อปัณณกสูตร - ๒๖-o๙-๒๕๕๘
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๘
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
อปัณณกสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๕๓๖
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้าที่ ๕๓๖
อปัณณกสูตร
(ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓)
[๕๕๘] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ ๓ นี้ วิบัติ ๓ คืออะไร? คือสีลวิบัติ จิตตวิบัติ ทิฏฐิวิบัติ
สีลวิบัติ เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ เป็นคนมักทำปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มักพูดมุสาวาท ปิสุณาวาจา (คำส่อเสียด) ผรุสวาจา (คำหยาบ) สัมผัปปลาป (คำเพ้อเจ้อ) นี้เรียกว่า สีลวิบัติ
จิตตวิบัติ เป็นอย่างไร คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีอภิชฌา มีใจพยาบาท นี่เรียกว่า จิตตวิบัติ
ทิฏฐิวิบัติ เป็นอย่างไร? คนบางคนในโลกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นวิปริต (ผิดจากคลองธรรม) ว่า
(๑) ทานไม่มีผล
(๒) การบูชาไม่มีผล
(๓) การบวงสรวงไม่มีผล
(๔) ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่ว ไม่มี
(๕) โลกนี้ไม่มี
(๖) โลกหน้าไม่มี
(๗) มารดาไม่มี
(๘) บิดาไม่มี
(๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะไม่มี
(๑๐) สมณพราหมณ์ ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเองแล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้ ไม่มีในโลก นี้เรียกว่า นี่เรียกว่า ทิฏฐิวิบัติ
สัตว์ทั้งหลาย เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรกเพราะเหตุแห่งสีลวิบัติบ้าง เพราะเหตุแห่งจิตตวิบัติบ้าง เพราะเหตุแห่งทิฏฐิวิบัติบ้าง เปรียบเหมือนลูกบาศก์ซัดขึ้นแล้ว ย่อมกลับมาตั้งอยู่โดยที่ใดๆ ก็กลับมาตั้งอยู่อย่างดี ฉันใด สัตว์ทั้งหลายเพราะกายแตกตายไป ฯลฯ เพราะเหตุแห่งทิฏฐิวิบัติบ้าง ฉันนั้น เหมือนกัน นี้แล ภิกษุทั้งหลาย วิบัติ ๓
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๓ นี้ สัมปทา ๓ คืออะไรบ้าง? คือ สีลสัมปทา จิตตสัมปทา ทิฏฐิสัมปทา
สีลสัมปทาเป็นอย่างไร? คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร เว้นจากมุสาวาท ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาป นี้เรียกว่า สีลสัมปทา
จิตตสัมปทา เป็นอย่างไร? คนบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีอภิชฌา
ไม่มีใจพยาบาท นี่เรียกว่า จิตตสัมปทา
ทิฏฐิสัมปทาเป็นอย่างไร? คนบางคนในโลกนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นไม่วิปริต ว่า
(๑) ทานมีผล
(๒) การบูชามีผล
(๓) การบวงสรวง มีผล
(๔) ผลวิบากของกรรมดีและกรรมชั่ว มี
(๕) โลกนี้มี
(๖) โลกหน้ามี
(๗) มารดามี
(๘) บิดามี
(๙) สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี
(๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินถูกทาง ผู้ปฏิบัติชอบ ที่กระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้วสอนโลกนี้และโลกอื่นให้รู้ มีอยู่ในโลก นี้เรียกว่า ทิฏฐิสัมปทา
สัตว์ทั้งหลาย เพราะกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งสีลสัมปทาบ้าง เพราะเหตุแห่งจิตตสัมปทาบ้าง เพราะเหตุแห่งทิฏฐิสัมปทาบ้าง เปรียบเหมือนลูกบาศก์ ซัดขึ้นแล้ว ย่อมกลับมาตั้งอยู่โดยที่ใดๆ ก็กลับมาตั้งอยู่อย่างดี ฉันใด สัตว์ทั้งหลาย เพราะกายแตกตายไป ฯลฯ เพราะเหตุแห่งทิฏฐิสัมปทาบ้าง ฉันนั้นเหมือนกัน, นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สัมปทา ๓
จบ อปัณณกสูตรที่ ๖
อรรถกถา อปัณณกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอปัณณกสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อปณฺณโก มณิ ได้แก่ ลูกบาศก์ (ลูกสะกา) อันประกอบแล้วด้วย ด้าน ๖ ด้าน.
บทว่า สุคตึ สคฺคํ ได้แก่ โลกคือสวรรค์ ในบรรดาสวรรค์ ๖ ชั้น มีชั้นจาตุมหาราชิกาเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง. ในพระสูตรนี้ ตรัสธรรมทั้งสองประการ คือ ศีลและสัมมาทิฏฐิ คลุกเคล้ากันไป
จบ อรรถกถาอปัณณกสูตรที่ ๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
อปัณณกสูตร
(ว่าด้วยวิบัติ ๓ และสัมปทา ๓)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงวิบัติ ๓ ประการ และเพราะเหตุแห่งวิบัติ ๓ ประการจึงทำให้สัตว์ไปเกิดในอบายภูมิ ได้แก่ สีลวิบัติ (ความวิบัติ คือ การล่วงศีล มีฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น) จิตตวิบัติ (ความวิบัติแห่งจิตที่ถูกครอบงำด้วยความเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น และความโกรธ) และ ทิฏฐิวิบัติ (ความวิบัติ คือ มีความเห็นผิด)
ต่อจากนั้นพระองค์ทรงแสดง สัมปทา (ความถึงพร้อม) ๓ ประการ และเพราะความถึงพร้อม ๓ ประการ จึงทำให้สัตว์ไปเกิดในสุคติภูมิ ได้แก่ สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล ไม่ล่วงศีลข้อต่างๆ ) จิตตสัมปทา (ความถึงพร้อมแห่งจิตไม่ถูกครอบงำด้วยความเพ่งเล็งอยากได้ของของคนอื่น และ ความโกรธ) และทิฏฐิสัมมปทา (ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง) .
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อมเสื่อมรอบ
ความเสื่อมทิฏฐิ คืออะไรครับ ขอคำอธิบายและยกตัวอย่างทีครับ
ความเสื่อมและความเจริญของปัญญาเหตุผลของการล่วงศีล
..ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...