กามสูตร ... พระสูตรวันเสาร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๑
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๑
... จาก ...
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๑๐
๗. กามสูตร
(ว่าด้วยการอนุเคราะห์คนที่ควรอนุเคราะห์)
[๗] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โดยมากสัตว์ทั้งหลาย หมกมุ่นอยู่ในกาม กุลบุตรผู้ละเคียวและคานหาบหญ้า ออกบวชเป็นบรรพชิต ควรเรียกว่าเป็นกุลบุตรผู้มีศรัทธาออกบวช ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะเขาควรได้กาม ด้วยความเป็นหนุ่ม และกามเหล่านั้น ก็มีอยู่ตามสภาพ คือ เลว ปานกลาง และประณีต กามทั้งหมด ก็ถึงการนับได้ว่า เป็นกามทั้งนั้น ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเด็กอ่อนนอนหงาย พึงเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องใส่เข้าไปในปาก เพราะความพลั้งเผลอของพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงพึงสนใจในเด็กนั้นทันที แล้วรีบนำเอาชิ้นไม้หรือชิ้นกระเบื้องออกโดยเร็ว ถ้าไม่สามารถนำออกโดยเร็วได้ ก็พึงเอามือซ้ายจับ งอนิ้วมือข้างขวา แล้วแยงเข้าไปนำออกมาทั้งที่มีโลหิต ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าจะมีความลำบากแก่เด็ก เราไม่กล่าวว่า ไม่มีความลำบาก และพี่เลี้ยงผู้หวังประโยชน์ มุ่งความสุข อนุเคราะห์ พึงกระทำอย่างนั้นด้วยความอนุเคราะห์ แต่เมื่อใด เด็กนั้น เจริญวัย มีความสามารถ เมื่อนั้น พี่เลี้ยงก็วางใจในเด็กนั้นได้ว่า บัดนี้ เด็กมีความสามารถรักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควรพลั้งพลาด ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเป็นผู้ที่เราต้องรักษาเธอ ตลอดเวลาที่เธอยังไม่กระทำด้วยศรัทธาในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยหิริในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยโอตตัปปะในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยวิริยะในกุศลธรรม ไม่กระทำด้วยปัญญาในกุศลธรรม แต่เมื่อใด ภิกษุกระทำด้วยศรัทธาในกุศลธรรม กระทำด้วยหิริในกุศลธรรม กระทำด้วยโอตตัปปะในกุศลธรรม กระทำด้วยวิรยะในกุศลธรรม กระทำด้วยปัญญาในกุศลธรรม เมื่อนั้น เราก็ย่อมวางใจในเธอได้ว่า บัดนี้ ภิกษุ มีความสามารถ รักษาตนเองได้แล้ว ไม่ควรประมาท
จบกามสูตรที่ ๗
อรรถกถากามสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในกามสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า กาเมสุ จลฬิตา ได้แก่ สยบยินดียิ่ง ในวัตถุกามและกิเลสกาม
บทว่า อสิตพฺยาภงฺคึ ได้แก่ เคียวเกี่ยวหญ้าเละคานหาบหญ้า
บทว่า กุลปุตฺโต ได้แก่ กุลบุตรผู้มีมารยาท
บทว่า โอหาย แปลว่า ละแล้ว
บทว่า อลํ วจนาย ได้แก่ ควรพูด
บทว่า ลพฺภา ได้แก่ ได้ง่าย คือ อาจได้
บทว่า หีนา กามา ได้แก่ กามของสัตว์มีตระกูลต่ำ ๕
บทว่า มชฺฌิมา กามา ได้แก่ กามของสัตว์ชั้นกลาง
บทว่า ปณีตา กามา ได้แก่ กามของพระราชาและมหาอำมาตย์ของพระราชา
บทว่า กามาเตฺวว สงฺขฺยํ คจฺฉนฺติ ความว่า ก็นับได้ว่ากามทั้งนั้น เพราะอำนาจความใคร่ และ เพราะอำนาจอารมณ์ที่พึงใคร่
บทว่า วุฑฺโฒ โหติ แปลว่า เป็นคนแก่
บทว่า อลํ อญฺโญ คือ มีความสามารถสมควรแล้ว
บทว่า อตฺตคุตฺโต ได้แก่ คุ้มครองรักษาด้วยตนเองได้ หรือสามารถคุ้มครองรักษาตนได้
บทว่า นาลํ ปมาทาย แปลว่า ไม่ควรประมาท
บทว่า สทฺธาย อกตํ โหติ ความว่า กิจใดที่ควรทำในกุศลธรรมทั้งหลายด้วยศรัทธา กิจนั้นยังไม่ได้ทำ. แม้ในบทที่เหลือ ก็นัยนี้เหมือนกัน. ด้วยบทว่า อนเปกฺโข ปนาหํ ภิกฺขเว ตสฺมึ โหติ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า เราวางใจในบุคคลนั้นผู้กระทำกิจที่ควรกระทำด้วยศรัทธาเป็นต้นอย่างนี้แล้วตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ในสูตรนี้ตรัสโสดาปัตติมรรค
จบอรรถกถากามสูตรที่ ๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
กามสูตร
(ว่าด้วยการอนุเคราะห์คนที่ควรอนุเคราะห์)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ว่า กุลบุตรออกบวชด้วยศรัทธา ตราบใดที่ยังไม่กระทำด้วยศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะและปัญญาในกุศลธรรม พระองค์ก็ทรงคอยดูแล ประดุจพี่เลี้ยงที่คอยดูแลเด็กอ่อนไร้เดียงสาจนกว่าจะมีความสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต่อเมื่อใดที่กุลบุตรกระทำด้วยศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะและปัญญาในกุศลธรรม แล้ว พระองค์ก็ทรงวางพระทัยได้ว่ากุลบุตรนั้นมีปัญญาสามารถรักษาตนเองได้แล้ว
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
วัตถุกาม - กิเลสกาม - กับการรู้จักตนเอง
พระภิกษุ ต้องงดงามตามพระธรรมวินัย
หิริ และ โอตตัปปะ [ธรรมสังคณีปกรณ์]
หิริโอตตัปปะ เป็นธรรมคุ้มครองโลก
ความเป็นบรรพชิต ถ้ารักษาไม่ดี มีแต่จะทำให้เกิดโทษ
ภิกษุต้องอาบัติ ถ้าไม่ปลงต้องตกนรกหรือไม่
พระทำผิดวินัยสงฆ์รับโทษอย่างไร
... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...