สำคัญที่สุด คือ การตั้งต้น

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  29 ส.ค. 2563
หมายเลข  32709
อ่าน  1,892

(ขวาสุด-ภาพท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ คุณย่าสงวน สุจริตกุล และ ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม-ซ้ายสุด ที่ มศพ. เมื่อวันเสาร์ที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓)

ข้อความจาก ปกิณณกธรรม แผ่นที่ ๕ ตอนที่ ๒๖๗ นาทีที่ ๑๕

สนทนาธรรมที่ "วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร" จังหวัดพิษณุโลก เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๕

คุณสุกิจ อยากจะให้อาจารย์ท่านบรรยายธรรม ในลักษณะ "เริ่มต้น" ครับ

คุณผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ช่วยอธิบายคำว่า การนั่งสมาธิ ที่ว่าให้จิตสงบและจะให้เป็นบาทฐานของปัญญา เป็นวิปัสสนาขึ้นมา เขาบอกว่าจะทำได้ง่ายกว่า ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย

ท่านอาจารย์ คุณสุกิจก็ขอให้ตั้งต้น ซึ่งความจริง "สำคัญที่สุด" เลย คือ "การตั้งต้น" เราจะไปทางไหน ทำอะไรก็ตาม ถ้าเราตั้งต้นผิด ก็ไปผิดตลอดเลย

"เรื่องของพระพุทธศาสนา" เป็นเรื่องที่ละเอียด และ "เป็นเรื่องของปัญญา" เพราะเหตุว่า เป็น คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า "เพื่อละ" ถ้าเราไม่ถึงจุดนี้ เรามีแต่ "จะได้ จะเอา จะทำ" นั่นไม่ใช่พระพุทธศาสนาเลย

เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่อยู่ที่นี่ "พร้อมที่จะละ" หรือว่า พร้อมที่จะได้ พร้อมที่จะเอา? "ละ" คือ "ละความไม่รู้ ละความเห็นผิด ละความยึดมั่น ละความติดข้อง" ในสิ่งซึ่งเราติดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์!! ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนาน ยังยาวต่อไปอีก ถ้ายังมีความติดข้อง ยังมีความต้องการ ในสิ่งที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เพราะฉะนั้น ก่อนอื่น แม้แต่เพียง "ขั้นต้น" คือ "ฟัง" เรายังต้อง "ตั้งต้น" ด้วย "ฟังเพื่อละ" ถ้าไม่ใช่ "ฟังเพื่อละ" จะไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนาเลย!!!

เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครชักชวนว่า ให้ไปนั่ง แล้วทำ ใจของเราขณะนั้น ต้องการแล้ว ติดข้อง แล้ว ไม่มีปัญญาแล้ว!! เพราะเหตุว่า ไม่รู้เลยว่า นั่งอะไร? ทำอะไร? "ปัญญารู้อะไร?" ก็เป็น "เรื่องไม่รู้!!" พอเป็นเรื่องไม่รู้ โลภะจะพาไปทันที!!

อย่างที่บอก ว่า "โลภะ" เป็นทั้งอาจารย์ เป็นทั้งศิษย์ เวลาเป็นอาจารย์เขาก็คิด ให้ทำโน่นทำนี่ คิดเสร็จ ลูกศิษย์ก็ทำตาม (เป็น) อย่างนี้มาในสังสารวัฏฏ์ โลภะเขาจะนำ แล้วลูกศิษย์คือโลภะ ก็ติดตามไปเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนนั้นจะต้องเข้าใจความหมายของพุทธะ ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริง ของสภาพธรรมะ ที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่ศึกษา ไม่มีทางที่ใครจะรู้ความจริง!! ใครจะบอกว่าไปนั่งอย่างไรๆ ก็ตามแต่ แต่ก็ ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม

เพราะว่า ทุกคนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นสาวก คือผู้ฟังพระธรรม และ การฟังพระธรรม เรารู้ได้เลยว่า ธรรมะที่ได้ยินได้ฟัง เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าหรือไม่ใช่ ถ้าเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า ต้องทำให้เกิดปัญญา ความเข้าใจ แม้จะมากหรือจะน้อยก็ตามแต่ แต่ต้องเป็นความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ในอะไร? ในสิ่งที่ปรากฏ ที่มีจริงๆ ในขณะนี้ แต่ละขณะ แต่ละขณะ นี่คือปัญญา ที่สามารถที่จะละกิเลสได้ ไม่ใช่ไปทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ต้องฟัง!! ไม่ใช่ไปนั่ง!!!

ทรงแสดงเรื่องของ "สติปัฏฐาน" สำหรับทุกคน ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมะ ว่า "เป็นหนทางเดียว" เป็น "หนทางที่จะทำให้รู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ (ในขณะนี้) ได้" ทรงแสดงอย่างนี้!! หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ไม่ได้แสดงให้ไปนั่งที่ไหนเลย!!

แล้วทำไมเราถึงไม่อ่านให้ละเอียด แล้วไม่พิจารณาให้ถูกต้อง เพียงแต่ว่าใครนั่ง เราก็จะนั่ง ใครทำอะไร เราก็จะทำ แต่ปัญญาไม่เหมือนกัน และต้องฟังโดยละเอียดด้วย...

บางคน เขาศึกษาอภิธรรม แต่จุดประสงค์ต่างกัน เรียนเพื่ออะไร? บางคนเรียนแบบประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ จิตมีเท่าไหร่ เจตสิกมีเท่าไหร่ ถ้าบอกจำนวนอย่างนี้ เข้าใจว่าศึกษาธรรมะหรือเปล่า? หรือว่าศึกษาเรื่องชื่อ เรื่องราว เหมือนประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ซึ่งวันหนึ่งก็ต้องลืม พระไตรปิฎกมากมาย คนที่สามารถที่จะท่องก็ท่อง ท่องด้วยคิดว่าความสามารถอยู่ที่ท่อง แต่ความจริงพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะ ผู้ฟังเข้าใจ และรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่ไปท่องอะไรเลย อยู่ที่ความเข้าใจของผู้ฟัง ที่จะเห็นประโยชน์ว่า การสะสม การฟังพระธรรม เพื่อเข้าใจ เพื่อว่าวันหนึ่งเมื่อฟังแล้ว สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ตามปรกติ ได้ ถึงระดับที่ คนฟังอื่นๆ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมมาแล้ว

เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้าใจมากๆ แม้แต่คำว่า ธรรมะ ก็ต้องรู้ว่า หมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าใช้คำว่าธรรมะ มาจากคำว่า ธาตุ (ธา-ตุ) เหมือนกัน ถ้าใช้คำว่าธาตุคือไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย พอพูดถึงดินเปล่าๆ ไม่ใช่ตัวเราที่แข็ง ดินก็คือดิน ไฟก็คือไฟ น้ำก็คือน้ำ ลมก็คือลม ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย แต่ทำไมที่นี่ มากลายเป็นของเรา อ่อนหรือแข็งที่ (กาย) นี่ เย็นหรือร้อน มาเป็นของเรา ตึงหรือไหว มาเป็นของเรา ทุกอย่างที่เกิดตามเหตุตามปัจจัย ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า มากลายเป็นของเรา ด้วยความไม่รู้!!

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยการฟัง โดยละเอียดจริงๆ เพื่อที่จะทราบว่า เมื่อเข้าใจธรรมะแล้ว อันนี้จะเป็นหนทางที่จะทำให้ "สัมมาสติ" เกิด เป็น "หนทางเดียว" ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ เพราะว่า สัมมาสติ "ระลึกลักษณะ" ที่มีจริงๆ ของธรรมะแต่ละอย่าง ซึ่งกำลังปรากฏ ซึ่ง "ก่อนฟังไม่เคยรู้เลย" ว่า "เป็นธรรมะแต่ละอย่าง"

เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องการที่จะ คนส่วนใหญ่ทำอย่างนั้น เราก็ต้องทำ ไม่ใช่!! แต่ว่า เรียนธรรมะเพื่ออะไร? เพื่อสอบ หรือ เพื่ออะไร? ก็ไม่ใช่!! เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏ!!

ไม่ใช่ว่าเรียนแล้วกิเลสหมด เพียงแค่นี้กิเลสหมดไม่ได้เลย ยิ่งเรียนยิ่งเห็นว่า การที่กิเลสจะหมดไปได้ (อีก) นาน แล้วก็จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง

การที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไม่ใช่ขั้นแรกเป็นพระอรหันต์ ซึ่งส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิด คิดว่าพอเรียนธรรมะแล้วก็ หมดโลภ หมดโกรธ หมดหลง บางคนก็ยังบอก เรียนธรรมะแล้วทำไมยังโกรธ ทำไมยังโลภ นั่นคือเขาไม่เข้าใจเลย ว่า กว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ปัญญาจะต้องสะสมไป...มากมาย... "หลายขั้น"...ตามลำดับ...

"ขั้นวันนี้ที่ฟัง" มีความรู้จากสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนเลย เท่านั้น!! ไม่ใช่ดับกิเลส!! (ขั้นฟัง) ทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย!!

และ ยิ่งเรียน ยิ่งรู้ว่า กว่าจะละกิเลสได้นั้น แสนยาก แต่ว่า "เริ่มที่จะรู้จัก" สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ให้เข้าใจขึ้น แล้วก็จะเป็น "ผู้ที่ตรง"

(คลิกอ่าน : ตรงตั้งแต่ต้น)

- คลิกฟัง : ปกิณณกธรรม แผ่นที่ ๕ ตอนที่ ๒๖๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
petsin.90
วันที่ 29 ส.ค. 2563

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Natanaphong
วันที่ 29 ส.ค. 2563

กราบขอบพระคุณ ขอ อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Dusita
วันที่ 29 ส.ค. 2563

กราบ อนุโมทนา ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
นวลปรางค์
วันที่ 29 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ssuwannasri
วันที่ 30 ส.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
napachant
วันที่ 30 ส.ค. 2563

ยิ่งเรียน ยิ่งรู้ว่า กว่าจะละกิเลสได้นั้น แสนยาก แต่ว่า "เริ่มที่จะรู้จัก" สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา ให้เข้าใจขึ้น แล้วก็จะเป็น "ผู้ที่ตรง"

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
orawan.c
วันที่ 30 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
talaykwang
วันที่ 30 ส.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ