จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050
เพราะฉะนั้นสภาพความรู้สึกนั้น จึงชื่อว่า “โสมนัส"
คำว่า “โสมนัส” นี้ เป็นชื่อแห่งสุขเวทนาทางใจ จิตที่เกิดโสมนัสเวทนานั้น หรือเกิดขึ้นพร้อมกันกับโสมนัสเวทนานั้น จึงชื่อว่า “โสมนสฺสสหคตํ”
เพราะฉะนั้นเวลาเรียนเรื่องจิต ไม่ว่าจะเป็นจิตใดๆ ก็ตาม จะปราศจากเวทนาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต ก็แสดงว่า เวทนาอะไรเกิดกับโลภมูลจิตประเภทนั้น ชนิดนั้น ดวงนั้น เวลาที่เป็นอเหตุกจิต คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ แต่ละดวงๆ ก็จะทราบว่า จิตดวงนั้นๆ เกิดร่วมกับเวทนาอะไร ถ้าเกิดร่วมกับโสมนัส ก็เป็นโสมนสฺสสหคตํ คือ เกิดขึ้นพร้อมกับโสมนัสเวทนา ถ้าขณะนั้นเป็นอุเบกขาเวทนา เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา จิตนั้นก็เป็นอุเปกฺขาสหคตํ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา
จิตทุกดวงจะต้องมีลักษณะของเวทนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย แสดงให้รู้ว่า เป็นจิตที่ต่างกัน โดยเวทนาต่างกัน เช่น ทางกายเวลาที่กระทบกับอ่อน แข็ง เย็น ร้อน ซึ่งทำให้เกิดทุกขเวทนา ในขณะนั้นจะไม่ใช้คำว่า “โทมนสฺสหคตํ” เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความรู้สึกทางใจ แต่ความรู้สึกนั้นเป็นทุกข์ทางกาย สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบกายที่เป็นทุกข์ ทำให้เกิดทุกขเวทนาขึ้น
เพราะฉะนั้นสำหรับกายวิญญาณเป็นจิตทางกาย ซึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่กระทบกาย ขณะนั้นต้องเป็นทุกฺขสหคตํ
เพราะฉะนั้นจิตทุกดวงที่จะศึกษาต่อไป จะต้องทราบด้วยว่า จิตดวงนั้นๆ ประเภทนั้นๆ เกิดกับเวทนาประเภทไหน
7786 ลักษณะของโสมนัสเวทนา ข้อความในวิสุทธิมรรค
สำหรับลักษณะของ “โสมนัสเวทนา” ข้อความในวิสุทธิมรรค ขันธนิทเทส มีว่า
มีการเสวยอารมณ์ที่น่าปรารถนา เป็นลักษณะ
มีการประจวบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นรสะ
มีความแช่มชื่นทางใจ เป็นปัจจุปัฏฐาน
มีความสงบระงับ เป็นปทัฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
สำหรับลักษณะของโสมนัสเวทนา จะเห็นได้ว่า มีการเสวยอารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นลักษณะ อารมณ์ใดเป็นที่น่าปรารถนาแล้วในขณะนั้น ความรู้สึกในอารมณ์นั้นก็เป็นโสมนัสเวทนา
มีการประจวบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นรสะ
ไม่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเลย ใช่ไหมคะ ที่จะจัดให้เวทนาประเภทนั้นเกิดขึ้น แต่ทันทีที่ประจวบกับอารมณ์ที่น่าปรารถนา ขณะนั้นเป็นปัจจัยให้โสมนัสเวทนาเกิดขึ้น หรือเป็นปัจจัยให้เวทนาที่เกิดรู้อารมณ์นั้นเป็นโสมนัสเวทนา ไม่ใช่เวทนาอื่น
มีใครเตรียมตัวที่จะให้เวทนาชนิดไหนเกิดขึ้นได้ไหมคะ คิดว่าถ้าทำอย่างนั้นอาจจะดี แต่ทำเสร็จแล้วไม่ดี เวทนาจะเป็นโสมนัสไม่ได้ ทั้งๆ ที่หวังว่า เมื่อเสร็จแล้วโสมนัสเวทนาจะเกิด แต่ความจริงเมื่อเกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่อารมณ์ที่น่าปรารถนา โสมนัสเวทนาก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้นแม้แต่เวทนาเจตสิกที่จะเป็นโสมนัสเวทนา ก็ต้องแล้วแต่ในขณะนั้นจริงๆ ซึ่งประจวบกับอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
สำหรับเหตุที่จะให้เกิดโสมนัสเวทนามี ๓ ประการ ตามข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าทุกท่านอยากให้มีโสมนัสเวทนาทั้งวัน บ่อยๆ มากๆ ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะเหตุว่าต้องแล้วแต่ว่า จะมีเหตุให้เกิดโสมนัสเวทนาหรือไม่
เหตุที่จะให้เกิดโสมนัสเวทนา คือ
๑. อิฏฺฐารมฺมณ สมาโยโค ประจวบกับอารมณ์ที่ดี โดยสภาพบ้าง โดยปริกัปบ้าง
โดยสภาพหมายความถึง ลักษณะของอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ หรือเป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่ดียิ่งอย่างหนึ่ง หรือว่าเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาโดยปริกัป หมายความถึงโดยเฉพาะส่วนบุคคล แต่ละบุคคล ซึ่งสะสมความพอใจมาไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเมื่อบุคคลใดได้ประสบกับอารมณ์ที่ตนพอใจ เพราะสะสมมาที่พอใจในอารมณ์นั้นอย่างนั้น ขณะนั้นโสมนัสเวทนาก็เกิด ในขณะที่คนอื่นไม่ได้สะสมมาที่จะมีความพอใจในลักษณะของอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นโสมนัสเวทนาก็ไม่เกิด
๒. เพราะความที่สัตว์มีปฏิสนธิประกอบด้วยโสมนัส โสมนสฺสปฏิสนฺธิคตา
ปฏิสนธิจิตของบางท่านเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา เพราะฉะนั้นก็เป็นผู้ที่มีอุปนิสัยรื่นเริงอยู่เสมอ บางคนอาจจะเป็นทุกข์เดือดร้อนมากมาย แต่สำหรับผู้ที่ปฏิสนธิด้วยโสมนัสเวทนา ก็เป็นผู้ที่ยังสามารถรื่นเริงสนุกสนานได้ แม้ว่ามีเหตุการณ์ที่จะทำให้บุคคลอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน
๓. อคมฺภีรปกติตา เพราะความที่จิตมีสภาพไม่ลึก ไม่สุขุมคัมภีร คือ ปกติมีความคิดตื้น ก็เป็นเหตุให้โสมนัสเวทนาเกิดบ่อย
7788 เห็น ได้ยินแล้ว เป็นโลภมูลจิต?
ถาม ในคราวก่อนที่อาจารย์กล่าวว่า ขณะเห็นครั้งหนึ่ง จิตก็คล้อยตามอารมณ์ไป เมื่อคล้อยตามอารมณ์ไป ก็เป็นโลภะ หรือได้ยิน ได้เห็น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัส ก็โดยนัยเดียวกัน ถ้าอย่างนั้นแล้ว จิตของคนแต่ละคนก็เป็นโลภะทั้งวันเลยซิครับ
ท่านอาจารย์ ถ้ากุศลจิตไม่เกิด จะเป็นจิตอะไรคะ ถ้าไม่พูดถึงจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตกระทบสัมผัส และถ้าขณะนั้นความรู้สึกเป็นอุเบกขา ไม่ใช่ความรู้สึกซึ่งโทมนัส เสียใจ หรือไม่แช่มชื่น ขณะนั้นจะเป็นจิตอะไร นี่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าสภาพธรรมจะเกิดอยู่เป็นประจำที่ตัวเอง ที่จิตของตัวเอง ก็ยังไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า จิตนั้นๆ เป็นจิตประเภทไหน จนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ขณะใดที่ไม่เป็นกุศล ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล ถ้ากล่าวถึงจิตเฉพาะ ๒ ชาติ คือ กุศลจิตหรืออกุศลจิต
เพราะฉะนั้นก็จะต้องทราบว่า ขณะใดที่จิตไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบ ไม่ใช่สติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนั้นจะไม่ใช่อกุศลจิตได้ไหม ในเมื่อไม่ใช่กุศล ก็ต้องเป็นอกุศลประเภทหนึ่งประเภทใด คือ ถ้าไม่เป็นโลภมูลจิต ก็เป็นโทสมูลจิต หรือเป็นโมหมูลจิต
7789 อุเบกขาเวทนา - โลภะ หรือ โมหะ
ผู้ถาม เพราะฉะนั้น การเห็นในวันหนึ่งๆ นั้น ทุกคนก็มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เวทนาก็เป็นอุเบกขาเป็นส่วนใหญ่ เห็นแล้วก็เฉยๆ ไม่รู้สึกมีสุข หรือมีทุกข์ เฉยๆ ขณะที่เฉยๆ นี้ เวทนาเกิดกับโลภมูลจิตก็ได้ เกิดกับโมหมูลจิตก็ได้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต หรือโมหมูลจิต มีลักษณะต่างกันโดยการปฏิบัติ สังเกตได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ โมหมูลจิตปราศจากโลภเจตสิกและโทสเจตสิก ไม่มีความชอบ ไม่มีความสนใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ถาม วันหนึ่งๆ ที่เราเห็นเก้าอี้ ในบริเวณนี้ เราก็เห็นกันทุกวันๆ เป็นเก้าอี้ธรรมดา ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร เราก็ไม่ได้ชอบ แล้วก็ไม่ได้เกลียด ขณะที่เห็น แล้วก็รู้ว่าเป็นเก้าอี้ อยากถามอาจารย์ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะหรือโมหะ
ท่านอาจารย์ ควรจะเป็นอะไรคะ ในเมื่อสนใจ เห็นเป็นเก้าอี้ เพราะเหตุว่าไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านเห็นทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ในขณะนี้เอง ในห้องนี้ ที่นี่ เห็นทุกอย่างหรือเปล่า
ทุกท่านจะตอบไม่เหมือนกัน ใช่ไหมคะ บางท่านอาจจะเห็นสิ่งนี้ บางท่านอาจจะเห็นสิ่งนั้น บางท่านอาจจะเห็นสิ่งอื่น เพราะเหตุว่าในห้องนี้ ถ้านับดูแล้วก็มากมายเหลือเกิน แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกท่านนี้จะเห็นทั่วไปหมด ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏทางตา ในโลกสว่าง ในขณะใดที่ไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏ ในขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่ในขณะใดที่รู้ จะบอกไม่ได้เลยว่า มีความพอใจแล้วค่ะ เพราะเหตุว่าเป็นความพอใจที่เล็กน้อยมาก ถ้าขณะนั้นไม่ใช่ความไม่แช่มชื่น สนใจในเก้าอี้ที่ปรากฏ บางท่านอาจจะเช็ด จะถู จะปัดฝุ่นละออง ในขณะนั้นไม่มีโลภมูลจิตหรือคะ ถ้าเห็นว่าสกปรก ก็อาจจะไม่แช่มชื่น เป็นโทสมูลจิต แต่ในที่นั้นไม่ได้มีแต่เฉพาะเก้าอี้ตัวเดียว สิ่งอื่นๆ ก็มี ที่พื้นก็มีลาย มีอะไรหลายๆ อย่าง มีเศษกระดาษ มีอะไรก็ได้ เห็นหรือเปล่า ทั้งๆ ที่ปรากฏ ถ้าปรากฏแล้วไม่รู้ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่เมื่อรู้ก็จะไม่พ้นจากโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต
ในห้องนอนมีอะไรบ้าง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างหรือเปล่า อาจจะมีรูปภาพเล็กๆ ซึ่งติดอยู่เป็นประจำ แต่เห็นหวี หรือว่าเห็นอย่างอื่นก็ได้ในขณะนั้น สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางกาย แล้วไม่รู้ ขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่ถ้าเกิดรู้ในขณะนั้น คือ มีความสนใจ ขณะนั้นจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต
ผู้ถาม เมื่อพูดอย่างนี้แล้ว บางทีก็น่าคิด ส่วนใหญ่คนเรานี้กระทำไปแล้ว บางครั้งก็ไม่ได้ใส่ใจ เช่นเราเดินขึ้นมาบนศาลานี้ ใครจะไปรู้บ้างว่า เวลาเราเดินขึ้นมานี้ ก้าวขึ้นบันไดมากี่ขั้น เชื่อเหลือเกิน ไม่มีใครนับหรอกว่า บันไดที่เราเดินขึ้นมามีกี่ขั้น เพราะฉะนั้นอยากจะถามว่า ขณะที่เดินขึ้นบันไดมา แล้วไม่รู้ว่ากี่ขั้น ขณะนั้นเป็นโลภะหรือโมหะ
ท่านอาจารย์ รู้บันไดไหมคะ เวลาก้าวขึ้น
ผู้ถาม รู้ซิครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ แต่ไม่ต้องนับ ไม่จำเป็นต้องนับค่ะ เวลานี้มีเก้าอี้แล้ว กี่ตัว ต้องนับไหมคะ หรือว่ารู้แล้วว่าเป็นเก้าอี้
ผู้ถาม ไม่ได้นับ แต่รู้ว่าเป็นเก้าอี้
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องนับ แต่หมายความว่า มีความสนใจ มีความรู้ในขณะนั้น แต่ถ้าไม่รู้ และสิ่งนั้นก็ปรากฏ ในขณะที่กำลังเดินไป เวลาที่ไม่รู้นั้นเป็นโมหมูลจิต เคยเผลอไหมคะ
ผู้ถาม บ่อย
ท่านอาจารย์ ถ้าถามว่า เคยเผลอไหม ตอบได้ว่า บ่อย เท่ากับรู้ลักษณะที่เผลอ ใช่ไหมคะ ขณะนั้นจะเป็นจิตดวงไหน ไม่ใช่กุศลจิตแน่ที่เผลอ เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ จึงเผลอ เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ขณะที่เผลอนั้น รู้หรือไม่รู้ ไม่รู้ เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่โลภมูลจิต ขณะที่เป็นโมหมูลจิต คือ เผลอ แล้วก็ไม่รู้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่โลภมูลจิต
7790 โมหเจตสิก เกิดกับโลภมูลจิต
ผู้ถาม บางครั้งเราอยู่ในบริเวณที่มีทิวทัศน์ที่สวยงาม ราบรื่น ลมเย็น มีน้ำเรียบ ขณะนั้นสดชื่น รื่นเริง ก็ไม่เห็นมีอะไรที่ฟุ้งซ่านนี่ครับ ไม่ปรากฏนี่ครับ ขณะนั้นบางทีก็รู้ว่าเป็นโลภมูลจิต และขณะที่โลภมูลจิตเกิดกับโมหเจตสิกอะไรครับ
ท่านอาจารย์ โมหเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตทุกดวงค่ะ ในอกุศลจิตทุกดวง จะต้องมีอกุศลเจตสิก ๔ ดวง เกิดร่วมด้วย คือ โมหเจตสิก ๑ อหิริกเจตสิก ๑ อโนตัปปเจตสิก ๑ อุทธัจจเจตสิก ๑ ๔ ดวงนี้ เรียก “โมจตุกะ”
ผู้ถาม ขณะที่เป็นโลภมูลจิตก็มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่อุทธัจจะขณะนั้นไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ จิตดวงหนึ่งๆ มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง อย่างโลภมูลจิตก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๗ แต่ไม่ใช่ว่าเจตสิกทุกดวงจะปรากฏสภาพของเจตสิกทั้งหมดพร้อมกัน แล้วแต่ว่าเจตสิกใดขณะนั้นเป็นมูล หรือเป็นเหตุสำคัญ ที่เป็นโลภมูลจิต ก็เพราะเหตุว่าถึงแม้โมหเจตสิกจะเกิดร่วมกับโลภมูลจิต เป็นมูลหนึ่ง แต่เพราะในขณะนั้นไม่ได้มีแต่โมหเจตสิก แต่ยังมีโลภเจตสิก ซึ่งเป็นสภาพที่อยากได้ มีความต้องการ มีความติดข้อง มีความเพลิดเพลิน มีความพอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้นในขณะนั้นลักษณะของโลภเจตสิกปรากฏ ไม่ใช่ลักษณะของอุทธัจจะ หรืออหิริกะ หรืออโนตตัปปะ หรือโมหเจตสิกปรากฏ
แต่ในขณะใดที่มีความยินดี พอใจ เพลิดเพลิน ในขณะนั้นให้ทราบว่า ต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงยินดี พอใจในอารมณ์ซึ่งเกิดดับ ในขณะนั้นก็ต้องมีอหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่สงบ ถ้าสงบแล้วจะไม่ต้องการ หรือยินดี หรือปรารถนา หรือเพลิดเพลิน หรือพอใจในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏ
ลักษณะของความยินดี ปรารถนา พอใจ เกิดขึ้นในขณะใด ขณะนั้นให้ทราบว่า ไม่สงบ เพราะฉะนั้นท่านที่ไปสู่สถานที่ที่รื่นรมย์ จะเป็นป่าเขาลำเนาไพรที่ไหนก็ตาม แล้วก็มีความพอใจในสถานที่เหล่านั้น ควรจะทราบว่า ในขณะนั้นจิตไม่สงบที่กำลังพอใจ เพราะว่าประกอบด้วยอุทธัจจเจตสิก โมหเจตสิก อหิริกเจตสิก อโนตตัปปเจตสิก และโลภเจตสิก ที่ทำให้ยินดี พอใจในสถานที่ที่รื่นรมย์นั้น ไม่ใช่กุศลจิต จึงไม่สงบ
chatchai.k วันที่ 16 ก.ย. 25667811 ทิฏฐิที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต
ในคราวก่อนเป็นเพียงเรื่องของโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ซึ่งประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เป็นโสมนัสสสหคตํ ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ เกิดร่วมกับความเห็นผิด เป็นอสังขาริก เพราะเหตุว่ามีกำลังกล้า เกิดขึ้นเอง ไม่ต้องอาศัยการชักจูง
สำหรับเรื่องของโลภมูลจิตดวงที่ ๑ ได้กล่าวถึงโสมนัสเวทนา และเหตุให้เกิดโสมนัสเวทนาแล้ว ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังยังมีข้อสงสัยอะไรบ้างหรือเปล่าคะในตอนนี้ ถ้าไม่มีก็จะได้กล่าวถึงลักษณะของทิฏฐิ ความเห็นผิดที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต โดยเฉพาะในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นธรรมทุกๆ ขณะนี้ ท่านผู้ฟังก็ควรที่จะได้ทราบว่า ขณะไหนบ้างที่จิตเป็นโลภมูลจิตเกิดร่วมกับความเห็นผิด
ข้อความในอัฏฐสาลินี จิตตุปาทกัณฑ์ อธิบายคำว่า “ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ” มีข้อความว่า
อกุศลจิต ชื่อว่า ทิฏฺฐิคตสมฺปยุตตํ ด้วยอรรถว่า สัมปยุตต์ด้วยทิฏฐิ
คือในขณะนั้นมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ซึ่งข้อความในอัฏฐสาลินี อธิบายนิทเทสมิจฉาทิฏฐิ มีข้อความบางประการว่า
ชื่อว่า “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” ด้วยอรรถว่า เป็นความเห็น ไม่ใช่ตามเป็นจริง
ที่จะรู้ว่า ความเห็นชนิดใดเป็นความเห็นถูก และความเห็นชนิดใดเป็นความเห็นผิด ก็จะต้องทราบว่า ความเห็นผิดเป็นความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรก็ตาม ถ้าขณะนั้นเป็นความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริงแล้ว ก็เป็น “มิจฉาทิฏฐิ”
ชื่อว่า “ทิฏฺฐิคตํ” ด้วยอรรถว่า ความเห็นนี้ไปในพวกทิฏฐิ
ความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริงนี้มีมาก ไม่ใช่น้อยเลย แล้วก็แตกแขนงแยกไปมากมาย ไม่ว่าทั้งนอกพระพุทธศาสนา หรือในบรรดาพุทธศาสนิกชน ถ้าไม่พิจารณาความคิดเห็นในชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง อาจจะไม่รู้ตัวว่า ขณะนั้นเป็นไปแล้วกับความเห็นผิด คือ ความเห็นที่ไม่ใช่ตามเป็นจริง
“ทิฏฐิ” นั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฺฐิคหณํ ด้วยอรรถว่า ก้าวล่วงได้ยาก เหมือนดังชัฏหญ้า ชัฏป่า และชัฏภูเขา
ใครจะมีความรู้สึกอย่างนี้บ้างคะว่า ความเห็นผิดน่ากลัวและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง แล้วก็ก้าวล่วงได้ยาก ถ้าเกิดยึดถือในความเห็นผิดนั้นแล้ว ที่จะปล่อยจากความเห็นผิดนั้นยาก เพราะว่าความเห็นผิดเกิดขึ้นขณะใด ในขณะนั้นจะเห็นถูกไม่ได้ แต่ขณะใดที่ความเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้นจะรู้ว่า ความเห็นอย่างไรผิด และความเห็นอย่างไรถูก แต่ขณะใดก็ตามซึ่งความเห็นผิดกำลังเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นความเห็นผิด เพราะฉะนั้นการที่จะก้าวล่วงความเห็นผิด เป็นการก้าวล่วงได้ยาก เหมือนดังชัฏหญ้า ชัฏป่าและชัฏภูเขา
มีใครเคยหลงป่าบ้างไหมคะ ไม่ทราบว่าจะออกไปได้อย่างไร หาทางออกไม่ได้เลย ยากมากทีเดียว ฉันใด การที่ใครก็ตามเกิดความเห็นผิด ยึดถือความเห็นผิด วนเวียนอยู่ในความเห็นผิด ยังไม่สามารถที่จะรู้ว่า ความเห็นอะไร ความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นถูก ขณะนั้นก็ไม่มีทางที่จะออกจากความเห็นผิดได้ เพราะเหตุว่าการที่จะออกจากความเห็นผิดได้ ก็ต่อเมื่อมีความเห็นถูกเกิดขึ้นเท่านั้น จึงจะรู้ว่า ความเห็นก่อนๆ เป็นความเห็นผิด หรือว่าความเห็นอย่างไรเป็นความเห็นผิด
7812 ทิฏฐิคือกันดาร
ข้อความต่อไป มีว่า
ทิฏฺฐิ นั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฺฐิกนฺตาโร
กนฺตาโร ในภาษาบาลี ภาษาไทย คือ กันดาร
กันดาร คือ ทิฏฐิ ด้วยอรรถกว่า มีความน่าระแวงและมีภัยเฉพาะหน้า เหมือนกันดารโจร กันดารสัตว์ร้าย กันดารทราย กันดารขาดน้ำ และกันดารทุพภิกขภัย
นี่แสดงถึงความน่ากลัวของทิฏฐิ ซึ่งทำให้เกิดอันตราย เหมือนกันดารโจร กันดารสัตว์ร้าย กันดารทราย กันดารขาดน้ำ และกันดารทุพภิกขภัย
7813 ข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ
ที่ชื่อว่า ทิฏฺฐิวิสูกายิกํ ความเห็นเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า แย้ง และด้วยอรรถว่า ย้อนต่อสัมมาทิฏฐิ
จริงอยู่ความเห็นผิดเมื่อเกิดขึ้นย่อมแย้ง และย่อมย้อนความเห็นชอบ
ความเห็นชอบเป็นอย่างนี้ แต่ความเห็นผิดแย้งหรือย้อน คือ ตรงกันข้ามกับความเห็นถูก
ความเห็นถูกย่อมเห็นว่า เหตุย่อมตรงต่อผล การทำชั่วก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผลชั่ว อกุศลกรรมเป็นเหตุให้เกิดอกุศลวิบาก กุศลกรรมเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก
แต่ถ้าไม่เห็นอย่างนี้ ย่อมได้ชื่อว่า ย้อนหรือแย้งต่อความเห็นชอบ คือ ถ้าเห็นว่า อกุศลกรรมไม่ได้ให้ผลเป็นอกุศลวิบาก หรือกุศลกรรมไม่ได้ให้ผลเป็นกุศลวิบาก ในขณะนั้นก็เป็นความเห็นผิด หรือถ้าคิดว่า ตายแล้วสูญ หรือว่าตายแล้วเที่ยง ขณะนั้นก็ย้อนหรือแย้งกับความเห็นถูก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีปัจจัยก็เกิดขึ้น จะสูญได้อย่างไร เพราะปัจจัยที่จะให้เกิด มี หรือว่าจะเที่ยงได้อย่างไร ในเมื่อปัจจัยที่ทำให้เกิดหมดไป สิ่งที่เกิดก็ต้องหมดไปด้วย
7814 ความผ้นแปรแห่งทิฏฐิ
ที่ชื่อว่า ทิฏฺฐิวิปฺผนฺทิตํ ความผันแปรแห่งทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า เป็นความผันแปร ผิดรูปไปแห่งทิฏฐิ เพราะบางคราวก็ยึดถือความเที่ยง บางคราวก็ยึดถือความขาดสูญ
จริงอยู่ คนมีทิฏฐิ ย่อมไม่อาจจะตั้งอยู่ในข้อเดียวได้ บางคราวก็คล้อยตามความเที่ยง บางคราวก็คล้อยตามความขาดสูญ
นี่เป็นลักษณะของความผันแปรของทิฏฐิ เวลาที่เป็นความเห็นผิด ย่อมคลอนแคลนและแปรผันไป แล้วแต่เหตุปัจจัย ที่จะทำให้เกิดความเห็นผิดอย่างนั้นบ้าง หรือว่าเห็นผิดอย่างนี้บ้าง แต่ถ้าเป็นความเห็นถูกแล้วไม่เปลี่ยน ใช่ไหมคะ โดยเฉพาะการรู้แจ้งอริยสัจธรรม ผู้ที่รู้ความเกิดดับของสภาพธรรมโดยการประจักษ์แจ้ง เพราะเหตุว่าอบรมเจริญสติพร้อมปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้มีปัญญาที่แทงตลอดเกิดขึ้น สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ เมื่อได้ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรมแล้ว จะเปลี่ยนไปเห็นว่า สภาพธรรมเที่ยง ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย
แต่ถ้าเป็นความเห็นผิด ย่อมมีปัจจัยที่จะให้ความเห็นนั้นผันแปรไปได้ เช่น บางคราวก็เห็นว่าเที่ยง หรือบางคราวก็เห็นว่าขาดสูญ
7815 สัญโญชน์คือทิฏฐิ
ที่ชื่อว่า ทิฏฺฐิสํโยชนํ สังโยชน์ คือ ทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า ทิฏฐินั่นแหละ เป็นตัวสังโยชน์ ด้วยอรรถว่า (สังโยชน์) ผูกสัตว์ไว้ ทำให้ไม่ไปสู่ความเห็นถูก
ความเห็นผิดก็ผูกไว้แน่น
7816 คาโห - ความยึดถือ
ที่ชื่อว่า คาโห ความยึดถือ ด้วยอรรถว่า ยึดไว้มั่นซึ่งอารมณ์ ดุจสัตว์ร้าย มีจระเข้เป็นต้น จับคนไว้ฉะนั้น
7817 ความตั้งมั่น
ที่ชื่อว่า ปติฏฺฐาโห ความตั้งมั่น เพราะตั้งใจไว้โดยเฉพาะ จริงอยู่ คนมีทิฏฐินี้ ย่อมตั้งมั่นโดยภาวะที่เป็นไปอย่างแรง ยึดถือ
จะบอกเท่าไรก็ไม่เชื่อ จะอธิบายเท่าไรก็ไม่พิจารณา นั่นก็แสดงให้เห็นถึงลักษณะของทิฏฐิ ซึ่งยึดถือไว้แน่น ไม่สามารถที่จะรับฟังเหตุผล หรือพิจารณาเหตุผลอื่นได้ ถึงแม้ว่าจะได้ยินแล้ว ได้ฟังแล้ว ความเห็นผิดนั้นก็ยึดไว้ ไม่ให้ไปสู่ความเห็นถูกได้
7818 ที่ชื่อว่า กุมมัคโค - ทางชั่ว
ที่ชื่อว่า กุมฺมคฺโค ทางชั่ว ด้วยอรรถว่า เป็นทางที่บัณฑิตเกลียด เพราะนำมาซึ่งความพินาศ หรือด้วยอรรถว่า เป็นทางแห่งอบายที่บัณฑิตเกลียด
คนฉลาดหรือผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมเห็นภัย เห็นโทษของความเห็นผิด เพราะเหตุว่าความเห็นผิดเป็นอันตรายอย่างใหญ่ ซึ่งไม่ทำให้บุคคลนั้นพ้นจากความเห็นผิดนั้นได้
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050