พระสูตร เรื่องมาร ... วันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๕

 
มศพ.
วันที่  22 ม.ค. 2555
หมายเลข  20426
อ่าน  2,844

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

ในวันเสาร์ที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๕ คือ

เรื่องมาร

...จาก...

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 260

(ภาพแสดงบรรยากาศการสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ ในวันอาทิตย์ที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๔)

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ คณะวิทยากร

[เล่มที่ 43] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 260

เรื่องมาร

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ กุฎี ซึ่งตั้งอยู่ในป่าที่ข้างป่าหิมพานต์ ทรงปรารภมาร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อตฺถมฺหิ" เป็นต้น.

มารทูลให้พระศาสดาทรงครองราชสมบัติ

ได้ยินว่า ในกาลนั้น พระราชาทั้งหลายทรงครอบครองราชสมบัติ เบียดเบียนเหล่ามนุษย์. ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นมนุษย์ทั้งหลายถูกเบียดเบียนด้วยการลงอาชญา ในรัชสมัยของพระราชาผู้มิได้ตั้งอยู่ในธรรม ทรงดำริด้วยสามารถแห่งความกรุณาอย่างนี้ว่า "เราอาจเพื่อจะครอบครองราชสมบัติโดยธรรม ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ชนะเอง ไม่ให้ผู้อื่นชนะ ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ให้ผู้อื่นเศร้าโศก หรือหนอ?" มารผู้มีบาป ทราบพระปริวิตกข้อนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงดำริว่า "พระสมณโคดมทรงดำริว่า 'เราอาจเพื่อครอบครองราชสมบัติ หรือหนอ?' บัดนี้ พระสมณโคดมนั้น จักเป็นผู้ใคร่เพื่อครอบครองราชสมบัติ, ก็ชื่อว่าราชสมบัตินี้ เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท, เมื่อพระสมณโคดมครอบครองราชสมบัตินั้นอยู่, เราอาจเพื่อได้โอกาส; เราจะไป, จักยังความอุตสาหะให้เกิดขึ้นแก่พระองค์" แล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดากราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงครองราชสมบัติ, ขอพระสุคตเจ้า จงทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ไม่เบียดเบียนเอง ไม่ให้ผู้อื่นเบียดเบียน ไม่ชนะเอง ไม่ให้ผู้อื่นชนะ ไม่เศร้าโศกเอง ไม่ให้ผู้อื่นเศร้าโศก."

พระศาสดาตรัสถามเหตุที่มารทูล

ครั้งนั้น พระศาสดาตรัสกะมารนั้นว่า "มารผู้มีบาป ก็ท่านเห็นอะไรของเรา ผู้ซึ่งท่านกล่าวอย่างนี้?" เมื่อมารกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าแล ทรงอบรมอิทธิบาททั้ง ๔ ดีแล้ว, ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงจำนงหวัง พึงทรงน้อมนึกถึงเขาหลวงหิมวันต์ว่า "จงเป็นทอง" และเขาหลวงที่ทรงน้อมนึกถึงนั้น พึงเป็นทองทีเดียว, แม้ข้าพระองค์จักทำกิจที่ควรทำด้วยทรัพย์ เพื่อพระองค์, เพราะเหตุนี้ พระองค์จักทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรม" ดังนี้แล้ว ทรงยังมารให้สังเวชด้วยคาถาเหล่านี้ว่า :- "บรรพต พึงเป็นของล้วนด้วยทองคำที่สุกปลั่ง, แม้ความที่บรรพตนั้น (ทวีขึ้น) เป็น ๒ เท่า ก็ยังไม่เพียงพอแก่บุคคลคนหนึ่ง บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติแต่พอสม. ผู้เกิดมาคนใด ได้เห็นทุกข์ ว่ามีกามใดเป็นแดนมอบให้ (เป็นเหตุ) , ไฉนผู้ที่เกิดมาคนนั้น จะพึงน้อมไปในกามนั้นได้เล่า? ผู้ที่เกิดมารู้จักอุปธิ (สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์) ว่า 'เป็น ธรรมเครื่องข้อง ' ในโลกแล้ว พึงศึกษาเพื่อนำอุปธิ นั้นนั่นแล ออกเสีย." แล้วตรัสว่า "มารผู้ลามก โอวาทของท่านเป็นอย่างอื่นทีเดียวแล, ของเราก็เป็นอย่างอื่น (คนละอย่างกัน) , ขึ้นชื่อว่าการปรึกษาธรรมกับท่าน ย่อมไม่มี, เพราะเราย่อมสอนอย่างนี้" แล้วได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ ว่า :-

๘. อตฺถมฺหิ ชาตมฺหิ สุขา สหายา ตุฏฺี สุขา ยา อิตรีตเรน ปุญฺ สุข ชีวิตสงฺขยมฺหิ สพฺพสฺส ทุกฺขสฺส สุข ปหาน. สุขา มตฺเตยฺยตา โลเก อโถ เปตฺเตยฺยตา สุขา สุขา สามญฺตา โลเก อโถ พฺรหฺมญฺตา สุขา สุข ยาว ชรา สีล สุขา สทฺธา ปติฏฺิตา สุโข ปญฺาย ปฏิลาโภ ปานาน อกรณ สุข.

คำแปล

"เมื่อความต้องการเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำความสุขมาให้, ความยินดีด้วยปัจจัยนอกนี้ๆ (ตามมีตามได้) นำความสุขมาให้, บุญนำความสุขมาให้ ในขณะสิ้นชีวิต, การละทุกข์ทั้งปวงเสียได้ นำความสุขมาให้, ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่มารดา นำความสุขมาให้ในโลก, อนึ่ง ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่บิดา นำความสุขมาให้, ความเป็นผู้เกื้อกูลแก่สมณะ นำความสุขมาให้ ในโลก, อนึ่ง ความเป็นผู้เกื้อกูล แก่พราหมณ์ นำความสุขมาให้, ศีลนำความสุขมาให้ ตราบเท่าชรา, ศรัทธาที่ตั้งมั่นแล้ว นำความสุขมาให้ การได้เฉพาะซึ่งปัญญา นำความสุขมาให้, การ ไม่ทำบาปทั้งหลาย นำความสุขมาให้."

แก้อรร

บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า อตฺถมฺหิ ความว่า ก็เมื่อกิจ มีการทำจีวรเป็นต้นก็ดี มีการระงับอธิกรณ์เป็นต้นก็ดี บังเกิดขึ้นแก่บรรพชิตบ้าง. (หรือ) เมื่อกิจ มีกสิกรรมเป็นต้นก็ดี มีการถูกเหล่าชนผู้อาศัยร่วมด้วยฝักฝ่ายที่มีกำลังย่ำยีก็ดี บังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์บ้าง, สหายเหล่าใด สามารถเพื่อยังกิจนั้นให้สำเร็จได้ หรือให้สงบได้, สหายผู้เห็นปานนั้นนำความสุขมาให้.

สองบทว่า ตุฏฺี สุขา ความว่า ก็แม้คฤหัสถ์ทั้งหลาย ผู้ไม่สันโดษแล้วด้วยของแห่งตน จึงปรารภทุจริตกรรมมีการตัดที่ต่อเป็นต้น, แม้บรรพชิตทั้งหลายผู้ไม่สันโดษแล้วด้วยปัจจัยของตน จึงปรารภอเนสนา (การแสวงหาที่ไม่สมควร) มีประการต่างๆ , เพราะเหตุนี้ คฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งสองนั้น จึงไม่ประสพความสุขเลย ; เพราะฉะนั้น ความสันโดษด้วยของมีอยู่แห่งตนนอกนี้ๆ คือเล็กน้อยหรือมากมายนี่เอง นำความสุขมาให้.

บทว่า ปุญฺญ ความว่า ก็บุญกรรมที่เริ่มทำไว้ตามอัธยาศัยอย่างไรนั่นแล นำความสุขมาให้ในมรณกาล.

บทว่า สพฺพสฺส ความว่า อนึ่ง พระอรหัต กล่าวคือ การละวัฏทุกข์ทั้งสิ้นได้นั่นแล ชื่อว่านำความสุขมาให้ในโลกนี้. การปฏิบัติชอบในมารดา ชื่อว่า มตฺเตยฺย-ตา, การปฏิบัติชอบในบิดา ชื่อว่า เปตฺเตยฺยตา, การทะนุบำรุงมารดาบิดานี่แล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วด้วยบทแม้ทั้งสอง. อันที่จริง มารดาและบิดาทราบว่าบุตรทั้งหลายไม่บำรุงแล้ว ย่อมฝังทรัพย์อันเป็นของมีอยู่แห่งตนเสียในแผ่นดินบ้าง ย่อมสละให้แก่ชนเหล่าอื่นบ้าง, อนึ่ง การนินทาย่อมเป็นไปแก่บุตรเหล่านั้นว่า "คนพวกนี้ไม่ทะนุบำรุงมารดาบิดา" บุตรเหล่านั้นย่อมบังเกิดแม้ในคูถนรก เพราะกายแตกทำลายไป ; ส่วนบุตรเหล่าใด ทะนุบำรุงมารดาบิดาโดยเคารพ, บุตรเหล่านั้นย่อมได้รับทรัพย์อันเป็นของมีอยู่ของมารดาบิดาเหล่านั้น ทั้งย่อมได้ซึ่งการสรรเสริญ, เพราะร่างกายแตกทำลายไป ย่อมบังเกิดในสวรรค์ ; เพราะฉะนั้น แม้ทั้งสองข้อนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "นำความสุขมาให้" ดังนี้.

การปฏิบัติชอบในบรรพชิตทั้งหลาย ชื่อว่า สามญฺตา. การปฏิบัติชอบในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีบาปอันลอยเสียแล้วเท่านั้น ชื่อว่า พฺรหฺมญฺตา. ความเป็นคือการบำรุงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกทั้งหลายเหล่านั้นด้วยปัจจัย ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วแม้ด้วยบททั้งสอง. แม้ข้อนี้ พระองค์ก็ตรัสว่า ชื่อว่านำความสุขมาให้ในโลก.

บทว่า สีล เป็นต้น ความว่า แท้จริง เครื่องอลังการทั้งหลาย มีแก้วมณี ตุ้มหู และผ้าแดง เป็นต้น ย่อมงดงามสำหรับชนผู้ตั้งอยู่แล้วในวัยนั้นๆ เท่านั้น, เครื่องอลังการของคนหนุ่ม จะงดงามในกาลแก่ หรือเครื่องอลังการของคนแก่ จะงดงามในกาลหนุ่ม ก็หาไม่, อนึ่ง (เครื่องอลังการที่ตกแต่งไม่ถูกกาลนี้) ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายถ่ายเดียว เพราะให้การครหาบังเกิดขึ้นว่า "คนนั้นชะรอยจะเป็นบ้า" ส่วนประเภทแห่งศีลมีศีล ๕ และศีล ๑๐ เป็นต้น ย่อมงดงามในทุกๆ วัย ทั้งแก่คนหนุ่ม ทั้งแก่คนแก่ทีเดียว, ย่อมนำมาแต่ความโสมนัสถ่ายเดียว เพราะให้ความสรรเสริญบังเกิดขึ้นว่า "โอ ท่านผู้นี้มีศีลหนอ" เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "สุข ยาว ชรา สีล" (ศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา)

สองบทว่า สทฺธา ปติฏฺิตา ความว่า ศรัทธาที่เป็นโลกิยะและโลกุตตระ แม้ทั้งสองอย่าง เป็นคุณชาติไม่หวั่นไหว ตั้งมั่นแล้วเทียว นความสุขมาให้.

บาทพระคาถาว่า สุโข ปญฺาปฏิลาโภ ความว่า การได้เฉพาะปัญญาแม้ที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ นำความสุขมาให้.

สองบทว่า ปาปาน อกรณ ความว่า อนึ่ง การไม่กระทำบาปทั้งหลายด้วยอำนาจแห่งเสตุฆาตะ (คืออริยมรรค) นำความสุขมาให้ใน โลกนี้.

ในกาลจบเทศนา ธรรมาภิสมัย (การตรัสรู้ธรรม) ได้มีแก่เทวดาเป็นอันมาก ดังนี้แล.

เรื่องมาร จบ.



  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 22 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

พระสูตร เรื่องมาร

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นประชาชนถูกพระราชาผู้มิได้ตั้งอยู่ในธรรมเบียดเบียน ด้วยการลงอาชญา ทรงดำริด้วยสามารถแห่งพระกรุณาว่า ถ้าพระองค์ทรงครองราชสมบัติ ก็จะไม่เป็นเหมือนพระราชาผู้มิได้ตั้งอยู่ในธรรม เหล่านั้น แต่ทรงครองราชสมบัติโดยธรรม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นต้น (ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต่างกันระหว่างผู้ตั้งอยู่ในธรรม กับผู้ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรม)

มารได้ทราบถึงพระปริวิตก (ความตรึกนึกคิด) ของพระองค์ เกิดความคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงดำริอย่างนี้ คงจะประสงค์จะกลับไปครองราชสมบัติ ดังนี้แล้ว จึงเข้าไปกราบทูลให้พระองค์เสด็จกลับไปครองราชสมบัติโดยธรรม และเขาจะช่วยพระองค์ให้สำเร็จความประสงค์ในการอยู่ครองราชสมบัติ พระผู้มีพระภาคเจ้า ที่พระองค์ทรงดำริอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าพระองค์ทรงประสงค์ที่จะกลับไปอยู่ครองราชสมบัติ แต่ทรงดำริด้วยสามารถแห่งพระกรุณา ได้ตรัสให้มารสลดใจว่า ภูเขาแม้จะเป็นทองคำ ก็ไม่เพียงพอแก่โลภะของบุคคลคนหนึ่ง บุคคลทราบดังนี้แล้ว พึงประพฤติพอสม (คือ ประพฤติธรรม) เมื่อเห็นว่ากามเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ก็จะไม่กลับเข้าไปหากาม อีก เมื่อรู้ว่าอุปธิ (สภาพที่ทรงไว้ซึ่งทุกข์) เป็นเครื่องข้องในโลก ก็ควรศึกษาเพื่อนำออกซึ่งอุปธิ พระดำรัสของพระองค์กับคำกล่าวของมารต่างกันอย่างสิ้นเชิง ต่อจากนั้น พระองค์ได้ตรัสพระคาถา ว่า เมื่อความต้องการเกิดขึ้น สหายทั้งหลายนำความสุขมาให้ ความยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ นำความสุขมาให้ บุญ นำความสุขมาให้ในขณะสิ้นชีวิต เป็นต้น (ตามที่ปรากฏในพระสูตร) ในกาลจบพระธรรมเทศนา การตรัสรู้ธรม (ธรรมาภิสมัย) ได้มีแก่เทวดาเป็นจำนวนมากมาย.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ครับ

กิเลสมาร ขันธมาร อภิสังขารมาร มัจจุมารและเทวบุตรมาร ... คืออะไร

มาร ๕ [ข้าศึกทั้งปวง ... ตอนที่ ๑]

มาร ๕ [กิเลสมาร ... ตอนที่ ๒]

มาร ๕ [ขันธมาร ... ตอนที่ ๓]

มาร ๕ [อภิสังขารมาร ... ตอนที่ ๔]

มาร ๕ [มัจจุมาร ... ตอนที่ ๕]

[เทวบุตรมาร ... ตอนที่ ๖ ... จบ]

อุปธิ

ความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ... [คิดเบียดเบียนผู้อื่น ... ตอน ๑]

ฯลฯ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 23 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เซจาน้อย
วันที่ 23 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ผู้ร่วมเดินทาง
วันที่ 23 ม.ค. 2555

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 24 ม.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
Jans
วันที่ 25 ม.ค. 2555

" ภูเขาแม้จะเป็นทองคำ ก็ไม่เพียงพอแก่โลภะของบุคคลคนหนึ่ง "

ขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
captpok
วันที่ 26 ม.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ