มหาลิสูตร ... วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๒
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๒
คือ
มหาลิสูตร
(ว่าด้วยเหตุแห่งการทำบาปกรรม และ กัลยาณกรรม)
...จาก...
[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ ๑๕๕
๗. มหาลิสูตร
(ว่าด้วยเหตุแห่งการทำบาปกรรม และ กัลยาณกรรม)
[๔๗] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้นครเวสาลี ครั้นนั้นแล กษัตริย์ลิจฉวี พระนามว่ามหาลี ได้เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ดูกร มหาลี
โลภะแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม
โทสะแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม
โมหะแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม
อโยนิโสมนสิการแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม
ดูกร มหาลี จิตอันบุคคลตั้งไว้ผิดแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม
ดูกร มหาลี กิเลส มีโลภะเป็นต้นนี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำบาปกรรม แห่งความเป็นไปแห่งบาปกรรม
ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อะไร เป็นเหตุ เป็นปัจจัย แห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม
พ. ดูกร มหาลี อโลภะแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม
ดูกร มหาลี อโทสะแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม
อโมหะแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม
โยนิโสมนสิการแล เป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม
ดูกร มหาลี จิตอันบุคคลตั้งไว้ชอบแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม
ดูกร มหาลี ธรรม มี อโลภะ เป็นต้นนี้แล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยแห่งการทำกัลยาณกรรม แห่งความเป็นไปแห่งกัลยาณกรรม
ดูกร มหาลี ถ้าธรรม ๑๐ ประการนี้ แล ไม่พึงมีในโลก ชื่อว่า ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติอธรรม หรือ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรม ก็จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้
ดูกรมหาลี ก็เพราะธรรม ๑๐ ประการนี้ มีพร้อมอยู่ในโลก ฉะนั้น ชื่อว่า ความประพฤติไม่สม่ำเสมอ คือ ความประพฤติอธรรม หรือ ความประพฤติสม่ำเสมอ คือ ความประพฤติธรรม จึงปรากฏในโลกนี้.
จบมหาลิสูตรที่ ๗
อรรถกถามหาลิสูตรที่ ๗
มหาลิสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้
บทว่า มิจฺฉาปณิหิตํ แปลว่า ที่เขาตั้งไว้ผิด
บทว่า อธมฺมจริยา วิสมจริยา ความว่า พึงทราบ วิสมจริยาความประพฤติไม่เรียบร้อย กล่าวคือ อธรรมจริยา ความประพฤติอธรรมได้ ก็ด้วยอำนาจอกุศลกรรมบถ พึงทราบจริยานอกนี้ ก็ด้วยอำนาจกุศลกรรมบถ
ในพระสูตรนี้ ตรัสเฉพาะวัฏฏะ เท่านั้น ด้วยประการฉะนี้
จบอรรถกถามหาลิสูตรที่ ๗
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
มหาลิสูตร
(ว่าด้วยเหตุแห่งการทำบาปกรรมและกัลยาณกรรม)
เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ใกล้กรุงเวสาลีกษัตริย์ลิจฉวีพระนามว่ามหาลี เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามพระองค์ ว่า อะไรเป็นเหตุให้กระทำบาปกรรม และ อะไร เป็นเหตุใ้ห้กระทำกัลยาณกรรม (กรรมอันงาม) พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ธรรม ๕ ประการ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยไม่แยบคาย) และ จิตที่ตั้งไว้ผิด เป็นเหตุให้กระทำบาปกรรม และ ธรรม ๕ ประการ คือ อโลภะ (ความไม่โลภ) อโทสะ (ความไม่โกรธ) อโมหะ (ความไม่หลง ปัญญา) โยนิโสมนสิการ (การใส่ใจโดยแยบคาย) และ จิตที่ตั้งไว้ชอบ เป็นเหตุให้กระทำกัลยาณกรรม รวมเป็นธรรม ๑๐ ประการ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ธรรม ๕ ประการแรก (มีโลภะ เป็นต้น) เป็นอกุศลธรรม เมื่อมีแล้ว ก็เป็นเหตุให้ประพฤติไม่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการประพฤติอธรรม ส่วนธรรม ๕ ประการหลัง (มีอโลภะ เป็นต้น) เป็นธรรมที่ดีงาม เมื่อมีแล้ว ก็เป็นเหตุให้ประพฤติสม่ำเสมอ * ซึ่งเป็นการประพฤติธรรม.
ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
ที่ไม่พอ สำหรับเก็บ
ความจริงแห่งชีวิต...ตอนที่ ๑๔๕ จิตตสังเขป (โสภณธรรม-อโสภณธรรม)
โยนิโสมนสิการ
[ในเรื่อง การตั้งจิตไว้ผิด ตั้งจิตไว้ชอบ นั้น ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ได้บรรยายในรายการ "แนวทางเจริญวิปัสสนา" มีข้อความดังนี้.- กว่ากิเลสจะหมด ต้องเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบ คือ ไม่ได้ปรารถนาอย่างอื่น แม้ในขณะที่เจริญกุศล ก็เพื่อที่จะขัดเกลากิเลส การตั้ง ไม่ได้หมายความว่าไปตั้ง แต่หมายความว่า ไม่ได้หวังอะไร แต่ว่ามีการขัดเกลากิเลส
ขณะที่โกรธ ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจ ขณะที่หลงไม่รู้ความจริง ก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิด เพียงขณะที่เจริญกุศลแล้วปรารถนาอย่างอื่น ขณะนั้นก็ชื่อว่าตั้งจิตไว้ผิดแล้ว ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงขณะจิตที่เป็นอกุศล]
* ประพฤติสม่ำเสมอ ในที่นี้ หมายถึง การประพฤติธรรม เป็นการประพฤติที่สมควรที่เป็นไปเพื่อระงับอกุศลทั้งหลาย
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...