้าย บุตรเศรษฐี ผู้เป็นสามี ยอมตกลงในวันพรุ่งนี้ นางดีใจ แม้เพียงคำพูดของสามี ที่ยอมตกลง เตรียมอาหาร และเครื่องประดับตกแต่ง แต่ เมื่อถึงวันที่นัดกันไว้ บุตรเศรษฐี ก็ไม่มาตามนัด นางเศร้าโศกไปที่อุทยาน เวลานั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า ออกจากสมาบัติ เห็นถึง กรรมของนาง ที่จะถูกคนรังเกียจ เพราะ เคยล่วงศีลข้อ 3 จะหมดไป จึงโปรดจะอนุเคราะห์ จึงเหาะมาคนใช้เห็น แจ้ง ให้นาง ทราบ นางจึงถวายอาหาร ประณีต และถวายดอกไม้ และดอกปทุมเสร็จแล้ว ตั้งความ ปรารถนา 4 ข้อ ในบุญที่ได้ทำครั้งนี้ ดังนี้

1. ดิฉันเกิดจากชาติใด ขอให้ มีแต่คนรักทุกชาติ เหมือนดอกไม้ในที่เป็นที่รักกับทุกคน

2. การเกิดในครรภ์เป็นทุกข์ ขอให้เกิดในดอกปทุมทุกชาติ

3. ขอดิฉันเกิดเป็นบุรุษตลอดไป

4. ขอให้ดิฉัน ก้าวล่วงสังสารทุกข์ บรรลุอรหัต ดั่งเช่น ท่านด้วย

พระปัจเจกพุทธเจ้า กล่าวคาถาไพเราะว่า ขอสิ่งที่ต้องการ ที่ปรารถนาจงสำเร็จแก่ท่านโดยเร็วพลันเถิด ขอความดำริทั้งปวง จงเต็มเหมือนพระจันทร์วันเพ็ญ ดังนี้

เมื่อ ท่านเหาะไปแล้ว นางเกิดปิติโสมนัส กรรมที่เป็นบาปหมดสิ้นไป เพราะ ไม่ได้ โอกาส บุญที่ทำ ทำให้ สามี ระลึกถึง และ เกิดความรัก ครอบครัวก็เกิดความรัก เมื่อ นางสิ้นอายุ ไปเกิดเป็นเทพบุตร ชื่อ มหาปทุมเทพบุตร และ เมื่อจุติจากการเป็นเทวดา แล้ว เป็นบุตรของพระมเหสี โดยเกิดที่ดอกปทุม

ครานั้น มีพระปัจกพุทธเจ้าอยู่ ทรงเห็นด้วยญานว่า พระราชโอรสนี้ ได้เคยทำบุญ ไว้ ในอดีตชาติ ถวายอาหาร และ ดอกไม้กับพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาไว้ 4 ข้อ แต่ สำเร็จแล้ว 3 ข้อ เหลือ 1 ข้อ คือ การบรรลุธรรมดับกิเลส จึงสนทนา และ ท้ายสุด พระราชโอรส ก็บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นอันว่า ความปรารถนา ที่ได้บุญ 4 ข้อ สำเร็จทุกประการ

จากตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การทำบุญ ทำกุศล ของสัตว์โลก ก็ปรารถนา ที่เป็นไปด้วยกิเลสด้วยเป็นธรรมดา ปรารถนาในความสุข ลาภ ยศ สรรเสริญ ทั้งการ ให้มีคนรัก ทั้งการเป็นบุรุษ เป็นต้น และ ที่สำคัญ ท่านไม่ได้ปรารถนา ด้วยกิเลสเท่านั้น แต่ก็มีการปรารถนาอธิษฐาน ที่เป็นอธิษฐานบารมีด้วย ที่จะเป็นไปเพื่อสิ้นกิเลสเช่นกัน ครับ และ ที่ลืมไม่ได้ ความสำเร็จที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ก็เพราะท่านได้อบรมปัญญา มาแล้ว ตั้งแต่ตอนต้น ที่เป็น พระภิกษุ สมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะและ อบรมปัญญา บำเพ็ญ สมณธรรม 20,000 ปี ครับ ดังนั้นการปรารถนา อธิษฐาน ขอ ของชาวโลกก็ เป็นไปด้วยกิเลสได้เป็นธรรมดา ส่วนจะได้ผลตามหรือไม่นั้น ก็ตามเหตุปัจจัยที่เหมาะ สมด้วย ไม่ใช่เพียงกระทำกุศลเล็กน้อย แต่ ปรารถนาผลใหญ่ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย และ การปรารถนาขอเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งโดยมาก ก็จะมี การทำบุญเพื่อปรารถนาให้เกิดในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย์ แต่ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย

แทนที่จะหวังน้ำบ่อหน้าที่ยังมาไม่ถึง ชาตินี้ได้ มีโอกาสได้พบพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง และยังไม่อันตรธาน ได้เกิดเป็นมุษย์ และอยู่ในประเทศที่สมควร ควรอย่างยิ่งที่จะอบรมปัญญาศึกษาพระธรรมตามกำลังของ ปัญญาเท่าที่ทำได้ เพราะหากไม่สะสมความเข้าใจในชาตินี้ ปัญญาไม่มีเพราะไม่ได้ ศึกษาพระธรรม เพียงแต่ทำบุญมุ่งหวังในการเกิดชาติที่พบพระศรีอริยเมตไตรย หาก ได้พบจริง แต่ไม่มีความเข้าใจที่ได้สะสมมา ก็ไม่เข้าใจพระธรรมที่พระองค์ได้แสดง ในชาตินั้น แม้จะได้พบพระองค์ก็ตามครับ

เพราะฉะนั้น สะสมความเข้าใจในชาตินี้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น เมื่อได้พบผู้ที่เข้าใจ พระธรรม ไม่ว่าใครในชาติใด เมื่อได้มีโอกาสฟังอีกก็ทำให้เข้าใจมากขึ้น โดยไม่ต้อง รอผลภายหน้า ดังนั้น ผู้ที่ไม่ประมาท คือ เริ่มจากการอบรมเดี๋ยวนี้ ไม่ใช่เวลาอื่นๆ ครับ

เพราะความเข้าใจพระธรรมที่เจิญขึ้น ก็เป็นบุญเก่าที่เป็นปุพเพกตปุญญตา ทำให้บุญ นั้นน้อมไปที่จะได้พบสัตบุรุษเอง ได้ฟังพระธรรมจากสัตบุรุษ แม้จะไม่ได้อธิษฐานที่ จะได้พบพระพุทธเจ้า แต่เพราะบุญที่เกิดจากการเข้าใจพระธรรมก็ทำให้น้อมไปที่จะได้พบพระพุทธเจ้าในอนาคตเองในอนาคต เหมือนชาตินี้ที่เราได้พบพระพุทธเจ้า เพราะพระธรรมของพระพุทธเจ้า คือ ศาสาดาแทนพระองค์นั่นเองครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

@พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้ทรงแสดงไว้เลยว่า ทุกอย่างจะสำเร็จมาจากการขอ แต่ต้องมีเหตุปัจจัย

อ้างอิงจาก ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ ไปสนทนาธรรมที่เชียงใหม่ ๑๖ - ๑๗ ก.ค. ๒๕๕๖

ผู้ที่ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น ก่อนที่ท่านจะได้บรรลุนั้น ล้วนเป็นผู้ที่ได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว สะสมการได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้ว พร้อมกับเจริญ กุศลประการต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านมีความปรารถนาที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม และไม่ใช่เพียงเท่านั้น ยังสะสมเหตุที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสด้วย ซึ่งก็ไม่พ้นไป จากการบำเพ็ญบารมีประการต่างๆ ดังนั้น พุทธศาสนิกชน ก็ควรที่จะได้ดำเนิน ตามทางที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้ดำเนินมาแล้ว นั่นก็คือ หนทางแห่งการอบรม เจริญปัญญาและสะสมคุณความดีทุกประการ ซึ่งเป็นบารมีในชีวิตประจำวัน บารมี เป็นธรรมที่จะทำให้ถึงซึ่งฝั่งคือการดับกิเลส เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว หมายถึง ความดีทุกประการ ซึ่งได้แก่ สภาพจิตที่ดีงามที่ประกอบด้วยโสภณเจตสิก ประการต่างๆ นั้นเอง ไม่ว่าจะเป็น ทาน (การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์สุขแก่ ผู้อื่น) ศีล (การสำรวมกาย วาจา ให้เป็นปกติ ไม่กระทำทุจริตกรรม) เนกขัมมะ (การออกจากกาม ออกจากอกุศล) ปัญญา (ความเข้าใจถูก เห็นถูก) วิริยะ (ความเพียรในทางที่เป็นกุศล) ขันติ (ความอดทนต่อสภาพธรรมที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา) สัจจะ (ความจริงใจในการเจริญกุศล) อธิษฐานะ (ความ ตั้งใจมั่น ความมั่นคงในการเจริญกุศล) เมตตา (ความเป็นมิตร เป็นเพื่อน หวังดีต่อ ผู้อื่น) อุเบกขา (ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหวไปด้วยอำนาจของอกุศล) ล้วน เป็นความดีที่ควรอบรมเจริญเป็นอย่างยิ่งและประการที่สำคัญ บารมีทุกบารมีจะขาด ปัญญาไม่ได้เลย

ธรรมฝ่ายดี ที่เป็นกุศลธรรมในชีวิตประจำวันนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ซึ่งเป็น ธรรมที่เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส เพราะถ้าจิตไม่ได้เป็นไปในทางที่เป็นกุศล แล้ว วันหนึ่งๆ ก็มีแต่จะเพิ่มพูนกิเลส เพิ่มพูนอกุศลให้มีมากขึ้น ดังนั้น อธิษฐาน คือ ความตั้งใจมั่นในการเจริญกุศล ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา และเจริญกุศลประการต่างๆ เพราะเห็นโทษของความไม่ตั้งมั่นในกุศลธรรม เห็นโทษ ของการไม่มีความมั่นคงในการเจริญกุศลประการต่างๆ ทั้งหมด จึงไม่พ้นไปจาก สภาพจิตที่ดีงามในขณะนั้นที่เห็นโทษของอกุศล เห็นคุณประโยชน์ของกุศล พร้อม ทั้งถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลให้ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปเพื่อการขัดเกลาละ คลายกิเลสจนกว่าจะถึงการดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด แต่ถ้าเป็นขออยากได้ใน เรื่องหนึ่งเรื่องใด นั้น เป็นอกุศลจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ความติดข้องต้องการ ไม่ใช่อธิษฐานในพระพุทธศาสนา ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

อธิษฐานบารมี ต่างจากโลภะ อย่างไร

อธิษฐานในแบบคนไทยเข้าใจ VS อธิษฐานในทางพุทธศาสนา?

อธิษฐานธรรม [ปกิณณกกถา]

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 ก.ย. 2556

ถ้าเหตุปัจจัยพร้อม ทำบุญมามาก มีความตั้งใจแน่วแน่ ก็เจอพระศรีอริยเมตไตรได้ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
orawan.c
วันที่ 26 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
isme404
วันที่ 28 ก.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Nitiporn
วันที่ 15 ก.พ. 2565

ถ้าจะขอลูกชายที่เพิ่งเสียไปเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 64 ให้กลับมาเกิดใหม่อีกครั้ง พอจะมีหวังมั้ยคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.พ. 2565
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.พ. 2565

อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ