จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
ท่านอาจารย์ ดูเสมือนเกิดมาโดยปราศจากกรรมในอดีต จึงมีความเป็นตัวตน ซึ่งสามารถจะกระทำอย่างนั้นก็ได้ อย่างนี้ก็ได้ แต่อย่าลืมว่า กรรมในอดีตนี้มากมายนับไม่ถ้วนที่ได้กระทำแล้ว แล้วก็ไม่ใช่จะมีแต่กุศลกรรมอย่างเดียว หรือไม่ใช่จะมีแต่อกุศลกรรมอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อมีทั้งกรรมในอดีต ที่เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เมื่อได้ปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นผลของกรรมใด วิบากประเภทนั้นก็เกิดขึ้น อย่าลืมนะคะ เมื่อได้ปัจจัยของกรรมใด ที่จะให้วิบากประเภทใดเกิดขึ้น วิบากประเภทนั้นก็เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่เรา แต่ว่ากรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เมื่อได้ปัจจัยของกรรมใด ที่จะให้วิบากใดเกิดขึ้นทางทวารไหน วิบากนั้นก็เกิดขึ้นทางทวารนั้น
ตั้งแต่ปฏิสนธิ บังคับได้ไหมคะ ปฏิสนธิบังคับไม่ได้ ฉันใด ทุกขณะที่เกิดขึ้นก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิด ฉันนั้น เพราะเหตุว่าเมื่อปฏิสนธิเกิดขึ้นเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม แล้วยังมีกรรมในอดีตที่พร้อมที่จะให้ผลอีกตลอดในชีวิตนี้ และในชาติต่อๆ ไปด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ได้กระทำกรรมไว้เลย มีกรรมพร้อมที่จะให้วิบากจิตเกิดในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไปด้วย
เพราะฉะนั้นการศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด จึงเป็นเหตุที่จะให้เข้าใจได้ว่า ขณะใดเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว และขณะใดเป็นกรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า นี่เป็นประโยชน์ในการรู้เรื่องชาติของจิต เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่สับสน
เวลาที่จักขุวิญญาณ เห็น เป็นวิบากจิต เวลาที่โสตวิญญาณ ได้ยิน เป็นวิบากจิต แล้วแต่จะเป็นวิบากของกรรมใด เมื่อกรรมใดได้ปัจจัยพร้อมที่จะให้วิบากเกิดขึ้นทางไหน วิบากก็เกิดขึ้นทางนั้น
มังคุดเน่าหรือเปล่าคะ หรือว่าอร่อยทั้งหมด
ผู้ฟัง ดีก็ไม่ดีทั้งหมด เน่าก็ไม่เน่าทั้งหมด แต่ได้กินแต่สิ่งที่ดีๆ
ท่านอาจารย์ โดยที่ไม่เข้าใจถึงเหตุปัจจัยเลยว่า ทำไมชิวหาวิญญาณจึงได้ลิ้มรสนั้น แต่ถ้าไม่มีกรรมในอดีตแล้ว จะไม่มีทางที่จะได้ลิ้มรสอย่างนั้น
6952 กรรม ๒ อย่าง - วิบาก ๒ อย่าง
ท่านอาจารย์ ข้อความในอัฏฐสาลินี ในนิกเขปกัณฑ์ ติกนิกเขปกถา มีข้อความกล่าวถึง วิบากว่า
วิบากที่ถึงขณะแล้ว ชื่อว่า เกิดขึ้นแล้ว ที่ยังไม่ถึง แต่ย่อมจะถึงโดยแน่นอน ก็มี
เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า “วิบาก” มี ๒ อย่าง เช่นเดียวกับ “กรรม” มี ๒ อย่าง คือ กรรมที่มีผลแน่นอน ๑ และกรรมที่มีผลไม่แน่นอน ๑
เพราะฉะนั้นวิบากก็มี ๒ อย่าง คือ วิบากแห่งกรรมซึ่งได้โอกาสแล้ว หมายความว่า กรรมได้กระทำแล้ว ที่ถึงขณะแล้ว ๑ ที่ยังไม่ถึง ๑
แต่วิบากที่ยังไม่ถึง ได้แก่ กรรมที่มีผลแน่นอน แต่ว่ายังไม่ถึง
เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นสิ่งใดแล้ว ขณะนั้นจักขุวิญญาณเกิดขึ้น เป็นวิบากที่ถึงขณะแล้ว เวลาที่อยากจะรับประทานอาหารรสอร่อย อยาก แต่ยังไม่มีชิวหาวิญญาณเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาที่ชิวหาวิญญาณลิ้มรสอร่อยที่อุตส่าห์ติดตามแสวงหา ขณะนั้นเป็นวิบากที่ถึงขณะแล้ว คือ เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย แล้วแต่กรรม และแล้วแต่ประเภทของวิบากด้วย
เพราะฉะนั้นทำให้คิดว่า จะต้องได้รับรสอร่อยแน่ โดยลืมนึกถึงเหตุในอดีตว่า มีอดีตกรรมซึ่งเป็นกรรมที่จะให้ผลแน่นอน แต่ว่ายังไม่ถึง หรือว่าเป็นกรรมที่มีผลไม่แน่นอน อย่างคนที่ทำอนันตริยกรรม ฆ่ามารดาบิดา มีผลแน่นอนที่จะต้องเกิดในนรก แต่ว่าเมื่อยังเป็นมนุษย์อยู่ ก็ยังไม่ต้องตกนรก ยังไม่ปฏิสนธิในนรก แต่ว่าเมื่อจุติจิตของชาตินี้เกิดขึ้นและดับไป ปฏิสนธิจิตในอบายภูมิ ในนรกต้องมีแน่นอน แต่ว่าระหว่างที่ยังไม่จุติ เป็นกรรมที่ให้ผลแน่นอน แต่ยังไม่ถึง
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทั้งหมด อย่าคิดว่าปราศจากกรรมในอดีต แล้วก็คิดว่า เป็นเพราะเป็นตัวตนที่มีความสามารถที่จะเห็นอะไรก็ได้ ได้ยินอะไรก็ได้ ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสอะไรก็ได้ แต่ทุกขณะที่เกิดแล้ว ให้ทราบว่า เป็นเพราะเหตุว่ากรรมนั้น วิบากนั้น เป็นวิบากที่ถึงขณะแล้วในขณะที่เกิดขึ้น
6953 สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต เป็นผลของกรรมอันเดียวกันกับทวิปัญจวิญญาณ
สำหรับทวิปัญจทวารวิถีจิตทั้ง ๑๐ เป็นวิบาก คงไม่มีข้อสงสัยแล้วใช่ไหมคะ เกิดขึ้นขณะเดียว ทำกิจของตนๆ แล้วก็ดับไป
สัมปฏิจฉันนวิถีจิตที่เกิดต่อก็เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม กรรมเดียวกับที่ทำให้เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสในขณะนั้น เพราะรูปนั้นยังไม่ดับไป เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นทวิปัญจวิญญาณ หรือสัมปฏิจฉันนะก็เป็นวิบาก คือ ผลของกรรมอันเดียวที่ทำให้ได้รับอารมณ์นั้น เมื่อสัมปฏิจฉันนวิถีจิตดับไปแล้ว สันตีรณวิถีจิตที่เกิดต่อก็เป็นวิบากจิต ก็คงไม่มีข้อสงสัยนะคะ โดยนัยเดียวกัน
เมื่อสันตีรณวิถีจิตดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิต คือ มโนทวาราวัชชนะกระทำกิจโวฏฐัพพนะทางปัญจทวาร เป็นกิริยาจิต ไม่ใช่ผลของกรรม และไม่ใช่กรรม ไม่ใช่ทั้งกุศลและอกุศลและวิบาก
6954 การสะสม กับ กรรม เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร
ถาม ผมสงสัยว่า การสะสมกับกรรมนี่เหมือนกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ การสะสมละเอียดกว่าค่ะ เพราะเหตุว่าสั่งสมอุปนิสัยด้วยและสั่งสมกรรมด้วย
ผู้ฟัง แยกกันได้ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ กรรมก็เป็นกุศลกรรมบถ ๑๐ และอกุศลกรรมบถ ๑๐ ถ้าเป็นกรรมแล้วก็ทำให้วิบากเกิดขึ้น ถ้ายังไม่ถึงกรรม ก็สะสมเป็นอุปนิสัยต่างๆ ซึ่งจะเป็นเหตุให้กระทำกรรมต่างๆ แต่ในขั้นนี้เพียงให้ทราบว่า วิถีจิตใดเป็นชาติใด เพื่อที่จะได้ทราบว่า วิถีไหนเป็นผลของกรรม วิถีไหนเป็นตัวกุศล หรือว่าจะเป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า และวิถีไหนไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก
ผู้ฟัง แต่สรุปแล้ว การสั่งสมก็ดี กรรมก็ดี เป็นปัจจัย
ท่านอาจารย์ เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลข้างหน้า
6955 วิบากจิตไม่สามารถจะเป็นเหตุให้วิบากข้างหน้าเกิด
เมื่อโวฏฐัพพนวิถีจิตซึ่งเป็นกิริยาจิตดับไปแล้ว จะเห็นได้ว่า วิถีตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนะจนถึงโวฏฐัพพนะนั้นเป็นเพียงวิบากและกิริยา ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่น่าจะมีความสำคัญอะไร เพราะวิบากจิตก็เกิดขึ้นเพราะกรรม ซึ่งได้เหตุได้ปัจจัยพร้อมที่จะเกิดขึ้นก็เกิด แต่วิบากจิตนั้นไม่สามารถที่จะเป็นเหตุให้วิบากข้างหน้าเกิด
เพราะฉะนั้นที่ท่านผู้ฟังมีการเห็นสิ่งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ก็เพียงชั่วขณะหนึ่งขณะเท่านั้นเอง แล้วก็การเห็นชั่วขณะหนึ่งๆ ไม่เป็นปัจจัยที่จะให้เกิดวิบากข้างหน้าอีก เพราะเหตุว่าขณะเห็นเป็นวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมในอดีต เพราะฉะนั้นวิบากทั้งหลายไม่ใช่เหตุ ที่จะให้เกิดวิบากอีกข้างหน้า
เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความสำคัญอะไร เพราะรู้อยู่ว่า ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็เป็นเพียงผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดผลอีกข้างหน้า
6956 ความสำคัญของชวนวิถี
เพราะฉะนั้นความสำคัญอยู่ที่วิถีต่อไปคือ “ชวนวิถี” ซึ่งจะเป็นกุศลหรืออกุศล สำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ แต่สำหรับพระอรหันต์นั้นดับกุศลและอกุศลทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นกิริยา ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล แต่สำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ควรที่จะได้เห็นการสั่งสมสันดาน คือ การสืบต่อของชวนวิถีในวันหนึ่งๆ ว่า มีความสำคัญว่า ในชาติต่อไปท่านจะเป็นคนที่มีอัธยาศัย อุปนิสัยอย่างไร และจะได้รับผลของกรรมอะไร เพราะเหตุว่าเวลาที่มีการเห็นครั้งหนึ่งๆ โวฏฐัพพนวิถีดับไปแล้ว ส่วนใหญ่เวลาที่สติปัฏฐานไม่เกิด เวลาที่ทานกุศลไม่เกิด เวลาที่ศีลกุศลไม่เกิด หรือว่าความสงบของจิตไม่เกิดแล้วละก็เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า สั่งสมสันดานอกุศลบ่อยๆ เนืองๆ เพราะฉะนั้นในชาติต่อไปก็ทราบได้ว่า ท่านจะเป็นบุคคลที่โลภะมาก หรืออโลภะมาก โทสะมาก หรืออโทสะมาก โมหะมาก หรืออโมหะมาก
และการสั่งสมก็เป็นไปอย่างละเอียดมาก โดยไม่รู้สึกเลย เพราะเหตุว่าดังที่ได้ทราบแล้วว่า ในชีวิตประจำวันนี้ ขณะที่เป็นทานกุศลวันหนึ่งๆ มีไหม ศีลกุศลวันหนึ่งๆ มีไหม สมถะ ความสงบของจิตวันหนึ่งๆ มีไหม สติปัฏฐานวันหนึ่งๆ มีไหม ทุกท่านทราบเองนะคะ เมื่อชวนวิถีซึ่งเป็นกุศลไม่เกิด ชวนวิถีซึ่งเป็นอกุศลก็เกิด
เพราะฉะนั้นทุกท่านชินกับอกุศลชวนวิถี จนไม่รู้สึกว่าเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าเป็นอกุศลอย่างบาง อย่างเบา อย่างละเอียด จนไม่รู้สึก ในขณะที่มีการเห็น แล้วก็มีความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสีสันต่างๆ อย่างเช่น เห็นดอกไม้สวยๆ ความจริงแล้วไม่ได้ปราศจากมหาภูตรูป ๔ เลย ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม หรือเพียงแต่จะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงมหาภูตรูปเท่านั้น ก็จะทำให้ละคลายความติด ความยินดีพอใจในสีสันที่ปรากฏได้บ้าง เพราะเหตุว่ามหาภูตรูปเองไม่มีสี แต่มหาภูตรูปมีอุปาทายรูป คือ รูปที่เกิดร่วมด้วย ปรากฏให้เห็นเป็นสีต่างๆ เพราะฉะนั้นความพอใจในดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ชนิดหนึ่งชนิดใดที่มีสีสันสวยงาม ก็ให้รู้ว่าในขณะนั้นเป็นความเพลิดเพลิน ความติด ความพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งแท้ที่จริงเป็นเพียงมหาภูตรูป แต่อุปาทายรูปปรากฏเป็นสีเขียวบ้าง สีเหลืองบ้าง สีแดงบ้าง สีต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ แต่ว่าไม่รู้สึกเลยว่า ขณะนั้นเป็นอกุศล เพราะเหตุว่าพอใจในสีสันของอุปาทายรูป ที่เกิดร่วมกับมหาภูตรูปที่ปรากฏให้เห็นเป็นสีสวยๆ งามๆ ทางตา
วันนี้มากไหมคะ ชิน ไม่รู้สึก ไม่เห็นว่าเป็นโทษ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เพราะฉะนั้นการที่จะรู้ชาติทั้ง ๔ ของจิต ก็เป็นประโยชน์แก่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพื่อที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง
6957 ชวนวิถีต่างกัน ทำให้การสะสมอุปนิสัยของแต่ละบุคคลต่างกัน
ผู้ฟัง อยากจะทราบว่า ก่อนที่เขาจะเป็น ก่อนที่เขาจะสำเร็จนี้ ชีวิตประจำวันเขาปฏิบัติขนาดไหน ปฏิบัติอย่างไร อย่างพวกเราส่วนมากปกติอกุศลมันเกือบจะทั้งวัน ทำอย่างไร เราจะเป็นอย่างเขาบ้าง
ท่านอาจารย์ ชวนวิถีต่างกัน ทำให้การสะสมต่างกัน ทำให้เป็นบุคคลอัธยาศัยต่างกัน ผู้ที่ไม่ได้มีอัธยาศัยสะสมมา แล้วก็อยากจะเจริญสมถภาวนา ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านจะถึงอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของชวนวิถี เพราะฉะนั้นเมื่อต้องการอะไร ก็จะต้องรู้ว่า จะต้องเริ่มอบรมสะสมที่ชวนวิถีบ่อยๆ เนืองๆ
ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียวค่ะ ไม่ใช่ทุกคนเริ่มเจริญสมถภาวนา แล้วทุกคนจะถึงอัปปนาสมาธิ ไม่ใช่อย่างนั้น เหมือนกับไม่ใช่ทุกคนจะเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็จะถึงความเป็นพระอรหันต์
ผู้ฟัง คืออยากจะทราบจุดเริ่มต้นให้ถูกต้องเสียก่อน แล้วค่อยเป็นค่อยไป ทำนองนั้น
ท่านอาจารย์ เริ่มสงบ
ผู้ฟัง ใช่ครับ เริ่มสงบ นั่นซิครับ ปฏิบัติอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ อย่าลืมค่ะ นี่คือการที่จะฟังธรรมให้เข้าใจ และการฟังนี้เป็นวิริยารัมภกถา เพราะรู้ว่า ถ้าไม่ฟัง ก็เป็นโอกาสเป็นปัจจัยที่อกุศลจะเกิดมากมายเหลือเกิน เพราะเหตุว่า
ไม่รู้ว่า ทุกครั้งที่เห็น แล้วกุศลไม่เกิดนั้น อกุศลก็สั่งสมสันดานตนแล้ว โดยที่เป็นโลภมูลจิตบ้าง โทสมูลจิตบ้าง โมหมูลจิตบ้าง เมื่อสั่งสมมากๆ ๆ ๆ เข้า และการที่จะดับจะละนี้ ก็ย่อมยาก เพราะฉะนั้นเมื่อรู้อย่างนี้ จึงเป็นผู้ที่ไม่ประมาท
6958 ผู้ที่เข้าใจสติปัฏฐานไม่ได้แยกไปจากการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันเลย
ผู้ฟัง การสั่งสมอย่างนี้ รู้สึกว่าลำบากและกินเวลานาน อย่างผมอ่านเจอเมื่อคืนนี้เขาว่า ถวายผลไม้แก่พระพุทธเจ้าครั้งเดียว ก็ได้รับพุทธพยากรณ์ว่า ผู้นี้ต่อไปกี่กัปๆ ข้างหน้าจะได้เป็นพระอรหันต์ด้วยผลกรรมอันนี้ครั้งเดียว ทำไมเขาง่ายอย่างนี้ ข้อนี้ผมอ่านเจอแล้วยังสงสัยอยู่ บางคนก็ถวายดอกไม้บ้าง อะไรบ้าง ก็ได้รับพยากรณ์ตามที่อ่าน ดูเหมือนเขาไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย เพียงแต่ทำบุญครั้งเดียว แล้วพยากรณ์ต่อไปข้างหน้า จะบรรลุอย่างนี้ๆ ผมก็ยังสงสัย มันจะต้องเจริญสติปัฏฐานถึงจะถูก ไม่เจริญ จะเป็นไปได้อย่างไร ทำบุญครั้งเดียวจะเป็น ผมสงสัยว่าจะเป็นไปได้หรือ
ท่านอาจารย์ ผู้ที่เข้าใจเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ชีวิตประจำวันของท่านไม่ได้แยกกับการเจริญสติปัฏฐานเลย ไม่ว่าท่านจะเป็นพ่อค้าวาณิช ไม่ว่าท่านจะประกอบอาชีพใดๆ ท่านที่เป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติปัฏฐาน เช่นในขณะนี้ทุกท่านกำลังฟังธรรม จะต้องให้บอกกำกับไปด้วยไหมคะว่า เวลานี้ท่านผู้นี้กำลังเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของกาย หรือว่าท่านผู้นั้นกำลังเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในพระไตรปิฎกจะต้องบอกไหมคะ ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่า สติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือท่านวิสาขามหาอุบาสิกา หรือว่าปุณณทาสี ทุกคนนี้ไม่ได้แยกสติปัฏฐานออกจากชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะกล่าวว่า เมื่อไปตลาดก็สติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนา หรือกายานุปัสสนา หรือเวทนานุปัสสนา ก็เป็นปกติอยู่แล้ว หรือว่าเมื่อทำอาหาร ก็ไม่จำเป็นจะต้องบอกว่า คนนี้กำลังเป็นจิตตานุปัสสนา คนนี้กำลังเป็นกายานุปัสสนา ไม่จำเป็นที่จะกล่าวว่า ในพระชาติต่างๆ ของพระผู้มีพระภาคนั้นทรงบำเพ็ญสติปัฏฐาน เพราะไม่ว่าจะเป็นโชติปาลมาณพ หรือว่าไม่ว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใดของพระองค์ก็ตาม ถ้าไม่ใช่ทรงบำเพ็ญบารมีมาทุกชาติๆ ด้วยการเป็นผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว สามารถจะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไหม เพราะฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นเวลากล่าวถึงประวัติของพระสาวกที่จะต้องกล่าวว่า ท่านเจริญสติปัฏฐาน ในขณะที่ท่านกำลังซื้อ กำลังขาย กำลังบริโภคอาหาร หรือว่ากำลังประกอบกิจการงานอะไร แต่เวลาที่ท่านบรรลุคุณธรรมแล้ว ท่านกล่าวว่าท่านบรรลุคุณธรรมขณะไหน ขณะกำลังล้างเท้า ขณะกำลังทำอาหารอยู่ในครัว หรือว่ากำลังดับตะเกียง เป็นชีวิตประจำวัน แต่ว่าก่อนนั้นจะต้องให้บอกไหมว่า พอพลิกตัวก็สติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรม กำลังพูด กำลังสนทนา ในเมื่อสติปัฏฐานก็บอกแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงานต่างๆ
6959 อัธยาศัยที่สะสมที่ชวนวิถีในวันนี้ไม่ได้หายไปไหน
อย่าลืมนะคะว่า ขณะที่ไม่ใช่วิถีจิต ก็เป็นในขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะปฏิสนธิจิตของชาตินี้ก็เกิดขึ้นและดับไปแล้ว และจุติจิตของชาตินี้ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น
เพราะฉะนั้นขณะใดที่เป็นภวังคจิต ขณะนั้นไม่ใช่วิถีจิต แล้วเวลาที่เป็นภวังคจิตเป็นวิบากจิต ไม่ใช่ชวนวิถี เพราะฉะนั้นก็ไม่ได้สั่งสมสันดานตน
เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ใกล้จะถึงภวังคจิตระยะยาวนาน ซึ่งเป็นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ได้สั่งสมชวนวิถี แต่ว่าในช่วงของวันนี้ทั้งหมด ชวนวิถีที่เกิดเป็นอกุศลชวนะหรือว่าเป็นกุศลชวนะ น่าคิดใช่ไหมคะ เพราะจุติจิตจะเกิดเมื่อไรได้ทั้งสิ้น เวลาที่จุติจิตเกิด แล้วก็ดับไป ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในภพนี้ในชาตินี้ เพราะฉะนั้นท่านย่อมทราบว่า อัธยาศัยที่ท่านสะสมในวันนี้ไม่ได้สูญหายไปไหนเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกๆ ขณะ
นี่เป็นวิริยารัมภกถาที่จะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาทในการเจริญกุศล เพราะย่อมเห็นโทษของอกุศลซึ่งเกิดที่ชวนวิถี แล้วก็สั่งสมอยู่เรื่อยๆ
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ
6960 ตทารัมมณวิถี
ยังเหลือวิถีจิตอีกวิถีหนึ่งนะคะ คือ “ตทาลัมพนวิถี” ซึ่งก็เป็นวิบาก แต่มีความต่างกับวิบากอื่น เพราะรับอารมณ์ต่อจากชวนวิถี แต่ไม่ใช่ผลของชวนวิถี กรรมที่ได้กระทำแล้วดับไปนี้ จะให้ผลเป็นขณะต่อไปทันทีไม่ได้ นอกจากโลกุตตรกุศลเท่านั้น
เพราะฉะนั้นท่านที่ทำกุศลแล้ว ชวนวิถีเกิดแล้ว ตทาลัมพนวิถีเกิดต่อเป็นวิบาก แต่ไม่ใช่เป็นผลของชวนวิถีที่ดับไป เพราะฉะนั้นก็จะเห็นว่า กรรมไม่ให้ผลทันทีที่ดับลงไป ถ้าเป็นโลกียกรรม เฉพาะโลกุตตรกุศลเท่านั้นที่เป็นอกาลิโก คือ เมื่อ “มรรคจิต” ดับไปแล้ว จิตอื่นจะเกิดต่อไม่ได้ นอกจาก “ผลจิต” ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์เช่นเดียวกับมรรคจิต
สำหรับวิถีจิตทั้ง ๗ มีข้อสงสัยไหมคะ
“ตทาลัมพนวิถีจิต” มีความละเอียดมาก เพราะแล้วแต่ปฏิสนธิจิตว่า ปฏิสนธิด้วยจิตดวงใด ประกอบด้วยปัญญาหรือว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา จิตที่จะเกิดขึ้นทำตทาลัมพนกิจ ก็มีมากดวง น้อยดวง ตามประเภทของปฏิสนธิจิต ถ้าเป็นปฏิสนธิจิตซึ่งเป็นมหากุศลชั้นยอดเยี่ยมก็มีวิบากซึ่งจะกระทำตทาลัมพนกิจได้มาก เพราะเหตุว่าวิบากจิตที่กระทำตทาลันพนกิจนั้นรับอารมณ์ตามชวนะ แล้วแต่ว่าชวนะที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น จะมีเวทนาอะไร หรือว่าจะเป็นกุศล หรือว่าจะเป็นอกุศล ตทาลัมพนจิตซึ่งเป็นวิบากจิตก็มีหลายประเภท ซึ่งจะเกิดขึ้นตามชวนวิถี
6961 อรรถของจิต
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังก็จะพิจารณาได้ ประกอบกับการเจริญสติปัฏฐานว่า ขณะใดสติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพจิตใด ตามที่ได้ทราบลักษณะของจิตแล้ว
ประการที่ ๑ ที่ว่า เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าจะทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ขณะเห็นรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏทุกอย่าง จนสามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน และเมื่อเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ เวลาที่เข้าใจเรื่องอรรถของจิตประเภทที่ ๒
อรรถที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า สั่งสมสันดานด้วยสามารถชวนะ ก็ยังได้ทราบเรื่องของวิถีจิตต่างๆ พอที่จะรู้ว่า ในขณะที่กำลังเห็น เป็นวิถีจิต แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้จิตที่เป็นชาติวิบากที่เห็น หรือว่าชาติกุศล หรืออกุศลประการต่างๆ ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในวันหนึ่งๆ
มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้
6962 จิตเรียกชื่อต่างๆ กันโดยกิจ
ถาม ชื่อของวิถีจิต ทำไมมันต่างกับชื่อของจิต คือ จิตโดยพิสดารแล้วมีถึง ๑๒๑ ดวง หรือ ๑๒๑ ประเภท ไม่มีชื่อว่า อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ จนถึงตทาลัมพนะ
ชื่อต่างๆ เหล่านี้ ไม่มีในจิตทั้ง ๑๒๑ ประเภท ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ โดยกิจค่ะ จิตทำกิจใด ก็เรียกชื่อของจิตที่ทำกิจนั้น “โดยกิจ” เหมือนอย่างคนที่ทำนา ก็เรียกว่า ชาวนา จะชื่ออะไรก็ได้ ใช่ไหมคะ ชาวนาแต่ละคนก็มีชื่อของตนเอง แต่ขณะใดที่กระทำนา ก็ชื่อว่า ชาวนา ขณะใดที่ร้องเพลง ก็ชื่อว่า นักร้อง เพราะฉะนั้นก็แล้วแต่กิจการงานว่า ขณะนั้นกระทำกิจอะไร
ผู้ฟัง ก็หมายความว่า วิถีจิตทั้งหมดเป็นกิจของจิต เช่น ภวังคจิต ก็เรียกว่า กระทำกิจเป็นภวังค์ อันนี้บางคนศึกษาแล้วก็งง เพราะว่าจิตทั้งหมดโดยพิสดารแล้ว มี ๑๒๑ ประเภท ทำไมไม่มีชื่อภวังค์ แต่นี่พอมาพูดถึงวิถีจิตแล้วเป็นอย่างนั้น
ทีนี้อยากจะถามอาจารย์ว่า จิตทั้งหมดโดยย่อ มี ๘๙ จำแนกโดยชาติ อาจารย์กล่าวแล้วว่า มี ๔ ชาติ แล้วถ้าจำแนกโดยภูมิ มีกี่ภูมิ
ท่านอาจารย์ ยังไม่กล่าวถึงภูมิค่ะ ก่อนจะกล่าวถึงภูมิ จะกล่าวถึงอรรถของจิตประการต่อไป ที่กล่าวถึงชาติในขณะที่กล่าวถึงวิถีจิต ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณา ได้เห็นความสำคัญว่า เวลาที่จิตรู้อารมณ์เป็นวิถีจิต ไม่ใช่เป็นแต่กุศลหรืออกุศลเท่านั้น แต่วิถีจิตที่รู้อารมณ์ครั้งหนึ่งๆ วาระหนึ่งๆ นั้น มีทั้งจิตที่เป็นชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยาอย่างรวดเร็ว ขณะเห็นวาระหนึ่ง คือ ครั้งหนึ่งมีจิตที่เป็นกิริยาจิต วิบากจิต กุศลจิต หรืออกุศลจิต เกิด ๔ ชาติ แต่วาระหนึ่งๆ ก็เพียง ๓ ชาติ คือ กิริยาจิต วิบากจิต และกุศลจิต
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050