ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๓๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากร ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ และ อาจารย์วิชัย เฟื่องฟูนวกิจ ได้รับเชิญจาก อาจารย์ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล และชมรมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้สนใจศึกษาพระธรรมวินัย เพื่อไปสนทนาธรรมที่ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น.
การสนทนาธรรมที่คณะสังคมศาสตร์ในครั้งนี้ มีทั้งนิสิตจากภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ภาควิชาจิตวิทยา นิสิตจากคณะมนุษยศาสตร์ และนิสิตจากคณะอื่นๆ รวมทั้งคณาจารย์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เข้าร่วมฟังและร่วมสนทนาด้วยความสนใจเป็นอย่างมาก
สำหรับความการสนทนาที่จะนำมาลงบันทึกไว้ เป็นช่วงที่ท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง กราบเรียนสนทนากับท่านอาจารย์และวิทยากร ถึงเรื่องของ การทำสมาธิ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะมีผู้เข้าใจผิด เห็นผิดเป็นอย่างมาก ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลก ที่คิดว่า พระพุทธศาสนาคือการทำสมาธิ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้ ความเข้าใจ ในพระธรรม ที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดง ซึ่งเมื่อขาดความรู้ความเข้าใจ ย่อมทำให้เข้าใจผิด เห็นผิดไปจากพระธรรมคำสอน ประการสำคัญมที่สุดคือมีการเผยแพร่ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดดังกล่าว ไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง จนมีผู้ทำตาม เข้าใจผิดตาม ด้วยความไม่รู้ นำมาซึ่งวิกฤตของพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศ และทั่วไปทั้งโลกในปัจจุบัน แต่สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาเข้าใจในพระธรรมคำสอนที่ทรงแสดง ย่อมรู้ว่า นี่มิใช่เรื่องเล็กน้อยเลย แต่เป็นวิกฤตอย่างยิ่ง ซึ่งท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา เห็นถึงวิกฤตดังกล่าว และกำลังพยายามกระทำทุกวิถีทาง ที่จะให้ผู้ที่ชื่อว่าพุทธศาสนิกชน ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมและพระวินัยที่ทรงแสดงและบัญญัติไว้ เพื่อพระพุทธศาสนาจะมีความมั่นคงและยั่งยืนอย่างถูกต้องแท้จริง สืบไป
วาระนี้ จึงขออนุญาตนำความการสนทนา ที่ท่านอาจารย์และอาจารย์อรรณพ ได้สนทนาเรื่องของสมาธิ ที่มีผู้ฟังสนใจและสนทนากราบเรียนถาม มาลงไว้โดยละเอียด เพื่อท่านที่สนใจที่จะเข้าใจ เรื่องของสมาธิ โดยถูกต้อง จะสามารถค่อยๆ อ่านและพิจารณาตาม อย่างช้าๆ ทีละคำ ทีละประโยค ซึ่งข้าพเจ้ารับรองว่า ท่านจะได้รับประโยชน์อันเยี่ยม ที่จะมีความเข้าใจที่ชัดเจน มั่นคงขึ้น ในพระธรรมคำสอน ในหนทางที่ถูกต้อง ตรงตามที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ อันจะเป็นประโยชน์ล้ำค่า มีค่าที่สุดสำหรับชีวิต ในสังสารวัฏฏ์ ของทุกๆ ท่าน อย่างแน่นอน ที่เมื่อบุคคลมีความเข้าใจในหนทางที่ถูกต้อง ย่อมไม่หลงไปทำ ไปปฏิบัติในสิ่งที่เป็นความเห็นผิด ซึ่งมีอยู่มากมายในปัจจุบัน ที่นอกจากจะเสียทั้งเวลาและทรัพย์สินเพื่อสิ่งที่ไม่ได้เข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ความเห็นผิดในหนทางที่ผิดดังกล่าว ย่อมจะสะสมเป็นความเห็นผิดที่มั่นคงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งและมีโทษอย่างยิ่งต่อชีวิตและหนทางในสังสารวัฏฏ์ของบุคคลนั้นเอง หาใช่ผู้อื่นแต่ประการใดไม่ นี่ต่างหาก จึงจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในนัยหนึ่งของพระพุทธพจน์ที่ว่า "อัตตาหิ อัตโนนาโถ - ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน" เมื่อบุคคลไร้ซึ่งความเข้าใจที่ถูกต้องในหนทางที่ทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้ จึงจะมีสิ่งใด นอกจากความเห็นผิด เข้าใจผิด ในหนทาง ซึ่งหาใช่เป็นที่พึ่งเลย เมื่อเข้าใจเช่นนี้ จะเป็นผู้ที่กลัวภัยของความไม่รู้และความเห็นผิดไหม? ว่าหาใช่เรื่องเล็กน้อยในของชีวิตของตน แต่ประการใดไม่ แต่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของทุกชีวิต ในสังสารวัฏฏ์ เลยทีเดียว
ท่านอาจารย์ เรากำลังสนทนาเรื่อง "คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เพื่อที่จะรู้จักพระปัญญาคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อจะเข้าใจว่า พระปัญญาของพระองค์ ถ้าไม่ "ฟัง" ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลย ด้วยเหตุนี้ ในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน แม้เทวดาและพรหม ก็ยังมาเฝ้าทูลถามปัญหา เพราะรู้ว่า ไม่ว่าจะอยู่ในโลกใดๆ ทั้งสิ้น ในสากลจักรวาล มีผู้ที่ทรงตรัสรู้ความจริง ถึงที่สุด โดยประการทั้งปวง ซึ่งคนอื่นรู้ไม่ได้
แม้แต่ มงคลคืออะไร ตอบได้ไหม? ในครั้งโน้นเขาตอบกันไม่ได้ เขาก็ยังต้องมาเฝ้า ทูลถามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เหตุที่จะให้เกิดความเจริญ ความเจริญในสิ่งที่ดีงามด้วย เพราะว่า สิ่งที่ไม่ดี ไม่เจริญ เสื่อม แต่ว่าสิ่งที่ดีงามที่เจริญ มีอะไรบ้าง? และทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้น จนกระทั่งถึงการดับกิเลสหมด นี่คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรม ต้อง "ฟังด้วยความเคารพ" ว่า เป็นคำสอนที่เรา "ผ่านหู" แต่ว่า เราจะไม่ได้ประโยชน์เลย ถ้าเราไม่เป็น "ผู้ที่ละเอียด" และ "เห็นพระคุณ" ที่จะรู้ว่า เรานับถือ "ผู้ที่ทรงมีพระปัญญา" ที่คนอื่นไม่สามารถจะเปรียบได้
ท่านผู้ฟัง อยากจะเรียนถามค่ะ คือตอนนี้กำลังศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง "สมาธิ" แล้วก็ "วิปัสสนา" "สติปัฏฐาน" คือทราบมาบ้างว่า สมมติว่าเรากำลังฝึกสติปัฏฐาน เคยมีผู้รู้เขาบอกว่า การเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นต้องทำสมาธิ ระหว่างที่เราทำสติปัฏฐาน ก็จะมีสมาธิอยู่ในตัว ใช่ไหมคะ?
ท่านอาจารย์ แต่ก่อนมา เราฟังแต่ "เขาบอก" ถูกต้องไหม?
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้ว เราก็ "ทำตามเขาบอก" ด้วย ถูกต้องหรือเปล่า?
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ แต่ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "ทรงแสดงธรรมะ ให้คนฟัง ไตร่ตรอง" จนกระทั่งเป็น "ความเข้าใจถูกต้อง" เพราะฉะนั้น พระองค์จะไม่ได้บอกให้ใครทำอะไร แต่ว่า ให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะว่า เขาพูดแต่คำที่เขาไม่รู้จัก แล้วก็ทำสิ่งที่ไม่ใช่ความเข้าใจของตัวเองด้วย เพียงแต่ว่า "เขาบอกให้ทำก็ทำ"
ลองถามพวกที่ทำสมาธิสิ รู้จักไหม? ว่า สมาธิคืออะไร? เห็นไหม? "ทำสมาธิ" เขาบอกอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น แต่นี่ไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีค่า คือ ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตนเอง และลองคิดดู ใครที่จะทำให้คนฟังเกิดปัญญาได้ คนนั้นต้องมี "ความเข้าใจ"
เพราะฉะนั้น ได้ยินคำว่าสมาธิ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่าสมาธิคืออะไร แต่ไม่ใช่บอกให้ใครไปทำสมาธิเลย ไปทำแล้วไม่เข้าใจ จะเกิดประโยชน์อะไร นอกจากความไม่รู้ แต่ถ้าเขาเริ่มเข้าใจถูก เขาจะรู้ว่า เดี๋ยวนี้มีสมาธิไหม? เห็นไหม? นี่เป็นสิ่งที่ถูกต้องกว่า
ด้วยเหตุนี้ เมื่อกี้นี้ ต้องตามลำดับ ทีละเล็ก ทีละน้อย การที่จะเรียนวิชาใดก็ตาม ต้องตั้งแต่ต้นใช่ไหม? เราไม่ได้เรียนตอนปลาย หรือตอนกลาง มาหาตอนต้น ยิ่งเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยิ่งประมาทไม่ได้ "ทุกคำต้องตั้งแต่ต้น" และ "ไม่ใช่ฟังเผิน" ด้วย ต้องเป็น "ความเข้าใจที่มั่นคง" ถ้าไม่มั่นคง จะสับสน และฟังต่อไปก็เริ่มสับสนหมดเลย แต่ถ้ามีความเข้าใจที่มั่นคงตั้งแต่ต้น เปลี่ยนไม่ได้เลย แสดงว่าคนนั้นมีความเข้าใจถูกต้องขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าจะถามว่า สมาธิมีจริงไหม?
ผู้ฟัง มีจริงค่ะ
ท่านอาจารย์ "เป็นธรรมะ" ใช่ไหม?
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ "เป็นเรา" หรือเปล่า?
ผู้ฟัง ก็น่าจะไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ ไม่มีอะไรที่เป็นเราเลย เป็น "สิ่งที่มีปัจจัยเกิดแล้วดับ" ใช่ไหม?
ผู้ฟัง ค่ะ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไป "ทำสมาธิ" ได้ไหม?
ผู้ฟัง ไม่ได้ใช่ไหมคะ?
ท่านอาจารย์ เห็นไหม? เริ่มเข้าใจถูกต้องแล้วว่า ไม่มีใครไปทำสมาธิ แต่สามารถเข้าใจได้ ว่าสมาธิคืออะไร และอะไรเป็นประโยชน์? ไปทำสิ่งที่ไม่รู้ เกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ ไม่รู้ตลอด กับการที่ เริ่มรู้ว่า สมาธิคืออะไร และเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงแสดงความจริงของแต่ละหนึ่ง เช่น สมาธิจริงๆ คืออะไร เป็นสภาพรู้หรือเปล่า?
ผู้ฟัง ไม่ใช่ใช่ไหมคะ?
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็แข็งสิ เย็นสิ ถ้าไม่ใช่สภาพรู้
ผู้ฟัง ระหว่างที่นั่งสมาธิ...
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ยังไม่นั่ง เพราะยังไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร? หรือจะ ไม่รู้อะไรก็นั่งสมาธิ จะเลือกแบบไหน ถ้าเลือกแบบ "ไม่รู้อะไรก็ไปนั่งสมาธิ" คือ "ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย" แต่ว่า ถ้าฟังก่อน แล้วรู้ว่าคืออะไร แล้วก็รู้ว่า เป็นสิ่งซึ่งใครก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นได้ โดยการที่ต้องเริ่มจากที่ว่า สมาธิมีจริงไหม?
ผู้ฟัง มีจริงค่ะ เข้าใจว่ามีจริง
ท่านอาจารย์ มีจริง ทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าอะไร แต่ได้ยินคำว่าสมาธิ เอาละ สมาธิมีจริงนะคะ ขั้นต้น สมาธิเป็นสภาพรู้หรือไม่ใช่สภาพรู้
ผู้ฟัง เป็นสภาพรู้
ท่านอาจารย์ เป็น "เห็น" หรือเปล่า?
ผู้ฟัง ไม่เห็นค่ะ
ท่านอาจารย์ "เห็น" เป็น "เห็น" ไม่ใช่สมาธิ ใช่ไหม?
ผู้ฟัง ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ "ได้ยิน" เป็น "ได้ยิน" ไม่ใช่สมาธิ เพราะฉะนั้น ธาตุรู้มีสองอย่าง สภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เมื่อกี้นี้เรามีคำใหม่คำหนึ่ง ในภาษาบาลี คือคำว่า "อารัมณะ" แต่ภาษาไทย ใช้คำว่า "อารมณ์" แต่ก็ไม่ได้เข้าใจว่า อารมณ์คือสิ่งที่ปรากฏ เมื่อมีธาตุรู้ รู้สิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้ อย่าง "เสียง" ถ้าไม่มี "ได้ยิน" เสียงจะปรากฏว่ามีเสียงได้ไหม? แต่ขณะใดก็ตามที่เสียงปรากฏ "เสียง" ไม่รู้อะไร แต่มี "ธาตุรู้" คือ "ได้ยินเสียง" ถูกต้องไหม?
เราเริ่มมีความเข้าใจในสิ่งซึ่งถูกปิดปังไว้ ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น สภาพธรรมะ สิ่งที่มีจริง มีสองอย่าง "ตั้งต้นให้มั่นคง" เลย อย่างหนึ่งมีจริง เกิดจริง ดับจริง ไม่รู้อะไร เช่นเสียง เช่นกลิ่น เช่นรส เป็นต้น แต่ ถ้าไม่มี "ธาตุรู้" สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ปรากฏไม่ได้เลย โลกไม่ปรากฏ อะไรก็ไม่ปรากฏ แต่ที่ปรากฏ เพราะมี "ธาตุรู้" เกิดขึ้น "เห็น" กำลังมีอย่างนี้ ใช่ไหม? "ได้ยิน" เป็น "เสียง" แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา พอถึง "รส" ไม่ใช่ทั้ง "เห็น" ไม่ใช่ทั้ง "ได้ยิน" แต่เป็น "สภาพรู้" ที่เกิดขึ้น "ลิ้มรส" รสจึงปรากฏ เปรี้ยวมากเลย ไปบอกคนอื่นสิ เปรี้ยวแค่ไหน บอกเท่าไหร่เขาก็ไม่รู้ แต่พอให้ชิม รู้เลย ไม่ต้องพูดสักคำ เขาก็รู้ว่า เปรี้ยวระดับไหน เพราะ "ธาตุรู้" คือ "จิต" เกิดขึ้น "ลิ้มรส"
เพราะฉะนั้น "ธาตุรู้" ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ ตอนนี้เราจะใช้สองคำ "จิต" เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการ "รู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏ" สิ่งที่ถูกรู้ เป็น "อารมณ์" เพราะฉะนั้น มีจิตกับอารมณ์ เริ่มเข้าใจ "อารมณ์" วันนี้เราบอกว่าเราอารมณ์ดี แต่ไม่รู้หรอกว่าเพราะอะไร เพราะ เห็นสิ่งที่ดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นที่ดี ลิ้มรสที่ดี รู้เรื่องต่างๆ ที่ดี วันนี้อารมณ์ดี พอได้ยินเสียงที่ไม่ดี มาแล้ว อารมณ์ไม่ดีแล้ว ใช่ไหม? พอได้กลิ่นไม่ดีก็อารมณ์ไม่ดี
คนไทยเผินมาก ทำให้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลบเลือน เพราะว่าไม่ได้เข้าใจให้ถูกต้อง คิดกันเองหมดเลย แม้แต่ "ทำสมาธิ" ก็ "คิดเอง" แต่ถ้าศึกษาจริงๆ จะรู้ได้เลยว่า คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เข้าใจถูกต้อง ไม่ใช่ให้ทำ "ศาสนา" คือ "คำสอน" เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงความจริงที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้ เพื่อให้คน "ฟัง" ใช่ไหม? หรือให้คน "ทำ"? ทรงแสดงธรรมะให้คนฟังให้เข้าใจ หรือให้คนทำ? เห็นไหม? แสดงความจริงว่า ไม่มีใครสามารถจะทำอะไรได้เลยทุกอย่าง แค่ไม่มีตา ตาบอดก็เห็นไม่ได้แล้ว ไปทำสิ ไปทำสมาธิให้เห็นขึ้นมาสิ ก็ไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้จักอะไรเลยทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ตรง คนที่ฟังธรรมะ เริ่มเป็นผู้ตรงต่อความจริง จะไม่มีใครหลอกลวงได้เลย รู้ว่าอะไรถูก รู้ว่าอะไรผิด เพราะว่าตรงต่อสิ่งนั้นตามความเป็นจริง สิ่งที่ผิด จะบอกว่าถูกไม่ได้ สิ่งที่ถูก จะบอกว่าผิดไม่ได้ เสียง จะบอกว่าเป็นกลิ่นไม่ได้ เห็นจะบอกว่าเป็นคิดไม่ได้ แต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง ต้องตรงตามความเป็นจริง
"เริ่มมีปัญญา" ปัญญาคือความเข้าใจถูก ความเห็นถูก ตามความเป็นจริง ของสิ่งที่มีจริง ไม่ได้ไปเปลี่ยน เพราะฉะนั้น ใครจะไปทำสมาธิ ได้ไหม? ถ้าทำสมาธิได้ คนตาบอดก็ทำเห็นได้สิ ถ้าทำได้ เพราะว่า ไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร ไม่ต้องไปทำ เดี๋ยวนี้ก็มีสมาธิ
ผู้ฟัง เท่ากับว่า อาจารย์จะหมายถึงว่า เรื่องสมาธิ เราไม่ต้องไปสนใจ ใช่ไหม?
ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษนะคะ เรายังไม่รู้ว่าสมาธิคืออะไร ที่จะสนใจคือต้องรู้ก่อน เข้าใจให้ถูกต้อง ว่าสมาธิคืออะไร ไม่ใช่ยังไม่รู้เลย แล้วเราก็ไปทำสมาธิ
ผู้ฟัง คือทุกวันนี้ วันไหนที่เราเครียดจากงานหรืออะไรอย่างนี้ เราก็จะนั่งนิ่งๆ แล้วก็ทำจิตให้แบบว่า นิ่ง ไม่คิดอะไร อะไรอย่างนี้ มันก็ทำให้เราสงบค่ะ
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อน ใครสอนไม่ทราบ หรือว่าคิดเอง?
ผู้ฟัง ก็ศึกษามาบ้างค่ะ
ท่านอาจารย์ ศึกษามาบ้าง ถ้าเขาสอนอย่างนั้น คือ เขาไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงสอนให้คนอื่น ทำสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ เดี๋ยวนี้ มีสิ่งที่มีจริง เข้าใจได้ ตามความเป็นจริง คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยากหรือง่าย?
ผู้ฟัง ยากค่ะ
ท่านอาจารย์ แล้วจะเข้าใจ ที่ละเล็ก ทีละน้อย ดีกว่าไม่รู้เลย แล้วเข้าใจผิดๆ ดีไหม? มีสองทาง สิ่งที่ยาก แต่จริง มีค่ากว่าสิ่งที่ไม่จริง ลวงให้คิดว่า ทำได้ แต่ความจริง ใครทำ? ใครทำคะ? "เรา" ทำ ผิดแล้วใช่ไหม? ในเมื่อธรรมะเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น มีความเห็นสองอย่าง เห็นผิด มีไหม? มี มิจฉาทิฏฐิ คำนี้มีในพระไตรปิฎก เห็นถูก มีไหม? มี สัมมาทิฏฐิ ทิฏฐิคือคำกลางๆ ความเห็นหลากหลายมาก ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างเห็น แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สัมมาทิฏฐิ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ถ้ายังไม่รู้ว่าสมาธิเป็นอะไร แล้วไปทำสมาธิ ผลคืออะไร? ไม่รู้ก็ไม่รู้ ผลก็คือไม่รู้ กำลังทำก็ไม่รู้
ผู้ฟัง แต่มันก็สบายใจนะคะ นิ่งดี
ท่านอาจารย์ เดี๋ยวก่อนนะคะ สบายใจเพราะมีใจใช่ไหม? เลือกให้ไม่สบายใจหรือเลือกให้สบายใจได้ไหม? ต้องตรง และจะเห็นค่าของการที่ปัญญาสามารถเข้าใจถูก ไม่หลงผิด เพราะเหตุว่า หลงผิดมานาน ว่าเราทำได้ เพราะฉะนั้น ก็มีคนบอกให้เราทำ เขาบอกให้เราทำก็ผิดแล้ว ไม่ได้ให้เข้าใจอะไรเลย เพราะฉะนั้น "คำของคนอื่น" ไม่ใช่ "คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" เมื่อเขาไม่ได้เข้าใจธรรมะ
ผู้ฟัง มีอยู่เยอะนะคะ ที่ว่าสอนสมาธิ เยอะมาก
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะเป็นคนที่ "ไม่รู้แล้วทำตามคำที่เขาบอกให้ทำ"
อ.ทวีศักดิ์ อยากให้ท่านอาจารย์อรรณพ กล่าวถึงเรื่อง ความเข้าใจผิดที่มีค่อนข้างมาก ว่า พระพุทธศาสนาคือการนั่งสมาธิ เพราะทุกวันนี้เป็นเช่นนั้นอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ผศ.อรรณพ เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ ที่คนไม่ได้เข้าใจกัน ก่อนอื่น ระหว่าง "ความสบาย" กับ "ความสงบ" ต้องแยกกัน เช่น เราทำงานมาเหนื่อย ถ้าเรานั่งพัก บางคนก็ชอบว่า ไม่ต้องไปทำงาน พักบ้าง พักสายตา เปิดเพลงเบาๆ หรือไปนั่งในที่ที่ธรรมชาติ ลมเย็นๆ เขาก็พักผ่อน หรือบางคนก็ทำสิ่งที่เขาใช้คำว่า "ทำสมาธิิ" ที่บอกว่าสบาย ก็สบายดี "สบาย" แต่ไม่ได้ "สงบ" แต่ "ชาวพุทธโดยชื่อ" จะทึกทักกันว่า การมานั่งสมาธิ เช่น กำหนดลมหายใจเข้า-ออก แล้วก็สบาย เพราะว่า จริงๆ แล้ว ในทางด้านสรีระ การหายใจเข้าให้เต็ม ออกให้เต็ม เป็นประโยชน์กับร่างกาย ซึ่งไม่ต้องมาเกี่ยวกับศาสนาอะไรเลย เป็นหลักวิชาทางการแพทย์อยู่แล้ว ในเรื่องของการที่จะทำให้ร่างกายสดชื่น หรือร่างกายได้พักผ่อน
แต่ด้วยความที่สอนกันผิด จึงไปเอาการที่ร่างกายได้ผ่อนคลาย จะเป็นในเรื่องของการพักผ่อนหรือว่าการที่ให้คลายเครียด หรืออะไรที่มีกรรมวิธีต่างๆ ถ้าไม่มาเกี่ยวกับศาสนาจะดีที่สุด แต่เอามาปน เพราะ "อยากได้" ทั้งสอง หนึ่งอยากสบาย สองอยากให้สงบ สามอยากให้ตรัสรู้ได้ยิ่งดี นี่เป็นคนละอย่างกัน ถ้าเข้าใจผิดตั้งแต่ว่า สมาธิ เราก็ไม่รู้ว่า เป็นธรรมะ เป็นเจตสิก สิ่งที่เกิดกับจิต แต่ไม่เหมือนกับเจตสิกอื่น เพราะว่าเป็นเจตสิกที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ผมใช้คำนี้ได้แล้ว เพราะว่าเมื่อสักครู่ท่านอาจารย์กล่าวถึง (ความหมายของ) จิตกับอารมณ์ แล้ว
จิตเกิดขึ้นแต่ละขณะแสนสั้น ดับไปก็จริง แต่ แต่ละขณะนั้น ต้องมี สิ่งที่จิตรู้ ก็คือ อารมณ์ ทำไมจิตถึงรู้อารมณ์นั้น ก็เพราะมีเจตสิกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้จิตที่เกิดขึ้นและมีอายุแสนสั้น ยังตั้งมั่นนิดหนึ่ง ในการที่จะรู้อารมณ์นั้น ในขณะเห็น จิตเห็นเกิดขึ้น จะไปรู้เสียง กลิ่น รส ไม่ได้เลย ต้องรู้เฉพาะสีที่ปรากฏทางตา เท่านั้น ขณะนั้นเพราะอะไรจิตเห็นจึงรู้เพียงสี เพราะมีสิ่งที่ "ตั้งมั่น" เป็นเจตสิกที่เราเรียกว่า "สมาธิ" โดยภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้ก็คือ "เอกัคคตาเจตสิก" ความตั้งมั่นในเพียงอารมณ์หนึ่งชั่วคราว เท่านั้น จิตเห็นถึงได้เห็นแค่สีสันวรรณะ ไม่ได้ยิน รู้เสียง รู้กลิ่นรส
แต่ ที่เราบอกว่า "มีสมาธิ" เพราะว่า "มีความตั้งมั่นในอารมณ์นั้น นานๆ " เช่น เล่นเกมส์ นิสิตเล่นเกมส์ ขออนุญาต ไม่ได้พาดพิง ก็อยากจะเตือนนิสิตที่คณะวิทยาศาสตร์ที่สอนอยู่เหมือนกัน เพราะตอนเรียนก็ชอบเอาอะไรมาเล่นกัน มีสมาธิในการเล่นไลน์ เล่นเกมส์ ก็เลยไม่ได้ฟังบทเรียน ไม่ได้มี "ความตั้งมั่น" (ในการเรียน) แต่ถ้าเกิดตั้งมั่นในเรื่องหนึ่งเรื่องใดยาวนาน เราก็เรียกว่า มีสมาธิในเรื่องนั้น แต่เราลืมคิดถึงเลย ว่า จิตขณะนั้น เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล ตอนเป็นอกุศล ก็มีเอกัคคตาเจตสิก "ตั้งมั่นในจิตที่เกิดกับความติดข้องคือโลภะ" คนไม่เห็นเลย เราถูกลวงตรงนี้
เพราะฉะนั้น ต้อง "ฟังคำพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ว่า ความตั้งมั่น-เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับกุศลก็ได้ ก็เป็น "กุศลสมาธิ" เกิดกับอกุศล ก็เป็น "อกุศลสมาธิ" โดยเฉพาะ ที่เกิดกับความติดข้อง (โลภะ) และความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า โลภเจตสิก (คือความติดข้อง) เพราะ "อยากสงบ" วันนี้นั่งแล้วไม่เหมือนเมื่อวาน ก็รู้สึกไม่ดี ถ้านั่งแล้วสบายก็ชอบ แต่ไม่เคยรู้เลยว่า ขณะนั้น ตั้งมั่นด้วยความติดข้อง แล้วก็ ตั้งมั่นพร้อมกับความเห็นผิด เพราะคิดว่าทำอย่างนี้จะทำให้บรรลุเป็นวิปัสสนา อะไรต่ออะไร วิปัสสนากันทั่วเมืองไปหมดเลย เราลืมว่า สิ่งที่ถูกต้อง ไม่ได้ง่ายๆ อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ในเรื่องของความตั้งมั่นคือเอกัคคตาเจตสิก ถ้าเกิดขึ้นในเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรืออารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ต่อเนื่องนานๆ จิตนี้เกิดแล้วดับไป จิตต่อไปก็รู้ในเรื่องนั้นอีก เราก็ใช้คำว่าสมาธิ แต่ถ้าเป็นอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ถ้าจิตนั้นเป็นกุศล ก็เป็นกุศลสมาธิ จึงมีคำว่า "มิจฉาสมาธิ" กับ "สัมมาสมาธิ" ถ้าเราไม่ศึกษาอย่างนี้ เราไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วเราก็ไปทำ ผิดตั้งแต่คิดว่า "เราทำธรรมะได้" ซึ่งค้านกับคำว่า "ธรรมะทั้งหลาย เป็นอนัตตา" แต่คิดจะทำ คิดจะทำสติปัฏฐาน คิดจะทำวิปัสสนา นั่นคือ ความคิดที่เป็นความเป็นเรา เป็นตัวตนที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการที่เรามาสนทนาเลยว่า ไม่ใช่เรา เป็นนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ว่าให้มาศึกษาแบบปรัชญา แต่ว่าความจริง (ในขณะนี้) เป็นอย่างนั้น
ถ้าเข้าใจถูก ก็จะไม่คิดไปทำ ไปจดจ้อง เพราะรู้ว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกขณะอยู่แล้ว ขณะนี้มีความเข้าใจธรรมะเพิ่มขึ้นนิดหนึ่ง แม้ในเรื่องของคำว่าสมาธิคืออะไร ก็สามารถจะสนทนาถูกว่า สมาธิมีจริงไหม? มีจริง เป็นธรรมะ เป็นสภาพรู้ ที่ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต เป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง และเป็นสภาพที่ทำให้จิต "ตั้งมั่นในสิ่งที่จิตรู้" ในขณะหนึ่ง นี่คือ ความเข้าใจ ขณะที่คิดนึกแล้วเข้าใจอย่างนี้ จิดขณะนั้นเป็นกุศล เพราะเข้าใจถูก ประกอบด้วยเจตสิกที่ดีมากคือปัญญาเจตสิก ขณะนั้นไม่ปราศจากสมาธิเลย และเป็นสมาธิที่มีคุณค่าด้วย เพราะว่าเกิดกับกุศล เกิดกับปัญญา แต่ว่าอาจจะสั้นๆ และ เราก็ไม่ได้มีความหวังว่าต้องมีสมาธิเยอะๆ เราจะได้สบาย มีแต่ "ความเป็นเรา" และ "อยากให้สบาย" ก็เป็น "มิจฉาสมาธิ" กันไป
จริงอยู่ ตอนที่ความติดข้องเกิด มีสมาธิ แล้วก็ชอบ ตอนนั้นโทสะไม่เกิด แค่นั้น แต่เราไม่รู้ว่า "ยาพิษ" มีหลายอย่าง ยาพิษที่เป็นโทสะก็มี ยาพิษที่เป็นโลภะ (ความติดข้อง) ก็มี และโดยเฉพาะ ยาพิษที่เป็นความเห็นผิด อาจารย์ทวีศักดิ์ครับ ความเข้าใจผิดในเรื่องว่า พุทธศาสนาคือการไปทำสมาธิ ต้องเริ่มกันใหม่จริงๆ ครับ เริ่มนี้ ไม่ใช่ว่าเรามาเริ่มกันเอง ท่านอาจารย์ ท่านวิทยากรมาเริ่ม พระธรรมวินัยที่แสดงไว้ชัดเจนในเรื่องของความเป็นธรรมะที่ไม่ใช่เรา ที่อบรมเจริญปัญญานี้ ไม่ใช่เรานะครับ คือปัญญา สัมมาทิฏฐิ คนที่คล่องเรื่องราวพระพุทธศาสนาก็รู้ว่า สัมมาทิฏฐิเป็นมรรคองค์ที่หนึ่ง ถูก แต่ต้องเข้าใจ ถ้ามีความเข้าใจขั้นฟัง ก็นำไปสู่ขั้นต่อๆ ไป แต่ต้องฟังแล้วเข้าใจ ไม่ใช่เราไม่ศึกษา ไม่เข้าใจ แล้วเราก็จะไปทำ จะถูกได้อย่างไร
ผมอยู่คณะวิทยาศาสตร์ ผมก็เตือนนิสิตหรือเตือนคนอื่นที่คุยกันได้ ว่า อุปมาเหมือนเราจะเข้าไปทำแลป มีแลปไดเรคชั่น (คำแนะนำในการใช้ห้องปฏิบัติการ-ห้องทดลอง) เราบอกว่าเราไม่อ่านหรอก เราไปทำเอง เห็นเอง ก็ระเบิดตายกันหมด ถูกไหม? ต้องศึกษาอย่างดี แม้ในทางโลก ว่าจะใช้เครื่องมือ อุปกรณ์เซฟตี้อะไร อย่างไร แล้วนี่เป็นเรื่องที่ละเอียดที่สุด ที่บุคคลระดับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วทรงแสดง ลุ่มลึกมาก แล้วสิ่งที่ลวงก็มีเยอะ ถ้าไม่เริ่มที่จะศึกษา ตั้งแต่ว่า ธรรมะคืออะไร และสิ่งที่คุยกันนี้ มี "ตัวจริง" ไหม? หาตัวจริงของธรรมะไม่เจอ สมาธิคืออะไรก็ไม่รู้ แล้วก็ทำ ก็ต้องเป็นความเห็นผิด เป็น มิจฉาสมาธิ
ข้อความจาก ไฟล์ฟังธรรม หัวข้อ การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องคืออย่างไร โดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
"...ถ้ายังไม่เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมคืออะไร สิ่งต่างๆ ที่ทำกันไป ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้น ขอเรียนถามเป็นเรื่องๆ เป็นเหตุการณ์ว่า ที่ปฏิบัติธรรมในที่นี้ หมายความว่าอย่างไร ทำอย่างไร ที่ไหน ที่ใช้คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ทุกอย่างจะเลื่อนลอยไม่ได้ ทุกอย่างต้องเข้าใจชัดเจนถูกต้อง แม้คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ถ้ามีคนนั่งหลับตา แล้วเขาบอกว่า ปฏิบัติธรรม เชื่อไหม? พอเขาบอกว่า ปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติไปด้วย อย่างนั้นหรือคะ นั่นไม่มีเหตุผลเลย เห็นเขานั่งจ้องดินสีอรุณ แล้วเขาบอกว่า ปฏิบัติธรรม แล้วเราจะเชื่อหรือว่า เขาปฏิบัติธรรมะ
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ทรงพระมหากรุณา "ให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษา เกิดปัญญาของตนเอง" นี่คือพระคุณที่สูงสุด คือ ทำให้ผู้มีอวิชชา ความไม่รู้ เกิดวิชชา ความรู้ขึ้น ไม่หลง ไม่งมงาย ไม่ตื่นเต้นในข่าวต่างๆ
เพราะฉะนั้น แม้แต่คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ถ้ามีคนนั่งหลับตาแล้วเขาบอกว่า ปฏิบัติธรรม แล้วใครๆ ก็บอกว่า ปฏิบัติธรรม ก็เป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะยังไม่เข้าใจว่า ปฏิบัติธรรมจริงๆ นั้น คืออะไร ต่อเมื่อใดเข้าใจแล้ว จึงจะรู้ว่า ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ แล้วปฏิบัตินั้น เป็นธรรมะหรือไม่เป็นธรรมะ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ
ขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ กำลังฟัง ปฏิบัติธรรมะหรือเปล่า? ท่านพระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาต แล้วท่านพระสารีบุตรก็รู้สึกว่า ท่านผู้นี้มีกิริยาที่เป็นสมณะจริงๆ ธรรมะของท่านต้องเป็นธรรมะที่น่าเลื่อมใส ท่านจึงได้ติดตามท่านพระอัสสชิไป และขอให้ท่านพระอัสสชิแสดงธรรม ในขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมหรือเปล่าคะ? เพราะว่าเมื่อจบคำสั้นๆ ท่านพระสารีบุตรรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน
เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังนั้น ท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมะหรือเปล่า? ไม่มีคำตอบหรือคะ? จะได้เข้าใจคำว่า “ปฏิบัติธรรมะ” ไม่อย่างนั้นก็ไม่เข้าใจ ลองคิดถึงท่านพระสารีบุตรขณะที่กำลังฟังท่านพระอัสสชิ ท่านปฏิบัติธรรมหรือเปล่า? เพราะพอจบคาถาสั้นๆ ท่านพระสารีบุตรรู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระโสดาบัน ขณะนั้นที่กำลังฟัง ปฏิบัติธรรมะหรือเปล่า? ปฏิบัติ (ธรรมะปฏิบัติกิจของธรรมะ ไม่ใช่เราปฏิบัติ) เพราะฉะนั้น ปฏิบัติไม่ใช่เรานั่งหลับตา ไม่ใช่เราเดินทำอาการผิดปกติ แต่ขณะใดที่ "ปัญญาเกิดพร้อมสติ" ที่ "ระลึกลักษณะของสภาพธรรมะด้วยความเข้าใจ" จนประจักษ์แจ้งในการเกิดดับ
เพราะฉะนั้น ขณะนี้หรือขณะไหน ทุกขณะ สติปัญญาเกิดขณะใด สติปัญญาปฏิบัติกิจของสติปัญญา คือ ระลึกแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ สะสมไป จนกว่าจะถึงเวลาที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ซึ่งจะเป็นขณะไหนก็ได้ ขณะที่ถูกวัวขวิดก็ได้ ขณะไหนก็ได้ทั้งสิ้น เพราะเหตุว่า ในขณะนี้สภาพธรรมะก็เป็นของจริง ซึ่งกำลังเกิดดับ เป็นอริยสัจจธรรม คือ บุคคลใดประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมะนี้ บุคคลนั้นก็เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้เจริญจริงๆ เพราะเหตุว่า เจริญจากอวิชชา สู่วิชชา สามารถรู้สภาพธรรมะได้
เพราะฉะนั้น อย่าเข้าใจผิดเรื่องปฏิบัติธรรมะ ว่าเป็นอย่างอื่นนะคะ
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ
.........
ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ได้ที่นี่.....
และขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในครั้งก่อนๆ ได้ที่นี่.....
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ๒๕ กันยายน ๒๕๖๑
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ๒๒ มกราคม ๒๕๖๑