ติดข้องคืออะไร

 
papon
วันที่  30 มี.ค. 2557
หมายเลข  24652
อ่าน  3,127

เรียนสอบถามว่า ความติดข้องคืออะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 30 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โลภะ มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจของตน คือ ติดข้อง ไม่สละ ไม่ปล่อยให้จิตเป็นกุศล และลึกไปกว่านั้น ไม่ปล่อยให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ เพราะผู้ที่สิ้นโลภะอย่างเด็ดขาดก็คือ พระอรหันต์

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้ว แม้แต่โลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปจากโลภะได้ มีมากจริงๆ

ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า, อกุศลเกิดขึ้น ตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจในวัตถุต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นวัตถุกามในชีวิตประจำวัน รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจ ในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วย

โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิดเมื่อมีเหตุมีปัจจัย โลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แต่ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม กระทำทุจริตกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย

ซึ่งจากคำถามที่ว่า ติดข้อง "ในสภาพธรรมที่ปรากฏและดับไปแล้ว คืออะไร" หมายถึง โลภะ ติดข้องได้ทุกอย่าง แม้สภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ก็สามารถนึกถึงอารมณ์ที่ดับไปแล้วได้ ด้วยสัญญาความจำ ยกตัวอย่างเช่น ติดข้อง ในรสของอาหารที่ได้ทานไปแล้ว ก็นึกถึงรสอาหารนั้น ก็ติดข้องได้ ในสภาพธรรมที่ดับไปแล้วนั่นเอง ครับ

โลภะ หรือ ตัณหา เมื่อเกิดขึ้น ขณะนั้น ย่อมไม่เห็นอรรถ ไม่เห็นธรรม ไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะโลภะที่เกิดขึ้น ไม่มีปัญญา ขณะนั้นติดข้องและเมื่อโลภะเกิดขึ้นมีกำลังมาก ย่อมล่วงทุจริตทางกาย วาจา เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น โลภะ จึงเป็นเหตุแห่งทุกข์ทางกาย และทุกข์ทางใจด้วย เพราะอาศัยโลภะ เป็นปัจจัย ติดข้องในสิ่งใด เมื่อพลัดพราก ก็ทำให้ทุกข์ใจประการต่างๆ มีการทำร้ายตนเอง และผู้อื่นอันเกิดจากโลภะเป็นปัจจัย

โลภะยังสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ให้เกิด

โลภะยังจิตให้กำเริบ

โลภะเป็นภัยเกิดขึ้นในภายใน

พาลชนย่อมไม่รู้สึกภัยนั้น

คนผู้โลภแล้วย่อมไม่รู้อรรถ

คนผู้โลภแล้วย่อมไม่เห็นธรรม

เมื่อใดความโลภครอบงำนรชน

เมื่อนั้นนรชนนั้นย่อมมีความมืดตื้อ

- โลภะ ที่เกิดขึ้น คลายช้า เปรียบเหมือนเครื่องผูกที่หย่อน แต่แก้ได้ยาก หลุดได้ยาก ไม่ให้หลุดไปจากสังสารวัฏฏ์ได้เลย

โลภะ เกิดขึ้น เปรียบเหมือนการตกลงไปในเหวลึก ขึ้นได้ยาก เพราะ เป็นเหวที่สัตว์ตกไปโดยมาก ที่เป็นเหว คือ โลภะ โทสะ โมหะ สำหรับบุคคลผู้มีโลภะมากๆ ติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ ถึงแม้ภูเขาจะเป็นทองคำ ก็ยังไม่พอแก่กำลังของโลภะของผู้นั้น ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้อย่างเด็ดขาด การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม นั่นเอง ครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

ตกเหว [ตอนที่ ๒...ความติดข้องก็คือเหว]

ตัณหา หรือ โลภะ ยังเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน คือ อัตภาพนี้ ให้อยู่ในสังสารวัฏฏ์ ได้รับทุกข์ต่อไป ไม่จบสิ้น

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ตัณหาเป็นนายช่างผู้สร้างเรือน

โลภะ เป็นทั้งครู และ ศิษย์ที่จะแนะนำ สั่งสอน ให้สัตว์โลกเดินทางผิด และ ตกไปในที่ต่ำ มีอบายภูมิ และ สังสารวัฏฏ์

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ครับ

โลภะเป็นทั้งครูและศิษย์

เชิญคลิกฟังคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ ที่นี่ ครับ

อรรถสาลิณี นิกเขปกัณฑ์ -- ลักษณะของโลภะ

โลภะเป็นทั้งศิษย์ทั้งอาจารย์

สุขทุกข์มาจากโลภะ

โลภะเป็นสมุทัยเป็นสิ่งที่ควรละ แล้วควรจะรู้ด้วยหรือไม่

โลภะที่ตามสนิทในวันหนึ่งๆ น่ากลัวไหม

ปุถุชนยังมีโลภะให้ล่วงอกุศลกรรมได้

บ่วง - เบ็ด - ตัณหาเหมือนแม่น้ำ - ตัณหาเหมือนข่าย

การเห็นโทษของโลภะ ตัณหา จะต้องรู้จักตัวโลภะ จริงๆ ก่อนว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะการเห็นโทษโดยการคิดนึก ไม่ได้ละกิเลส คือ โลภะจริงๆ เพราะจะต้องละความเห็นผิดว่าเป็นเราที่มีโลภะก่อน ครับ

ดังคำบรรยายที่ท่านอาจารย์สุจินต์กล่าวไว้ว่า

ต้องเห็นโลภะจึงละโลภะได้

เป็นคนที่ผิดปกติไหมคะ แต่เข้าใจความจริง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริง ด้วยความไม่รู้ก็ทำให้คิดไปต่างๆ นานา แม้แต่จะปราบโลภะ จะพยายามทำให้โลภะไม่เกิด แต่ด้วยความไม่รู้อะไรเลย ขณะนั้นก็ด้วยโลภะนั่นเองที่มีความต้องการอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถ้าไม่เห็นตัวโลภะด้วยปัญญาจริงๆ ไม่สามารถจะละได้ และการละอกุศลต้องตามลำดับขั้น ละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยงในขณะที่เห็น ไม่มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏแล้วจะไปละโลภะได้อย่างไร ไม่มีทางเลย เรียกว่า “ข้าม” พยายามไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ความจริง ซึ่งละเอียด คัมภีร ลึกซึ้ง เวลาที่โกรธ ต้องการอะไรคะ

สุกัญญา ก็ไม่ได้สิ่งที่พอใจ

สุ. ต้องการไม่ให้โกรธ ใช่ไหมคะ

สุกัญญา ใช่ค่ะ

สุ. ไม่ใช่รู้ลักษณะของโกรธซึ่งกำลังปรากฏว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา มิฉะนั้นแล้ว เมื่อไรจะถึงการละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

ไม่เห็นโลภะ ไม่เห็นอวิชชา ก็ละไม่ได้

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 31 มี.ค. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความติดข้องมีมากมายมหาศาล ทุกอย่างที่ทำไปด้วยโลภะที่จะอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ แต่ขณะใดที่มีปัญญาเห็นโลภะตามความเป็นจริง เมื่อนั้นก็จะคลายโลภะได้ แต่ถ้ายังไม่เห็นโลภะ อย่างคนที่ทำกุศลก็เคลิบเคลิ้มหวังผลของกุศล ขณะนั้นจะละสังสารวัฏฏ์ได้อย่างไร

อ้างอิงจาก ... ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๖

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้นก็มีจริงในขณะนี้ ไม่เคยขาดธรรมเลย แต่ไม่รู้ จนกว่าจะมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง แม้แต่ โลภะ ความติดข้องต้องการ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ และในขณะที่ติดข้อง ก็ต้องมีสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความติดข้อง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงๆ เลย ถ้าจะถามว่าติดข้องในอะไร มีมากมายเหลือเกิน ในรูป บ้าง เสียง บ้าง กลิ่น บ้าง เป็นต้น ทุกคนตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ย่อมหมายความว่ายังมีโลภะ ยังไม่สามารถดับได้ เพราะผู้ที่จะดับโลภะได้หมดสิ้นก็ต้องถึงความเป็นอรหันต์

โลภะ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นกุศลธรรมประเภทหนึ่ง ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เพราะติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาต้องเห็นโทษของอกุศลอย่างละเอียด แล้วก็ควรที่จะขัดเกลา เพราะถ้ายังเป็นผู้ที่ไม่อิ่มในโลภะ ในความต้องการ ก็ไม่มีวันที่จะหมดโลภะได้ แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ทอดทิ้งฉันทะในกุศลธรรม เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสจริงๆ วันหนึ่งก็สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นลำดับขั้น ครับ

....ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 31 มี.ค. 2557

โลภะ ติดข้องได้เกือบทุกอย่าง แม้สภาพธรรมที่ดับไปแล้ว ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ก.ไก่
วันที่ 19 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อนุโมทามิ

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
สิริพรรณ
วันที่ 3 เม.ย. 2564

กราบขอบพระคุณและยินดีในกุศลด้วยความเคารพค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ