การปฏิบัติธรรมกับการนอนและความง่วง

 
suppermarcro
วันที่  31 พ.ค. 2556
หมายเลข  22985
อ่าน  3,152

ในแต่ละวันที่เราเสร็จจากงานต่างๆ เวลาไม่แน่นอน มีเวลาก็สวดมนต์ นั่งสมาธิ ตามสมควร ระหว่างนั่งสมาธิ หรือสวดมนต์ถ้าง่วงแบบหลับ เราควรจะบังคับมันไหม และ ควรจะกำหนดเวลา ต้องทำทุกวันให้กับการสวดมนต์-นั่งสมาธิ ที่แน่นอนมั๊ย ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเวลามากก็จะสวดมนต์สั้นๆ ระลึกคุณพระรัตนตรัย บิดา มารดา อธิษฐานแผ่ เมตตา ดูลมหายใจหรือรู้สึกตัวที่ตัวจนหลับ แม่ผมบอกว่าง่วงก็นอนเถอะ อย่าฝืนนั่ง แต่บางท่านที่ปฏิบัติบอกต้องฝืนมัน สำหรับผม ถ้าผมนั่งสมาธิ บางครั้งไปนอน มัน เหมือนไม่ค่อยหลับรู้สึกตัว มันเหมือนรู้สึกตัวตลอด แต่พ่อผมว่าผมนอนกรน ผมจะ ตื่นตี 5- 6 โมง นอนก็ 4- 5 ทุ่ม ผมเองจะเป็นอาการที่ว่า เสียงอะไรดังหน่อยก็ตื่น แล้วหลับต่อยาก เป็นมาแต่เด็ก ที่บ้านใกล้แหล่ง เสียงดัง

ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 พ.ค. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ควรที่จะได้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะโดยปกติถ้ายังไม่มีความเข้าใจอะไรเลย ย่อมเป็นเหตุให้ประพฤติผิดอย่างแน่นอนและยังจะต้องผิด ต่อไปอีกเรื่อยๆ พอกพูนกิเลสให้มีมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โมหะ ความไม่รู้ กับ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกที่ค่อยๆ เจริญขึ้น การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่มีทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้เลย เมื่อได้เข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับแล้ว จะรู้ได้ว่าธรรม คือ ขณะนี้ที่ศึกษาให้เข้าใจก็ เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเป็นธรรม ที่จะรู้สภาพรรม ก็รู้ตามปกติ ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติ เนื่องจากอาจจะติดที่คำว่า ปฏิบัติธรรม ว่า จะต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นมา แต่หารู้ไม่ว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การนั่งสมาธิ ไม่ใช่การ ทำอะไรที่เป็นรูปแบบ แต่เป็นกิจหน้าที่ของธรรมฝ่ายดีมีสติและปัญญา เป็นต้น เกิดขึ้น ระลึกรู้สภาพธรรมที่มีจริงๆ ตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เป็นปกติจริงๆ และเป็นเรื่องเบาสบายไม่หนักด้วยอกุศล

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยตลอด จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีศรัทธา ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ความเข้าใจถูกเห็นถูกจะนำทางไปสู่ความดีทั้งปวง จากที่เคยทำอะไรด้วยความไม่รู้ในลักษณะต่างๆ ก็จะย้อนกลับมาค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจ

เพราะพระธรรมไม่ใช่สำหรับสวด แต่สำหรับศึกษาด้วย ความละเอียดรอบคอบ นั่งสมาธิ ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม การดูลมหายใจ ไม่ใช่การ ปฏิบัติธรรม แม้แต่ในเรื่องของเมตตา ก็ไม่ใช่เรื่องแผ่แต่เป็นเรื่องของการอบรมเจริญ ให้มีขึ้น กล่าวคือ มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนต่อผู้อื่น ไม่หวังร้ายต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้น แล้วก็ขอให้เริ่มฟัง เริ่มศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ นะครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

การปฏิบัติธรรม

การนั่งสมาธิ

นั่งสมาธิ

สวดมนต์ ถวายพรพระ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 1 มิ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของปัญญา คือ เกิดความรู้ถูก ไม่ใช่เรื่องของการทำ ความสงบ แต่ไม่มีปัญญารู้อะไร เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ทำแล้ว ไม่ได้เกิด ปัญญา เกิดความเข้าใจ ก็ไม่ควรที่จะกระทำสิ่งเหล่านั้นเลย เพราะ ทำแล้วก็มีแต่ เพิ่มความไม่รู้ และ เพิ่มความผิดปกติในชีวิตประจำวันมากขึ้น ดังนั้น การปฏิบัติ ในพระพุทธศาสนา จึงไม่ได้หมายถึง การไปนั่งสมาธิ แต่ การปฏิบัติในพระพุทธ ศาสนา คือ ปฏิบัติเพื่อเกิดปัญญา เกิดความเห็นถูก เพราะฉะนั้น จะต้องเข้าใจว่า เห็นผิด เคยเข้าใจผิดอะไร และ จะเห็นถูก เห็นถูกอย่างไร คือ เห็นผิดว่ามีสัตว์ บุคคล ตัวตน เห็นผิดว่ามีเรา มีเราที่ง่วง มีเราที่ไม่ง่วง มีเราที่ปฏิบัติ สำคัญว่าเป็น เราด้วยความเห็นผิด การจะเข้าใจถูก ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่ด้วยการ นั่งสมาธิ แต่ด้วยการอบรมปัญญาขั้นการฟัง อาศัยการฟังพระธรรม ว่าในความเป็น จริง มีแต่ธรรมไม่ใช่เรา จนปัญญาขั้นการฟังมีกำลัง ก็สามารถเกิด สติปัฏฐาน ระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงในแต่ละขณะว่าเป็นแต่เพียงธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางการอบรมปัญญาที่ถูกต้อง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

ส่วนการนั่งได้นาน พยายามที่จะฝืนง่วง ขณะที่ทำนั้น ปัญญารู้อะไร หรือได้เพียง ความนิ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงสอนให้พุทธบริษัทเกิดปัญญา ไม่ใช่การนั่งได้นาน ได้ความนิ่ง แต่ ไม่เกิดปัญญา ความเข้าใจถูก ครับ เพราะฉะนั้น ควรกลับมาเริ่มสู่ ความเห็นถูก ด้วยการไม่ไปปฏิบัติผิด มีการนั่งสมาธิ แต่ กลับมาที่การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

จะนั่งสมาธิอีกแล้วครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
svachira
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

ดิฉันสงสัยว่าถ้าไม่มีการฝึกสมาธิแล้ว ในพระไตรปิฎกมีบทบัญญัติเรื่อง "อานาปานสติสูตร" ไว้เพื่อใคร ไม่ใช่ไว้สำหรับพุทธบุตรปฏิบัติเพี่อดำเนินรอยตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือคะ

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างละเอียด

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 3 ครับ

อานาปานสติ คือ สติที่ระลึกรู้เป็นไปในลมหายใจ ซึ่งก็ต้องเป็นผู้ละเอียดว่า ไม่ใช่มี แต่สติเท่านั้น แต่ต้องมีปัญญาด้วย ซึ่ง อนาปานสติ มีทั้งที่เป็นใน สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา

อานาปานสติ มีประโยชน์อย่างไร

ถ้าอบรมถูก ด้วยความเข้าใจถูก หากอบรมโดยนัย สมถภาวนา ก็ถึงฌานขั้นสูงสุด แต่ไม่สามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าอบรมโดยนัย วิปัสสนา ย่อมถึงการดับกิเลส เป็นพระ อรหันต์ได้ครับ

ทำอย่างไร

ก็ต้องเข้าใจเบื้องต้น ว่าใครทำ เรา หรือ ธรรม หากไม่มีความเข้าใจเบื้องต้น แม้แต่ คำว่า ธรรมคืออะไรให้ถูกต้อง ไม่ต้องกล่าวถึงอานาปานสติ แม้แต่การเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะทำ แต่ เป็นเรื่องที่จะค่อยๆ เข้าใจ ซึ่งในพระไตรปิฎก แสดงถึงเรื่องอานาปานสติ ว่าเป็น อารมณ์ของมหาบุรุษ คือ ผู้ที่ปัญญามาก สะสมบารมีมามาก จึงจะอบรมอานาปานสติ ได้ เพราะอานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง หากอยากจะทำ ก็ไม่มี ทางถึง เพราะด้วยความต้องการ ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจครับ

ขณะนี้ กำลังหายใจ แต่ไม่รู้เลยว่ากำลังหายใจอยู่ และหากบอกว่ารู้ไหมที่กำลัง หายใจขณะนี้ ก็ตอบได้ ว่ากำลังหายใจ แต่การรู้ว่ากำลังหายใจอยู่ ไม่ใช่เป็นการเจริญ วิปัสสนา ที่เป็นอานาปานสติเลยครับ ซึ่งการเจริญวิปัสสนา ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ นั่นคือ ขณะที่หายใจ มีอะไรปรากฎที่กำลังหายใจ ขณะที่มีลมกระทบ ก็มี เย็น ร้อน เป็นต้น สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง ก็รู้ความเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ขณะที่หายใจ เช่น เย็นก็เป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะที่สติและปัญญาเกิดในขณะ นั้นครับ ทีละขณะ แต่ละสภาพธรรมครับ

เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ ความเข้าใจถูก นั่นคือ ปัญญา ซึ่งปัญญาจะเจริญได้ ก็ต้อง เริ่มจากปัญญาขั้นการฟัง ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เป็นเบื้องต้น เพราะเมื่อมีความเข้าใจ เบื้องต้น ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และหนทางปฏิบัติที่ถูกต้อง แม้แต่เรื่อง ของ อานาปานสติ ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่

อานาปานสติ - ภูมิแห่งมนสิการของมหาบุรุษ [1]

การเดินอานาปานสติ จะเป็นวิปัสสนาหรือไม่

เชิญคลิกฟังที่นี่

อานาปานสติหมายความว่าอย่างไร

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
svachira
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

ตามที่คุณ paderm เขียนอธิบายย่อหน้าที่4 บรรทัดที่3และ4นั้น ที่ว่า"การเจริญวิปัสสนาต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงเป็นอารมณ์ให้สติและปัญญารู้ ฯ"

การที่ทุกคนที่ยังมิได้สำเร็จอรหัตตผลที่จะมี สติและปัญญาทันต่อจิตแต่ละขณะที่เกิด-ดับอยู่ตลอดเวลานั้นไม่มีทางที่จะทำได้เลย นอกเสียจากการอบรมให้มีสมาธิเป็นบาทฐานที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่รู้สึกตัวในปัจจุบันตามที่เป็นจริง ว่าไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัยเท่านั้น ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่าสามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นจริงได้ ถ้าคนทั่วไปปฏิบัติไม่ได้ท่านจะไม่สั่งสอนไว้ให้ทุกคนปฏิบัติ ดังน้ันเมื่อพอมีปัญญาน้อยๆ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องปฏิบัติ"อานาปานสติ" เพื่อให้มีกำลังที่จะให้การปฏิบัติก้าวหน้าต่อไป นั่นคือการพ้นจากทุกข์ ตั้งแต่ขั้นต่ำไปจนถึงพ้นไปจากสังสาราวัฎได้

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ก่อนอื่นเราเข้าใจ คำว่า เป็นบาทของวิปัสสนาให้ถูกต้องก่อนครับ คำว่า เป็นบาท คือ เป็นอารมณ์ หรือ เป็นที่ตั้ง ให้สติและปัญญาที่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน หรือ การเจริญ วิปัสสนารู้ครับ

เมื่อเป็นดังนี้เรา ก็ต้องเข้าใจครับว่า อะไรบ้างที่เป็นบาท คือ เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา หรือ เป็นสิ่งที่สติและปัญญาควรรู้ สมาธิที่เป็นฌาน หรือ ไม่ถึงฌานเท่านั้นหรือ สภาพ ธรรมที่มีจริง ที่เป็น จิต เจตสิกและรูป ควรรู้และเป็นอารมณ์ หรือ เป็นบาท ของสติปัฏ ฐานหรือ วิปัสสนาได้ ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงแสดง สติปัฏฐาน (วิปัสสนา) ไว้ 4 หมวด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่เพียง จิตหมวดเดียวเท่านั้น กาย ก็คือ สภาพ ธรรมที่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว เป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ เวทนา ความ รู้สึก ก็เป็น บาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ จิต ไม่ได้มีจิตเฉพาะ ฌานจิต หรือ อุปจาร ที่ยังไม่ถึงฌาน แต่จิตมากมายเลยครับ จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น เป็นต้นมากมาย เป็นอารมณ์เป็นบาทของวิปัสสนาได้ ธรรม คือ ธรรมทั้งหลาย มี นิวรณ์ เป็นต้น มี มากมาย เพราะเป็นสภาพธรรมที่มีจริง จึงเป็นบาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ครับ จะเห็นนะครับว่า สภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมด เป็น บาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ไม่ใช่เฉพาะ สภาพธรรมใด สภาพธรรมหนึ่ง

ประเด็นปัญหา คือ เราจะต้องแยกประเด็นว่า ธรรมที่สติและปัญญารู้ได้ ที่เป็น บาท เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ก็ส่วนหนึ่ง ส่วนเหตุให้กิด วิปัสสนา สติปัฏฐาน ก็ ส่วนหนึ่ง คนละส่วนกันนะครับ

สภาพธรรมทีเป็นอารมณ์ คือ สภาพธรรมที่มีจริง แม้ ฌานจิต ระดับต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้ง เป็นบาทให้สติและปัญญารู้ได้ ว่าไม่เที่ยง เป้นทุกข์ เป้นอนัตตา นี่คือ เป็นอารมณ์ได้ เพราะเป็นจิตประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่ มีจริง รวมทั้งสภาพธรรมอืนๆ ด้วย ก็เป็นอารมณ์ของ สติปัฏฐาน แม้แต่จิตทีเป็นอกุศล ก็ เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งให้สติระลึกได้

แต่ การเป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งให้สติระลึกได้ ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิด วิปัสสนา เป็นเหตุใก้เกิด สติปัฏฐาน เพราะเป็นเพียงอารมณ์ เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น จิตที่เป็นโลภะ (จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน) เป็นอารมณ์ เป็นที่ ตั้งของสติได้ เป็นบาทของวิปัสสนาได้ แต่ โลภะ ใช่เหตุให้เกิด วิปัสสนาหรือไม่ครับ ไม่ใช่ ดังนั้น การเป็นบาท เป็นอารมณ์ กับ เหตุให้เกิดสติปัฏฐาน วิปัสสนานั้นแยกกัน จิตเห็น เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิปัสสนาได้ไหม ได้ครับ แต่ จิตเห็นที่เป็นเพียงผล ของกรรม ใช่เหตุให้เกิด วิปัสสนาไหม คำตอบคือไม่ใช่ครับ โดยนัยเดียวกันครับ

ฌาน จิตระดับต่างๆ หรือ เรามักเรียกว่า สมาธิก็ตาม ที่กล่าวว่าเป็นบาทของวิปัสสนา ความ หมายก็คือ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน วิปัสสนาได้ ในหมวด จิตตานุปสัสสนา ที่เป็น มหัคคตจิต เมื่อฌานจิตเป็นอารมณ์ เป็นบาทของวิปัสสนาได้ แต่ใช่เหตุให้เกิด วิปัสสนา หรือ สติปัฏฐานใช่หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ใช่เพราะเป็นเพียงอารมณ์ให้ วิปัสสนารู้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเหตุให้เกิดสติปัฏฐาน หรือ จะต้องเจริญ ฌาน สมถภาวนา ก่อน เพื่อจะได้เจริญวิปัสสนาได้ อันนี้ไม่ถูกต้องตามที่กล่าวมาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
svachira
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

เรียนคุณ paderm

ที่คุณอธิบายมายังไม่สามารถตอบปัญหาได้ตรงจุดค่ะ คืออาจจะต้องใช้เวลาอีกยาวนานในสังสาราวัฎนี้กว่าจะพ้นจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย

อย่างไรก็ตามขอขอบพระคุณในกุศลเจตนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
svachira
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

ที่กำลังพิมพ์การสนทนาธรรมอยู่ในขณะนี้ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุ ปัจจัย ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
paderm
วันที่ 3 มิ.ย. 2556

เรียนความเห็นที่ 7 และ 8 ครับ

ปัญหาจะตรงจุดหรือไม่ ก็ด้วยการเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้า แสดงแล้ว หากคิดโดยไม่เทียบเคียง และ ไม่อ่านอย่างครอบคลุม ทั้ง 3 ปิฎก ก็จะไม่เข้าใจตรงจุด ก็จะทำให้เข้าใจในคำตอบว่าไม่ตรงจุดได้เป็นธรรมดา ครับ หนทางการอบรมปัญญา เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมปัญญอย่างยาวนาน แต่ สำคัญที่ จะเริ่มจากความเห็นถูก หากเริ่มจากความเข้่าใจผิด ก็ยากที่จะพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตายไปได้ ครับ อย่างไรก็ดี ขอแนะนำให้ฟังพระธรรมในเวปนี้ ที่บรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ จะทำให้ผู้ร่วมสนทนา เข้าใจ และ มีความเห็น ถูกมากขึ้น และ กลับมาสู่ความเห็นถูกได้ ครับ เริ่มใหม่นะครับ ไม่มีวันสาย หาก จะกลับมาสู่ ความเข้าใจถูก

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ เป็นกระทู้ที่แสดงว่า จำเป็นจะต้องเจริญสมาธิก่อน หรือ เจริญอานาปานสติก่อน เพื่อที่จะเจริญวิปัสสนาหรือไม่ ซึ่งกระทู้นี้ มีอธิบาย พระไตรปิฎกไว้ด้วย ครับ การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด รอบคอบ ไม่ใช่เพียง จุดใด จุดหนึ่ง ก็จะได้สาระ และ ความเห็นถูกจากพระธรรม เพราะ พระธรรม ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ครับ

เชิญคลิก

สติปัฏฐาน ๔ อย่างเดียว โดยไม่ทำสมถะก่อน จะข้ามขั้นตอนไหม - บ้านธัมมะ

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
svachira
วันที่ 4 มิ.ย. 2556

เรียน คุณpaderm

ดิฉันต้องขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่สละเวลาอธิบายธรรมอย่างละเอียดพร้อมยกตัวอย่างจากพระไตรปิฎกครบถ้วนบริบูรณ์เป็นที่อัศจรรย์ ผู้ที่จะยอมรับในสิ่งใดๆ ในโลกนี้เข้ามาสู่จิตใจของตัวเองได้ น่าจะเริ่มจากความมี"ศรัทธา" เป็นเบื้องต้น เช่นศรัทธาในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ศรัทธาในคุณของพระรัตนตรัยเป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
jaturong
วันที่ 4 มิ.ย. 2556

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
nong
วันที่ 7 มิ.ย. 2556

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ