จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
บางท่านก็เป็นผู้ที่ใจบุญใจกุศล ก็หมายความว่าจิตที่เป็นบุญเป็นกุศลได้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แล้วก็สืบต่อสะสมเป็นปัจจัยให้เกิดจิตซึ่งเป็นบุญ เป็นกุศลต่อๆ ไปข้างหน้า หรือว่าอกุศลก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งมีอยู่ในจิต เมื่อเกิดขึ้น จิตดวงนั้นดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น สะสมสันดานของตนเอง คือ สิ่งที่มีอยู่สืบต่อจากจิตดวงก่อนที่ดับไป
เพราะฉะนั้น ก็ทราบ ๒ ปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัย และอนันตรปัจจัย
6805 นามธรรมมีอะไรบ้าง
ถาม อาจารย์ครับ นามธรรมมีอะไรบ้างครับ
ท่านอาจารย์ นามธรรมที่เกิดขึ้นที่เป็นสังขารธรรม มี ๒ ประเภท คือ จิตปรมัตถ์ และเจตสิกปรมัตถ์
ผู้ฟัง ถ้าไม่เป็นสังขารธรรม เป็นวิสังขารธรรม ก็เป็นนิพพาน ใช่ไหมครับ แล้ว อนันตรปัจจัย เป็นนามธรรม เป็นเจตสิก หรือครับ
ท่านอาจารย์ จิตและเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นกำลัง เป็นพลัง เป็นปัจจัย ซึ่งเมื่อดับไปแล้ว ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น จิตนั่นเองเป็นอนันตรปัจจัยสำหรับจิตดวงต่อไป จิต เจตสิกนั่นเอง เป็นอนันตรปัจจัย
6806 ถ้าไม่มีการสะสมสืบต่อของจิต จะไม่มีบุคคลที่ต่างอุปนิสัย
ถ้าไม่มีการสะสมสืบต่อกันของจิตแต่ละขณะ ก็จะไม่มีการปรากฏเป็นบุคคลแต่ละอุปนิสัย แต่ละอัธยาศัย
เพราะฉะนั้นทุกท่านนี้เวลาที่เจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็จะรู้สภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนเลย แม้ว่าลักษณะนั้นเป็นโลภะ หรือว่าลักษณะนั้นเป็นโทสะ ก็เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
6807 โลภะเกิดขึ้นดับไปสะสมสืบต่อในจิตดวงต่อไป
ถาม หมายความว่า เมื่อตาเห็น เกิดความโลภ ความโลภนั้นดับไปแล้ว มีกำลังที่จะให้ทำอีก ของจริงๆ เป็นอย่างนี้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ โลภะที่เกิดขึ้นกับจิตในขณะนี้ ดับไปพร้อมจิต แต่ไม่ใช่สูญหายหมดสิ้นไป สืบต่ออยู่ในจิตดวงต่อไป เพราะเหตุว่าจิตทุกดวงเป็นอนันตรปัจจัย เมื่อดับแล้วทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะจิตดวงต่อไปเกิดขึ้น เพราะจิตดวงก่อนเป็นปัจจัย จึงมีทุกสิ่งทุกอย่างที่สะสมสืบต่อจากจิตดวงก่อน ไม่ได้สูญหายไปไหน
ถาม มีทั้งกุศลและอกุศล
ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง
เพราะฉะนั้นนี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวลาที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต ซึ่งพอใจ ยินดี ปรารถนา ต้องการ ในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่ถูกต้อง ที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่รังเกียจ แล้วไม่อยากจะมีโลภะ อยากจะให้สงบ ต้องการที่จะให้สงบในขณะนั้น ไม่รู้ลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้น เพราะสะสม มีปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น
6008 จุติจิตของพระอรหันต์ กับ จุติจิตของปุถุชน ต่างกันตรงไหน
ถาม จุติจิตของพระอรหันต์กับปุถุชนธรรมดา ต่างกันตรงไหน
ท่านอาจารย์ ต่างกันที่จิตของปุถุชนมีปัจจัยที่จะทำให้จิต เจตสิก เกิดขึ้นต่อไปทันที แต่สำหรับพระอรหันต์ จิตนั้นไม่มีปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเลย
6809 คำว่า ปัจจัย แทนสภาพธรรม ใช่หรือไม่
ถาม คำว่า “ปัจจัย” แทนสภาพธรรม ใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๔ คือ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูป หรือรูปปรมัตถ์ ๑ นิพพานปรมัตถ์ ๑
สำหรับปรมัตถธรรม ๔ ที่เกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยปรุงแต่งมี ๓ คือ จิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ และรูปปรมัตถ์
เพราะฉะนั้นเวลาพูดถึงปัจจัย ก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติ คือ สภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นปรมัตถธรรมเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แล้วแต่ว่าจะเป็นปัจจัยโดยอดีต คือ ดับไปแล้ว จึงได้เป็นปัจจัยให้สภาพของจิต เจตสิกข้างหน้าเกิดขึ้น หรือว่าเป็นปัจจัยโดยปัจจุบัน คือ เป็นปัจจัยโดยการเกิดขึ้นพร้อมกันทันที
แต่ว่า “นิพพาน” ไม่มีการเกิดขึ้น แต่นิพพานเป็นอารัมมณปัจจัยของโลกุตตรจิต เพราะเหตุว่าโลกุตตรจิตเกิดขึ้นประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เพราะฉะนั้นที่โลกุตตรจิตเป็นโลกุตตรจิต เพราะเหตุว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นโลกุตตรจิตจะปราศจากการรู้แจ้งนิพพานไม่ได้ เพราะฉะนั้นนิพพานจึงเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต เจตสิก รูป เป็นสภาพธรรมซึ่งไม่มีการเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงดับความยินดีหรือความต้องการ
6810 สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นที่ตั้งของความยินดีต้องการทุกอย่าง
สภาพธรรมใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้น ขอให้สังเกตพิจารณาดูว่า เป็นที่ตั้งของความยินดี ความต้องการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียงที่ปรากฏทางหู กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รสที่ปรากฏทางลิ้น สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย หรือเรื่องราวที่คิดนึก ก็คิดนึกด้วยความยินดีพอใจ
เพราะฉะนั้นปัจจัยก็ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน และบัญญัติธรรม เวลาที่มีการคิดนึก การคิดนึกถึงคำ เป็นโวหารต่างๆ นั้น ก็เป็นอารมณ์ของจิตที่คิด
เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่ก็เป็นอารัมมณปัจจัยของจิตที่คิด
ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมคะ เชิญค่ะ
อย่าลืม นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน การที่จะรู้ลักษณะของจิตว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ เป็นกุศลประการต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะการสะสมสืบต่อไม่หายไปไหน
6811 สิ่งที่สะสมมาจะเกิดพร้อมกันทันทีไม่ได้
ถาม ปัจจุบันพอจะเข้าใจ หมายความว่า พอมีจิตเกิดขึ้นแล้วเป็นปัจจัยของจิตดวงต่อไป ทางฝ่ายกุศลอย่างท่านจูฬบัณถก ควักผ้าเช็ดหน้าตอนนั้นท่านเกิดอกุศล ท่านพิจารณาว่าร่างกายเรานี้ไม่สะอาด เมื่อเช็ดหน้าก็เปรอะเปื้อน จิตนั้นดับไป ทอดเวลายาวนานแล้วมาเกิดทีหลัง อันนี้เป็นปัจจัยสะสมอยู่หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ สิ่งที่สะสมจะมาเกิดพร้อมกันทันทีได้อย่างไรล่ะคะ เพราะเหตุว่ามีทั้งโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง กุศลบ้าง มัจฉริยะบ้าง อิสสาบ้าง
ผู้ฟัง มีกำลังเมื่อไรก็โผล่มา
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ปัจจัยอีกเหมือนกันค่ะ เพราะให้ทราบว่า ที่จิตแต่ละขณะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็ไม่ละการยึดถือว่า เป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เช่น ในขณะที่คิดนึกนี้ บางคนไม่อยากจะคิดนึกเลย อยากให้สติระลึกรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมเท่านั้น ดูเหมือนว่าจุดประสงค์เพียงเพื่อที่จะหยุดคิด หรือไม่ให้คิด เพราะเหตุว่าไม่ชอบที่จะให้เกิดคิดขึ้น เพราะคิดว่า เวลาที่คิดแล้วก็ไม่สงบ เป็นห่วงกังวล วิตกต่างๆ นานา แต่นั่นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เพราะการอบรมเจริญปัญญา ไม่สำคัญว่าจิตจะคิดหรือไม่คิด เพราะเหตุว่าแม้แต่ความคิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ที่ยับยั้งหรือหยุดคิดไม่ได้ แต่ปัญญาจะต้องรู้แม้แต่ขณะที่คิดว่า เป็นสภาพที่กำลังรู้คำ นึกถึงคำ เพราะมีสัญญา ความจำในเสียง ที่ทำให้นึกถึงคำต่างๆ เกิดขึ้น ถ้าไม่เคยได้ยินเสียงนั้น คำนั้นเลย จะคิดนึกอย่างนั้นก็ไม่ได้
เพราะฉะนั้นในขณะที่กำลังคิด ก็รู้ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้ารู้จริง จะห่วงกังวลไหมคะ ที่จะไม่ให้คิด แต่เพราะยังเป็นตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นก็ไม่อยากที่จะให้เกิดคิดขึ้น ซึ่งนั่นไม่ใช่หนทาง ที่จะทำให้รู้ว่า แม้ความคิดก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และใครคิด ปกติธรรมดา
นี่คือการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ปกติธรรมดา โลภมูลจิตคิด ให้ทราบด้วยว่า วันหนึ่งๆ โลภมูลจิตเกิดมากน้อยสักแค่ไหน ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในกุศลที่เป็นไปในทาน หรือศีล หรือความสงบ หรือสติปัฏฐาน แล้วละก็ ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด ถ้าขณะที่คิด ไม่สบายใจ หงุดหงิด กังวล เดือดร้อน ไม่แช่มชื่น ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนที่คิด เป็นโทสมูลจิตคิด
เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงต้องรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมที่กำลังคิด รู้ในขณะที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล และเห็นว่าสภาพนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สะสมมาในจิตแต่ละขณะ จนกระทั่งถึงพร้อมด้วยปัจจัยที่จะเกิดขึ้น เป็นอกุศลที่คิดอย่างนั้น และความคิดก็แสนที่จะวิจิตร ลองนึกดูเถอะว่า ท่านเคยคิดอะไรบ้าง ไร้สาระมากน้อยแค่ไหน เดี๋ยวนี้อาจจะรู้ว่าไร้สาระ แต่ในขณะที่ไม่รู้ ช่างเป็นสาระที่สำคัญ แต่ให้ทราบว่า นั่นคือความวิจิตรของจิตที่จะเกิดขึ้นอย่างนั้น ไม่มีใครบังคับบัญชา แต่นามขันธ์ปรุงแต่งเกิดขึ้นเป็นความคิดแต่ละขณะ ซึ่งนี่เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
6812 ถ้าไม่รู้ จะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนได้อย่างไร
ถ้าไม่รู้แล้ว จะละการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้อย่างไร ไม่มีหนทางเลยค่ะ ที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน โดยไม่รู้อะไร ในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก
เพราะฉะนั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็เป็นเรื่องที่ละเอียด และเป็นเรื่องที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า จิตมีลักษณะรู้แจ้งอารมณ์ จิตที่รู้แจ้งอารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นและดับไปแต่ละขณะก็สั่งสมสันดานของตนเอง ไม่ว่าจะปรากฏเกิดขึ้นเป็นโลภมูลจิต ก็มีการสะสมที่โลภะนั้นจะเกิดขึ้นเป็นไปในรูป หรือในเสียง หรือในกลิ่น หรือในรส หรือในโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสกาย
เวลาที่โทสะเกิดขึ้น ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่สะสมอยู่ในจิต เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป ต้องรู้ตามความเป็นจริง
สำหรับลักษณะของจิตประการที่ ๒ ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี มีว่า
อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง
สภาพรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะขณะนอนหลับ ขณะที่ตื่น ขณะที่เห็น ขณะที่คิดต่างๆ
ฉะนั้น ในคำว่า จิตฺตํ นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ฟังดูเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ว่าเป็นเรื่องจริงในชีวิตประจำวัน ส่วนมากทุกท่านก็ได้ยินคำว่า “กุศลจิต” และ “อกุศลจิต” อยู่เสมอ แต่ขอให้ทราบว่า จิตทั้งหมด ไม่ว่าจะมีประเภทต่างๆ ประการใดก็ตาม โดยการเกิด คือ โดยชาติ หรือ ชา – ติ มี ๔ ประเภท คือ เป็นกุศลจิต ๑ เป็นอกุศลจิต ๑ เป็นวิบากจิต ๑ เป็นกิริยาจิต ๑
นี่ใช้เสียงภาษาไทย ซึ่งถ้าเป็นภาษาบาลี ก็ต้องใช้ กุ ศะ ละ จิตตะ หรือจิตตัง ก็แล้วแต่ แล้วก็อะ กุ ศะ ละ วิ ปา กะ เพราะเหตุว่าบาลีไม่ใช้ตัว บ เป็นวิปากะ และกิริยาจิต
เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ท่านผู้ฟังจะคุ้นเคยกับคำว่า “กุศลจิต” และ “อกุศลจิต” แต่ยังไม่คุ้นกับคำว่า “วิบากจิต” กับ “กิริยาจิต”
6814 กุศลจิตเป็นสภาพของจิตที่ดี เป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก
กุศลจิตเป็นสภาพของจิตที่ดี ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดผล คือ “กุศลวิบาก” ในอนาคตข้างหน้า เพราะฉะนั้นเมื่อมีกุศลซึ่งเป็นเหตุ เมื่อเหตุมี ก็จะต้องมีผลของกุศลนั้น คือ จิตและเจตสิกเกิดขึ้นเพราะกุศลเป็นปัจจัย จิตและเจตสิกซึ่งเป็นผลของกุศลนั้น เป็น “วิบากจิต” และ “วิบากเจตสิก” ซึ่งข้อความในอรรถกถามีว่า
แม้ว่าเจตสิกก็เป็นวิบาก แต่เพราะเหตุว่า จิตเป็นประธาน เพราะฉะนั้นก็ใช้คำว่า “วิบากจิต”
หรือแม้ว่า “จิตตชรูป” คือ รูปซึ่งเกิดเพราะจิต มี ในขณะนั้นรูปไม่ได้เกิดเพราะจิตเท่านั้น แต่ว่ารูปนั้นเกิดเพราะจิตและเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน แต่ว่าทรงใช้คำว่า “จิตตชรูป” ซึ่งก็หมายความรวมถึงเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยว่า รูปนั้นเกิดขึ้นเพราะจิตและเจตสิกเป็นสมุฏฐาน ฉันใด เวลาที่เป็นวิบากจิตนี้ก็เหมือนกัน จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เกิดร่วมกับวิบากจิตก็เป็นวิบากเจตสิก ซึ่งเป็นผลของกุศล ถ้าเป็นกุศลวิบาก
6815 อกุศลจิตเป็นสภาพของจิตที่ดี เป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก
สำหรับอกุศลจิตก็เป็นเหตุ เป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ เป็นสภาพธรรมที่ให้ผลเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อเหตุ คือ อกุศลมี ก็เป็นปัจจัยให้จิตซึ่งเป็นอกุศลวิบากและเจตสิกที่เป็นอกุศลวิบากเกิดขึ้นร่วมกัน เป็นผลของอกุศล
เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศลเป็นเหตุ วิบากจิตและวิบากเจตสิกเป็นผล
นอกจากกุศล อกุศล และวิบากแล้ว ก็มีจิตอีกประเภทหนึ่ง คือ กิริยาจิต ซึ่งไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล ไม่ใช่กุศล และไม่ใช่อกุศล และไม่ใช่วิบากด้วย เพราะเหตุว่าไม่ใช่จิตและเจตสิกที่เป็นผลของกุศลและอกุศล
เพราะฉะนั้นจิตทั้งหมด โดยชาติ คือ โดยการเกิดแล้ว จำแนกเป็น ๔ ชาติ หรือเป็น ๔ ประเภท คือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑
เป็นชื่ออีกเหมือนกัน ใช่ไหมคะ ถ้าไม่รู้ว่า ขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นกิริยา
6816 ขณะปฏิสนธิ
ขณะปฏิสนธิ ที่ทุกท่านมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ เพราะปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น เป็นขณะแรกในภพนี้ในชาตินี้ ปฏิสนธิจิตเป็นกุศลจิตไม่ได้ เป็นอกุศลจิตไม่ได้ เพราะขณะนั้นไม่ได้กระทำกรรมใดๆ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ
เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตเป็นกิจ เกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย กรรมที่ได้กระทำแล้ว จะเป็นกรรมหนึ่งกรรมใดก็แล้วแต่ ถ้าเป็นการเกิดในภูมิมนุษย์ ซึ่งเป็นสุคติภูมิ ก็ต้องเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือสัตว์ในอบายภูมิ เช่น เกิดในนรก หรือว่าเป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็เป็นผลของอกุศลกรรม จิตที่ปฏิสนธิก็เป็นอกุศลวิบาก เพราะฉะนั้นทุกท่านที่เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรมหนึ่งที่ได้กระทำแล้ว ขณะที่ปฏิสนธิจิตเป็นวิบาก มีกรรมเป็นปัจจัย ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดพร้อมกับเจตสิก
ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่กิริยา
เมื่อปฏิสนธิจิตดับลงไปแล้ว กรรมไม่ได้ทำให้เพียงปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แต่เมื่อปฏิสนธิจิตดับไป กรรมนั้นก็เป็นปัจจัย ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นเป็นวิบากสืบต่อจากปฏิสนธิจิต แต่กระทำภวังคจิต ไม่ได้กระทำปฏิสนธิกิจ เพราะเหตุว่าปฏิสันธิจิต หมายความถึงจิตที่กระทำกิจสืบต่อจากภพก่อน ทันทีที่จุติจิตของชาติก่อนดับ กรรมที่จะทำให้ปฏิสนธิก็เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิต ซึ่งเป็นวิบากจิตเกิดต่อจากจุติจิต แล้วก็ดับไป แล้วกรรมนั้นก็ยังเป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้น แม้ว่าไม่ได้กระทำกิจปฏิสนธิ คือ สืบต่อจากชาติก่อน แต่ก็กระทำภวังคกิจ รักษาดำรงภพชาติของการเป็นบุคคลนั้นสืบต่อไป จนกว่าจะถึงจุติ ซึ่งจะทำให้สิ้นสุดจากการเป็นบุคคลนี้ ในชาตินี้
6818 กรรมทำให้ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลตามที่ปฏิสนธิจิตเป็น
ถาม ไม่ใช่ตัวรักษาภวังค์
ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตขณะเดียวค่ะ ไม่ใช่หลายขณะ เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไปแล้ว หมดเลยหรือคะ หรือว่าขณะนี้ก็ยังมีจิตเกิดดับสืบต่ออยู่
กรรมไม่ได้ให้ผลเพียงทำให้ปฏิสนธิจิตและเจตสิกเกิด แต่เมื่อปฏิสนธิจิตและเจตสิกดับไปแล้ว กรรมเดียวกับที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด ทำให้จิตดวงต่อไปเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิจิต ดำรงภพชาติของความเป็นบุคคลตามที่ปฏิสนธิจิตเป็น เป็นเปรตก็เป็นเปรต เป็นสัตว์เดรัจฉานชนิดหนึ่งชนิดใด ก็เป็นชนิดนั้น เป็นคนไหนก็เป็นคนนั้น
ถาม หมายความว่า ส่งผลให้เป็นคนนั้น แล้วก็เป็นคนนั้นตลอดชาติไป
ท่านอาจารย์ จะเปลี่ยนจากบุคคลนี้ให้เป็นคนอื่นได้ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ทำไม
ผู้ฟัง เพราะกรรมยังมีอยู่
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ไม่ใช่ว่าเพราะเราหวัง ถ้าสมมติว่าเราทำบุญวันนี้ ก็เป็นเทวดาวันนี้ ใช่ไหมคะ ไม่ได้ค่ะ ยังไม่ได้ให้ผล
ผู้ฟัง บางคนที่ผมอ่านเจอในพระไตรปิฎก เร็วเหลือเกิน ชั่วเดี๋ยวเดียว ทำกาลกิริยาในขณะนั้น แล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้น ชั้นนี้ ไม่รู้จักทุคติเลย เป็นกัปๆ เนิ่นนานเหลือเกิน
ท่านอาจารย์ ต้องจุติก่อน ถ้ายังไม่จุติจิต ก็จะไปเป็นเทวดาเดี๋ยวนี้ไม่ได้
ผู้ฟัง ก็หมายความว่า กรรมตัวนี้ส่งผลจนกว่าจะหมดภพชาติในภูมินั้นๆ
ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ซิคะ ยังให้ผลไม่หมดก็ได้ ก็เกิดอีกเพราะกรรมอันนั้นก็ได้ ถ้าเป็นกรรมแรง กรรมที่มีกำลัง แล้วยังให้ผลไม่หมด ก็ยังสามารถที่จะให้ผลในชาติต่อๆ ไปอีกได้
6819 กุศลไม่ใช่มีเฉพาะทานอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ นี่แสดงให้เห็นว่า กุศลไม่ใช่มีเฉพาะทานอย่างเดียว โดยมากท่านผู้ฟังคิดถึงกุศลว่าได้แก่ทาน คือ การให้วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ คิดเท่านี้ ว่านั่นเป็นบุญแล้ว นั่นเป็นกุศลแล้ว แต่ลืมกุศลอื่น ถ้าไม่มีเงินทอง หรือว่าบังเอิญขาดเงิน กุศลอื่นยังมีอีกมากที่จะกระทำได้ แต่ส่วนใหญ่ทุกคนลืมกุศลประการอื่น เพราะเหตุว่าไม่ได้เข้าใจในอรรถของกุศลว่า
“กุศล” หมายความถึงสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นโลภะ ความหวัง ความต้องการ ความพอใจ ความยึดมั่น ไม่ใช่โทสะ ซึ่งเป็นความหยาบกระด้าง ความขุ่นเคือง ไม่ใช่โมหะ คือ การไม่รู้ลักษณะของกุศลและอกุศล
ใครก็ตามที่ไม่รู้ลักษณะของกุศลและอกุศล ย่อมเจริญกุศลไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล
เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้อรรถ คือ ลักษณะสภาพของกุศลธรรม ก็จะเข้าใจเพียงว่า ท่านสามารถจะทำกุศลได้เฉพาะเวลาที่ท่านมีเงินทองทรัพย์สินเท่านั้น แต่ลืมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ถึงแม้ไม่มีเงิน แต่มีวัตถุ มีสิ่งของที่จะเจือจาน ที่จะสละที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่นได้ ท่านช่วยได้ไหม ถ้าไม่ได้ ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล แต่ถ้ายังไม่เห็นว่า การกระทำอย่างใดควร เป็นกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีโทษ ท่านก็จะคิดเศร้าหมองใจว่า ท่านขาดเงิน ทำบุญต่อไปอีกไม่ได้แล้ว แต่ความจริงไม่ต้องมีเงิน กุศลอื่นก็มีอีกหลายประการที่จะทำได้ แม้แต่การที่จะมีความรู้สึกเป็นมิตรไมตรีกับบุคคลอื่น มีความรู้สึกเสมอกันกับบุคคลอื่น มีคำพูดที่อ่อนหวานด้วยใจจริง ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เจือจาน ขณะนั้นทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ
แต่ตรงกันข้าม ถ้ายังมีมานะ สำคัญตนว่า สูงกว่าบุคคลอื่น หรือว่ายังมีเขา ยังมีเรา ในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะเหตุว่าในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นโทษ หรือว่าไม่เป็นโทษที่คิดอย่างนั้น ที่เข้าใจว่าจะต้องมีความสำคัญตน จะต้องมีการแบ่งแยกเป็นเขาเป็นเรา จะต้องไม่ช่วยเหลือ จะต้องไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน จิตที่คิดอย่างนั้น เข้าใจอย่างนั้นเป็นโทษ หรือไม่เป็นโทษ
เพราะฉะนั้น กุศล คือ สภาพธรรมที่ไม่เป็นโทษ เพราะฉะนั้นถึงแม้จะไม่มีเงิน ไม่มีวัตถุ ไม่มีสิ่งของให้แก่บุคคลอื่น แต่ก็ยังสามารถที่จะมีสภาพของกุศลธรรมที่ไม่เป็นโทษ ทางกาย คือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทางวาจา ไม่ดูถูก ดูหมิ่น ทางใจประกอบด้วยความเมตา กรุณา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่นได้ ในขณะนั้นก็เป็นกุศล
เพราะฉะนั้นบางท่าน เพราะไม่เข้าใจในลักษณะของกุศล ก็เลยคิดว่า ท่านจะทำกุศลอย่างเดียว คือ ทาน แต่ว่าท่านไม่สามารถจะสละวัตถุ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เจือจานบุคคลอื่นได้ มีไหมคะ ถ้ามีเงินละให้ได้ แต่ว่าสิ่งที่ท่านมี พอที่จะเอื้อเฟื้อเจือจานสงเคราะห์บุคคลที่ควรจะสงเคราะห์ในขณะนั้น ท่านให้ไม่ได้ เพราะมีความสำคัญตน หรือว่าเพราะมีความหวงแหนในวัตถุนั้น มีไหมคะอย่างนี้ มี
แต่ถ้าเข้าใจลักษณะของกุศลจริงๆ จะเจริญกุศลทุกประการ แม้ว่าจะไม่มีทรัพย์สินเงินทองที่จะให้ แต่ก็ยังมีสิ่งอื่น ซึ่งพอจะสละให้ได้ ขณะนั้นก็เป็นกุศล
6820 สละให้ไม่ได้เพราะหวงของ แต่อยากหมดกิเลส อยากสงบ
และถ้าสมมติว่า ถ้าท่านสละให้ไม่ได้จริงๆ เพราะว่าท่านเป็นคนที่หวงของ มีไหมคะ คนที่หวงของ มี แต่ท่านก็อยากจะหมดกิเลส เป็นพระโสดาบัน หรือว่าท่านก็ยังอยากจะสงบ ให้จิตสงบ จะเป็นไปได้ไหมคะ ถ้าบอกท่านว่า ถ้าท่านสามารถให้ของของท่านได้ ไม่หวง ท่านก็จะถึงนิพพานได้ ลองดูซิคะว่า บุคคลนั้นจะให้ได้หรือไม่ได้ ท่านที่หวง แต่ละบุคคลมีการสะสมมาแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้นก็พิจารณาจิตของท่านเองว่า ท่านเป็นผู้ที่ยังหวงสิ่งที่เป็นของของท่านมาก จนแม้ว่าถ้าท่านสละให้ได้ ท่านจะถึงนิพพาน ท่านก็ยังไม่ยอมสละ หรือว่าท่านกล้าพอที่จะสละสิ่งนั้นทีละเล็กทีละน้อยๆ ๆ จนเป็นปัจจัยที่สามารถจะมีการสละการยึดถือในนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็รู้แจ้งนิพพานได้
เพราะฉะนั้นบางท่านยังไม่เข้าใจหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วก็เข้าใจว่า ท่านอยากจะหมดกิเลส แต่เวลาที่กิเลสเกิดขึ้น ท่านกลับพอใจที่จะให้กิเลสนั้นยังคงมีอยู่ เช่น ความหวงวัตถุสิ่งของ ซึ่งไม่สามารถที่จะสละให้บุคคลอื่นได้ หมายความว่ายังไม่ต้องการดับกิเลสจริงๆ ถูกไหมคะ เพราะแม้แต่วัตถุสิ่งของ ก็ยังไม่สามารถที่จะเจือจานให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้
6821 หวงเก็บอกุศลอื่นๆ ไว้ ไม่ถึงนิพพาน
หรือเวลาที่มีมานะ ความสำคัญตน มีความริษยา ถ้าบอกว่า ถ้าละเสียได้ขณะนั้น ควรที่จะพลอยยินดีด้วยกับบุคคลอื่น หรือควรจะมีเมตตาในบุคคลซึ่งท่านเห็นว่า เป็นผู้ที่ชั่ว ถ้าท่านสามารถที่จะเมตตาได้ในขณะนั้น แล้วก็จะถึงนิพพาน จะยอมไหมคะ ยอม แน่ใจหรือคะ บางคนไม่ยอมค่ะ ยังต้องโกรธอยู่ พอใจ มีฉันทะในการที่จะต้องโกรธ
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050