ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ไปสนทนาธรรมที่โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี ๑๒-๑๓ มกราคม ๒๕๖๗

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  21 ม.ค. 2567
หมายเลข  47299
อ่าน  1,787

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ และวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะอาจารย์จากมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจากสมาชิกชมรมบ้านธัมมะ อีสาน ไทยลาว เพื่อไป สนทนาธรรม "แสงธรรมสองฝั่งโขง" ณ ห้องประชุมฟ้าหลวง โรงแรมนภาลัย จังหวัดอุดรธานี ในวันศุกร์ที่ ๑๒ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ระหว่างเวลา ๑๔.๓๐ น - ๑๖.๓๐ น. และในวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ ระหว่างเวลา ๑๐.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น.

การสนทนาธรรมในครั้งนี้ นอกจากจะมีสหายธรรมชาวไทยจากทั่วทุกภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหายธรรมจากภาคอีสานให้ความสนใจเดินทางมาร่วมในการสนทนาเป็นจำนวนมากแล้ว ยังมีสหายธรรมชาวลาวกลุ่มใหญ่นำโดยคุณ บุญส่อง วิพรมมาวงศา สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๕๔๐๑ พร้อมด้วยครอบครัว และบรรดาญาติสนิทมิตรสหายชาวลาวนับสิบคน เดินทางจาก สปป.ลาว มาร่วมสนทนาธรรมด้วยทั้งสองวัน และนอกจากนั้นก็ยังมีสหายธรรมชาวเขมร และสหายธรรมชาวเวียดนาม มาร่วมในการสนทนาอีกด้วย

อนึ่ง คณะผู้จัดการสนทนาธรรมในครั้งนี้ นำโดยคุณ สาคร (แมว) เศลารักษ์ เซริเยส สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๔๒๐๔ คุณสมพงษ์ เหลืองภิญโญ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๓๖๖๕ คุณจรรยา (แขก) ดวงแก้ว สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๔๙๑๕ คุณพนมวรรณ (เล็ก) คาดพันโน สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๔๙๖๔ คุณศรีสมพร จันทบุตรดี สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๕๔๐๓ คุณวสุธิดา (แป๋ว) ไชยสำแดง สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ลำดับที่ ๔๙๙๙ เป็นต้น กับสหายธรรมหลายๆ ท่านได้ร่วมใจกันจัดการสนทนาธรรมในครั้งนี้จนสำเร็จลุล่วงด้วยความเรียบร้อย สวยสดงดงาม เป็นที่ประทับใจอย่างยิ่งแก่ผู้เข้าร่วมในการสนทนาธรรมในครั้งนี้ทุกท่าน

ในนามของชมรมบ้านธัมมะ มศพ. ขอแสดงความชื่นชมยินดีในความดีทุกประการของทุกๆ ท่านที่มีส่วนร่วมในการจัดการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ทั้งที่ได้เอ่ยนามและมิได้เอ่ยนาม มา ณ ที่นี้

พลตรีวีระ : กระผมมีปัญหาทางร่างกายนิดหน่อย แต่ว่าก็จะพยายามที่จะถามคำถามนี้ จริงๆ แล้วคิดคำถามนี้มา ก็ศึกษาพระธรรมมาก็ไม่ได้นานมากน้อยอะไรเท่าไหร่เลย เพียงแต่ว่า มีเรื่องที่คุณสาคร เมื่อกี้นี้ขึ้นมาพูดหลังจากที่คุณบุญส่องที่มาจากลาว ในเรื่องของสองฝั่งโขง เราก็อยู่ในฝั่งโขงฝั่งหนึ่ง แล้วก็ท่านก็อยู่อีกฝั่งหนึ่ง ท่านก็ยังได้ยินเสียงของพระธรรมซึ่งส่องไปถึงฝั่งโน้นได้ แม้กระทั่งฝั่งนี้ก็ยังฟังกันไม่ค่อยถนัดเลย ฝั่งโน้นก็ฟังถนัด มีคำถามแล้ว

กระผมก็อยากจะเข้ามาถึงคำถามของผมเลยดีกว่า คุณสาครท่านพูดถึงเรื่องความต่างของความ รู้สึกจะเน้นถึงเรื่องของศาสนาด้วย แต่ยังไม่ได้พูดว่าศาสนาอะไร แล้วก็มีเรื่องของความเชื่อความอะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น ซึ่งท่านอาจารย์ได้กรุณาให้ข้อคิดว่า ศาสนาพุทธคือศาสนาผู้รู้ ผู้รู้อะไร? ผมก็ฟังมาถึงคำถามที่คุณสาครท่านถามถึงเรื่องว่า ถ้าถึงลักษณะของเมื่อรู้แล้วนี่ มันเป็นความคิดของผมต่อว่า รู้จักความจริงแล้ว เมื่อรู้จักความจริงแล้ว แต่จริงๆ ยังไม่ได้รู้จักความจริงลึกซึ้ง อย่างที่ว่ารู้ยิ่งนี่มันไม่ได้ลึกซึ้งขนาดนั้นสำหรับกระผมเอง ผมไม่ได้กล่าวพาดพิงไปถึงเราทั้งหมดที่อยู่ในห้องนี้ หรือใครก็แล้วแต่ที่เกี่ยวข้องกับการฟังธรรมมานาน

อย่างตัวกระผมเองนี้ รู้เลยว่า รู้จักความจริงนี่ก็รู้จากฟังเรื่องราวของพระพุทธองค์ที่ท่านตรัสสั่งสอน แล้วก็กราบเท้าท่านอาจารย์ที่ท่านได้กรุณา บุญคุณของท่านที่ให้เราได้มีโอกาสฟังในภาษาของเรา พื้นถิ่นของเรา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอีสาน หรือภาษาฝรั่ง หรือภาษาลาว อะไรก็แล้วแต่ แม้กระทั่งภาษาเวียดนาม ตอนนี้ก็มีเพื่อนเวียดนามอยู่ข้างหลังนั่นคือคุณหั่ง (Nguyen Thi Minh Hang) ก็ยังชื่นชมว่าท่านติดตามฟังภาษาไทย แล้วก็มีเพื่อนเวียดนามอีกท่านหนึ่ง คุณหั่งก็พยายามที่จะอธิบายเป็นภาษาเวียดนามให้อีกท่านหนึ่งฟัง ก็พยักเพยิดกัน ก็แสดงว่าเข้าใจในภาษาท้องถิ่นของเขา

อันนี้ ถ้าเผื่อสมมติว่า สมมติเพราะผมไม่ได้รู้จริงขนาดนั้นว่า ถ้าเผื่อรู้ความเป็นจริงแล้ว จะเป็นความดีอย่างไร? หรือว่า รู้แล้วก็ทำความดี ศึกษาพระธรรมและทำความดี ตรงนี้มันติดความรู้สึกของผมมานานแล้วว่ากระผมก็เป็นคนมีตัวตนอยู่เสมอ เมื่อรู้จักความจริงแล้ว การทำความดีนั้น มันเป็นความดีตรงไหน

ท่านอาจารย์ท่านก็บอกว่า มีเรื่องของความ "ละ" กับความ "ติด" ละอะไร? คุณสาครก็บอกว่าละความไม่รู้ ความไม่รู้นี้ละความไม่รู้อะไร ก็ความไม่รู้จักความจริงนั้น ความจริงที่ลึกซึ้งนั้นคืออย่างไร ก็ฟังเรื่องราวนี้ แล้วก็ถามว่า จริงๆ แล้ว "รู้จริงไหม?" ทุกคนก็อาจจะตอบว่าไม่รู้จริง อาจจะเป็นความไม่กล้า หรือจะอายที่ว่าจะไม่บอกว่ารู้จริงหรือว่าไม่รู้จริง ก็จริงๆ ก็ไม่รู้จริงๆ!!

เพราะฉะนั้น ก็ยังเป็นคนที่มีความโง่อยู่ เป็นชาวโง่อยู่นั่นแหละ แม้กระทั่งฟังธรรมมานาน ก็เป็นชาว มศพ. มาพอสมควร แต่ก็ยังเป็นไอ้โง่อยู่ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ ความดี หรือการศึกษาพระธรรมและทำความดี พอมาพูดอีกนิดหนึ่งคือว่า ละสิ่งที่ติด สิ่งที่ติดคือความไม่รู้ เพราะฉะนั้น ละสิ่งที่ติด ก็คือตัวตน เราเขา อะไรต่างๆ เหล่านี้ เป็นต้น

ผมก็เพียงเดาๆ ไม่ได้รู้จริงขนาดนั้น คิดเองว่า การไม่รู้ความจริง คือไม่รู้แม้กระทั่ง ความโกรธ เมื่อกี้คุณณภัทรพูดถึงเรื่องความโกรธ ความโกรธนี่เรารู้ทันทีว่าไม่ดี บางคนก็บอกว่าหยุดเสียอย่าโกรธเลย ละโกรธลงเสีย มันทำไม่ได้ หรือละรักก็ไม่ได้ ละชอบละรักก็ไม่ได้ สิ่งของที่รักหรือของของเรา หรือสามีภรรยา ลูก เราก็รักครอบครัวของเรา รักพวกพ้องเรา อยากจะทำอะไรให้เรา แล้วก็ให้พวกพ้องเรา แต่คนอื่นช่างไว้ก่อน จะทำให้ได้หรือไม่ได้ก็ไม่สำคัญ สำคัญเราหรือพวกพ้องเราก่อน

ความดีที่ว่านั้น กระผมจะสรุปได้ไหม จะผิดหรือถูก ท่านช่วยแก้ให้ด้วยว่า ถ้าเผื่อละความไม่ดีคือละสิ่งไม่ดีต่างๆ เช่น ละความไม่รู้ ความไม่รู้ ไม่รู้จักความจริง เพราะความจริงมีทั้งโกรธ ความโกรธไม่ดีแน่ จะละความโกรธได้อย่างไร ถ้าไม่รู้จักความจริงของความโกรธ ก็ละความโกรธไม่ได้ ละความไม่ดีไม่ได้ ตรงนี้เป็นตัวอย่างของความดีที่การศึกษาพระธรรมมาแล้วต้องทำความดี อย่างนี้หรือคือการทำความดี หรือว่า สิ่งนี้คือต่างจากศาสนาอื่น หรือความรู้ความเข้าใจศาสนาอื่น

ความเชื่อถือในการที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง แม้กระทั่งการปฏิบัติผิด เวลาคิด ผมก็จะคิดก้าวล่วงไปถึงเนปาล การทำห้องสุขา อะไรก็แล้วแต่ ผมคิดไปถึงตรงนั้นด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทางมูลนิธิฯ กราบเท้าท่านอาจารย์ที่ว่า การปฏิบัติ วิธีการปฏิบัติที่เลือกจะไปทำอะไรก็ตามนี่ ทำดีไหม อันนั้นน่ะทำไม่ดี เราคิดว่าอย่างนั้น ฟัง ผมคิดว่าอย่างนั้น

เพราะท่านอาจารย์บอกว่า การปฏิบัติ จะทำอะไรได้? ถ้าไม่เข้าใจความจริงแล้วจะไปปฏิบัติอะไร ทำอะไร ต่างๆ เหล่านี้ ผมก็เห็นทันทีว่า ตรงนั้นคือความไม่ดี ไปปฏิบัติธรรม แต่ทำให้เกิดไม่ได้ เพราะความจริงมันเกิดเดี๋ยวนี้แต่ไม่รู้ความจริงนี้ เพราะฉะนั้น มันก็ละความไม่รู้ความจริงนี้ไม่ได้

เมื่อละความไม่รู้ความจริงนี้ไม่ได้ ก็ติดในความไม่จริง เมื่อติดในความไม่จริง ก็จะมีทั้งโกรธ มีทั้งเรื่องราว มีเรื่องทุกข์ สารพัดต่างๆ แม้กระทั่งความไม่ค่อยสบายใจ ไม่ค่อยสบายกายขณะนี้ ก็รู้สึกว่า มันเป็นเพราะความไม่รู้ความจริงนั้น มันก็เลยกังวลกับเรื่องความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ

ก็กราบเท้าท่านอาจารย์ ในการสรุปคำถามของผมก็คือว่า เมื่อรู้ความจริงแล้ว มันดีเพียงแต่ว่า ทำให้ (ละความ) ไม่รู้ความจริงนั้น ใช่หรือเปล่า

ท่านอาจารย์ : นี่เป็นตัวอย่างที่ประเสริฐมาก ที่จะเห็นความจริง เพราะว่าทั้งหมดที่คุณวีระกล่าว จริงทุกอย่าง เกิดขึ้นแล้วกับคุณวีระ ใช่ไหม ไม่อย่างนั้นก็จะพูดอย่างนี้ไม่ได้

เพราะฉะนั้น คุณวีระเริ่มรู้ว่า โง่..ไม่รู้ความจริง ... มากแค่ไหน แล้วทุกคนจะรู้ความจริงอย่างนี้ไหม เดี๋ยวนี้แท้ๆ ก็ยังไม่รู้ ฟังเท่าไหร่ก็ยังไม่รู้ ความเป็นตัวตน หนาแน่น มากมหาศาล เพราะฉะนั้น มากมหาศาลนี่ละไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เห็นว่า ทั้งลึก ทั้งเหนียว ทั้งหนา ทั้งแน่น ทั้งมหาศาล ที่สะสมมา เพียงแต่เริ่มได้ยินได้ฟังคำที่จะต้องไตร่ตรองว่า มีผู้ที่ตรัสรู้ความจริง แล้วความจริง เราไปแสวงหาที่อื่นมามาก (ว่า) อะไรจริง แต่ท่านผู้นั้นที่ตรัสรู้ตรัสว่า ขณะนี้เองจริง ทุกคนไม่รู้ "ขณะนี้" หรือใครรู้?

เพราะฉะนั้น เป็นผู้ตรงที่จะรู้ว่า ความไม่รู้นี้มหาศาล หวังที่จะไม่โกรธ ได้ไหม? ในเมื่อยังไม่รู้ความจริงเลยสักนิดหนึ่ง ว่า "ความโกรธ" คืออะไร แต่ความโกรธ "เป็นเรา" แล้ว!! เห็นไหม ทันทีเลย!! เพราะไม่รู้มานานเท่าไหร่ แล้วก็ยังมี "ความหวัง" ที่จะไม่โกรธอีก!! เพิ่ม "ความเป็นเรา" แค่ไหน โดยไม่รู้ตัวเลย

เพราะฉะนั้น ฟังคำที่ลึกซึ้ง ที่ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว แม้แต่คำว่า "ธรรม" ก็ลึกซึ้งอย่างยิ่ง!! เพราะเหตุว่า มีจริง!! แต่เมื่อไม่รู้ว่าความจริงนั้นคืออะไร ก็ยังคงต้อง "เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด" และ "เป็นเรา" แล้วก็ "เป็นเขา" ด้วย!! เขาโกรธหรือเปล่า? มีแน่นอน เราก็โกรธ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ จึงเป็นที่พึ่ง ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริง หวังเพียงจะไม่โกรธ ไม่มีทางสำเร็จได้!!

เพราะ ก่อนอื่น ต้องรู้ว่า "ไม่มีเรา" แน่นอน!! แต่ที่ไม่ใช่เรา ก็คือ ความไม่ดีมากมายมหาศาล ไม่ใช่แค่ว่าความไม่ดีมหาศาลไม่ใช่เรา แต่ความไม่ดีมหาศาลและลึกแค่ไหนของความไม่รู้ ซึ่งทำให้เกิดความติดข้อง ติดข้อง ไม่ใช่ติดข้องมากมาย แต่แม้เพียงนิดเดียวว่า "นี่อะไร" แค่นั้นก็ติดข้องแล้ว เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว!! ใช่ไหม เพียงได้ยินเสียงแค่นั้น "เสียงอะไร" เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ที่ต้องการจะรู้ว่า นั่นเสียงอะไร แต่ความจริงคือ หมดแล้ว!!

แล้วยังไปติดใจ คิดถึง อยากรู้แม้เพียงว่า เสียงอะไร? นั่นแค่ "ความอยาก" นิดหน่อย ที่จะรู้ว่าเสียงอะไร แต่ถ้ามากกว่านั้นอีกล่ะ นี่คือความมหาศาลของความไม่รู้และกิเลส ที่เกิดจากความไม่รู้ แล้วเราเพียงหวังว่าจะไม่โกรธ เป็นไปได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น ความเคารพจริงๆ ในผู้ที่ทรงตรัสรู้ก็คือว่า คำของพระองค์เป็นจริงที่ว่า ตราบใดที่ยังไม่รู้ ละอะไรไม่ได้ เพราะไม่รู้จึงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดและเป็นเรา และ "ความอยาก" ก็ "เราอยากไม่มีสิ่งนั้น" เพราะไม่รู้ ก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ แต่ถ้ารู้นิดหนึ่ง ละความไม่รู้นิดหนึ่ง นั่นคือละวาง ซึ่งเป็นหนทางที่ลึกซึ้ง เพราะเป็น อริยสัจจธรรม เป็น มรรค ความเห็นถูก ซึ่งเป็นมรรคหนึ่งในองค์ ๘ ที่จะทำให้รู้ความจริง

เพราะฉะนั้น คนเผินๆ ก็ไปแสวงหามรรค จะทำความเห็นให้ถูกต้อง เพื่อที่จะได้อบรมเจริญมรรค แต่หารู้ไม่ว่า เดี๋ยวนี้นี่แหละ ความที่จะไม่ไปเป็นเราอีก ก็ค่อยๆ เข้าใจว่า ความจริงมี เกิดแล้วด้วย ไม่มีใครไปทำให้เกิดขึ้น และก็หมดแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ไปติดข้องในสิ่งที่ไม่มี ความไม่รู้ระดับไหน ติดข้องในสิ่งที่ไม่มีแล้ว ว่ายังมีอยู่ ยังเป็นเรา ยังเป็นเขา ยังเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ มหาศาลแค่ไหน ในการที่ไม่รู้ความจริง แล้วหวังว่าจะไม่มีกิเลส หวังว่าจะดับกิเลส หวังว่าจะไม่โกรธ หวังที่จะเป็นคนดี หวังที่จะทำดีและศึกษาพระธรรม

เพราะฉะนั้น คนที่มีความละเอียด จะเข้าใจถูกต้องในแต่ละคำ ซึ่งถ้าไม่ละเอียด เข้าใจผิดทันที "ทำดี" อยากทำแล้ว!! แต่ยังไม่รู้ว่า ดีคืออะไร? และ ดีแค่ไหน? ขณะที่ยังไม่รู้ความจริงว่า เห็นมี เกิดแล้วดับ ดีหรือไม่ดี? ได้ยินขณะนี้เกิดแล้วดับ นี่คือความจริง ถ้ายังไม่รู้ ดีหรือไม่ดี? แล้วจะไปละชั่ว โดยไม่รู้ความจริง จะละอะไรได้ ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มี (แต่) ไม่รู้ จึงเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ใช้คำว่า "อัตตา"

แต่ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ต้องไตร่ตรองลึกซึ้ง..จนมั่นคง" ธรรมคือสิ่งที่มีจริง เป็น "อนัตตา" ไม่ใช่ใครทั้งสิ้น นกเห็น งูเห็น คนเห็น เอารูปร่างออกหมด "เห็น" เป็น "เห็น" เห็นจะเป็นอะไรไม่ได้!! แล้ว "เห็น" ก็ไม่เที่ยง ไม่ได้เห็นตลอดไป แค่ "เห็น" เกิดขึ้น เพราะไม่รู้!! จึงยินดีติดข้อง ในสิ่งที่เห็น และเพราะขณะที่เห็นนั้นไม่มีใครเลยทั้งสิ้น แต่เป็น "ธาตุรู้" เมื่อไม่รู้ จึงเป็น "เรารู้" เพราะไม่รู้ความจริงว่า "เป็นแค่ธรรม" ที่มีปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับไป หมดปัจจัยเมื่อไหร่ จะไม่มีธรรมเกิดขึ้นได้เลย

เพราะฉะนั้น ถ้าตราบใดยังไม่เห็นว่าขณะนี้เป็นธรรมทั้งหมด แต่ละหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยเกิดขึ้นและดับไป เร็วสุดที่จะประมาณได้ และกว่าจะรู้อย่างนี้ได้ ที่จะค่อยๆ รู้ว่าไม่ใช่เราก่อน เพราะความไม่รู้ทั้งหมด นำมาซึ่งความไม่ดีทั้งหมด หมดแล้วก็ยังไปติดใจ หรือว่า ถ้าเป็นความขุ่นเคือง ก็ยังขุ่นใจอยู่นั่นแหละ!!

เขาว่าเราเมื่ออาทิตย์ก่อน ก็ยังคิดถึง ยังโกรธ มีอะไรที่ดีบ้าง? ความโกรธดีไหม? ความไม่รู้ดีไหม? ไม่มีอะไรเลย ก็เก็บขยะไว้ โกรธต่อไป มีแต่ขยะทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่าเป็นขยะ จึงเก็บไว้ เก็บไว้ เก็บไว้ แล้วก็เพิ่มอีก เพิ่มอีก เพิ่มอีก!!

เพราะฉะนั้น ความไม่รู้นี่แหละ ต้องหมดก่อน!! แต่ "ตามลำดับขั้น" ไม่รู้ว่าไม่ใช่เรา!! ถ้าตราบใดยังไม่หมด ไม่มีทางละ!! เพราะความจริงคือไม่ใช่เรา ก็ยังไม่รู้ บรมโง่!! ฟังเท่าไหร่ แต่ว่าสะสมความไม่รู้มานานเท่าไหร่ กว่าจะมั่นคงแม้เพียงเริ่ม ชีวิตประจำวัน รู้ได้เลย ไม่มีเรา "ใครว่าเรา" ว่าใคร? ไม่มีเรา!! "ได้ยิน" ดับแล้ว!! "คิด" ดับแล้ว!! ไร้สาระ!! ที่จะไปกังวลถึงสิ่งที่ไม่มีแล้ว!! แล้วก็ยังมาเกิดโทษคือความขุ่นเคืองใจต่างๆ

นี่เป็นการรู้ความจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมด เกิดแล้วดับหมด!! ไม่เหลือเลย ความไม่รู้ก็ยังจำไว้ เป็นเรา หาทางต่างๆ ที่จะไม่โกรธ ที่จะอะไร เพราะฉะนั้น ทั้งหมดจะค่อยๆ ละไปได้ วางลงไปได้ ต่อเมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง!!

เพราะฉะนั้น หนทางของ อริยสัจจธรรมที่ ๔ ก็คือการรู้ความลึกซึ้งของธรรม แล้วก็เริ่มรู้ว่า ไม่สามารถที่จะหมดสิ้นไปได้ โดยไม่ค่อยๆ เข้าใจความจริง ซึ่งเป็นความเห็นถูก แล้วจะรู้ได้ว่าก่อนฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่เคยมีความคิดอย่างนี้เลย ที่จะรู้ว่า ขยะทั้งนั้นเลย!! วันนี้เก็บขยะเท่าไหร่แล้ว? ใครรู้บ้าง? ทางตา เห็น-ชอบ ขยะหรือเปล่า? ชอบอะไร? หมดแล้ว!! ไม่เหลือ แต่ยังชอบอยู่ ยังคิดถึงอยู่ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ เกิดแล้ว ดับแล้ว แต่ก็ยังเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะคิดว่ายังอยู่ ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ที่ไม่มีเราก็คือว่า สิ่งหนึ่งสิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับ ใช้คำว่า "ดับ" ไม่เหลือเลย ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งนั้นดับ ไม่กลับมาอีกเลย ในสังสารวัฏฏ์ หาอีกไม่ได้เลย แต่ความไม่รู้ ก็ยังเก็บไว้ เอาขยะมาใส่ เก็บขยะไว้หมดเลย

เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจริงๆ เริ่มทิ้งขยะ!! ไม่มีสาระเลย!! ใครว่าเรา ใครโกรธเรา เขาไม่ดีใช่ไหม? อกุศลใช่ไหม? อกุศลเป็นความไม่ดี เขาว่าเรา ถ้าเราโกรธเขา เราไม่ดีทันที!! แต่ถ้าเขาว่าไปสิ เราไม่เดือดร้อน เราไม่มีความไม่ดีที่จะไปเดือดร้อนตามที่เขามาว่า สบายไหม? ค่อยๆ ละ!! เพราะรู้!! แต่ว่ายังไม่ถึงที่สุด จนกว่าจะประจักษ์แจ้งอริยสัจจธรรมที่ ๔ ทั้ง ๔ ขณะนี้ อย่าไปหาหนทางเลย กำลังเข้าใจนี่แหละ หนทางที่แท้จริง ซึ่งไม่ใช่เรา แต่เป็นความเข้าใจ ทีละเล็ก ทีละน้อย ที่มั่นคง ไม่ใช่มีเราไปทำ!!

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดการที่จะเป็นเราขึ้นมา ความเข้าใจว่า ไม่ใช่ความรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นไม่มีแล้ว ไม่มีอะไรเลย หมดแล้ว!! แล้วก็มีปัจจัยเกิดอีก ไม่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังมีเหตุที่จะให้เกิด ใครยับยั้งไม่ได้!! นี่เป็นเหตุของความไม่รู้ที่สะสมมา

แต่ถ้าเป็นเหตุของความรู้ ซึ่งค่อยๆ สะสม ยากแสนยาก ท่ามกลางอกุศล เห็นโทษว่าอกุศลแม้เพียงขณะเดียว น้อยสักเท่าไหร่ แต่น้อยนี่แหละ!! ทีละนิด ทีละหน่อย ทีละนิด ทีละหน่อย จนมากมหาศาล ปรากฏให้รู้ว่า ทำไมมากมายอย่างนี้ ไม่มีวันจบ คิดแล้ว คิดอีก ไม่เลิกคิดสักที ในเรื่องอกุศลทั้งหลาย เห็นโทษจริงๆ เพราะความไม่รู้ จึงทำให้เป็นอกุศล ด้วยความไม่รู้

แต่ถ้ามีความรู้เกิดขึ้น ชีวิตประจำวัน เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ความรู้ไม่ใช่ไปรู้ขณะอื่น!! ไม่ใช่ไปพยายามทำให้รู้สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี่แหละ ถ้าไม่รู้ ไม่มีวันจะรู้!! เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เกิดแล้ว!! ตราบใดที่ยังไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้ ไม่มีวันจะรู้ความจริงได้ ค่อยๆ ละความไม่รู้ นี่คือหนทางที่จะละ อริยสัจจะที่ ๒

เพราะฉะนั้น หนทางนี้ละเอียดมาก ลึกซึ้งมาก ทั้ง ๔ อริยสัจจะ ลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น หนทางที่จะละ ลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าต้องไปทำอะไรเลย แต่เข้าใจหนทางจริงๆ ว่า ความเข้าใจถูก ทีละเล็ก ทีละน้อย นี่แหละ มั่นคงขึ้น!! ทำให้ชีวิตประจำวัน แสดงชัดว่า มากอย่างเดิมหรือเปล่า สิ่งที่เกิดขึ้น ที่สะสมมามากๆ เกิดให้เห็นแล้ว รู้ไหม? ถ้ายังไม่รู้ก็คือว่า ความเข้าใจ ยังไม่พอ ไม่ต้องไปหาอะไรมาเป็นเครื่องวัดทั้งสิ้น!! แต่สิ่งที่มีในชีวิตทุกขณะนี้แหละ เป็นเครื่องวัด!!

ไม่ต้องถามใคร ถูกไหม หนทางนี้ทำอย่างไร ไม่ใช่!! แต่เป็นหนทางที่ได้ฟังแล้วไตร่ตรอง แล้วค่อยๆ เข้าใจ จนกระทั่งขณะที่เข้าใจนั้น ละ วาง หนทางผิด ทีละน้อย

เพราะฉะนั้น ละความหวังใช่ไหม ว่าจะไม่โกรธแล้ว เป็นไปไม่ได้!! โกรธก็โกรธ ตามเหตุ ตามปัจจัย แต่ปัญญานั้นแหละ สามารถจะค่อยๆ รู้สิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ทีละเล็ก ทีละน้อย ตามปัจจัยที่มี ว่ามากน้อยแค่ไหน แล้วเห็นความจริงโดยตลอด ทำให้ "เลิกหวัง" ไม่ต้องไปหวังว่าจะหมดเมื่อไหร่ เพราะมากมายมหาศาล

เพราะฉะนั้น โผล่ออกมาแต่ละหนึ่งขณะ เช่น เดี๋ยวนี้ เป็นต้น เครื่องวัดมาแล้ว!! รู้ไหม? ถ้ายังไม่รู้ อีกนานเท่าไหร่? แม้ขณะนี้ก็ยังไม่รู้ แล้วความไม่รู้นี้ละเอียดมาก ตามลำดับขั้น ปริยัติ คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจแค่ไหน แม้แต่คำว่า "ธรรม" โน่นก็ยังเป็นนี่ นี่ก็ยังเป็นโน่น แล้วไหนธรรม? จนกว่า ทุกอย่างมีจริง เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป นั่นแหละธรรม

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ก็เพื่อให้รู้จักธรรม แล้วจึงรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนที่ไม่รู้จักธรรม รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? ไม่มีทางเลย!! จนกว่าเริ่มรู้จักธรรม จึงเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

แล้วก็รู้คุณยิ่งขึ้น ในการที่สามารถให้รู้สิ่งที่ลึกซึ้งอย่างนี้ เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้น ก็ไม่รู้ ไม่เคยคิด เพราะว่าทุกวันนี่ไปคิดถึงสิ่งที่ปรากฏด้วยความชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง คิดโน่น คิดนี่ บ้าง จะทำอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง ตลอด แต่หารู้ไม่ว่า ขณะนั้น หมด!! เพียงเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เป็น "เรื่อง" ไปตลอด ตลอดชีวิต!!

แล้วข้อสำคัญที่สุด จากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ได้ทั้งสิ้น แล้วจะไปด้วยความไม่รู้อย่างนี้ ไปด้วยความติดข้องเพิ่มขึ้นอย่างนี้ ฟังด้วยความอยากจะหมดความไม่รู้อย่างนี้ มันไม่ใช่ มันต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก ที่จะค่อยๆ รู้ความลึกซึ้งเมื่อไหร่ จึงเริ่มรู้จักธรรมเมื่อนั้น

ไม่ใช่ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม รู้แล้ว นั่นไม่ใช่ แต่ธรรมลึกซึ้ง เดี๋ยวนี้ไงล่ะ รู้ไหม? ทำไมไม่รู้ เพราะลึกซึ้ง เกิดจริงๆ ดับจริงๆ ใครว่าไม่เกิดไม่ดับ แต่ว่าไม่รู้!!

เพราะฉะนั้น ความรู้ ประเสริฐสักแค่ไหน ค่อยๆ ตรงตามความเป็นจริง จนสามารถถึงการประจักษ์แจ้งได้ ด้วยการค่อยๆ ละความไม่รู้ วางความไม่รู้ ไม่ใช่ไปทำละ ทำวาง หรือคิดละ คิดวาง นั่นไม่ใช่หนทางเลย!! หนทางคือขณะนี้เอง ที่เริ่มเข้าใจความจริง สัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ของสิ่งที่มีจริงๆ นี่คือหนทางละ!! หนทางเดียว!!

อ.ธิดารัตน์ : ถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีปัญญาที่เข้าใจในคำสอน จะเห็นถึงความลึกซึ้ง แล้วก็จะเข้าใจถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้เข้าใจ "ลักษณะของธรรม" ได้อย่างไร

เพราะฉะนั้น จะเริ่มค่อยๆ รู้จักพระพุทธเจ้า หรือว่ารู้คุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเข้าใจธรรม และธรรมตัวจริงๆ ในชีวิตประจำวันมีอยู่ แต่ลึกซึ้งจริงๆ เพราะฉะนั้น สัจจะ ที่เป็นทุกขสัจจะ แม้มีอยู่ (ก็) ลึกซึ้งและเห็นได้ยาก รวมทั้งโลภะหรือว่าสมุทัยด้วย

ท่านอาจารย์คะ ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงโดยนัยของความลึกซึ้งนี่ แม้กระทั่ง ๒ สัจจะแรก ซึ่งมีในชีวิตประจำวัน แต่ยังลึกซึ้งเพราะปัญญายังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ แล้วก็เมื่อกี้อาจารย์วีระก็มากล่าวถึง ๓ อย่าง โดยนัยของ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ แล้วก็ยังมีอริยสัจ ๔ เป็นไปใน ๓ รอบของปัญญา จะเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรคะท่านอาจารย์ ในสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ หรือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ที่เป็นไปในสัจจะ

ท่านอาจารย์ : ขณะนี้ มีอะไรหรือเปล่า?

อ.ธิดารัตน์ : จริงๆ ก็ต้องมีธรรมตัวจริงๆ แล้วก็มีการคิดเรื่องราวด้วย

ท่านอาจารย์ : ถ้าไม่เกิดจะมีไหม?

อ.ธิดารัตน์ : ไม่มีค่ะ ถ้าไม่เกิด ก็ไม่ปรากฏ

ท่านอาจารย์ : ประจักษ์การเกิดดับหรือยัง?

อ.ธิดารัตน์ : ยังค่ะ

ท่านอาจารย์ : ก็ไม่ใช่ปฏิเวธ

อ.ธิดารัตน์ : หมายถึงว่าขั้นสัจจญาณน่ะค่ะ ท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ : ขั้นสัจจญาณ ก็คือว่า ต้องรอบรู้ในอริยสัจทั้ง ๔

อ.ธิดารัตน์ : แม้กระทั่งขั้นสัจจญาณ ที่ปัญญาจะเข้าใจชัดจริงๆ คงไม่ใช่แค่เพียงศึกษา เข้าใจ นิดๆ หน่อยๆ จะมีความลึกซึ้งอย่างไร

ท่านอาจารย์ : ข้อสำคัญที่สุด ดูเหมือนจะเป็นเรา ใช่ไหม?

อ.ธิดารัตน์ : ตรงนี้มีอยู่แล้วค่ะ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นธรรม แต่ละหนึ่ง "สติ" เคยได้ยินไหมคำนี้ เป็นปัญญาหรือเปล่า?

อ.ธิดารัตน์ : ไม่ใช่ค่ะ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสติ ที่จะเข้าใจ ระลึกรู้ สิ่งที่กำลังเป็นอย่างนั้น จะรู้ไหม?

อ.ธิดารัตน์ : ถ้าไม่สติ ปัญญาก็เกิดไม่ได้อยู่แล้ว

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ลักษณะของธรรม อย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นสติ คือ อะไร?

อ.ธิดารัตน์ : ถ้าตามการศึกษา ก็คือ สภาพที่ระลึกได้ แล้วก็ต้องเป็นไปในกุศลด้วย เพราะฉะนั้น แม้แต่สติ ก็ลึกซึ้งอีก เพราะว่า แม้ขั้นทานขั้นศีล ก็สติ แต่ลักษณะเขาก็ไม่ได้ปรากฏ ท่านถึงกล่าวว่า จะมีกำลัง ในขณะที่เป็น "สติปัฏฐาน"

ท่านอาจารย์ : ยังไม่ถึงสติปัฏฐาน สติเท่านั้น

อ.ธิดารัตน์ : ค่ะ อันนี้ ก็เริ่มเป็นขั้นเข้าใจค่ะ ขั้นเข้าใจปริยัติ ก็ต้องมีสติ

ท่านอาจารย์ : เพราะฉะนั้น ได้ยินคำนี้ รู้หรือยัง? เข้าใจหรือยัง? หรือ แค่ได้ยินว่า "สติ"

อ.ธิดารัตน์ : เข้าใจชื่อ เข้าใจเรื่อง ก่อนค่ะ

ท่านอาจารย์ : ได้ยินคำว่าสติ ยังเข้าใจชื่อเข้าใจเรื่องยังไม่ได้

อ.ธิดารัตน์ : ยังไม่เข้าใจ เพราะว่าตัวจริงเขายังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง

ท่านอาจารย์ : ค่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินคำว่า "สติ" รู้หรือยัง?

อ.ธิดารัตน์ : ก็..ยังไม่รู้จักตัวจริงๆ ของสติ

ท่านอาจารย์ : เพียงได้ยินใช่ไหม? เพราะฉะนั้น บางคนก็บอกว่า เดินดีๆ นะ ข้ามถนนดีๆ นะ ต้องมีสตินะ ไม่อย่างนั้นจะถูกรถชน เขารู้จักสติหรือเปล่า?

อ.ธิดารัตน์ : ตรงนี้ไม่รู้เลย เขาก็ยิ่งไม่รู้เลย ถ้าพูดแบบนี้

ท่านอาจารย์ : เพราะเพียงได้ยินคำว่าสติ แต่ยังไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ก็เป็นความต่างกันแล้วที่จะไม่ประมาท ทุกคนใช้คำว่าสติ แต่ไม่รู้จักสติ จนกว่าจะรูู้ว่าสติคืออะไร มีจริงๆ เมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า เดินไปนี่ ถือแก้วน้ำระวังนะ อย่าให้หก ถ้าไม่มีสติน้ำก็จะหก อย่างนั้นใช่ไหม? ไม่ใช่ เพราะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ได้คิดเอาเอง ว่าสติคืออะไร

แต่ "สติ" เป็นธรรมฝ่ายดี ระลึกเป็นไปในธรรมฝ่ายดี เช่น? ... เห็นไหม ฟังแค่นี้ แล้วเราจะไปคิดเอง เข้าใจเองนี่ยาก แต่ต้องไตร่ตรองละเอียดขึ้น เช่น ได้ยินคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ยินคำว่าธรรม สติเกิดหรือเปล่า?

อ.ธิดารัตน์ : ถ้าเพียงแค่ได้ยินคำ แต่ไม่ได้มีความเคารพ หรือมีศรัทธา หรือมีกุศล ก็ไม่มีสติค่ะ

ท่านอาจารย์ : นี่คือความไม่ประมาท ไม่ใช่คิดเอง แต่ต้องรู้ว่า ขณะใดก็ตามที่มีความระลึกเป็นไปในกุศล ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่เกิด จิตเป็นกุศลไม่ได้ แค่นี้ก็ยังห่างไกล กับลักษณะของสติ ที่เป็นตัว "สติสัมปชัญญะ" ที่จะเป็น "สติปัฏฐาน"

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่า พอได้ยินสติ ก็เป็นสติปัฏฐานไปเลย ต้องอาศัยการฟังอย่างละเอียดอย่างยิ่ง จึงจะรู้ว่า ขณะใดเป็นสติ "ขั้นฟัง" เห็นไหม แม้ตัวสติจริงๆ ก็ยังไม่ได้ปรากฏ แต่เริ่มรู้ว่า สติคืออะไร ไม่ใช่ความโลภหรือความติดข้อง แต่เป็นธรรมที่ฟังแล้ว ระลึกเป็นไปในกุศล

เพราะฉะนั้น ทุกครั้ง ที่รู้ว่า นี่เป็นคำ ของผู้ที่ได้ตรัสรู้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรือเปล่า? เป็นสติไหม? ที่ระลึกแล้ว นี่เป็นคำของผู้ที่ได้ทรงตรัสรู้ เป็นสติ แม้ยังไม่รู้ว่าตรัสว่าอย่างไร แต่ก็เริ่มเข้าใจถูกต้องว่า นี่เป็นคำที่พูดถึงสิ่งที่มีจริง เป็นคำของผู้ที่ตรัสรู้ จึงกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงได้

นี่ค่ะ เป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลย ไม่คิดว่ารู้แล้ว ประจักษ์แล้ว อย่างนั้น อย่างนี้ แต่แม้แต่เพียงคำเดียว ก็ไม่ประมาท!! ว่าความไม่รู้นี่ ไม่รู้เลย มากมายมหาศาล แล้วพอได้ยินคำไหน คิดเองเสียมาก ซึ่งไม่มีทางที่จะถูกต้องได้!!


ขอเชิญติดตามบันทึกการสนทนาธรรมครั้งนี้ ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :


ขอเชิญติดตามกระทู้ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง :

- ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ไปสนทนาธรรมที่บ้านคุณทองเส็ง พลศิริ เวียงจันทน์ สปป. ลาว ๑๔ ม.ค.๖๗


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ไพรศรี
วันที่ 21 ม.ค. 2567

กราบอนุโมทนา สาธุครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ม.ค. 2567

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chvj
วันที่ 30 ม.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 24 ต.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ