จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023


    7162 อยากจะเกิดในสวรรค์ พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะหรือไม่

    บางท่านก็บอกว่าอยากจะทำบุญ แล้วไปเกิดในสวรรค์ อยากจะเกิดในสวรรค์ พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไหมคะ ไม่มีวันจะพ้นนะคะ เพราะเหตุว่าอารมณ์นั้นประณีตยิ่งกว่าในมนุษย์

    เพราะฉะนั้นความติดความพอใจ ถึงจะเกิดในสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใดก็ตาม เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าติด น่าใคร่ น่าพอใจ เพราะเหตุว่าประณีตยิ่งขึ้น จึงทำให้มีความพอใจใคร่ที่จะเกิดในสวรรค์ชั้นสูงขึ้น

    บางท่านก็ยังชอบอารมณ์ที่ดีในโลกมนุษย์ ก็อาจจะยังไม่ต้องการสวรรค์ แต่ไม่ว่าจะเป็นการเกิดในโลกมนุษย์ หรือในสวรรค์ก็ตาม เป็นจิตระดับขั้นกาม คือ ไม่พ้นจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นวันไหน ขณะไหน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ถ้าจิตขณะนั้นไม่สงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิที่เป็นฌานจิต ที่มีรูปเป็นอารมณ์ ก็ย่อมจะเป็นกามาวจรจิตตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึก ให้ทราบได้ว่า แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย แต่เป็นจิตขั้นกาม ระดับของกาม ซึ่งมีความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งยากที่จะละ ต้องรู้ตัวเองตามความเป็นจริงนะคะ อย่าคิดว่าจะละง่ายๆ บางท่านอาจจะคิดว่า ไม่ยากเลยที่จะละความพอใจในรูปที่ปรากฏทางตา ในเสียงที่ปรากฏทางหู ในกลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ในรสที่ปรากฏทางทางลิ้น ในเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว ที่กระทบสัมผัสกาย แต่ให้ทราบว่า ที่ท่านเกิดมาก็เป็นเพราะกามาวจรจิต ทำให้ปฏิสนธิในกามาวจรภูมิ ยังไม่พ้นไปจากกาม แล้วก็พ้นยากด้วย ซึ่งถ้าไม่ใช่การดับกิเลส ด้วยการบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล จะไม่สามารถที่จะดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะได้

    ถึงแม้ว่าจะอบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต ซึ่งเป็นอรูปฌาน ไม่ว่าจะเป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน แล้วก็เกิดถึงในพรหมโลก ก็อย่าคิดว่าจะละความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้เป็นสมุจเฉท เพราะเมื่อยังไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล ยังต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย

    เพราะฉะนั้นเรื่องของกิเลสเป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง จึงจะสามารถอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เป็นสมุจเฉท

    7163 จิตที่นับเนื่องอยู่ในกามาวจรธรรมทั้งหลาย - ภูมิของกามาวจรธรรม

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในความหมายของกามาวจรจิตที่ว่า

    บทว่า กามาวจรํ ได้แก่ จิตอันนับเนื่องในกามาวจรธรรมทั้งหลาย

    คือเป็นจิตที่อยู่ในขั้นของกาม ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินีแสดงว่า

    สำหรับภูมิของกามาวจรธรรม เบื้องต่ำ ตั้งแต่อเวจีนรกขึ้นมา เบื้องบน ตั้งแต่เทวดาชั้นปรนิมมิตวัสสวัตตีลงมา

    นี่ค่ะ เป็นภูมิของกามทั้งหมด

    7164 ภูมิต่างๆ เป็นวัตถุกาม เป็นที่ตั้งแห่งความยินดีพอใจ

    สำหรับ “วัถตุกาม” ก็มีความหมายกว้างกว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นในภูมิใดทั้งสิ้น ก็ย่อมเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ถ้าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ แต่ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามี รูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจของบุคคลนั้น หรือว่าบางท่านอาจจะเกิดในอรูปพรหมภูมิ แต่ไม่ใช่พระอนาคามีบุคคล เพราะฉะนั้นอรูปพรหมภูมินั้นก็เป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ซึ่งความยินดีพอใจนี้ ยินดีพอใจในทุกอย่าง นอกจากนิพพาน เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวเท่านั้นที่ดับโลภะหรือความยินดีพอใจได้ แต่ถ้าไม่ใช่นิพพานแล้ว สภาพธรรมอื่นทั้งหมด ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดับกิเลส

    7165 ความหมายที่ ๒ จิตนี้ย่อมท่องเที่ยวไปในกามภูมิ ๑๑

    สำหรับความหมายประการที่ ๒ คือ

    จิตนี้ย่อมท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามาวจรภูมิ ๑๑ เพราะเหตุนั้น จิตนี้จึงชื่อว่า “กามาพจร”

    ความหมายที่ ๑ คือ เป็นจิตขั้นกาม ไม่พ้นไปจากกาม

    ความหมายที่ ๒ คือ นอกจากจะเป็นจิตขั้นกามแล้ว ก็ยังเป็นจิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามภูมิ ๑๑ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ และสวรรค์อีก ๖ ชั้น ๖ ภูมิ

    7166 ความหมายที่ ๓ ท่องเที่ยวไปด้วยสามารถแห่งการกระทำให้กามเป็นอารมณ์

    ความหมายที่ ๓ ชื่อว่า กามาวจรจิต เพราะท่องเที่ยวไปด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ คือ กาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมท่องเที่ยวไปในจิตนั้น ด้วยสามารถแห่งการกระทำให้เป็นอารมณ์ แม้เพราะเหตุนั้นจิตนั้นชื่อว่า “กามาวจร”

    ถ้าจะให้เข้าใจง่ายก็คือ จิตใดก็ตามที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็น “กามาวจรจิต”

    7167 พระอรหันต์มีกามาวจรจิตหรือไม่

    พระอรหันต์มีกามาวจรจิตไหมคะ มีนะคะ อย่าคิดว่าเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้ว จะหมดกามาวจรจิต เพราะเหตุว่ากามาวจรจิต หมายถึงจิตที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเป็นอารมณ์ พระอรหันต์เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา รูปารมณ์เป็นกาม

    เพราะฉะนั้นจิตเห็นเป็นกามาวจรจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือจิตใดๆ ก็ตามที่มีกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ จิตนั้นเป็น “กามาวจรจิต”

    7168 ความหมายที่ ๔ จิตย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกามภพ

    ความหมายที่ ๔ อีกอย่างหนึ่ง จิตย่อมยังปฏิสนธิให้ท่องเที่ยวไปในกาม กล่าวคือ กามภพ ก็ได้แก่ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ สวรรค์ ๖ เหตุนั้นจิตนั้นจึงชื่อว่า “กามาวจร”

    ซึ่งได้เรียนให้ทุกท่านทราบแล้วว่า ที่ทุกท่านอยู่ในโลกนี้ เพราะกามาวจรจิตทำให้ปฏิสนธิในมนุษย์ภูมิ ซึ่งเป็นกามภูมิ

    ถ้าท่านเคยเจริญฌานในอดีต จิตสงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ถึงขั้นรูปฌาน หรืออรูปฌาน แล้วละก็ จะไม่เกิดในโลกนี้ แต่ว่าจะเกิดในรูปพรหมภูมิ หรือในอรูปพรหมภูมิ แต่ที่เกิดในโลกนี้ เป็นผลของกามาวจรกุศล เป็นผลของทาน หรือผลของศีล เป็นผลของความสงบของจิต หรือว่าเป็นผลของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งยังไม่พ้นไปจากกาม เพราะฉะนั้นจึงทำให้ปฏิสนธิในกามภูมิ

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    7169 ภูมิ ๒ ความหมาย

    คำว่า ภูมิ มี ๒ ความหมาย ดังที่ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า หมายความถึง จิต ซึ่งเป็นภูมิของเจตสิกธรรม หรือภูมิของสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย คือ เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมกันอย่างหนึ่ง และหมายความถึง โอกาส คือ สถานที่เกิด อีกความหมายหนึ่ง

    สำหรับโลกมนุษย์ก็เป็นภูมิหนึ่ง แล้วก็กามาวจรจิต ซึ่งกำลังเป็นไปอยู่ในโลกมนุษย์นี้ ก็เป็นความหมายของภูมิด้วย เพราะเหตุว่าเป็นระดับขั้นของจิต ซึ่งเป็นไปในกาม

    7170 นิพพานไม่ใช่วัตถุกาม แต่ทำไมจึงปรารถนานิพพานได้

    เรื่องของการจำแนกจิตโดยสัมปยุตตธรรม โดยประเภทของภูมิ ยังมีข้อสงสัยไหมคะ

    ถาม สงสัยที่อาจารย์ว่า นิพพานไม่ใช่วัตถุกาม แต่ปัจจุบันนี้ผู้ฟังอยู่ที่นี่ เข้าใจว่า ทุกคนปรารถนาในนิพพานกันทั้งนั้น

    เพราะฉะนั้นตามความคิดเห็นของผมน่าจะจัดอยู่ในประเภทของวัตถุกาม

    ท่านอาจารย์ ปรารถนาอะไรคะ เวลาที่บอกว่าปรารถนานิพพาน

    ผู้ฟัง ปรารถนานิพพาน คือ ปรารถนาที่ให้เห็นนิพพาน ปรารถนาจะให้เข้าถึงนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ปรารถนาชื่อ หรือปรารถนาอะไรคะ

    ผู้ฟัง ปรารถนาอยากจะรู้ อยากจะเห็นภาวะของนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ทราบหรือยังว่า นิพพานมีภาวะอย่างไร จึงปรารถนา เพราะว่าบางคนพอได้ยินชื่อ นิพพาน ก็ปรารถนา ไม่ทราบเลยสักนิดเดียวว่า ลักษณะของนิพพานนั้นคืออย่างไร แต่ว่าปรารถนาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าปรารถนาชื่อ นั่นเป็นโลภะ ชื่อนิพพาน

    ผู้ฟัง นิพพานเป็นปัจจัยแก่โลภะหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่เป็น แต่เห็นแต่ละคนส่วนมากก็อยากจะได้นิพพานกันทั้งนั้น

    ท่านอาจารย์ โลภมูลจิตจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ไม่ได้เลย ไม่ได้เลย โลภมูลจิตมีความติด ความพอใจในรูป ไม่ใช่ในนิพพาน มีความติด ความพอใจในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่ในนิพพาน มีความติดความพอใจในกลิ่น ไม่ใช่ในนิพพาน มีความติดความพอใจในรส ไม่ใช่ในนิพพาน มีความติดความพอใจในโผฏฐัพพะ ไม่ใช่ในนิพพาน แต่นิพพานนั้นเป็นสภาพธรรมเพียงอย่างเดียวที่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ถ้าสภาพธรรมใดมีการเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเป็นวัตถุกาม คือ เป็นที่ตั้งของความยินดี พอใจ

    พอลืมตาขึ้นเห็น มีสิ่งที่ปรากฏให้ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ พอได้ยินเสียง ทราบไหมว่า มีความยินดี มีความพอใจ มีความต้องการ มีความติดในเสียง อยากได้ยินเสียง

    เพราะฉะนั้นจะชื่อว่า ต้องการนิพพานหรือคะ

    7171 กุศลที่เกิดสลับกับความยินดีพอใจ จะมีความหมายว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ขออีกหนึ่งคำถาม ความยินดีพอใจ อาจารย์ก็บรรยายแต่ความยินดีพอใจอย่างเดียว แล้วสภาพที่ว่าจิตที่เกิดขึ้นมาแล้ว เป็นกุศลที่สละความยินดีพอใจ จะมีความหมายว่าอย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมใดก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏ สภาพธรรมนั้นเป็นที่ตั้งของความพอใจ

    ผู้ฟัง สภาพธรรมอันนี้ คือ สภาพที่ละ ที่ปล่อยวาง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงค่ะ

    ผู้ฟัง คงจะไม่ใช่ประเภทที่ว่า ความยินดีในวัตถุกาม อย่างนี้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ท่านผู้ฟังอย่าเพิ่งใจร้อน อย่าเพิ่งปล่อยวางอะไรค่ะ แต่จะต้องรู้ลักษณะสภาพของจิตใจของท่านโดยแท้จริง ตามความเป็นจริง ตามลำดับขั้น เพราะเหตุว่าทุกท่านมีจิตจริง แต่ว่ารู้จิตใจของท่านจริงหรือเปล่า เข้าใจจิตใจ หรือความล้ำลึกของจิตใจของท่านเองจริงๆ หรือเปล่า

    นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ก่อนค่ะ มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน

    เพราะฉะนั้นก่อนอื่นบางท่านอาจจะไม่เคยคิดเลยว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังติดยังข้องอยู่ในโลกนี้ ในวัตถุต่างๆ ที่ปรากฏในโลกนี้ บางท่านจะรู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ต้องการอะไร ทำให้เข้าใจว่า ตัวเองหมดความยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ แล้ว แต่ว่าจะต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริงโดยละเอียดทีเดียวว่า ไม่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏให้รู้ จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ตาม เป็นที่ตั้งของความต้องการ เป็นที่ตั้งของความยินดี เป็นที่ตั้งของความพอใจ อาจจะโดยไม่รู้ตัวเลย

    มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นประจำ สำหรับผู้ที่มีจักขุปสาท เวลาที่ลืมตาขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ยินดีพอใจที่จะเห็นสิ่งนั้นเป็นคน หรือว่าพอใจมีฉันทะที่จะรู้ความจริงว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    เห็นไหมคะ ลืมตาขึ้นมา มีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีความยินดีพอใจที่จะเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ หรือว่ามีฉันทะที่จะรู้ความจริงว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่กระทบตาเท่านั้น เห็นความติดทันทีในสิ่งที่ปรากฏทางตาหรือยัง

    ไม่ใช่แต่เฉพาะตัวเองนะคะ เป็นคนที่เกิดมามีรูปร่างลักษณะอย่างนี้ คนอื่นอีกทั้งนั้นที่ปรากฏทางตา นั่นเป็นความพอใจแล้วที่จะเห็นสิ่งที่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ

    เพราะฉะนั้นจะพ้นไปจากความยินดีพอใจในสิ่งใดๆ ก็ตามที่เกิดขึ้นปรากฏให้จิตรู้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้หรือยัง ละหรือยัง หน่ายหรือยัง ถ้าปัญญาไม่เกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่าคิดว่าใครสามารถที่จะดับความยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้

    7172 จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยในภพนั้นก็มีมาก

    มิฉะนั้นแล้วพระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดงสภาพธรรมทุกประเภทโดยละเอียด เพื่อที่จะให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แม้แต่ภูมิ คือ ระดับขั้นของจิตขั้นต่างๆ ตามความเป็นจริง

    ซึ่งขอกล่าวถึงข้อความในมโนรถปุรนี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ข้อ ๒๘๑ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้แสดงธรรมที่รัตนปราสาท ที่บุพพารามของมหาอุบาสิกาวิสาขา เป็นเรื่องของสังโยชน์ คือ ธรรมที่ประกอบ คือ ผูกพันบุคคลผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะ ต้องเป็นบุคคลผู้มีกิเลสด้วย ซึ่งมีข้อความว่า

    จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้นเป็นของมีมาก

    การที่จะพิจารณาธรรม ก็ควรที่จะได้พิจารณาโดยละเอียด โดยลึกซึ้ง และโดยเทียบกับสภาพธรรมที่กำลังมี กำลังปรากฏ เช่นข้อความที่ว่า

    จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้นเป็นของมีมาก

    จริงไหมคะ ท่านผู้ฟังยังไม่ได้อยากไปเกิดในรูปพรหมภูมิ หรืออรูปพรหมภูมิ แต่ยังอยากจะเกิดในภูมิที่มีรูปดีๆ มีเสียงดีๆ มีกลิ่นดีๆ มีรสดีๆ มีโผฏฐัพพะดีๆ คือ ในมนุษย์หรือว่าในสวรรค์ จริงหรือไม่จริงคะ ตามความเป็นจริงค่ะ นี่คือเรื่องของตัวท่านตามความเป็นจริง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ก่อนๆ นี้ก็ไม่พ้นไปจากกามภูมิ อาจจะเคยเกิดในสวรรค์หรือในมนุษย์ แต่ก็วนเวียนอยู่ในภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั่นเอง ในสังสารวัฏฏ์ที่ยาวนานนี้ บางชาติก็อาจจะอบรมเจริญความสงบจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ ที่มีรูปเป็นอารมณ์ อาจจะเป็นรูปฌานที่ ๑ คือ ปฐมฌาน หรือรูปฌานที่ ๒ คือ ทุติยฌาน หรือรูปฌานที่ ๓ คือ ตติยฌาน รูปฌานที่ ๔ คือ จตุตถฌาน โดยจตุตกนัย หรือรูปฌานที่ ๕ คือ ปัญจมฌาน โดยปัญจกนัย แล้วก็เกิดในรูปพรหมภูมิตามลำดับ แต่ว่าก็กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก มาเห็นอีก สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็พอใจที่จะให้สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุต่างๆ ด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นในชาตินี้เป็นเครื่องบ่งถึงอดีตว่า ท่านเกิดในภพใด ภูมิใดมาก และกรรมในปัจจุบันชาตินี้ก็ยังแสดงให้เห็นว่า ท่านจะเกิดต่อไปในภูมิใดมาก ในเมื่อยังเป็นกุศลที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีมาก ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดีในภพนั้น เป็นของมีมาก

    จะเบื่อหรือไม่เบื่อ ก็จะต้องเกิดในภูมิที่เต็มไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตามกรรม แล้วแต่ว่าจะเป็นผลของกุศลกรรมที่ประณีตมากน้อยแค่ไหน ก็ย่อมเกิดไปตามภูมินั้นๆ

    7173 จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีน้อย ความอาลัยในภพนั้นก็มีน้อย

    ข้อความต่อไปมีว่า

    จุติและปฏิสนธิทั้งหลายในภพใดมีน้อย ความอาลัยก็ดี ความปรารถนาก็ดี ในภพนั้นก็มีน้อย

    อาจจะเคยเกิดในรูปพรหมภูมิ เป็นพระพรหมในพรหมภูมิแล้ว หรือว่าอาจจะเคยเกิดเป็นอรูปพรหมบุคคลในอรูปพรหมภูมิ แต่ว่าน้อย ไม่มากเท่ากับการเกิดในกามภูมิ เพราะฉะนั้นผลก็คือว่ายังคงกระทำกรรมต่างๆ ที่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งก็ย่อมจะเกิดในกามภูมิมากกว่าในภูมิอื่นๆ

    7174 กามภพชื่อว่าเกิดขึ้นในภายใน - รูปภพและอรูปภพชื่อว่ามีในภายนอก

    เพราะฉะนั้นท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    กามภพ ชื่อว่า เกิดขึ้นในภายใน รูปภพและอรูปภพ ชื่อว่า มีในภายนอก

    ที่ว่า มีในภายใน คือ ใกล้เหลือเกิน มีอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อยู่เสมอเป็นอาจินต์ เป็นนิจสิน เป็นภายใน เป็นผู้ใกล้ชิด

    ส่วนรูปภพและอรูปภพ ชื่อว่า มีในภายนอก ไกลจริงๆ ไกลทั้งการที่จะบรรลุถึง และการที่จะเกิดในภพภูมิเหล่านั้น

    7175 อัชฌัตตสัญโญชน์ - พหิทธาสัญโญชน์

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวต่อไปว่า

    ฉันทราคะในกามภพ กล่าวคือ “อัชฌัตตะ” ชื่อว่า “อัชฌัตตสังโยชน์” ฉันทราคะในรูปภพและอรูปภพ กล่าวคือ “พหิทธา” ชื่อว่า “พหิทธาสังโยชน์”

    “อัชฌัตตสังโยชน์” คือ สังโยชน์ในภายใน

    “พหิทธาสังโยชน์” คือ สังโยชน์ในภายนอก

    นี่เป็นการจำแนกธรรมโดยนัยต่างๆ ซึ่งธรรมที่มีอยู่นี้ คือ จิตเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวๆ ๆ แต่ความวิจิตรของสัมปยุตตธรรม ซึ่งเกิดร่วมด้วยทำให้จิตต่างกันออกไปเป็นประเภทต่างๆ

    เพราะฉะนั้นความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ คือ ฉันทราคะในกามภพ กล่าวคือ อัชฌัตตะ ชื่อว่า “อัชฌัตตสังโยชน์” เป็นสังโยชน์ภายในที่ใกล้มาก ที่มีอยู่เป็นประจำ

    ส่วนฉันทราคะในรูปภพและในอรูปภพ กล่าวคือ พหิทธา ชื่อว่า “พหิทธาสังโยชน์”

    7176 อยากจะเกิดเป็นพระพรหมหรือไม่

    บางท่านอยากจะเกิดเป็นพระพรหมไหมคะ หรือไม่อยาก เทวดาก็ดูจะต่ำไป เพราะว่าพรหมภูมินั้นสูงกว่าเทวภูมิ เทวโลก ซึ่งเป็นสวรรค์ ๖ ชั้น แต่ว่าถึงแม้ว่าจะมีความพอใจอยากจะเป็นพรหมบุคคล ความพอใจนั้นก็ยังน้อยกว่า ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ซึ่งพัวพันอยู่ตลอดเวลา ทั้งพัวพันและผูกพันอย่างเหนียวแน่น ทำให้ถึงแม้ว่า จะเห็นว่ารูปพรหมก็ประณีตกว่า สบายกว่าสวรรค์ ๖ ชั้น แต่ก็ยังเป็นพหิทธาสังโยชน์ คือ ยังเป็นสังโยชน์ภายนอกซึ่งแสนไกลกว่าการที่จะพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในกามภูมิ

    เพราะฉะนั้นนี่ก็เป็นการแสดงธรรมซึ่งเกิดขึ้นปรากฏแต่ละขณะ ซึ่งต่างกันไป วิจิตรต่างๆ ด้วยสัปมยุตตธรรม โดยนัยต่างๆ อย่างธรรมที่เป็นสังโยชน์นี้ เป็นกิเลสประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่ประกอบ คือ ผูกพันผู้มีกิเลสไว้ในวัฏฏะ ทุกท่านดูเหมือนนั่งสบาย นอนสบาย เป็นอิสรเสรี แต่ว่าแท้ที่จริงแล้วไม่อิสระเลย เพราะเหตุว่าสังโยชน์ผูกไว้ไม่ให้พ้นไปจากภพภูมิต่างๆ

    7177 รู้สึกตัวว่าถูกผูกไว้หรือไม่

    มีใครรู้สึกตัวว่า ถูกผูกไว้บ้างคะ พอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ครั้งหนึ่งทางตา นั่นแหละค่ะสังโยชน์ผูกไว้ แล้วแต่ว่าจะเป็นสังโยชน์ภายใน ที่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ผูกไว้ในกามภูมิ หรือว่าจะยินดีพอใจในรูปฌาน อรูปฌาน ซึ่งเป็นสังโยชน์ที่ผูกไว้ในภายนอก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ