ธรรมเป็นธรรม และเป็นวินัย
สนทนาปัญหาธรรม วันอังคารที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๗
อ.วิชัย: ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงเรื่องของ ทางรอด ครับ การที่จะค่อยๆ พ้นจากอกุศล แล้วเมื่อวานนี้ก็ได้พูดถึงเรื่องของ พระธรรมที่เป็นศาสดา ครับ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกด้วยการ ทรงแสดงธรรม และทรงแสดงวินัยด้วย ครับ และเรื่องของการที่จะค่อยๆ รอดพ้นที่จะนำอกุศลออกไป ก็มีทั้งที่เป็นวินัยบัญญัติของพระภิกษุ และก็ธรรมที่จะเป็นเหตุให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นที่จะรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งท่านอาจารย์ได้กล่าว หนทางรอด ก็คือการอบรมเจริญปัญญาที่จะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงครับ
ประเด็นที่จะกราบเรียนสนทนา ก็คือในส่วนของ พระวินัย อย่างความหมายของ คำว่า วินัยยะ หมายถึงธรรมเครื่องนำอกุศลออกไป ซึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็จะทรงบัญญัติสิกขาบทไว้เป็นอันมากที่จะเป็นเหตุให้พระภิกษุทั้งหลายได้ศึกษา ซึ่งมีโอกาสได้ศึกษาก็ไม่ใช่เป็นประโยชน์ได้เฉพาะพระภิกษุ ก็เป็นเหตุให้คฤหัสถ์ที่มีโอกาสได้ศึกษา ก็สามารถที่จะพิจารณาเห็นถึงอกุศลที่เป็นไปทางกาย วาจา มากขึ้น ครับ
อย่างการศึกษาพระวินัยบัญญัติ หรือสิกขาบทของพระภิกษุ ก็จะแสดงความละเอียดถึงความประพฤติว่า สิ่งใดควรสิ่งใดไม่ควร อย่างเช่น ภิกษุที่เอ่ยปากขอจีวร ทั้งที่ยังไม่มีเหตุสมควรซึ่งขอกับที่ไม่ใช่ญาติ หรือปาวารนา ให้ความพอใจหรือต้องการนี่ครับ พระองค์ก็ทรงแสดงว่า การแสดงสิ่งนั้นเป็นโทษ ดังนั้น การที่จะค่อยๆ ศึกษาสิกขาบทซึ่งมีมากมายครับ ที่เป็นเหตุให้ค่อยๆ พ้นที่กล่าวว่าเป็นเบื้องต้นไหมครับที่จะมีกุศลเจริญขึ้น และก็เป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ความเป็นจริงของสภาพธรรมครับ
ท่านอาจารย์: ๔๕ พรรษา คิดดูนะ เรื่องของกาย วาจา ใจ เรื่องของธรรมทั้งหมดที่ถูกปกปิดไว้ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้เลย เพราะความไม่รู้เกิดในชีวิตประจำวันมหาศาลทุกวัน เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สัตว์โลกจะออกไปจากความไม่ดี ความมืด ความไม่รู้ นี้ได้ไหม? ไม่รู้สักอย่างจึงเป็นอย่างนี้ทั้งกาย ทั้งวาจา และใจ
เพราะฉะนั้น พระวินัยบัญญัติเฉพาะพระภิกษุเท่านั้นหรือ? หรือว่าคฤห้สถ์ก็สามารถจะประพฤติปฏิบัติตาม ขัดเกลากิเลสของตนได้ ไม่ใช่ว่าห้ามคฤหัสถ์ทำ แต่ว่าถ้าบรรพชิตไม่ทำไม่สามารถที่จะเป็นบรรพชิตได้อีกต่อไป เพราะว่า ไม่ประพฤติขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิต นี่ก็แสดงความต่างกันนะ แต่ความมุ่งหมาย ก็คือว่าความเข้าใจถูกที่สามารถจะขจัดกิเลสได้โดยสภาพของการสะสมของแต่ละคนซึ่งสามารถจะมีความเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง เห็นโทษของอกุศลที่สะสมมามากมายมหาศาล ไม่ใช่ของคนอื่นที่จะไปนั่งคิด แต่ตัวเองเคยรู้ไหมว่า ไม่ได้ต่างกันกับใครทั้งสิ้น เพราะว่า แต่ละคนก็เป็นการสะสมสืบต่อของความไม่รู้ จนกระทั่งไม่สามารถที่จะรู้ความจริงเดี๋ยวนี้ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดง
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปคิดว่า คฤหัสถ์ก็ไม่ต้องทำตามพระวินัย สำหรับบรรพชิตเท่านั้น แต่ลองอ่านดูซิ ประโยชน์ไหม สำหรับที่จะให้เห็นความมากมายหนาแน่น ด้วยกิเลสทั้งวัน ซึ่งสามารถรู้ได้ทางกาย และทางวาจา ควรขัดเกลาไหม?
เพราะฉะนั้น ความต่างก็คือว่า ผู้ที่เห็นการที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่างหมด แม้แต่บ้านช่อง วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ ชื่อเสียง อะไรทั้งหมด เพื่อละความติดข้องโดยการประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามพระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้ว่า เมื่อสละละอาคารบ้านเรือนแล้ว เป็นเพศที่แสดงว่า หมดความติดข้องกังวลในการที่จะคลุกคลีกับพี่น้องเพื่อนฝูงต่อไป ก็คือจะต้องประพฤติปฏิบัติอย่างไร จึงจะสมควรแก่เพศบรรชิต ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติอย่างนั้น ก็เป็นเพศคฤหัสถ์ซิ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ประพฤติตามก็เป็นพระภิกษุต่อไปไม่ได้ ก็ต้องลาสิกขา เพราะอะไร? เพราะเป็นโทษอย่างยิ่งแก่ผู้นั้นโดยไม่รู้ตัวเลยว่า ที่ให้ออกไปนั้นจะได้ไม่เป็นโทษ ถ้าพ้นจากความเป็นภิกษุแล้ว อาบัติทั้งหลายก็หมด เพราะว่าไม่ได้เป็นภิกษุต่อไปแล้ว แต่ถ้าบวชอีก ต้องอาบัติทั้งหลายที่ทำไว้ ก็ต้องคืนมาเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยตามวินัยบัญญัติที่ต้องศึกษาโดยละเอียดอย่างยิ่ง
เพราะการขัดเกลากิเลสเป็นได้ทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต แต่ถ้าจะเป็นบรรพชิตประพฤติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องละเอียดปานใด ไม่ศึกษาให้เข้าใจไม่ได้ เป็นโทษอย่างยิ่ง
เพราะฉะนั้น ก็คือว่า ไม่ต้องแยก นอกจาก ธรรมเป็นธรรม และเป็นวินัย แต่ที่เป็นเพศบรรพชิต ต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยบัญญัติ ส่วนคฤหัสถ์ก็ขจัดขัดเกลากิเลสเท่าที่จะเห็นว่า สิ่งใดจะกระทำได้
เพราะฉะนั้น ลองอ่านพระวินัย และรู้ว่า สิ่งใดทำได้ ไม่ได้ห้ามเลย ทำเลย เป็นสิ่งที่งดงามมาก เช่น การขอ แม้คฤหัสถ์ ลองคิดดีๆ นะ ควรขอใครไหม? ไม่ใช่ว่าไม่ใช่พระภิกษุก็ควรขอไปเรื่อยๆ
อ.วิชัย: ครับท่านอาจารย์ นั่นคือความปราถนา ความต้องการ
ขอเชิญอ่านเพิ่มได้ที่ ...
แม้คฤหัสถ์ก็ควรเข้าใจพระวินัยด้วย
พระภิกษุขัดเกลากิเลส ยิ่งกว่าเพศคฤหัสถ์
ขอเชิญฟังได้ที่ ...
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ