ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ศรีลังกา ตอนที่ ๕ (จบ) วัดสำคัญ ๆ ในกรุงโคลอมโบ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
วันนี้ วันจันทร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๓ คณะของเราเดินทางออกจากโรงแรม แกรนด์ เมืองนูวารา เอลิย่า ในตอนเช้า มุ่งหน้ากลับสู่กรุงโคลอมโบ พักค้างคืนที่โรงแรมซินนาม่อนเลคหนึ่งคืน แล้วขึ้นเครื่องกลับสุวรรณภูมิในคืนวันถัดไปครับ ก่อนออกเดินทาง ได้กราบขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ บันทึกภาพเดี่ยวและภาพหมู่เล็กๆ ไว้เป็นที่ระลึกด้วยครับ
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่โรงแรมแกรนด์ เมืองนูวารา เอลิย่านี้ นอกจากจะได้เห็นความสวยงามของสถานที่ กระทบสัมผัสความหนาวเย็นชื่นใจ ได้ลิ้มรสชาดอาหารอร่อยหลากหลาย รวมทั้งรสชาดของชาชั้นดีชนิดต่างๆ ได้กลิ่นหอมของดอกไม้ และกลิ่นอายความสดชื่นของบรรยากาศโดยรอบแล้ว ที่สำคัญที่สุด คือการได้ฟังการสนทนาธรรม เป็นการสะสมความเข้าใจในธรรมะเพิ่มขึ้น อันเป็นสาระ ของกาลครั้งนี้ ที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับทุกคน
เราเดินทางถึงชานเมืองโคลอมโบในเวลาเย็น และได้แวะชมวัดเกลานียา หรือที่คนไทยเรียกวัดกัลยาณี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงโคลอมโบประมาณเจ็ดไมล์ ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำเกลานี
เชื่อกันมาว่า บริเวณที่เป็นที่ตั้งของวัดนี้ พระพุทธองค์เคยเสด็จมาในสมัยพุทธกาล ภายในวิหาร มีภาพเขียนแสดงเรื่องราวต่างๆ ทางพระพุทธศาสนามากมายเช่น
ภาพพระนางเหมาลาที่ซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในมวยผม ปลอมตัวเป็นพราหมณ์เดินทางมาศรีลังกาพร้อมกับเจ้าชายทันตกุมารพระสวามี ท่านที่สนใจประวัติพระเขี้ยวแก้วเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ... ประวัติความเจริญทางพระพุทธศาสนาของศรีลังกา ตอนจบ [พระเขี้ยวแก้ว]
ภาพพระสังฆมิตตาเถรี อัญเชิญกิ่งพระศรีมหาโพธิ์มาจากประเทศอินเดีย ท่านที่สนใจประวัติของกิ่งพระศรีมหาโพธิ์ ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ...ประวัติความเจริญทางพระพุทธศาสนาของศรีลังกา ตอนที่ 7 [พระศรีมหาโพธิ์]
นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนเรื่องราวต่างๆ อีกมากมายครับ
และก็เช่นเคยที่คณะของเราได้นำผ้าที่เตรียมไปจากกรุงเทพฯ ขึ้นห่มองค์พระเจดีย์ ซึ่งมีประวัติว่าบรรจุพระเก้าอี้ ที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับเพื่อห้ามกษัตริย์ และพระอนุชามิให้ทะเลาะกัน ซึ่งเก้าอี้ที่พระพุทธองค์ประทับ กลายเป็นทองคำ จึงได้ก่อพระเจดีย์ครอบไว้
ชาวศรีลังกาเป็นผู้มีศรัทธามาก เมื่อเห็นใครทำความดีอะไร ก็มายืนพนมมือมอง ด้วยสายตาที่อ่อนโยน พร้อมกับกล่าวคำสาธุๆ อนุโมทนาไปกับการอันเป็นกุศลนั้น
.........
"...ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนา หรือช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ทักขิณาทานนั้น ย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนาหรือช่วยเหลือ ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลาย ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายใน ปรโลก..."
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 83-84
บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่า บุญมีประมาณน้อยจักไม่มาถึง แม้หม้อน้ำ ยังเต็มด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมา (ทีละหยาดๆ ) ได้ฉันใด ธีรชน (ชนผู้มี ปัญญา) สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญได้ฉันนั้น.
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓- หน้าที่ 2
ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นในโคลอมโบ เราได้เดินทางไปชมวัดคงคารามซึ่งเป็นวัดของนิกายสยามวงศ์ และ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์แห่งแรกของศรีลังกา
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีเหลืองสดใส และ ประกอบไปด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม
นอกจากนั้น ที่วัดนี้ยังมีอาคารต่างๆ ที่เก็บรักษาโบราณวัตถุและสิ่งมีค่าต่างๆ มากมายทางศาสนา รวมถึงสิ่งของต่างๆ ที่มีบุคคลนำมาถวายไว้มากมายนับไม่ถ้วนจริงๆ ครับ
"...พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ที่วัตถุเลย...แต่อยู่ที่ความเข้าใจของชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธไม่เข้าใจพระธรรม...สูญแน่นอน ไม่มีการที่จะดำรง สืบต่อไป มีพระไตรปิฎกจริง เปิดแล้วไม่รู้เรื่อง หรือว่าเข้าใจผิด ขณะนั้นก็ไม่ใช่การสืบต่อพระศาสนา เพราะฉะนั้น เราต้องเป็นผู้ที่ตรงจริงๆ มีความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย แม้แต่พระธรรม นอบน้อม โดยการศึกษา ด้วยการพิจารณาด้วยความละเอียด ที่จะให้ไม่บิดเบือน ไม่เข้าใจผิดในพระธรรม เพราะถ้าเข้าใจผิด จะผิดไปโดยตลอด..."
คัดจากกระดานธรรมทัศนะ
ที่ศรีลังกา ประเพณีการรดน้ำต้นโพธิ์ เป็นสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ทุกที่ครับ ที่วัดนี้เราเห็นครอบครัวหนึ่งมารดนำ้ต้นโพธิ์ด้วยความอลังการนิดหน่อย กล่าวคือมีการนำกลองและแตรมาประโคมขณะเวียนประทักษิณต้นโพธิ์ด้วยครับ
ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสพึง รู้ได้ด้วยสถาน ๓ คือเป็นผู้ใคร่ในการเห็นผู้มีศีลทั้งหลาย ๑เป็น ผู้ใคร่เพื่อจะฟังธรรม ๑มีใจปราศจากมลทิน ๑ คือความตระหนี่ อยู่ครองเรือน มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีมืออันล้างไว้ (คอยจะหยิบของให้ทาน)
คัดจากธรรมเตือนใจ
พระพุทธรูปมากมายที่คนไทย นำมาถวายไว้
นี่เป็นอีกอาคารหนึ่งที่จัดเก็บของมีค่ามากมาย ที่มีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย
ภาพพระพุทธรูปทองคำแท้มีค่า มากมายหลายขนาด ในตู้เซฟ
"...ทรัพย์เครื่องปลื้ม ใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอัน ประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้น เสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย พุทธรัตนะแม้นี้ เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจวาจา นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้..."
ข้อความ บางตอนจาก... รัตนสูตร
[เล่มที่ 47] พระสุตตันต ปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ 2
วัดสีมามาลากา ตั้งอยู่กลางทะเลสาป ประกอบด้วยโบสถ์ 3 หลัง หลังแรกประดิษฐานต้นโพธิ์ หลังที่สองประดิษฐานพระพุทธรูป หลังที่สามเป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก
"...บุคคล ไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่นไว้ในใจ ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่น พึงพิจารณากิจที่ทำแล้วและยังมิได้ ทำของตนเท่านั้น..."
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 63
"...ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ผู้นั้นย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือ เห็นทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งให้ถึงความสงบทุกข์ นั่นแลเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะสูงสุด ผู้อาศัยสรณะนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.
[เล่มที่ 33] พระ สุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 331
ในตอนบ่าย ทางพุทธสมาคมแห่งศรีลังกา ได้เรียนเชิญท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรม ที่ ALL CYLON BUDDHIST CONGRESS ครับ
เป็นบุญของข้าพเจ้า ที่เพิ่งได้ยินท่านสนทนาธรรมด้วยภาษาอังกฤษ น้ำเสียงและท่วงทำนองการสนทนาของท่านคล่องแคล่ว ราบรื่น ไพเราะน่าฟังมากครับ
ทางศรีลังการเรียนถามท่านถึงเรื่องอนัตตาครับ ขออภัยที่ข้าพเจ้าบกพร่อง คือผิดพลาดที่เครื่องบันทึกเสียงไม่ทำงาน จึงไม่สามารถนำข้อความมาถ่ายทอดให้ทุกๆ ท่านได้ฟัง แต่หากจะให้สรุปสั้นๆ ตามความเข้าใจของข้าพเจ้าก็คือ ส่วนใหญ่ท่านเหล่านั้น ยังมีความเห็นเรื่องการปฏิบัติ ความมีตัวตนในการปฏิบัติ ไม่ต่างไปจากที่เป็นๆ กันอยู่มากมายในประเทศของเราครับ
ท่านนี้เป็นหนึ่งในสามสี่ท่าน ที่ได้สนใจติดตามศึกษาแนวทางของท่านอาจารย์ครับ
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒[เล่มที่ 25]
ข้อความตอนหนึ่งจาก อายาจนสูตร
ความปริวิตกแห่งพระหฤทัย บังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า ธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาคคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ก็หมู่สัตว์นี้แล ยังยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็ฐานะนี้ คือ ความเป็นปัจจัยแห่งธรรมมี สังขารเป็นต้นนี้ เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันหมู่ สัตว์ผู้ยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย จะพึงเห็นได้ยาก แม้ฐานะนี้ ก็เห็นได้ยาก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรมแต่ชนเหล่าอื่นจะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนื่อยของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความลำบากของเรา. ฯลฯ
การเดินทางไปศรีลังกาสิ้นสุดลงแล้ว ณ กาลนี้ แต่การแสวงหาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิได้สิ้นสุดลง ไม่ว่าในกาลไหนๆ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์
คำหนึ่งที่ท่านอาจารย์ฝากไว้ให้ทุกๆ คนได้คิด ณ พระมหาเจดีย์รุวันเวลิสยา "...มี มือ เท้า ไว้บูชาพระรัตนตรัย..." คำนี้ จะสถิตย์ไว้ในใจของข้าพเจ้า ตลอดไป...
กราบเท้าอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
..........
ขอเชิญคลิกชมตอนที่ผ่านมาทั้งหมด ได้ที่นี่ครับ....
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ศรีลังกา ตอนที่ ๑ โคลอมโบ-โปโลนนารูวา
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่พระมหาเจดีย์รุวันเวลิเสยะ ประเทศศรีลังกา
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ศรีลังกา ตอนที่ ๒ มหินตาเล-อนุราธปุระ
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ศรีลังกา ตอนที่ ๓ สิกิริยา-ถ้ำดัมบูลลา-พระเขี้ยวแก้ว
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ศรีลังกา ตอนที่ ๔ สวนพฤกษ์ศาสตร์ เพลาดินียา-เมืองนูวาราเอลิย่า
กำหนดการเดินทางไปประเทศศรีลังกา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านครับ
ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ
ผู้นั้นย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ
คือเห็นทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ
และอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งให้ถึงความสงบทุกข์
นั่นแลเป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะสูงสุด
ผู้อาศัยสรณะนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของพี่วันชัยด้วยนะครับ
การเดินทางไปศรีลังกาสิ้นสุดลงแล้ว ณ กาลนี้
แต่การแสวงหาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิได้สิ้นสุดลง ไม่ว่าในกาลไหนๆ
จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ด้วยความศรัทธาอย่างสูง
ขอขอบคุณและขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณวันชัยค่ะ
....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน....
บุคคล ไม่ควรทำคำแสยงขนของคนเหล่าอื่นไว้ในใจ,
ไม่ควรแลดูกิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของคนเหล่าอื่น,
พึงพิจารณากิจที่ทำแล้ว และยังมิได้ทำของตนเท่านั้น."
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ 63
ขอขอบพระคุณสำหรับธรรมะเตือนใจ
และขออนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ
กราบอนุโมทนาคุณวันชัยที่นำเรื่องและภาพมาเล่าให้ฟังค่ะ ทำให้เกิดกุศลจิตที่ได้
ทราบว่า ท่านอาจารย์ไปสนทนาธรรมที่พุทธสมาคมศรีลังกาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ พี่วันชัย รูปสวยจริงๆ
เสียดายที่ไม่ได้ฟังสนทนาภาษาอังกฤษด้วย เพราะไปเที่ยวหา
ซื้อของฝากอยู่
ขอเสริมว่าที่วัดคงคารามมีเรื่องที่พระอัสชิ เป็นพระชาวศรีลังกากล่าวเกี่ยวกับบาตรพระของศรีลังกาซึ่งเป็นอีกเรื่องที่น่าจะสำคัญมากๆ นะครับใครทราบข้อเท็จจริงก็ขอให้เล่าให้ทราบด้วยครับ ไปไม่ทันฟังท่านพูดทั้งหมด ทราบว่าสำเนียงภาษาอังกฤษท่านก็ฟังยากด้วยได้แต่ฟังคนเล่าปากต่อปาก ไม่ทราบจะเชื่อทางไหนดีแต่คิดว่าบาตรนั้นเกี่ยวข้องกับพระวินัย ความตั้งใจของท่านพระอัสชิเป็นอย่างไรผมไม่ทราบแน่ชัด ถ้าท่านใดได้ฟังจนหมดแล้วจะช่วยเล่าให้เกิดสัทธาได้คงดีครับ