จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
โดยพยัญชนะ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติว่า เป็น “อารัมมณะ” หมายความถึงสิ่งที่เป็นอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เช่น เสียงปรากฏเวลาที่จิตได้ยินเสียงนั้น เพราะฉะนั้นเสียงนั้นเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งของจิตที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง แม้ว่าในจิตดวงนั้นมีปัจจัยอื่นอีกหลายปัจจัย แต่เมื่อจิตนั้นรู้เสียง มีเสียงเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้นเสียงนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้เสียง เพราะฉะนั้นเสียงนั้นเป็นปัจจัย โดยเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า “อารัมมณปัจจัย” สิ่งใดๆ ทั้งหมดที่เป็นอารมณ์เป็นปัจจัยของจิต เพราะจิตจะปราศจากอารมณ์นั้นไม่ได้ เมื่อจิตเกิดขึ้น จิตรู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด จะปราศจากอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ไม่ได้
เพราะฉะนั้นอารมณ์นั้นจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เช่น เสียงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้จิตเกิดขึ้นได้ยินหรือว่ารู้เสียง เพราะฉะนั้นเสียงเป็นอารมณ์ของโสตวิญญาณ เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของเสียงต่างๆ ทีละอย่าง เพราะฉะนั้นเสียงนั้นจึงเป็น “อารัมมณปัจจัย” ของจิตนั้น
ถาม ผัสสเจตสิกไม่มีโอกาสที่จะพิจารณาหรือรู้เลยว่า เป็นผัสสะ แต่ว่าเจตสิกดวงอื่นๆ ยังพอจะเข้าใจ จะเป็นเมตตา หรือหิริโอตตัปปะ เราก็พอจะรู้ พอที่จะเข้าใจว่าเป็นเจตสิก เพราะว่าสังเกตได้ แต่ผัสสะ ผมไม่มีทางที่จะรู้ นอกจากจะคิดเอาว่า เป็นผัสสะ
ท่านอาจารย์ โสตปสาทรูป เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่กระทบเสียง ถ้าไม่มีรูปนี้ เสียงย่อมปรากฏไม่ได้ ถูกไหม ถูก
โดยเหตุผล เสียงไม่ใช่โสตปสาทรูป โสตปสาทรูปเป็นรูปที่รับกระทบเฉพาะเสียงเท่านั้น แต่ไม่มีการได้ยินอยู่ตลอดเวลา บางทีคนหนึ่งได้ยิน แต่อีกหลายคนไม่ได้ยิน หรือว่าบางทีหลายคนได้ยิน แต่คนหนึ่งไม่ได้ยิน แม้ว่าจะนั่งอยู่ด้วยกัน ทั้งนี้เพราะเหตุว่าในขณะใดที่ผัสสะกระทบกับเสียงเท่านั้น โสตวิญญาณจิตที่เกิดกับผัสสะนั้นจึงรู้เสียงที่ผัสสะกระทบ ถ้าผัสสะไม่กระทบเสียง โสตวิญญาณก็เกิดขึ้นได้ยินเสียงไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดพร้อมจิตที่กำลังรู้เสียง และนามธรรมนั้นเป็นสภาพที่กระทบเสียง จิตจึงเกิดขึ้นรู้เสียงในขณะนั้น พร้อมกับเจตสิกที่กระทบเสียงนั้น
ผู้ฟัง ก็ต้องคิดเหตุผลอยู่ดี เพราะสมมติว่าเสียงวิทยุเกิดขึ้นตลอดเวลา ปสาทรูปเราก็มีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า คลื่นเสียงหรือเสียงนั้นมากระทบกับปสาทรูปของเราอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าเราได้ยินบ้าง ไม่ได้ยินบ้าง ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ผัสสะกำลังกระทบใช่ไหม เวลาที่มีเสียงปรากฏ ถ้าผัสสะไม่กระทบ เสียงปรากฏไม่ได้เลย จะมีการได้ยินเสียงไม่ได้เลย
ผู้ฟัง ก็คงจะต้องคิดเอาอีก เพราะไม่มีทางที่จะพิจารณาได้เหมือนเจตสิกตัวอื่นๆ
ท่านอาจารย์ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปพยายามรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏ เวลาที่เสียงปรากฏ สติสามารถจะระลึกรู้ลักษณะของเสียง หรือน้อมรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่รู้เสียง เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีสภาพที่รู้เสียง เสียงนั้นปรากฏไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าไปนึกถึงผัสสเจตสิก
เพราะฉะนั้นบางท่านเวลาพูดถึงวิปัสสนา หรือบางท่านอาจจะใช้คำว่า สติปัฏฐาน แต่ว่าส่วนมากจะพูดว่า “ทำวิปัสสนา” ก็มักจะพูดว่า เวลาที่ผัสสะกระทบกับรูปารมณ์ หรือเวลาที่รูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท หรือเวลาที่รูปารมณ์ผัสสะกับจักขุปสาท ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมในขณะนั้น เพราะเหตุว่าเป็นการนึกถึงเรื่องของผัสสะ ซึ่งไม่ปรากฏ แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตากำลังปรากฏ และสภาพที่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็กำลังเห็น
เพราะฉะนั้นจึงควรระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังปรากฏ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือว่านามธรรมที่กำลังเห็น ไม่ใช่ไปพยายามรู้ผัสสะ
ผู้ฟัง ผมก็นึกว่า รู้ไม่ได้ ก็ไม่ได้คิดว่าจะไปรู้ แต่สังเกตดูว่า เจตสิกตัวนี้รู้สึกว่าจะเข้าใจยาก
6722 ขณะที่เข้าใจธรรมเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตต์
ผู้ฟัง ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ต่อไปคือ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ยังไม่รู้แจ้งในธรรม ปัญญาเจตสิกก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย ใช่ไหม ถึงแม้ว่าเราจะมีสติและเจริญวิปัสสนา และเราจะพิจารณาอารมณ์ในปัจจุบัน แต่ความเป็นตัวตนนี้ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นยังเป็นปุถุชน เราไม่มีโอกาสจะเกิดรู้เจตสิกตัวนี้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาเจตสิกที่กำลังรู้และเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังในขณะนี้ ไม่ใช่เราเข้าใจ ถ้าศึกษาต่อไปจะทราบว่า ในขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาเจตสิกที่เกิดร่วมกับมหากุศล เพราะฉะนั้นมหากุศลดวงนั้นชื่อว่า มหากุศลญาณสัมปยุตต์ เพราะประกอบด้วยปัญญา
ในขณะที่กำลังฟัง พิจารณาถูกต้อง และเข้าใจในเรื่องของจิต ในเรื่องของนามธรรม ในเรื่องของรูปธรรม ขณะนั้นไม่ใช่เรา แต่เป็นมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญา ปัญญากำลังเข้าใจ เพราะฉะนั้นก็เป็นขั้นหนึ่ง และถ้าบุคคลใดสติปัฏฐานยังไม่เกิด แต่ว่ามีความเข้าใจลักษณะของเหตุและผล เช่น เรื่องของกรรมและผลของกรรม เรื่องของกุศลธรรมว่าเป็นกุศลธรรม เรื่องของอกุศลธรรมว่าเป็นอกุศลธรรม ในขณะนั้นก็เป็นปัญญาขั้นที่เข้าใจในเหตุและผล ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงมหากุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเกิดขึ้น แล้วก็เข้าใจเรื่องของกรรมบ้าง หรือผลของกรรมบ้างในขณะนั้น
6723 สติปัฏฐานเกิดกับจิตทุกประเภทหรือไม่
ถาม สติปัฏฐานเกิดกับจิตทุกประเภทใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ สติปัฏฐานไม่เกิดกับอกุศลจิต ไม่เกิดกับกุศลญาณวิปปยุตต์จิต สติปัฏฐานเป็นขณะที่กุศลญาณสัมปยุตต์เกิดขึ้น มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่สติขั้นทาน ขั้นศีล ไม่ใช่ขั้นความสงบ
ผู้ฟัง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นก็ต้องมีปัญญา
ท่านอาจารย์ เริ่มจะเจริญขึ้น
ผู้ฟัง ขณะนั้นจิตรู้อารมณ์ เจตสิกต่างๆ ก็ต้องรู้อารมณ์เดียวกับจิต แล้วปัญญารู้อารมณ์
ท่านอาจารย์ ปัญญาก็ศึกษาพิจารณาที่จะรู้ในสภาพรู้ ซึ่งไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้
ผู้ฟัง สมมติว่า ขณะนั้นปัญญาศึกษา ศึกษาว่า
ท่านอาจารย์ น้อมไปรู้ โดยการสังเกต หรือพิจารณา ไม่ได้คิด
6724 เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นแม้แต่การที่จะเข้าใจปัญญาขั้นต่างๆ
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ละเอียดขึ้นๆ แม้แต่การที่จะเข้าใจความหมายของปัญญาขั้นต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง หรือการพิจารณา แต่เป็นขั้นที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แล้วสังเกต สำเหนียก น้อมไปทีละเล็กทีละน้อย ที่จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังรู้ เพราะถ้าจิตไม่เกิดขึ้นรู้ สิ่งต่างๆ ปรากฏไม่ได้
6725 เมื่อจิตรู้สี รู้เสียง แล้วจะต้องพิจารณาอย่างไรอีก
ถาม เสียงกระทบโสตปสาททำให้จิตรู้ ได้ยินเสียงนั้น รู้ว่าเป็นเสียง
ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ คำว่าได้ยินเสียง คือ รู้ลักษณะของเสียงที่ปรากฏ
ผู้ฟัง กระทบกับผัสสะแล้ว จิตก็รู้
ท่านอาจารย์ ได้ยิน
ผู้ฟัง ในสติปัฏฐาน ๔ ก็ว่า จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหารติ เธอย่อมพิจารณาจิตในจิตเนืองๆ เมื่อจิตเรารู้แล้ว จะต้องพิจารณายังไงอีก เมื่อจิตเรารู้เสียง รู้สี ตาเห็นสี หูได้ยินเสียง จิตเรารู้ ทีนี้เราจะพิจารณาอย่างไร จึงจะเป็นพิจารณาจิตในจิตอยู่เนืองๆ
ท่านอาจารย์ เวลานี้มีสภาพรู้ไหม
ผู้ฟัง ก็ต้องรู้
ท่านอาจารย์ ขณะไหน ต้องรู้ด้วย ว่าเมื่อมีนั้น ขณะไหน
ผู้ฟัง ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน
ท่านอาจารย์ กำลังเห็น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ธรรมดาหลงลืมสติ แต่เวลาที่จะพิจารณาจิต ก็หมายความว่า ในขณะที่เห็น เป็นจิตที่เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะฉะนั้นในขณะนี้ระลึกได้ที่จะรู้ว่า มีสภาพที่กำลังรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏ
ผู้ฟัง อันนี้เราใช้สติหรือใช้ปัญญา
ท่านอาจารย์ ใช้ไม่ได้ สติเกิดจึงระลึก กระทำกิจของสติ ถ้าสติไม่เกิด ผัสสะก็กระทำกิจของสติไม่ได้ เพราะผัสสะเพียงกระทบกับอารมณ์ แต่สติเป็นสภาพธรรมที่เป็นโสภณ เมื่อมีการฟังเรื่องของนามธรรมและรูปธรรม เมื่อมีการฟังเรื่องของการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีความจำที่มั่นคงที่ไม่ลืมในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ก็เป็นปัจจัยให้มีการระลึกในขณะที่กำลังเห็น แล้วค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นสภาพรู้ที่กำลังเห็นนี้เป็นธาตุรู้ ไม่ใช่รูปธาตุ แต่เป็นนามธาตุ เป็นเพียงอาการรู้ หรือธาตุรู้ที่เห็นสิ่งที่ปรากฏ บ่อยๆ เนืองๆ นี่คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้นลักษณะต่างๆ ของจิต ประการต่อๆ ไป ก็คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดที่สอดคล้องกัน ที่เมื่อพิจารณาแล้ว ก็จะตรงกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหมวดต่างๆ ไม่พ้นจากการระลึกรู้ลักษณะของสภาพรู้ที่กำลังปรากฏ คือ กำลังเห็นในขณะนี้ กำลังได้ยินในขณะนี้ กำลังคิดนึกในขณะนี้
6726 นึกได้พูดได้ว่ามีกุศลจิต มีอกุศลจิต แต่ความจริงคือขณะไหน
สำหรับอรรถ คือ ความหมายที่เป็นสภาพของจิตประการที่ ๒ ในจิตตุปปาทกัณฑ์ อัฏฐสาลินี อรรถกถา ธัมมสังคิณีปกรณ์ มีข้อความว่า
อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ในคราวก่อน ท่านผู้ฟังได้ทราบอรรถ คือ ความหมาย ที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๑ คือ อธิบายว่า “รู้แจ้งอารมณ์” ซึ่งหมายความถึง รู้ลักษณะต่างๆ ของอาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ แต่ว่าจิตก็ไม่ได้มีแต่เห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น หรือลิ้มรส หรือรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ยังมีจิตที่เป็นกุศลและอกุศล
เพราะฉะนั้นความหมายประการที่ ๒ ก็คือ
ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน
คำว่า “สันดาน” ในภาษาไทยนี้ มาจากคำว่า “สนฺตาน” ในภาษาบาลี หรือคำว่า “สนฺตติ” การเกิดดับสืบต่อกัน ซึ่งเวลาที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการกระทบสัมผัส ขณะนั้นยังไม่ใช่กุศลจิต ยังไม่ใช่อกุศลจิต ยังไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะการเห็นก็ดี การได้ยินก็ดี การได้กลิ่นก็ดี จิตลิ้มรสก็ดี จิตที่กระทบสัมผัสก็ดี เป็นจิตที่เป็นวิบากจิต หมายความว่าเป็นผลของอดีตกรรม เวลาที่กรรมใดจะให้ผล หมายความว่าถึงพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้วิบากจิตเกิดขึ้น ทุกท่านจะต้องเห็นต่อไปอีกมากมายนานเหลือเกิน ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป แต่ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้าง ท่านยังจะต้องได้ยินอีกมากมาย ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อไป จะต้องได้กลิ่น จะต้องลิ้มรส จะต้องรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทั้งในชาตินี้อีกนานและในชาติต่อๆ ไปด้วย แต่ไม่ทราบว่าขณะไหนจะเห็นอะไร เพราะเหตุว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะกรรมเดียวในชาติเดียว ในสังสารวัฏฏ์ที่เนิ่นนาน แล้วแต่ว่ากรรมใดพร้อมด้วยเหตุปัจจัย ที่จะทำให้ผลของกรรม คือ วิบากจิตเกิดขึ้นเห็นอะไร ในขณะไหน ในชาติไหน
เพราะฉะนั้น ทั้งๆ ที่ทุกท่านทราบว่า ท่านจะต้องเห็นอีกนานตลอดชั่วชีวิตนี้ แต่ไม่ทราบว่าจะเห็นอะไรบ้างในชั่วชีวิตนี้ต่อจากขณะนี้ เพราะว่าแล้วแต่กรรมหนึ่งกรรมใดจะเป็นปัจจัยให้เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ให้ทราบว่า กรรมนั้นสุกงอมพร้อมที่จะให้ผล คือ ประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ จึงทำให้การเห็นเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้ยินเกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการได้กลิ่นต่างๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการลิ้มรสต่างๆ เกิดขึ้นแต่ละขณะ ให้มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว สุข ทุกข์ ทางกายแต่ละขณะ ซึ่งเป็นวิบากจิต และวิบากจิตเหล่านี้ไม่ได้สั่งสมสันดาน เพราะเหตุว่าเป็นเพียงวิบาก ซึ่งเป็นผลของกรรมที่เกิดขึ้น เพราะกรรมเป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น การที่จะเข้าใจความหมายซึ่งเป็นอรรถ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๒ ที่ว่า
กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิตและมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
ก็จะต้องเข้าใจความหมายของวิถีจิตเสียก่อน ว่า วิถีจิต คือ จิตประเภทไหน เกิดขึ้นเมื่อไร รวมทั้งจะต้องเข้าใจความหมายของชวนวิถี ซึ่งเป็นขณะที่จิตสั่งสมสันดานของตน เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง หรือว่าสำหรับพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาจิต ถึงแม้ว่าจะเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็เป็นพระอรหันต์ที่มีกาย วาจา ใจต่างๆ กัน เพราะสั่งสมสันดานของตน
6798 จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งลักษณะต่างๆ ในอารมณ์ที่ปรากฏ
ในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงอรรถของจิตที่เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์โดยละเอียดไปแล้วทางตา ไม่ว่าจะเห็นสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็รู้ว่า เป็นเพชรเทียม เพชรแท้ เป็นหยก เป็นหินมีค่าประการใด นั่นก็เป็นเพราะเหตุว่าลักษณะนั้นๆ ปรากฏ และจิตรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ที่ปรากฏ ถ้าจิตไม่รู้แจ้ง ก็จะไม่มีการรู้ได้ว่า สิ่งที่ปรากฏนั้นเป็นอะไร
สำหรับทางหูก็ได้กล่าวถึงแล้วว่า เสียงที่ปรากฏก็มีลักษณะต่างๆ กัน เสียงลมพัด เสียงน้ำตก เสียงสัตว์ร้อง เสียงคนร้องเลียนเสียงสัตว์ หรือสำเนียงที่เยาะเย้ยถากถาง ดูถูก ดูหมิ่น ทั้งหมดนั้น ไม่ว่าเสียงนั้นจะมีลักษณะต่างๆ อย่างไร จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในเสียงนั้นๆ ที่ปรากฏ เพียงรู้ แจ้ง คือ เหมือนกระจกเงาที่ใสสะอาด และเสียงลักษณะต่างๆ ก็ปรากฏให้จิตรู้แจ้งในเสียงนั้นๆ แต่ไม่ใช่สภาพที่จำ หรือหมายรู้ลักษณะอาการ หรือว่าไม่ใช่สภาพที่กระทบอารมณ์
6799 ที่รู้สิ่งที่ปรากฏว่าไม่เหมือนกันเพราะจิตรู้แจ้งในลักษณะที่ต่างๆ กัน
ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะมีลักษณะต่างๆ อย่างไร จิตก็เป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์ต่างๆ เสียงลมพัดเหมือนกับเสียงน้ำตกไหม ทำไมรู้ว่าไม่เหมือนกัน ที่รู้ว่าไม่เหมือนกัน ก็เพราะเหตุว่า เสียงปรากฏมีลักษณะอาการต่างๆ จิตก็รู้ในลักษณะต่างๆ ของเสียงต่างๆ ที่ปรากฏ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์
ทางจมูกก็มีกลิ่นต่างๆ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกลิ่นอะไรก็ตาม ขณะใดที่ปรากฏเป็นกลิ่นแปลก ถ้าสติเกิดขึ้นในขณะนั้น จะรู้ในลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งในกลิ่นลักษณะแปลกที่กำลังปรากฏ เป็นสติปัฏฐาน เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะรู้ว่าในขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในกลิ่นแปลกที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
เคยมีกลิ่นแปลกๆ บ้างไหม กลิ่นนี้มีลักษณะหลายอย่าง กลิ่นปลาเค็มก็อย่างหนึ่ง กลิ่นตุๆ กลิ่นตึๆ แล้วก็มีคำที่พยายามจะบัญญัติให้รู้ลักษณะของกลิ่นต่างๆ ซึ่งไม่ว่ากลิ่นนั้นจะมีลักษณะต่างๆ อย่างไร จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของกลิ่นต่างๆ นั้น
เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้กลิ่นแปลกๆ และรู้ว่าในขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในกลิ่นต่างๆ ขณะนั้นสติระลึกรู้ลักษณะของจิตที่กำลังรู้กลิ่นนั้นได้ทันที เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ต่อไปนี้ลองดู อาจจะไม่เคยสังเกตดูว่า มีกลิ่นแปลกๆ แต่กลิ่นนี้ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นแกง ก็มีกลิ่นแกงต่างๆ ไม่ใช่เป็นแกงชนิดเดียวกัน กลิ่นไหม้ กลิ่นสารพัดกลิ่นที่จะมี ขณะใดที่ได้กลิ่น ขณะนั้นสติปัฏฐานก็เกิดได้
สำหรับทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน มีรสอาหารต่างๆ รสผลไม้ต่างๆ รสชา รสกาแฟ ซึ่งรับประทานกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ว่าถ้าขณะใดแปลก ขณะนั้นสติอาจจะเกิดขึ้นทันทีรู้ว่า จิตกำลังรู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของรสต่างๆ ที่กำลังปรากฏ บางคนชงกาแฟ เผลอใส่เกลือแทนน้ำตาล รสแปลกไหม ทันทีที่ลิ้มรสแปลกจากปกติ ขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่รู้รสลักษณะต่างๆ ไม่พ้นจากลักษณะของจิตเลย ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สติก็คงจะเกิดขึ้นได้บ้าง ในขณะที่กำลังลิ้มรส
ทางกายก็มีการกระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ เช่น เย็นลม เย็นน้ำ เย็นอากาศ หรือว่ากระทบสัมผัสผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ ซึ่งท่านผู้ฟังท่านหนึ่งก็เคยบอกว่า ท่านยืนอยู่ที่ถนนแล้วรู้สึกแข็ง แล้วตอนหลังก็เกิดคิดต่อไปว่า แข็งนั้นเป็นถนน ซึ่งในขณะนั้นแข็งเท่านั้นที่กำลังปรากฏ แต่ว่าเห็นไหมว่า เพราะคุ้นเคยกับการที่คิดว่า เรายืนอยู่ที่ถนน เพราะฉะนั้นเวลาที่ลักษณะของแข็งเท่านั้นปรากฏชั่วครู่หนึ่ง ก็เกิดคิดต่อไปว่า แข็งนั้นเป็นถนน แล้วก็ยังคิดต่อไปอีกว่า แข็งนั้นเป็นรองเท้า แล้วก็ยังคิดต่อไปอีกว่า แข็งนั้นเป็นถุงเท้า เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ความคิดเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็เกิดขึ้น แล้วเมื่อยังคงยึดถือสิ่งที่แข็งนั้นว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่ลืม ซึ่งความจริงแล้วในขณะนั้น ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ถ้ารู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ก่อนที่จะคิดคำว่า ถนนแข็ง หรือว่ารองเท้าแข็ง หรือว่าถุงเท้าแข็ง ในขณะนั้นลักษณะแข็งเท่านั้นเป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ถนน ไม่ใช่ถุงเท้า ไม่ใช่รองเท้า เป็นแต่เพียงสภาพแข็ง และจิตเป็นนามธรรมที่กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ไม่ใช่เรารู้
เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ถ้าปัญญายังไม่ได้อบรมจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ชัดจริงๆ ว่า แข็งไม่ใช่ถนน ไม่ใช่รองเท้า ไม่ใช่ถุงเท้า ก็สามารถที่จะเห็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเกิดขึ้นแล้วดับไป แล้วก็มีสภาพที่คิดนึกเป็นเรื่องราวของถนน ของรองเท้า ของถุงเท้า แล้วก็ดับไปแต่ละขณะ ซึ่งขณะที่คิดก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
6800 ปรมัตถธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่เพราะอะไรจึงยึดถือว่าเป็นเรา
เพราะฉะนั้นปรมัตถธรรมเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะ ในขณะนี้เป็นปรมัตถธรรมทางตา เป็นปรมัตถธรรมทางหู เป็นปรมัตถธรรมทางจมูก เป็นปรมัตถธรรมทางลิ้น เป็นปรมัตถธรรมทางกาย เป็นปรมัตถธรรมทางใจ ทั้งหมด ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เพราะอะไรจึงเป็นเรา ทั้งๆ ที่สภาพธรรมทั้งหมดเป็นเพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งเป็นรูปธรรม นามธรรมบ้าง แต่ทำไมจึงเป็นเรา ทำไมจึงยึดถือว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่า สติไม่ได้เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแต่ละลักษณะถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ
เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการคิดถึงปรมัตถธรรม สิ่งที่ปรากฏ แล้วมีสัญญาความจำในรูปร่างสัณฐาน แล้วยังมีความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ มีความจดจำว่า เป็นบุคคลต่างๆ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ความที่เคยยึดถือ พอใจ ผูกพันในวัตถุที่ปรากฏ เป็นสิ่งของต่างๆ และเป็นบุคคลต่างๆ บ้าง ทำให้ปิดกั้นไม่ให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏว่า แท้ที่จริงแล้ว ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีวัตถุสิ่งของต่างๆ เลย เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
6801 ปัญญามากขึ้น ความผูกพันในเรื่องราวของปรมัตถธรรมต้องน้อยลง
ถ้ามีความผูกพันในเรื่องราว ในบุคคล ในวัตถุต่างๆ น้อยลง ขณะนั้นก็จะมีการศึกษารู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรมได้เพิ่มขึ้น หรือว่าโดยนัยกลับกัน ก็คือว่าขณะใดที่ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยความเป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากขึ้น ความผูกพันในเรื่องราวของปรมัตถธรรมนั้นๆ ก็ต้องน้อยลง
เพราะฉะนั้นก็สังเกตดู ในวันหนึ่งๆ เริ่มจะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม โดยไม่ใช่ชื่อ เพราะถึงแม้ข้อความในอรรถกถาจะมีว่า
ที่ชื่อว่า จิต เพราะอรรถว่า “คิด” อธิบายว่า “รู้แจ้งอารมณ์”
ก็ไม่ใช่หมายความว่า เพียงให้เข้าใจเผินๆ ว่า จิตเป็นสภาพธรรมที่คิด อธิบายว่า รู้แจ้งอารมณ์ แต่ต้องในขณะที่ไม่ว่าอารมณ์ลักษณะต่างๆ ปรากฏขณะใด สติก็สามารถจะระลึกรู้ในลักษณะของนามธรรมที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น จนกว่าปัญญาจะพิจารณาและสามารถที่จะประจักษ์แจ้งในลักษณะของจิต ซึ่งเป็นนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ได้
6802 จิตรู้แจ้งอารมณ์คือรู้ลักษณะที่ปรากฏของอารมณ์
สำหรับความหมายที่ ๑ ลักษณะของจิตประการที่ ๑ มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหม สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะต่างๆ อย่างไร จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะต่างๆ ของอารมณ์นั้น
สำหรับความหมายที่ว่า
ที่ชื่อว่า “จิต” เพราะอรรถว่า คิด อธิบายว่ารู้แจ้งอารมณ์
ก็คงจะเข้าใจแล้วว่า รู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ ลักษณะต่างๆ อาการต่างๆ ไม่ใช่รู้แจ้งอย่างปัญญา หรือไม่ใช่รู้อย่างสัญญาที่จำ หรือหมายรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
6803 ศัพท์ว่า จิตตัง นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง
ประการต่อไป
อีกอย่างหนึ่ง เพราะเหตุที่ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน ด้วยสามารถแห่งชวนวิถี
นี่ก็จะต้องเป็นการศึกษาที่ละเอียดขึ้น จึงจะเข้าใจความหมายของคำว่า “ชวนวิถี” และความหมายอื่น เช่น กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ แต่ว่าให้ทราบว่า ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่เกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถที่จะเก็บไว้ ยื้อแย่งไว้ว่า ไม่ให้ดับ ขณะนี้จิตกำลังเกิดขึ้นและดับไปๆ ๆ อย่างรวดเร็ว
แต่ว่าเพราะเหตุว่า ศัพท์ว่า “จิตฺตํ” นี้ทั่วไปแก่จิตทุกดวง ฉะนั้น ในคำว่า “จิตฺตํ” นี้ กุศลจิตฝ่ายโลกีย์ อกุศลจิต และมหากิริยาจิต จึงชื่อว่า “จิต” เพราะสั่งสมสันดานของตน
เพราะฉะนั้นก็จะได้รู้ลักษณะประการต่อไปของจิตที่เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ สืบต่อกันอย่างรวดเร็วนี้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ได้สูญหายไปไหนเลย สะสมสืบต่ออยู่ในจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับติดต่อกัน เมื่อจิตเกิดขึ้นมีปัจจัย เช่น อารมณ์ เป็นอารัมมณปัจจัย ให้จิตเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา มีปัจจัย คือ อารัมมณปัจจัย คือ เสียง ให้จิตได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู เป็นต้น แต่ว่าปกติแล้วไม่มีการที่จะสังเกตรู้ลักษณะของจิตที่เห็น หรือลักษณะของจิตที่ได้ยิน มีใครสังเกตบ่อยๆ เนืองๆ หรือเปล่า ในขณะนี้ที่กำลังเห็นว่า เป็นสภาพรู้สิ่งที่ปรากฏต่างๆ แต่มักจะรู้เวลาที่จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะนั้นก็พอจะบอกได้ใช่ไหมว่า จิตเศร้าหมองขุ่นมัวเป็นอกุศล หรือว่าผ่องใสเป็นกุศล ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตที่ประกอบด้วยเมตตา มีการสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น มีความรู้สึกเป็นมิตรไมตรีกับคนอื่น ในขณะนั้นให้ทราบว่า จิตแต่ละขณะที่เกิดดับอย่างรวดเร็ว สั่งสมสันดานของตน คือ ไม่ว่าจะเป็นกุศล อกุศล แต่ละขณะที่เกิดขึ้น ไม่สูญหายไปไหน แต่ว่าสะสมอยู่ในจิตดวงต่อๆ ไป เพราะเหตุว่าเมื่อจิตเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปอย่างรวดเร็วแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิดขึ้นสืบต่อทันที เพราะฉะนั้นจิตดวงต่อไป ซึ่งจิตดวงก่อนที่ดับไปเป็นปัจจัย จึงมีสภาพธรรมซึ่งจิตดวงก่อนมีสะสมสืบต่ออยู่ในจิตดวงต่อไปเรื่อยๆ
6804 แต่ละบุคคลมีอุปนิสัยต่างๆ กันตามการสะสมของจิตที่เกิดดับสืบต่อกัน
เพราะฉะนั้นแต่ละท่านสังเกตได้ว่า แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยต่างๆ กัน มีอุปนิสัยต่างๆ กัน ตามการสะสมของจิตแต่ละขณะ ซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน บางท่านก็เป็นผู้ที่ใจบุญใจกุศล ก็หมายความว่าจิตที่เป็นบุญเป็นกุศล
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050