ความรู้สึกกตัญญู เป็นจิต หรือเจตสิกประเภทไหนครับ

 
phurit2014
วันที่  24 มี.ค. 2558
หมายเลข  26373
อ่าน  1,786

เรียนถามอาจารย์ครับ ว่า ความกตัญญูหรือความรู้สึกที่อยากจะทดแทนคุณเป็นจิต หรือ เจตสิกประเภทไหนครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กตัญญูกตเวที เป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่หมายถึง การระลึกถึงคุณความดีที่บุคคลอื่นกับตน แล้วจึงตอบแทนคุณ ซึ่งต้องเป็นสติเจตสิกที่ระลึกได้ในขณะนั้น และก็ยังมีเจตสิกที่ดีงามอีกมากมาย ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นครับ ซึ่งขอแสดงรายละเอียด บุพพการี และ กตัญญู ว่ามีนัยอย่างไรบ้าง ดังนี้ครับ

พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ หน้า ๒๖๘

อีกนัยหนึ่ง บุคคลใด เมื่อผู้อื่นยังมิได้กระทำอุปการะเลย ไม่เพ่งเล็งถึงอุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน แล้วกระทำการอุปการะ ผู้นั้นก็ชื่อว่าบุพพการีเปรียบเหมือนบิดามารดาพวกหนึ่ง อาจารย์และอุปัชฌาย์พวกหนึ่ง บุพพการี บุคคลนั้น ชื่อว่าหาได้โดยยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกตัณหาครอบงำไว้.


จากข้อความนี้แสดงครับว่า บุพพการี หาได้ยาก เพราะถูกตัณหา ความติดข้องครอบงำ ตามที่กล่าวแล้วครับ ส่วนใหญ่ที่ทำการช่วยเหลือก่อน ส่วนมากของสัตว์โลกก็ทำเพื่อหวังผลประโยชน์ นั่นคือ ถูกตัณหาครอบงำ คือ ต้องการได้รับสิ่งตอบแทน จึงทำ ต้องการเป็นที่รัก และต้องการคำชม สรรเสริญ นี่ก็ชื่อว่าถูกตัณหา ครอบงำ โลภะครอบงำ การช่วยเหลือนั้น ไม่ชื่อว่า บุพพการีครับ และบางคนก็ไม่ช่วยเหลือเลย เพราะถูกตัณหาครอบงำ คือ ความรักตนเอง ไม่อยากให้ตนเองเหนื่อย เดือดร้อน รักตนเอง จึงไม่ช่วยก่อน ซึ่งส่วนมากสัตว์โลกทั้งหมดที่มี ก็ย่อมถูกตัณหาครอบงำ รักตนเองเป็นส่วนมาก และทำการช่วยเหลือก่อนเพราะหวังอะไรบางอย่างตามที่กล่าวมา ดังนั้น การช่วยเหลือก่อนด้วยกุศลจิต จึงหาได้ยาก บุคคลที่เป็นบุพพการีจึงหาได้ยากด้วยประการฉะนี้

พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ หน้า ๒๖๘

บุคคลใด รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน ประกาศอยู่ซึ่งอุปการะที่เป็นไปตามสมควรแก่อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า กตัญญูกตเวทีเปรียบเหมือน บุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดา และบิดา หรือในอาจารย์ และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย. กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น ชื่อว่า หาได้โดยยาก เพราะความที่สัตว์ทั้งหลายถูกอวิชชาครอบงำไว้.


จากข้อความแสดงชัดเจนครับว่า กตัญญูกตเวที หาได้ยาก เพราะถูกอวิชชา ความไม่รู้ครอบงำ คือ ความกตัญญู คือ การทำการช่วยเหลือเพราะรู้คุณของบุคคลนั้น จึงทำด้วยกุศลจิต และประกาศคุณของผู้มีพระคุณด้วยกุศลจิต โดยมาก สัตว์โลกมากไปด้วยความไม่รู้ ผู้ที่รู้คุณและทำคุณ ย่อมที่จะคิดถูก เพราะมีปัญญาเข้าใจถูกว่าเป็นผู้มีพระคุณ ควรทำ เพราะฉะนั้น สัตว์คิดได้เช่นนี้ ที่รู้คุณและทำคุณตอบ มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัตว์โลกทั้งหมด ที่มีความไม่รู้ครอบงำ จึงไม่รู้คุณของผู้อื่น หรือ แม้รู้ว่าผู้นี้มีคุณก็ตาม แต่ก็ไม่ทำตาม เพราะถูกกิเลส คือ ความไม่รู้ครอบงำอีก ที่จะไม่ทำกระทำดี ทางกาย วาจา ครับ บุคคลที่กตัญญูกตเวที จึงหาได้ยาก และการประกาศคุณความดีของผู้มีพระคุณ ก็ต้องเป็นการประกาศคุณด้วยกุศล ผู้ที่ไม่รู้ มีมาก โดยมาก สัตว์โลก กล่าวคุณความดี หรือ ความชั่วโดยมาก ครับ ก็ต้องเป็นความชั่ว เพราะฉะนั้น กตัญญูกตเวทีจึงหาได้ยาก และแม้กล่าวสรรเสริญคุณความดีของคนอื่น แต่โดยมากกล่าวด้วยอกุศลด้วยการให้ผู้นั้นรักตน หรือให้ผู้อื่นยกย่องสรรเสริญเป็นส่วนมาก ในสัตว์โลกทั้งหมด แต่กล่าวด้วยกุศลจิต รู้คุณจริงๆ โดยไม่หวังอย่างอื่น มีน้อย เมื่อเทียบกับสัตว์โลกอื่นๆ ครับ กตัญญูกตเวทีจึงหาได้ยากในโลกด้วยประการฉะนี้ และข้อความในอรรถกถาอธิบาย อีกนัยหนึ่งที่ว่า

ผู้แสดงธรรม ชื่อว่าบุพพการี. ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่า กตัญญูกตเวที.


ผู้ที่แสดงธรรม ที่เป็นบุพพการี ก็หาได้ยากในโลก เพราะผู้ที่เข้าใจพระธรรมคำสอนหาได้ยาก แม้บางคนก็เข้าใจก็ไม่สามารถแสดงได้ก็มี ผู้ที่แสดงธรรมที่เป็นบุพพการีจึงหาได้ยาก ผู้ที่แสดงธรรม คือ เป็นผู้มีอุปการะก่อน คือแสดงธรรมโดยไม่ได้หวังลาภสักการะ หรืออย่างอื่น แต่แสดงธรรมเพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้น บุพพการีจึงหาได้ยากในโลก โดยนัยนี้ ครับ

ผู้ปฏิบัติธรรมชื่อว่า กตัญญูกตเวที คือ ผู้ที่ฟังพระธรรมเข้าใจและประพฤติปฏิบัติตาม ก็ชื่อว่า เป็นผู้รู้คุณ รู้คุณของผู้ที่แสดง รู้คุณของพระธรรม จึงปฏิบัติ จึงชื่อว่า เป็นผู้ที่กตัญญู กตัญญูต่อผู้ที่แสดง และกตัญญูต่อพระธรรมนั่นเอง ครับ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมประพฤติในกุศล หาได้ยากในโลก เมื่อเทียบกับสัตว์โลกที่มักทำอกุศลนั่นเอง ครับ กตัญญูกตเวทีจึงหาได้ยากในโลก โดยนัยนี้ ครับ

ข้อความในอรรถกถาอธิบาย อีกนัยหนึ่งที่ว่า

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ชื่อว่า บุพพการีในโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก.

พระอริยสาวก ชื่อว่า กตัญญูกตเวที.

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วทรงแสดงความจริงให้สัตว์โลกได้รู้ตาม พระบารมีทั้งหมดที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลานานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ก็เพื่ออุปการะเกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง สัตว์โลกที่เต็มไปด้วยกิเลสอกุศลประการต่างๆ มากมาย พอได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง ก็สามารถขัดเกลาละคลายกิเลสจนกระทั่งสามารถดับได้จนหมดสิ้นในที่สุด พระมหากรุณาคุณของพระองค์ คือ ทรงแสดงพระธรรมให้สัตว์โลกได้เข้าใจตามความเป็นจริง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเป็นบุพพการีที่สูงสุดโดยไม่มีใครเสมอเหมือน และในความกตัญญูกตเวทีนั้น พระองค์ก็ทรงเป็นยอดของบุคคลผู้กตัญญูกตเวทีที่กระทำตอบแทนต่อบุคคลผู้มีพระคุณอย่างสูงสุด ด้วยการทรงแสดงพระธรรมโปรดพระพุทธบิดา คือ พระเจ้าสุทโธทนะ จนได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นและดับขันธปรินิพพาน ไม่เกิดอีกเลย ส่วนพระพุทธมารดาที่ไปเกิดในสวรรค์ พระองค์ก็ทรงแสดงพระธรรมโปรด จนได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน ดับกิเลสได้ในระดับหนึ่ง

เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว สำหรับบุคคลที่เป็นบุคคลผู้ที่หาได้ยาก ทั้งที่เป็นบุพพการี (ผู้ที่กระทำอุปการะมาก่อน) และ กตัญญูกตเวที (บุคคลผู้รู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว กระทำตอบแทน) นั้น ก็เพราะสัตว์โลกสะสมอวิชชา ซึ่งเป็นความไม่รู้มากกว่าปัญญา สะสมกิเลสมากกว่าธรรมฝ่ายดี บุคคลผู้ที่เพียบพร้อมด้วยธรรมฝ่ายดี จึงมีน้อยกว่าสัตว์โลกที่มากไปด้วยกิเลสอกุศลทั้งหลายทั้งปวง ที่ไม่ได้รับการแนะนำในพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อย่างเทียบกันไม่ได้เลย

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ

ทำไมมารดาบิดาจึงเป็นผู้ที่กระทำตอบแทนบุญคุณได้ยากครับ

เรื่องความกตัญญู

ความกตัญญูและความอกตัญญู

ความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ... [กตัญญูคืออะไร ... ตอน ๖]

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า กตัญญู หมายถึง บุคคลผู้รู้คุณที่ผู้อื่นกระทำดีแก่ตน, คำว่า กตเวที หมายถึง บุคคลผู้กระทำตอบแทนคุณท่าน ดังข้อความใน

[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ ๗๕๑

บทว่า กตญฺญุตา ได้แก่รู้คุณที่ผู้อื่นทำ. บทว่า กตเวทิตา ได้แก่รู้คุณที่ต่างจากคุณที่เขาทำ (ตอบแทน) บทว่า กตญญูกตเวที ได้แก่ ผู้รู้อุปการะที่เขาทำแล้วตอบแทนภายหลัง.


ประโยชน์จริงๆ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก ว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตน แต่เพราะมีสภาพธรรมฝ่ายดี คือ กุศลจิต และเจตสิกธรรม ที่เกิดขึ้นเป็นไป มีศรัทธา หิริ โอตตัปปะ อโลภะ อโทสะ เป็นต้น ที่รู้คุณความดีของผู้อื่น ชื่นชมสรรเสริญในความดีของผู้อื่น แล้วมีการกระทำตอบแทนตามกำลังความสามารถของตน ก็เรียกว่า บุคคลผู้กตัญญูกตเวทีซึงก็ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไป คือ ธรรมฝ่ายดี นั่นเอง ซึ่งจะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับอกุศลธรรม เพราะถ้าเป็นอกุศลแล้ว จะไม่มีการชื่นชมหรือรู้คุณของความดีและจะไม่มีการกระทำสิ่งที่ดีตอบแทนเลย

ข้อความบางตอนจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

สำหรับกตัญญูกตเวทีบุคคล ข้อความในอรรถกถาปุคคลบัญญัติ แสดงว่าบุคคลใดรู้อุปการะที่ผู้อื่นกระทำในตน ประกาศอยู่ซึ่งอุปการะที่เป็นไปตามสมควรแก่อุปการะที่ผู้อื่นกระทำแล้ว ผู้นั้นชื่อว่า กตัญญูกตเวที เปรียบเหมือนบุคคลผู้ปฏิบัติชอบในมารดาและบิดา หรือในอาจารย์และอุปัชฌาย์ทั้งหลาย กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น

สำหรับผู้ที่เป็นกตัญญูกตเวทีบุคคล คือ ผู้ที่รู้อุปการคุณที่บุคคลอื่นกระทำแล้วในตนแล้วประกาศอยู่ คือ แสดงความรู้คุณความดีของบุคคลนั้นด้วยกาย ด้วยวาจา ทางกายอาจจะโดยความเอาใจใส่ เป็นธุระต้อนรับ เชื้อเชิญดูแลช่วยเหลือต่างๆ ทางวาจาก็เป็นปฏิสันถาร เป็นความเอื้อเฟื้อต่างๆ เป็นต้น

... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง ...

ขอเชิญคลิกอ่านตัวอย่างชีวิตของผู้ที่มีความกตัญญูกตเวที ได้ที่นี่ ครับ

พญาช้างยอดกตัญญู มาตุโปสกชาดก

บูชาผู้มีคุณ [ขุททกนิกาย ชาดก ติรีตีวัจฉชาดก]

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 25 มี.ค. 2558

ความกตัญญู คือระลึกบุญคุณที่คนอื่นทำให้ เป็นกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
phurit2014
วันที่ 11 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทั้งสองมากครับ สรุปคือเป็นธรรมฝ่ายดีที่ประกอบกันนั่นเอง

พอดีไปค้นเจอคำตอบพอดีครับ

จะรู้ตัวจริงหรือเรื่องราว

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
jirat wen
วันที่ 12 พ.ย. 2565

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ