สติเจตสิก

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  30 ม.ค. 2563
หมายเลข  31503
อ่าน  789

"สติเจตสิก" คัดจากเมนู : ฟังธรรม : พื้นฐานพระอภิธรรม

ผู้ถาม : อยากจะเรียนขอความเข้าใจใน "ลักษณะสภาพธรรม" ของ "สติเจตสิก" กับ "ปัญญาเจตสิก"

อ.สุจินต์ : "สติเจตสิก" เป็นสภาพที่ระลึกรู้ เพราะว่าเมื่อเป็นนามธรรมก็ต้องรู้ แต่ว่าเวลาที่ใช้คำว่า “ระลึกรู้” ในภาษาไทย เราคิดว่าเราไปคิดถึงอะไร อย่างเก่าๆ ระลึกถึงอดีต อนาคตระลึกหรือเปล่า? มีใครระลึกถึงอนาคตไหม? ถ้าใช้คำว่า “คิดถึง” เราคิดถึงได้ ใช่ไหม แต่ว่าส่วนใหญ่เวลาเราใช้คำว่า "ระลึกถึง" เราจะคิดถึงสิ่งที่ได้ล่วงไปแล้วในภาษาไทย แต่ไม่ทราบว่าผู้รู้ในภาษาไทย ท่านก็อาจจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมอย่างไร แต่ว่าภาษาสามัญ ภาษาชนบท ภาษาชาวบ้านที่ใช้กันก็คือว่า คิดถึง สิ่งที่ล่วงแล้วคือระลึกถึง แต่ว่าสติเจตสิก เราจะไม่ใช้คำว่า “ระลึก” ก็ได้ แต่ว่าโดยศัพท์ใช้คำว่า “ระลึก” เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่างที่เป็นนามธรรมที่เกิดเป็นสภาพรู้ ต้องเกิดขึ้นรู้ ไม่รู้ไม่ได้ เมื่อเกิดแล้วก็ต้องรู้ แล้วแต่ว่าจะ "รู้โดยฐานะของจิต" หรือว่า "รู้โดยฐานะของเจตสิก"

เพราะฉะนั้น สำหรับสติเจตสิก ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เป็นการรู้อย่างจิตโดยการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่เป็นสภาพที่รู้ ในขณะที่เกิดขึ้น โดยการเป็นไปในสิ่งนั้น เช่น ขณะนี้เราไม่มีการคิดที่จะให้ทาน แต่ขณะใดที่เกิดเป็นไปในทาน เป็นไปในการคิดแม้จะให้ ขณะนั้นสภาพที่ระลึก เกิดขึ้นเป็นไปในทาน เพราะคิดถึงการให้ นั่นคือสภาพของ "สติเจตสิก" ต่างกับ "วิตกเจตสิก" ซึ่ง "วิตกเจตสิก" คิดได้ทั้งกุศลและอกุศลจะคิดเรื่องไม่ดีก็ได้ จะคิดเรื่องดีก็ได้ แต่ถ้าเป็น สติเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดี เพราะฉะนั้น เมื่อสติเจตสิกเกิดขึ้นขณะใด จิตขณะนั้นเป็นโสภณ แล้วแต่ว่าจะเป็นกุศลระดับใด หรือว่าจะเป็นกุศลวิบาก หรือว่าจะเป็นกิริยาจิตของพระอรหันต์ สติก็เป็นสภาพที่ระลึกเป็นไปในขณะนั้น

เช่น ขณะนี้ ได้ฟังว่า เป็นธรรม ทั้งหมดเลย "เห็นสิ่งที่ปรากฏ" ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ต่างกับธรรมอื่นแน่นอน ต่างกับเสียง ต่างกับกลิ่น และขณะนี้กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็น "สติระดับที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ตรงลักษณะของสภาพธรรม" ก็คือว่า ไม่ได้ใส่ใจหรือคิดถึงสิ่งอื่นเลย กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ ก็อยู่ นิดหนึ่ง คือไม่ไปที่อื่น นิดหนึ่ง ด้วยการที่มีความเข้าใจ นิดหนึ่ง ที่รู้ว่าเป็นสภาพธรรมลักษณะ นี่คือ สติสัมปชัญญะ หรือ สติปัฏฐาน ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียง ทีละเล็ก ทีละน้อย เหมือนกับทางกายขณะนี้ มีแข็งกำลังปรากฏ ขณะที่กำลังไม่ได้ฟังตรงแข็ง เรื่องแข็ง ก็ไม่มีการรู้ตรงแข็ง หรือว่าขณะที่แม้ฟังว่าแข็งเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะรู้ตรงแข็งที่กำลังปรากฏ เพราะว่ามีแข็งปรากฏให้รู้ ขณะที่รู้ตรงแข็ง ขณะนั้นก็คือสติที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เพราะได้ยิน ได้ฟัง ได้เข้าใจถูกต้อง ว่ามีแข็งจริงๆ ใครก็บังคับเปลี่ยนลักษณะของแข็งให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ และก็แข็งก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นปัจจัยปรุงแต่ง แม้แข็งก็เกิดไม่ได้ หรือแม้แข็งที่มีอยู่ ที่จะปรากฏได้ ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย คือต้องมีกายปสาทที่สามารถกระทบแข็ง เท่านั้นยังไม่พอ ต้องมีจิตที่เกิดขึ้นเพราะการกระทบของกายปสาทและแข็ง จิตรู้แข็งจึงเกิดขึ้น นั่นคือปกติธรรมดา แต่เมื่อได้ฟังแล้วรู้ว่า "แข็ง" เป็น "สภาพธรรมชนิดหนึ่ง" ก็ไม่ละเลย "ขณะที่แข็งปรากฏ ก็รู้ตรงแข็ง" ขณะนั้นก็คือ สติ เริ่มระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทีละอย่าง แต่จะเห็นได้ว่า กว่าจะรู้จริงๆ ทีละอย่างจนกระทั่งไม่มีเรา ก็ต้องอาศัยการเกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ ของสติสัมปชัญญะที่จะรู้ตรงลักษณะนั้น และก็ "เห็นความต่าง" ว่า เวลาพูดถึงแข็งโดยไม่ได้รู้ตรงแข็งก็ไม่ได้มีลักษณะของแข็งปรากฏ แต่เวลาที่พูดเรื่องแข็ง มีความเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็ "มีปัจจัยที่จะรู้ตรงแข็ง" นั่นคือขณะนั้นเป็นสติระดับที่เป็นสติปัฏฐาน เพราะว่า "มีลักษณะแข็งเป็นที่ตั้งของสติที่ระลึกรู้"

คลิกฟังที่นี่...

สติเจตสิก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kullawat
วันที่ 31 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
hetingsong
วันที่ 31 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณครับ เป็นประโยชน์มากเลยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ