สัญญาวิปลาส กับ จิตวิปลาส สามารถเกิดกับกุศลจิตของพระโสดาและพระอนาคาได้ไหม

 
rojer
วันที่  30 พ.ค. 2555
หมายเลข  21196
อ่าน  13,160

๑. ช่วยอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างสภาวะที่มีลักษณะของ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาสด้วยครับ

๒. สัญญาวิปลาส กับ จิตวิปลาส สามารถเกิดกับกุศลจิตได้ไหม ถ้าเกิดกับกุศลจิตได้ ช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ

๓. อัตตสัญญา กับ สัญญาวิปลาสต่างกันอย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

๑. ช่วยอธิบาย พร้อมยกตัวอย่างสภาวะที่มีลักษณะของ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาสด้วยครับ

- วิปลาส หมายถึง การรู้การเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ซึ่ง ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต มีความวิปลาสเกิดขึ้นแล้ว แล้วแต่ว่าจะเป็น วิปลาสประเภทใด แต่ ขณะใด ที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตของปุถุชน พระโสดาบัน พระอนาคามี ขณะนั้นไม่วิปลาส เลย ครับ

ซึ่งสามารถอ่านความละเอียด ของความวิปลาสต่างๆ และตัวอย่างได้ดังนี้ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

วิปลาส

สัญญาวิปลาส มีกำลังอ่อนกว่า วิปลาสทั้งหมด

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๑)

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๒)

จิตวิปลาส และ ทิฏฐิวิปลาส (๓)

ความแตกต่างของวิปลาส

๒. สัญญาวิปลาส กับ จิตวิปลาส สามารถเกิดกับกุศลจิตได้ไหม ถ้าเกิดกับกุศลจิตได้ ช่วยยกตัวอย่างด้วยครับ


- ขณะที่วิปลาส ต้องเป็นขณะที่เป็นอกุศลจิตเท่านั้นครับ ขณะที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้น ไม่วิปลาสเลย แม้จะเห็นเป็นสัตว์ บุคคล แต่ไม่ได้มีความเห็น การจำที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะ เป็นกุศลจิตในขณะนั้น ครับ

๓. อัตตสัญญา กับ สัญญาวิปลาสต่างกันอย่างไร

- อัตตสัญญา คือ การจำว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน โดย เป็นการจำ ที่เป็นสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย กับ ทิฏฐิเจตสิก ด้วย คือ จำด้วยความเห็นผิด ครับ ส่วน สัญญาวิปลาส เป็นการจำคลาดเคลื่อน ด้วยอกุศลจิต โดยไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ครับ สัญญาวิปลาส จึงเป็นการจำผิด ด้วยอกุศลจิต จึงคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงด้วย อกุศล ไม่จำเป็นจะต้องมีทิฏฐิเจตสิก คือ มีความเห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ก็ได้ ครับ ที่เป็นอัตตสัญญา หรือ เป็นทิฏฐิวปลาส ครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wittawat
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

อาสวสูตร พร้อมทั้งอรรถกถา

อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑

จะเป็นประโยชน์อีกประการแก่ท่านที่ต้องการทราบความละเอียดของอัตตสัญญา ที่เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นกับทิฏฐิ แม้เพียงความคิดว่า เป็นเรา หรือ ทิฏฐาสวะ เช่น เพียงการกระทบหนาว แล้วคิดว่า เป็นเราที่หนาว เป็นต้น

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

วิปลาส หมายถึง การรู้ การเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ได้แก่ ขณะที่จำผิดเห็นผิด และ คิดผิด ขณะที่มีการคาดเคลื่อนจากความจริง ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต แต่ขณะที่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นจิตผ่องใส จึงไม่วิปลาส

วิปลาส ซึ่งเป็นการรู้การเห็นที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นั้น โดยสภาพธรรมแล้วเป็นอกุศลธรรม ขณะใดที่อกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นวิปลาส ซึ่งเป็นการเห็นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ เห็นว่าเที่ยงในสภาพธรรมที่ไม่เที่ยง เห็นว่าเป็นสุขในสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ เห็นว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เห็นว่างามในสภาพธรรมที่ไม่งาม การละวิปลาส ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น และบุคคลผู้ที่จะละวิปลาสทั้งหมดได้อย่างเด็ดขาด ต้องเป็นพระอรหันต์เท่านั้น สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น จึงยังไม่พ้นไปจากวิปลาส

ในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส ย่อมเป็นผู้ถูกกิเลสมารกลุ้มรุมจิตใจ ทำให้จิตใจเศร้าหมองอยู่เป็นประจำ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะวันนี้ ชาตินี้เท่านั้น เคยเป็นอย่างนี้มาแล้วนับชาติไม่ถ้วน เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว การที่จะดับกิเลสให้หมดไปนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จึงต้องเริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรม เพื่อสะสมปัญญาต่อไป เพราะเหตุว่ากิเลสที่มีมากต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับได้ และปัญญาจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน ด้วยการฟัง การศึกษาบ่อยๆ เนืองๆ สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยนั่นเอง ที่สำคัญ จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
rojer
วันที่ 31 พ.ค. 2555

เรียน ท่าน Paderm ครับ

ช่วยอธิบายคำกล่าวนี้ด้วยครับ

"เพราะฉะนั้นเวลาที่กุศลจิตของพระโสดาบันเกิดขึ้น ขณะนั้นมีวิปลาสไหม

ท่านยังคงมี แต่วิปลาสในขณะที่เห็นว่า สุข หรือเห็นว่า งาม เท่านั้น เป็นเพียงความสำคัญและความคิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย"

นำมาจาก หัวข้อ จิตวิปลาส และ ทิฎฐิวิปลาส (๒) ที่ท่านทำ LINK ให้ผมอ่านครับ


ตามความเข้าใจของผมนะครับ ในขณะที่กุศลจิตของพระโสดาบัน และพระอนาคามีเกิดขึ้น ก็ยังคงมีวิปลาสได้ดังนี้

๑. เมื่อกุศลจิตของพระโสดาบันเกิดขึ้น ท่านยังมีวิปลาสในขณะที่คิดหรือจำ ว่า สุข และ คิด หรือ จำ ว่า งาม

๒. เมื่อกุศลจิตของพระอนาคามีเกิดขึ้น ท่านยังมีวิปลาสในขณะที่ คิด หรือ จำ ว่า สุข เท่านั้น เพราะพระอนาคามี ละกามได้แล้ว

อนึ่ง ไม่ควรใช้คำว่า เห็น ว่า สุข หรือ เห็น ว่า งาม

เพราะทั้งพระอนาคามี และพระโสดาบัน ท่านละทิฎฐิวิปลาสได้แล้ว

จึงควรใช้คำว่า คิด หรือ จำ เพราะท่านยังมี จิตและสัญญาวิปลาสอยู่

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 31 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 4 ครับ

ตามความเข้าใจของผมนะครับ ในขณะที่กุศลจิตของพระโสดาบัน และพระอนาคามีเกิดขึ้น ก็ยังคงมีวิปลาสได้ดังนี้

๑. เมื่อกุศลจิตของพระโสดาบันเกิดขึ้น ท่านยังมีวิปลาสในขณะที่คิดหรือจำ ว่า สุข และ คิด หรือ จำ ว่า งาม

๒. เมื่อกุศลจิตของพระอนาคามีเกิดขึ้น ท่านยังมีวิปลาสในขณะที่ คิด หรือ จำ ว่า สุข เท่านั้น เพราะพระอนาคามี ละกามได้แล้ว

ตอบข้อ ๑ และ ๒ ครับ

- ตามที่กล่าวไปแล้ว ครับ เมื่อ กุศลจิต ไม่ว่าของใคร แม้แต่ของปุถุชน ขณะนั้นไม่มีวิปลาสทั้ง ๓ เลย ครับ ต้องขณะที่เป็นอกุศลเท่านั้น จึงชื่อ วิปลาส คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

เพราะฉะนั้น กุศลของพระโสดาบัน พระอนาคามี และของทุกๆ คน แม้ปุถุชน ไม่มีความคลาดเคลื่อน ไม่มีวิปลาสข้อใดเลย ครับ

เพราะ ถ้าหาก กุศลจิตยังวิปลาสอยู่ ขณะที่อบรมปัญญา เป็นสติปัฏฐานเกิด ก็เท่ากับว่า สติปัฏฐานยังวิปลาสอยู่ ก็ไม่ใช่ ฐานะ เพราะ ถ้ายังเป็นวิปลาส จะละวิปลาสได้อย่างไร กุศลจิต จึงไม่วิปลาสเลย ครับ

และจากคำกล่าวที่ว่า

อนึ่ง ไม่ควรใช้คำว่า เห็น ว่า สุข หรือ เห็น ว่า งาม

เพราะทั้งพระอนาคามี และพระโสดาบัน ท่านละทิฎฐิวิปลาสได้แล้ว จึงควรใช้คำว่า คิด หรือ จำ เพราะท่านยังมี จิตและสัญญาวิปลาสอยู่


- เปลี่ยนเป็นอย่างนั้นก็ควร ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
rojer
วันที่ 31 พ.ค. 2555

เรียน ท่าน Paderm ครับ

ถ้าอย่างนั้นข้อความนี้ ก็เป็นการพิมพ์ผิดสิครับ

ควรจะแก้คำว่า กุศล เป็น อกุศล

"เพราะฉะนั้น เวลาที่ อกุศลจิตของพระโสดาบันเกิดขึ้น ขณะนั้นมีวิปลาสไหม

ท่านยังคงมี แต่วิปลาสในขณะที่เห็นว่า สุข หรือเห็นว่า งาม เท่านั้น เป็นเพียงความสำคัญและความคิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย"

นำมาจากหัวข้อ "จิตและทิฏฐิวิปลาส (๒) " บรรทัดท้ายๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
paderm
วันที่ 31 พ.ค. 2555

เรียนความเห็นที่ 7 ครับ

ใช่ครับ เป็นการพิมพ์ผิด ต้องเป็นอกุศล ไม่ใช่ กุศล ครับ

เข้าไปแก้ไขในกระทู้นั้นแล้วนะครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kinder
วันที่ 31 พ.ค. 2555

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ