สีวถิกาสูตร ... วันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๔ มีนาคม ๒๕๖๐
คือ
สีวถิกาสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๕๐๐
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๕๐๐
๙. สีวถิกาสูตร
(ว่าด้วยโทษของป่าช้าและคนเหมือนป่าช้า)
[๒๔๙] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในป่าช้า ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ เป็นที่ไม่สะอาด ๑ มีกลิ่นเหม็น ๑ มีภัยเฉพาะหน้า ๑ เป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์ร้าย ๑ เป็นที่รำพันทุกข์ของชนหมู่มาก ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในป่าช้า ๕ ประการนี้แล.
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในบุคคลผู้เปรียบด้วยป่าช้า ๕ ประการนี้ ฉันนั้น เหมือนกัน ๕ ประการเป็นไฉน? คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ย่อมประกอบด้วยกายกรรมอันไม่สะอาด ด้วยวจีกรรมอันไม่สะอาด ด้วยมโนกรรมอันไม่สะอาด เรากล่าวข้อนี้ เพราะเขาเป็นผู้ไม่สะอาด ป่าช้านั้นเป็นที่ไม่สะอาด แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบฉันนั้น.
กิตติศัพท์ที่ชั่วของเขาผู้ประกอบด้วยกายกรรม อันไม่สะอาด ด้วยวจีกรรมอันไม่สะอาด ด้วยมโนกรรมอันไม่สะอาด ย่อมฟุ้งไป เรากล่าวข้อนี้เพราะเขาเป็นผู้มีกลิ่นเหม็น ป่าช้ามีกลิ่นเหม็น แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้ เปรียบฉันนั้น
เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รัก ย่อมเว้นไกลซึ่งบุคคลนั้นผู้ประกอบด้วยกายกรรมอันไม่สะอาด ด้วยวจีกรรมอันไม่สะอาด ด้วยมโนกรรมอันไม่สะอาด เรากล่าวข้อนี้เพราะเขามีภัยเฉพาะหน้า ป่าช้ามีภัยเฉพาะหน้า แม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น.
เขาประกอบด้วยกายกรรมอันไม่สะอาด ด้วยวจีกรรมอันไม่สะอาดด้วยมโนกรรมอันไม่สะอาด ย่อมอยู่ร่วมกับบุคคลผู้เสมอกัน เรากล่าวข้อนี้ เพราะเขาเป็นที่อยู่ของสิ่งร้าย ป่าช้าเป็นที่อยู่ของมนุษย์ร้าย แม้ฉันใด เรา กล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น.
เพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รัก เห็นเขาผู้ประกอบด้วยกายกรรมอันไม่สะอาด ด้วยวจีกรรมอันไม่สะอาด ด้วยมโนกรรมอันไม่สะอาด แล้วย่อมรำพันทุกข์ว่า โอ เป็นทุกข์ของพวกเราผู้อยู่ร่วมกับบุคคลเห็นปานนี้ เรากล่าวข้อนี้เพราะเขาเป็นที่รำพันทุกข์ ป่าช้าเป็นที่รำพันทุกข์ของชนหมู่มากแม้ฉันใด เรากล่าวบุคคลนี้เปรียบฉันนั้น.
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษในบุคคลผู้เปรียบด้วยป่าช้า ๕ ประการนี้แล.
จบสีวถิกาสูตรที่ ๙
อรรถกถาสีวถิกาสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในสีวถิกาสูตรที่ ๙ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า สีวถิกาย คือ ในป่าช้า. บทว่า อาโรทนา คือสถานที่ร่ำไห้. บทว่า อสุจินา คือ น่าเกลียดชัง.
จบอรรถกถาสีวถิกาสูตรที่ ๙
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
⌂ข้อความโดยสรุป⌂
สีวถิกาสูตร
(ว่าด้วยโทษของป่าช้าและคนเหมือนป่าช้า)
พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรม ว่าด้วยป่าช้า เปรียบด้วยลักษณะของบุคคล ๕ ประการ คือ
-ป่าช้า เป็นที่ไม่สะอาด เปรียบด้วยกับบุคคลผู้มีความประพฤติทางกาย วาจา และใจ ที่ชั่ว
-ป่าช้า มีกลิ่นเหม็น เปรียบด้วยกับบุคคลผู้ที่ประพฤติชั่ว แล้ว กิตติศัพท์ในทางชั่วของเขาย่อมฟุ้งไป
-ป่าช้า มีภัยเฉพาะหน้า เปรียบด้วยกับบุคคลผู้มีความประพฤติชั่ว ย่อมเป็นผู้ที่อันบุคคลผู้มีศีลเป็นที่รัก หลีกออกห่าง ไม่เข้าใกล้
-ป่าช้า เป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์ร้าย เปรียบด้วยกับบุคคลผู้มีความประพฤติชั่ว ก็ประสงค์ที่จะอยู่ร่วมกับคนชั่ว เท่านั้น
-ป่าช้า เป็นที่รำพันทุกข์ของชนหมู่มาก เปรียบด้วยกับบุคคลผู้มีความประพฤติชั่ว เป็นบุคคลผู้ที่อันเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลเป็นที่รัก เห็นเขาแล้วย่อมรำพันทุกข์ว่า เป็นทุกข์ของพวกเราผู้อยู่ร่วมกับบุคคลผู้ประพฤติชั่วเช่นนี้
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
อกุศลจิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้อื่น อยู่ที่การสะสมมาของตนเองแท้ๆ
อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจของอกุศลธรรมนั้นอยู่ตลอดเวลา (๑)
อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจของอกุศลธรรมนั้นอยู่ตลอดเวลา (๒)
ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากอกุศลเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่
ความหมายของ กุศล และ อกุศล
เมื่อกล่าวถึงอกุศล...ก็เพื่อให้เห็นโทษ
สิ่งที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด ก็คือปัญญา
ชีวิตที่มีค่า คือ มีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ และได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...