จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024


    ซึ่งเป็นสังโยชน์ที่ผูกไว้ในภายนอกคือ นอกจากกามภูมิ

    7178 ผูกอยู่ในภพทุกคนทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    ถาม ที่อาจารย์บรรยายถึงเครื่องผูกที่ผูกสัตว์ไว้ในภพในภูมิ ผมเองก็เคยสังเกตว่า บางอาชีพที่เราคิดว่ามีเกียรติเหลือเกิน เราอยากจะเป็นเหลือเกิน เราอยากจะได้อาชีพนั้น เช่นทำงานธนาคาร บางครั้งผมสังเกตว่า พนักงานธนาคารเหล่านี้ก็เหมือนคนติดคุกอย่างหนึ่ง เป็นอาชีพที่ไม่สามารถจะปลีกตัวไปไหนไม่ได้ เป็นอาชีพที่รัดตัวมาก จะไปไหนก็ต้องขออนุญาตผู้จัดการ วันเสาร์อาทิตย์จะต้องปิดบัญชี อยู่จนดึก ไม่มีอิสรเสรีเลยนะครับ ถ้านึกให้ดีๆ แม้แต่ว่าอาชีพที่ดีๆ อย่างนี้ ก็เหมือนกับเป็นตะรางชนิดหนึ่ง แต่ว่าเป็นตะรางที่ละเอียดอ่อน หรือในระดับสูง ซึ่งถ้าเราไม่สังเกตจะมองไม่เห็น อันนี้จะเป็นเครื่องผูกอยู่หรือเปล่าไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ผูกอยู่ในภพทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ในธนาคาร เวลานี้ทุกคนก็กำลังถูกผูกแล้ว ทางตาก็ถูกผูกไว้กับสิ่งที่ปรากฏ เวลาที่มีความยินดีพอใจ ทางหูก็ถูกผูกไว้กับเสียง เพราะฉะนั้นทุกท่านถูกผูกไว้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางใจ ในกามภูมิ

    เพราะฉะนั้นจึงไม่เกิดในรูปภูมิ หรืออรูปภูมิ หรือถ้าจะเกิดในรูปภูมิ ก็อย่าคิดว่า ไม่ได้ถูกผูก ยังคงถูกผูกแต่ว่าถูกผูกในรูปภูมิ และถ้ายังไม่เป็นพระอนาคามีบุคคล แท้ที่จริงแล้วถูกผูกไว้ในกามภูมิ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ดับสังโยชน์ ซึ่งยังคงถูกผูกไว้กับกาม เพียงแต่ว่ากิเลสเหล่านั้นถูกข่มไว้ด้วยกำลังของสมาธิ ความสงบที่มั่นคง จึงสามารถทำให้เกิดในภูมินั้น แต่สังโยชน์ที่ผูกไว้ในกามภูมิไม่ได้ถูกตัด

    เพราะฉะนั้นถึงจะเกิดในรูปพรหมภูมิ เชือกยาวมากค่ะ คือ ปล่อยไปจนถึงรูปพรหมก็จริง แต่ว่าดึงกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ต้องเกิดในกามภูมิอีก จนกว่าจะเป็นพระอนาคามีบุคคล

    เพราะฉะนั้นถูกผูกไว้แน่นเวลานี้ ไม่ได้เคยคิดจะตัด หรือที่จะคลายสิ่งที่ผูกมัดอย่างเหนียวแน่นนี้เลย ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจริงๆ

    อาชีพแต่ละอาชีพทำให้ดูเหมือนกับถูกผูก ขาดอิสรเสรีใช่ไหมคะ แต่แท้ที่จริงแล้วทุกคนนี้ถูกผูกทั้งนั้น ในขณะที่มีความยินดีพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    ยังมีข้อสงสัยอะไรไหมคะ

    7179 กามธาตุท่านกล่าวว่าต่ำ เพราะให้สำเร็จการเกิดในภามภพ

    ข้อความต่อไปท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    “กามธาตุ” ท่านกล่าวว่า ต่ำ เพราะให้สำเร็จการเกิดในกามภพ

    อย่าลืมนะคะว่า “ภูมิ” หรือระดับขั้นของจิต มีถึง ๔ ขั้น คือ กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ และโลกุตตรภูมิ

    สำหรับกามภูมิ ไม่ต้องปรารถนาก็เกิดอยู่แล้ว เป็นอยู่แล้ว เป็นภูมิขั้นต่ำ ซึ่งแม้ว่าจะรู้ว่าต่ำ ก็ยังไม่สามารถจะพ้นไปได้ เพราะถูกผูกไว้ด้วยสังโยชน์ภายใน คือ อัชฌัตตสังโยชน์

    7180 โอรัมภาคิยสัญโญชน์ - อุทธัมภาคิยสัญโญชน์

    กามธาตุ ท่านกว่าว่า ต่ำ เพราะให้สำเร็จการเกิดในกามภพ

    สังโยชน์ทั้งหลายย่อมคบหากามธาตุอันต่ำนั้น เหตุนั้นสังโยชน์เหล่านั้น ชื่อว่า “โอรัมภาคิยสังโยชน์”

    นี่ก็เป็นศัพท์ภาษาบาลี ซึ่งต่อไปท่านผู้ฟังจะค่อยๆ ชิน แล้วก็เข้าใจความหมายว่า

    สังโยชน์ มีหลายนัย อาจจะแสดงโดยสังโยชน์ภายใน เป็น อัชฌัตตสังโยชน์ ความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทุกวันเป็นประจำ จนกระทั่งใกล้ชิด จนกระทั่งเป็นภายใน ส่วนความพอใจในรูปภพและอรูปภพ เป็นพหิทธาสังโยชน์ เพราะเหตุว่าแสนไกลที่จะพอใจและที่จะบรรลุถึง

    นั่นก็เป็นโดยนัยหนึ่ง นอกจากนั้นก็ยังมี โอรัมภาคิยสังโยชน์ และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ อีกนัยหนึ่ง

    สำหรับ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ได้แก่ สังโยชน์ทั้งหลายซึ่งย่อมคบหากามธาตุอันต่ำ เพราะฉะนั้นก็ยังเป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จึงเป็นสังโยชน์ที่พัวพัน คบหากามธาตุอันต่ำ จึงชื่อว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์

    แต่ถ้าเป็น อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ก็เป็นสังโยชน์ขั้นสูง เบื้องสูง ซึ่งละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ยังยินดีพอใจในรูปภูมิ และในอรูปภูมิ และกิเลสที่ละเอียดกว่าขั้นกามภพ

    ข้อความต่อ ไปท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    สังโยชน์ทั้งหลายย่อมคบหารูปธาตุ และอรูปธาตุอันสูงนั้น ในรูปภพและอรูปภพนั้น เหตุนั้นสังโยชน์เหล่านั้น ชื่อว่า “อุทธัมภาคิยสังโยชน์”

    7181 อุปมาสัญโญชน์ การผูกไว้ในภพทั้ง ๓

    นอกจากนั้นท่านพระสารีบุตรยังได้อุปมาสังโยชน์ การผูกไว้ในภพทั้ง ๓ ว่า

    “กามภพ” อุปมาเหมือนคอกโค ส่วน “อวิชชา” เป็นเหมือนเสาหลักที่คอกของลูกโค

    สังโยชน์ทั้ง ๑๐ คือ ทั้งโอรัมภาคิยสังโยชน์และอุทธัมภาคิยสังโยชน์ เป็นเหมือนเชือกสำหรับผูกลูกโคที่เสาหลัก และสัตว์ที่เกิดแล้วในภพทั้ง ๓ เป็นเหมือนลูกโค

    เพราะฉะนั้นก็ขออุปมาท่านทั้งหลายเหมือนกับลูกโค โดยนัยการแสดงธรรมของท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านกล่าวว่า

    ชนทั้งหลายทำคอกแล้วก็ปักหลักเอาไว้ในคอก แล้วเอาเชือกผูกลูกโค แล้วก็ผูกไว้กับหลักในคอก แต่พอเชือกไม่พอ ก็จับหูของลูกโคบางตัว แล้วก็ต้อนเข้าไปในคอก แต่ว่าไม่ได้ผูก และเวลาที่ที่ว่างในคอกมีน้อย เต็มแล้ว ก็เอาหลักไปปักไว้ข้างนอกคอกอีก แล้วก็เอาเชือกผูกลูกโค แล้วก็ผูกไว้กับหลักข้างนอกคอก ถ้าเชือกไม่พอก็จับหูของลูกโค แล้วก็ปล่อยเอาไว้ข้างคอกนั้น

    เพราะฉะนั้น “กามภพ” ก็อุปมาเหมือนคอกโค ซึ่งมีหลักปักไว้ แล้วก็เอาเชือกผูกลูกโค ผูกไว้กับหลักซึ่งปักไว้ในคอก

    แต่เพราะเหตุว่า ลูกโคมีมาก ที่ว่างในคอกไม่พอ เพราะฉะนั้น ก็ปักหลักไว้ข้างนอกคอกด้วย แล้วก็เอาเชือกผูกลูกโคไว้ แล้วก็ผูกไว้ที่หลัก ที่ปักไว้ข้างนอกคอกด้วย แต่สำหรับโคบางตัว ก็เพียงแต่จับหูแล้วไม่ได้ผูก เพราะเห็นว่าเชือกไม่พอ

    7182 ลูกโคที่ถูกผูกไว้ข้างในคอก ออกไปนอนข้างนอกเพราะความร้อนเบียดเบียน

    ซึ่งมีคำอุปมาว่า ลูกโคที่ผูกไว้ข้างใน

    อย่าลืมนะคะ เอาเชือกผูกลูกโค แล้วก็ผูกไว้ที่หลักข้างในคอก

    ลูกโคที่ผูกไว้ข้างในคอกที่หลักนั้น ออกไปนอนข้างนอก เพราะความร้อนเบียดเบียน แล้วเชือกนั้นก็ยาวพอที่ลูกโคนั้นจะออกไปนอนข้างนอกได้

    หมายถึงพระโสดาบันและพระสกทาคามี ในรูปภพและในอรูปภพ คือว่าท่านยังไม่ได้ดับความยินดีพอใจในกามเป็นสมุจเฉท แต่เพราะเหตุว่าข้างในคอกนั้นร้อน ท่านถูกความร้อนเบียดเบียน เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบ จนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ก็มีพระโสดาบันบุคคลและพระสกทาคามีบุคคลที่เกิดในรูปภพบ้าง ในอรูปภพบ้าง แต่เชือกยังอยู่ค่ะ เพราะเหตุว่ายังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

    เพราะฉะนั้นสำหรับปุถุชนไม่จำเป็นต้องกล่าวเลย ใช่ไหมคะ ถูกผูกไว้แล้ว ทุกท่านก็รู้ดีว่า ท่านผูกไว้ในคอก แล้วก็ผูกไว้กับหลักที่ข้างในคอก หรือว่าเชือกจะยาวจนท่านจะไปเกิดในรูปภพ อรูปภพได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    นี่ก็เป็นประเภทหนึ่งนะคะ

    7183 ลูกโคบางตัวที่ถูกผูกไว้ข้างนอก ก็เข้าไปนอนข้างใน

    สำหรับลูกโคบางตัวที่ถูกผูกไว้ข้างนอก ก็เข้าไปนอนข้างใน ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลในกามาวจรภูมิ คือ ท่านดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะแล้ว แต่ว่าถูกผูกไว้ในรูปภพและอรูปภพ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ถึงความเป็นพระอรหันต์

    เพราะฉะนั้นก็เป็นเหมือนลูกโคที่ผูกไว้ข้างนอก แต่ว่าเข้าไปนอนข้างใน เพราะเหตุว่าอาศัยอยู่ในกามภูมิก็จริง แต่ว่าผูกพันแล้วในรูปภพและอรูปภพ

    ในกามาวจรภูมิ ในมนุษย์ภูมิ มีพระอนาคามีบุคคลไหมคะ มีได้ไหมคะ มีได้ เพราะฉะนั้นพระอนาคามีบุคคลในกามภูมิ ในมนุษย์ภูมิ เป็นต้น ท่านอยู่ในกามภูมิ ในมนุษย์ภูมิ ก็คือท่านนอนในคอก แต่ว่าท่านถูกผูกไว้ข้างนอกคอก คือ ถูกผูกไว้ในภูมิอื่น คือ ผูกไว้ในรูปภูมิและอรูปภูมิ ดับแล้ว ความยินดีพอใจในกาม แต่เพราะเหตุว่าเกิดในกามภูมิ ในมนุษย์ เพราะฉะนั้นก็นอนในนี้ แต่ว่าถูกผูกไว้ข้างนอก ตัวถูกผูกไว้ข้างนอกคอก แต่เข้ามานอนในคอก คือเกิดในมนุษย์ภูมิ แต่ถูกผูกไว้ในรูปภูมิ และอรูปภูมิ ไม่ใช่ถูกผูกไว้ในกามภูมิ

    ยุ่งยากไหมคะ เรื่องจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้น ซึ่งจะต้องเข้าใจแม้ในคำอุปมา ให้ทราบว่า มีบุคคลต่างๆ และมีการบรรลุธรรมขั้นต่างๆ มีสังโยชน์ที่ผูกพันบุคคลผู้มีกิเลสไว้ในภพภูมิต่างๆ

    7184 ลูกโคบางตัวถูกผูกอยู่ข้างในและนอนอยู่ข้างใน

    สำหรับลูกโคอีกพวกหนึ่ง ก็เป็นลูกโคที่ถูกผูกไว้ข้างใน แล้วก็นอนข้างใน

    อันนี้ไม่ยาก ใช่ไหมคะ ได้แก่พระโสดาบันและพระสกทาคามีในกามาวจรภูมิ เป็นลูกโคซึ่งถูกผูกไว้ข้างใน แล้วก็นอนข้างในด้วย ไม่ได้ออกไปข้างนอก

    ผูกไว้ข้างใน คือว่ายังเป็นผู้ถูกผูกไว้ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็นอนข้างใน คืออยู่ในมนุษย์ภูมิ หรือในกามาวจรภูมินี่เอง

    7185 ลูกโคบางตัวถูกผูกไว้ข้างนอกและนอนข้างนอก

    สำหรับลูกโคบางตัว ก็ถูกผูกไว้ข้างนอก แล้วก็นอนข้างนอก ได้แก่ พระอนาคามีบุคคลในรูปภพ และในอรูปภพ ไม่เกี่ยวข้องกับกามทั้งในการเกิดและในสังโยชน์ที่ถูกผูกไว้ คือ ผูกไว้ข้างนอก แล้วก็นอนข้างนอกด้วย ไม่เกิดในกามภูมิอีกต่อไป แต่ว่ายังถูกผูกอยู่นะคะ แต่ถูกผูกไว้ข้างนอก

    7186 ลูกโคบางตัวไม่ได้ถูกผูกไว้ข้างใน ย่อมเที่ยวไปภายใน

    สำหรับลูกโคบางตัวก็ไม่ได้ผูกไว้ข้างใน ย่อมเที่ยวไปภายใน ได้แก่ พระขีณาสพในกามาวจร ซึ่งไม่ได้ถูกผูกไว้ แต่ว่าเที่ยวไปในภพ คือ ในกามาวจรภูมิ

    พระอรหันต์ในโลกนี้ มีใช่ไหมคะ นี่ล่ะค่ะ ได้แก่ ลูกโคที่ไม่ได้ถูกผูกไว้ แล้วก็เที่ยวไปข้างในคอก เพราะเหตุว่าไม่ได้เกิดในรูปภพและอรูปภพ

    7187 ลูกโคบางตัวไม่ได้ถูกผูกไว้ข้างนอก ย่อมเที่ยวไปภายนอก

    สำหรับลูกโคบางตัว ไม่ได้ถูกผูกไว้ภายนอก แล้วก็เที่ยวไปในภายนอก ซึ่งก็ได้แก่ พระขีณาสพ ซึ่งเกิดในรูปภพและอรูปภพ ซึ่งไม่ได้ถูกผูกไว้ทั้งภายนอก แต่ก็เที่ยวไปในภายนอก

    7189 ปุถุชนเป็นลูกโคประเภทไหน

    ถาม ในพระสูตรกล่าวไว้ถึงพระอริยบุคคลทั้งนั้นเลย ทีนี้ปุถุชนผู้ที่หนาไปด้วยกิเลส จะเป็นวัวประเภทไหนครับ

    ท่านอาจารย์ อย่างประเภทที่ ๑ คือ ลูกโคที่ถูกผูกไว้ข้างใน แล้วก็ออกไปนอนข้างนอก เพราะเชือกยาว ก็ได้แก่พระโสดาบันและพระสกทาคามี ซึ่งยังไม่ได้ดับความยินดีในกาม เพราะฉะนั้น ถูกผูกไว้ข้างใน แต่ออกไปนอนข้างนอก คือ เกิดในรูปภูมิและอรูปภูมิ ฉันใด ปุถุชนก็เหมือนกัน คือ เป็นผู้ที่ยังไม่ได้ละความยินดีในกาม เพราะฉะนั้นก็ถูกผูกไว้ในคอก คือ ถูกผูกไว้ด้วยกาม แต่ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญความสงบถึงขั้นฌานจิต ก็สามารถที่จะไปเกิดในรูปภพ หรืออรูปภพได้ แต่ว่าเชือกนั้นยาว เพราะฉะนั้นก็ต้องกลับมาสู่กามภูมิ

    7190 กามาวจรจิตทั้งวันทั้งคืนตั้งแต่เกิดจนตาย

    เรื่องของภูมิเป็นเรื่องที่ยุ่งยากไหมคะ นี่แสดงให้เห็นว่า มีจิตอีกหลายประเภททีเดียว ที่จะต้องศึกษาให้ทราบความละเอียด แต่ว่าสำหรับผู้ที่ยังถูกผูกไว้อย่างเหนียวแน่นมากในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็จะมีจิตที่เป็นประเภทกามาวจรจิต ทั้งวันทั้งคืน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ซึ่งถ้าบุคคลใดยังไม่ได้อบรมเจริญสมถภาวนา จนถึงความสงบขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นขั้นที่ไม่รับรู้อารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เป็นจิตที่แนบแน่นในอารมณ์เฉพาะทางใจที่ทำให้สงบถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นฌานจิต ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้อบรมเจริญความสงบให้มั่นคงถึงอย่างนั้น จะต้องมีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกถึงเรื่องต่างๆ ที่เคยเห็น เคยได้ยิน เคยได้กลิ่น เคยลิ้มรส เคยกระทบสัมผัส ซึ่งเป็นชีวิตปกติประจำวัน เป็นกามาวจรจิต ตราบใดที่ยังไม่ใช่อัปปนาสมาธิ ตราบนั้นยังไม่ถึงรูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต ซึ่งเป็นฌานจิต ซึ่งมีรูปเป็นอารมณ์ประเภทหนึ่ง เป็นรูปาวจรจิต และฌานจิตซึ่งไม่มีรูปเป็นอารมณ์อีกประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรจิต

    7191 ถ้ายังไม่ขึ้นถึงโลกุตตรภูมิ ก็ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่

    และถ้าแม้บุคคลใด ถึงแม้จะอบรมเจริญสติปัฏฐาน มีปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นวิปัสสนาญาณเป็นลำดับขั้นเกิดขึ้น แต่ยังไม่ประจักษ์แจ้งในลักษณะของนิพพาน ตราบนั้นก็ยังไม่ใช่โลกุตตรจิต ยังไม่ขึ้นถึงโลกุตตรภูมิ ยังคงเป็นกามาวจรจิตอยู่

    เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบได้ว่า ถึงแม้ว่าจิตจะต่างกันเป็นระดับขั้นถึง ๔ ขั้น คือเป็น กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต โลกุตตรจิต ทุกท่านก็ทราบดีนะคะว่า จิตของท่านในวันหนึ่งๆ เป็นจิตขั้นไหน หรือภูมิไหน ซึ่งเชื่อว่ายังไม่พ้นจากกามาวจรภูมิ เพราะต้องถึงฌานจิตที่มีรูปเป็นอารมณ์ จึงจะเป็นรูปาวจรจิต ต้องถึงฌานจิตที่มีอรูปเป็นอารมณ์ จึงจะเป็นอรูปาวจรจิต หรือจะต้องประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เป็นโสตาปัตติมรรคจิต โสตาปัตติผลจิต สกทาคามิมรรคจิต สกทามีผลจิต อาคามิมรรคจิต อนาคามิผลจิต อรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิต จึงจะเป็นโลกุตตรจิต

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบเรื่องของจิตตามระดับขั้น โดยเฉพาะของจิตซึ่งเป็นไปเป็นประจำทุกๆ วัน คือ “กามาวจรจิต”

    7192 กามาวจรจิตมีถึง ๔ ชาติ

    สำหรับกามาวจรจิตมีถึง ๔ ชาติ เพราะกามาวจรจิตที่เป็นอกุศลก็มี กามาวจรจิตที่เป็นกุศลก็มี กามาวจรจิตที่เป็นวิบากก็มี กามาวจรจิตที่เป็นกิริยาก็มี

    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าทุกท่านกำลังมีจิตซึ่งเป็นขั้นกามภูมิ คือ กามาวจรจิต แต่ในวันหนึ่งๆ ก็จะได้ทราบว่า มีทั้งอกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ส่วนกุศลจิตของใครจะเกิดมากน้อยนั้น แต่ละท่านก็คงจะได้ทราบว่า เป็นกุศลที่เกิดขึ้นเป็นไปในทาน หรือว่าเป็นไปในศีล หรือว่าเป็นไปในความสงบ หรือว่าเป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน

    แต่ให้ทราบว่า สำหรับกามาวจรจิต มี ๔ ชาติ คือ ที่เป็นอกุศลก็มี และก็ควรจะมากด้วยในชีวิตประจำวัน ส่วนที่เป็นกุศลก็มี แต่ละท่านก็ทราบดีว่า วันหนึ่งเกิดบ้างไหม หรือว่าเกิดบ่อยไหม และเป็นไปในกุศลประเภทไหน

    สำหรับวิบากและกิริยาก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ทุกขณะที่มีการเห็น ต้องมีกิริยาจิต เป็นวิถีจิตแรกเกิดก่อน คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต และก่อนที่จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศล ก็จะต้องมีกิริยาจิตเกิดก่อน ซึ่งเป็นมโนทวาราวัชชนจิต ทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร หรือมโนทวาราวัชชนจิต ทำอาวัชชนกิตทางมโนทวาร

    เพราะฉะนั้นเรื่องของวิบากจิต ก็คือในขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และก่อนที่วิบากจิตจะเกิดขึ้นรับผลของกรรมทางหนึ่งทางใด กิริยาจิตต้องเกิดก่อน และก่อนที่จิตจะเป็นกุศลและอกุศลแต่ละครั้ง กิริยาจิตก็เกิดก่อน

    เพราะฉะนั้นสำหรับกามาวจรจิต ก็มีจิตทั้ง ๔ ชาติ

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้

    7254 กามาวจรกุศล หรืออีกชื่อหนึ่งคือมหากุศล

    ในขณะนี้ กิริยาจิตเป็นวิถีจิตแรกก่อนที่จะเห็น ขณะเห็นเป็นวิบากจิต ดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อเป็นวิบากจิต ดับไปแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ เป็นวิบากจิต ดับไปแล้ว โวฏฐัพพนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิตทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารเกิดต่อ เป็นกิริยาจิต ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้นขณะที่กำลังฟังแล้วเข้าใจ ขณะที่เข้าใจไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นกามาวจรกุศลจิต หรือจะใช้คำว่า “มหากุศล” ในบางครั้ง เพราะเหตุว่าเป็นกุศลที่มีอารมณ์ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ซึ่งกุศลอื่นจะมีอารมณ์มากมายอย่างกามาวจรกุศลไม่ได้ เพราะเหตุว่ารูปาวจรกุศลจิต ไม่ใช่ในขณะที่เห็น หรือขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัส รูปาวจรกุศลจิตเป็นกุศลจิตที่เกิดทางมโนทวาร ขณะนั้นไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่มีจิตสงบแนบแน่นที่อารมณ์ ซึ่งทำให้จิตสงบขึ้นๆ ๆ จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ

    เพราะฉะนั้นสำหรับรูปาวจรกุศลจิตไม่ได้มีอารมณ์กว้างขวางที่จะเป็นไปได้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เหมือนกับกามาวจรกุศล เพราะฉะนั้นกามาวจรกุศลจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “มหากุศล” ซึ่งนอกจากจะเป็นไปกับอารมณ์ที่ปรากฏทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ ทางจมูกก็ได้ ทางลิ้นก็ได้ ทางกายก็ได้ ทางใจก็ได้แล้ว ยังสามารถที่จะเป็นไปในขั้นของทานก็ได้ ในขั้นของศีลก็ได้ ในขั้นของสมถภาวนาก็ได้ ในขั้นของวิปัสสนาภาวนาก็ได้

    ด้วยเหตุนี้อีกชื่อหนึ่งของกามาวจรกุศลจึงเป็น “มหากุศล”

    7255 รูปาวรจิต และ อรูปาวจรจิต มีเพียง ๓ ชาติ

    สำหรับจิตภูมิอื่น คือ รูปาวจรจิต และอรูปาวจรจิต มีเพียง ๓ ชาติ คือ เป็นอกุศลไม่ได้แน่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกุศลสำหรับผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ เวลาที่จิตสงบมั่นคงถึงขั้นอัปปนาสมาธิ และเป็นกิริยาจิตสำหรับผู้ที่พระอรหันต์ ส่วนผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น เมื่อรูปาวจรกุศลซึ่งเป็นฌานจิตมีกำลัง คือว่าไม่เสื่อม เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการที่จิตจะสงบถึงขั้นฌานจิต จนกระทั่งเวลาที่ใกล้จะจุติ คือ ใกล้จะสิ้นชีวิต รูปาวจรกุศลซึ่งเป็นฌานจิตขั้นหนึ่งขั้นใดเกิดขึ้น ถ้าเป็นปฐมฌานจิตเกิด แล้วก็ดับไปก่อนจุติจิต จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในรูปพรหมบุคคลซึ่งเป็นปฐมฌานภูมิ

    7256 จิตวิจิตรต่างกัน ภูมิที่เกิดก็ต้องต่างกัน

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้นะคะ ในเมื่อจิตต่างกันไปเป็นประเภทๆ และมีความวิจิตรต่างกันมากเหลือเกิน เพราะฉะนั้นภูมิซึ่งเป็นที่เกิดของจิตก็จะต้องต่างกันไป ไม่ใช่มีแต่มนุษย์ภูมิโลกนี้โลกเดียว เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจะเป็นกามาวจรกุศล กำลังของศรัทธาหรือว่ากำลังของปัญญา หรือว่าสัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นก็วิจิตรต่างกันมาก จำแนกให้ผลที่ได้รับคือการเกิดย่อมเกิดในสุคติภูมิต่างๆ ไม่ใช่แต่เฉพาะในมนุษย์ภูมิเท่านั้น หรือสำหรับอกุศลกรรมก็เหมือนกัน เวลาที่มีการกระทำอกุศลกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น ถ้าท่านผู้ฟังจะสังเกต ก็จะทราบถึงความต่างกันของอกุศลกรรมแต่ละอกุศลกรรมนั้นว่า หนักเบาด้วยอกุศลเพียงไร บางครั้งก็ประกอบด้วยความพยาบาทมาก หรือบางครั้งก็ไม่ได้ประกอบด้วยความพยาบาทอย่างรุนแรง หรือบางครั้งก็ขาดความเพียร ไม่ได้มีวิริยะอุตสาหะที่จะไปทำร้ายเบียดเบียน แต่ก็บังเอิญมีการกระทำซึ่งประกอบด้วยเจตนาเพียงเล็กน้อย แล้วก็สัตว์เล็กๆ นั้นก็ตายลง เพราะฉะนั้นแต่ละกรรมที่ได้กระทำนี้ ก็ย่อมประกอบด้วยสัมปยุตตธรรม คือ เจตสิกต่างๆ เพราะฉะนั้นอกุศลกรรมก็จำแนกออกไป ทำให้เกิดในอบายภูมิต่างๆ ซึ่งเป็นอบายภูมิ ๔

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า เมื่อจิตเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผลวิจิตรต่างๆ กันทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม ภูมิซึ่งเป็นที่เกิดที่เหมาะที่ควรแก่กรรมนั้นๆ ก็ย่อมต้องมีมาก ไม่ใช่มีแต่เฉพาะในมนุษย์ภูมิแห่งเดียวเท่านั้น

    7257 ภูมิ ๒ ความหมาย - ชนกกรรม

    สำหรับ “ภูมิ” ก็ทราบแล้วว่า มี ๒ ความหมาย คือ หมายถึงระดับขั้นของจิต ความหมายหนึ่ง และหมายความถึงที่เกิดของจิตในโลกต่างๆ อีกความหมายหนึ่ง


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ