จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 054


    ถ้าตราบใดที่ไม่มั่นคงในการอบรมเจริญปัญญาที่จะละ ตราบนั้นก็ยังคงมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดความเห็นผิดและโน้มเอียงไปสู่ความคิดความเชื่อเรื่องอื่น ซึ่งไม่ใช่ความเชื่อมั่นในเรื่องกุศลกรรมและอกุศลกรรม เพราะฉะนั้นหนทางไหนจะเป็นหนทางที่ตรง และจะทำให้ไม่โน้มเอียงไปสู่การยึดถือสิ่งที่เป็นมงคลตื่นข่าว แต่เป็นผู้มั่นคงขึ้นในเรื่องของกรรม

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ทุกอย่าง มีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น แต่ควรจะเข้าใจถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นเหตุอันแท้จริง เพราะเหตุว่านามธรรม คือ จิต เป็นเหตุ จิตที่ดีเป็นกุศล ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับกุศลวิบาก จิตที่ไม่ดีเป็นอกุศล ย่อมเป็นเหตุให้ได้รับอกุศลวิบาก แล้วก็เป็นผู้มั่นคงในเรื่องกรรม แล้วก็ตัดเรื่องอื่นออกไป จะทำให้เป็นผู้ไม่สนใจ ไม่โน้มเอียงที่จะยึดถือมงคลตื่นข่าว

    7897 ทิฏฐิ - ก้าวล่วงได้ยาก

    เพราะเหตุว่าเรื่องของความเห็นผิด ในคราวก่อนก็ได้กล่าวถึงลักษณะของความเห็นผิดในอัฏฐสาลินี อรรถกถา ซึ่งมีข้อความว่า

    ทิฏฐิ นั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฐิคหนํ ด้วยอรรถว่า ก้าวล่วงได้ยาก มงคลตื่นข่าวก็แสนจะก้าวล่วงได้ยาก เหมือนดังชัฏหญ้า ชัฏป่า และชัฏภูเขา

    ถ้ามีแต่ทุ่งหญ้า ก็ยากที่จะหาทิศทางได้เจอ สำหรับเมืองเราก็มีทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งใครเข้าไปแล้วก็หาทางออกไม่ได้ แม้แต่พวกกุลา ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นเผ่าที่มีความอดทน ก็ยังถึงกับร้องไห้ เพราะเหตุว่าว่าไม่สามารถจะหาทางออกได้

    เพราะฉะนั้นความเห็นผิด ก็ทำให้วนเวียนอยู่ในความเห็นผิด หลงอยู่ในความเห็นผิด ไม่สามารถจะพบเหตุและผลจริงๆ ที่จะทำให้ออกจากความเห็นผิดได้ เหมือนคนที่หลงอยู่ในชัฏหญ้า หรือชัฏป่า และชัฏภูเขา ภูเขาวงกต ก็คงเคยได้ยิน ถ้าเป็นภูเขาที่สลับซับซ้อนคดเคี้ยว เป็นผู้ไม่ชำนาญ ก็ไม่สามารถหาทางออกได้ ฉันใด มงคลตื่นข่าวทั้งหลาย ถ้าไม่พิจารณาในเรื่องของกรรมจริงๆ ไม่เป็นผู้มั่นคงในเรื่องของกรรมจริงๆ ก็ยังวนเวียนอยู่ในเรื่องมงคลตื่นข่าวทั้งหลาย เพราะเหตุว่าไม่สามารถพบทางแท้ๆ ที่จะทำให้เป็นเหตุและเป็นผลได้ ก็ยังเป็นเรื่องของความสงสัย ความไม่แน่ใจอยู่เรื่อยๆ เพราะเหตุว่าทุกคนต้องอยู่ด้วยกรรมของตน อย่าลืม จะป่วยไข้ได้เจ็บ ถ้าไม่มีกรรมซึ่งเป็นอกุศลกรรม ก็คงไม่เกิดขึ้น ฉันใด กุศลวิบากก็ฉันนั้น ถ้าไม่มีกุศลที่ได้กระทำแล้ว กุศลวิบากก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ฉันนั้น

    7898 กันดารคือทิฏฐิ

    นอกจากนั้นแล้ว ความเห็นผิดนั่นแหละ ชื่อว่า ทิฏฐิกันตาโร กันดาร คือ ทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า มีความน่าระแวง และมีภัยเฉพาะหน้า เหมือนกันดารโจร กันดารสัตว์ร้าย กันดารทราย กันดารขาดน้ำ และกันดารทุพภิกขภัย

    เวลาที่มีภัยเกิดขึ้น ท่านผู้ฟังกลัว ตกใจ ถ้าอยู่กลางทะเลทราย ก็ไม่ทราบ ว่าจะไปทางไหนอีกเหมือนกัน ถ้าอยู่ในที่รื่นรมย์ จะหลงอยู่สักเท่าไร ก็คงไม่ มีใครเดือดร้อนใช่ไหมคะ สบายดี กี่วัน กี่เดือน กี่ปี ก็ไม่เดือดร้อน แต่ทิฏฐิ เป็นทิฏฐิกันตาโร กันดาร คือ ทิฏฐิ ด้วยอรรถว่า มีความน่าระแวง และมีภัย เฉพาะหน้า เหมือนกันดารโจร

    ทุกท่านกลัวผู้ร้าย กลัวอันตรายที่จะเกิดจากคนร้าย และถ้าท่านอยู่ในเมือง ที่เต็มไปด้วยโจรผู้ร้าย ก็ย่อมมีความกลัวภัย ฉันใด ทิฏฐิ ความเห็นผิด หรือ มงคลตื่นข่าวทั้งหลาย ก็ฉันนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นภัยเฉพาะหน้า เพราะเหตุว่า ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา รู้เหตุและผลถูกต้องตามความเป็นจริง หลง และก็ยัง หลงอยู่ในที่กันดารซึ่งเต็มไปด้วยอันตราย เช่น กันดารโจร หรือกันดารสัตว์ ร้าย กันดารทราย เช่น ในทะเลทราย เป็นต้น กันดารขาดน้ำ และกันดาร ทุพภิกขภัย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความเห็นผิดแล้ว เป็นอกุศลจิตซึ่งจะทำให้ เกิดอกุศลกรรมได้ตามประเภทของความเห็นผิดนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เกิดอกุศล วิบาก ไม่ใช่เป็นกุศลจิตที่จะทำให้ได้รับแต่สุขวิบาก และไม่ใช่เป็นปัญญาที่ เป็นความเห็นถูก เพราะเหตุว่าสามารถดับกิเลสได้ แต่ว่าความเห็นผิดนั้นไม่ ใช่หนทางที่ทำให้รู้สภาพธรรม เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส

    7899 ลักษณะของทิฏฐิ กับ ปัญญา

    ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา อรรถกถาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๒ แสดงลักษณะที่ต่างกันของทิฏฐิกับปัญญา ซึ่งมีข้อความว่า

    ปัญญา คือ ญาณนั้นรู้อารมณ์ได้ตามสภาพที่เป็นจริง แต่ทิฏฐิ คือ ความ เห็นผิดนั้นละสภาพตามที่เป็นจริง ถือเอาโดยสภาพที่ไม่จริง เพราะฉะนั้น ทิฏฐิจึงมีลักษณะที่เชื่อมั่นอย่างผิดๆ ว่า สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า

    นี่เป็นความต่างกันของมิจฉาทิฏฐิและสัมมาทิฏฐิ ถ้าพูดถึงทิฏฐิเฉยๆ อาจ จะเป็นอกุศลก็ได้ หรืออาจจะเป็นกุศลก็ได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่กล่าวถึงเรื่อง ของอกุศลธรรมและใช้คำว่า “ทิฏฐิ” ย่อมหมายความถึงมิจฉาทิฏฐิ แต่เวลาที่ กล่าวถึงกุศลธรรม แล้วใช้คำว่า “ทิฏฐิ” ย่อมหมายความถึงสัมมาทิฏฐิ หรือ ปัญญา

    7900 พระโสดาบันขับรถ

    ท่านอาจารย์ มีท่านผู้ฟังสงสัยอะไรบ้างไหมคะ

    ผู้ฟัง เรื่องของทิฏฐิ เวลานี้ผมก็เชื่อแล้วว่า บุญมี บาปมี ผลของบุญก็ทำให้เป็นสุข ผล ของบาปก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดทุกข์ แต่ทีนี้ชีวิตของแมลงต่างๆ ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ เวลาของเรา เวลาของเราสำคัญกว่าชีวิตของแมลง คือ บางครั้งผมขับรถกลางคืนโดย เฉพาะสายบางนา – ตราด เวลากลางคืนพวกแมลงต่างๆ จะบินมาเล่นไฟ รถของเราก็ จะชนพวกแมลงเหล่านี้ ถ้าขับเร็วหน่อย กระจกหน้ารถจะติดแมลงไว้หลายตัวทีเดียว อยากจะถามว่า พระโสดาบันยังจะขับรถกลางคืนหรือเปล่าครับ

    ท่านอาจารย์ ก็คงจะสงสัยตลอดไปอีกหลายอย่าง ท่านจะเดินทางกลางคืนไหม เดี๋ยวท่านจะ ไปเหยียบมดเข้า หรืออะไรๆ แต่ว่าผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า ไม่มีเจตนาฆ่า เป็นหลัก

    ผู้ฟัง แน่นอนครับ เจตนาฆ่าไม่มีแน่ แต่รู้แน่นอนว่า ถ้าเราขับรถสายบางนา – ตราดมา แมลงจะต้องตายแน่นอน รู้ครับ แต่เจตนาฆ่าไม่มี

    ท่านอาจารย์ แมลงมีกรรมไหมคะ กรรมของแมลงมีไหมคะ เพราะฉะนั้นทุกท่านอย่าคิดถึง บุคคลอื่นภายนอกเป็นปัจจัย ถึงเวลาจริงๆ ที่กรรมจะให้ผล แม้ไม่มีบุคคลอื่นจะทำร้าย หรือจะทำอันตราย กรรมย่อมทำให้ผลของกรรมเกิดขึ้น ท่านผู้ฟังเคยตกกระไดไหมคะ ใครทำให้ ไม่ต้องคิดถึงคนอื่นเลย และอาจจะมีการเจ็บปวดยิ่งกว่าการตกกระได ซึ่งท่าน ทำเอง หรือเกิดขึ้นด้วยตัวของท่านเอง ไม่ใช่บุคคลอื่นทำให้ แต่ถ้าบุคคลอื่นทำให้ ท่าน ก็พิจารณาว่าเป็นเพราะคนอื่น ลืมว่าเป็นเพราะกรรมของตน แต่ว่าเวลาที่บุคคลอื่นไม่ได้ ทำ แต่ก็ยังมีอกุศลวิบากเกิดขึ้นได้ ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ย่อมเป็นเพราะผลของกรรม ของตนเอง เพราะฉะนั้นแมลงมีกรรมไหมคะ ก็ต้องเหมือนกันค่ะ

    7901 ผู้ที่อดทนย่อมเป็นผู้ที่สามารถจะบรรลุผลได้

    ผู้ถาม ขณะเจริญสติ จิตก็ต้องมีลักษณะของรูปหรือนามธรรมที่กำลังปรากฏ และที่ว่าจิตดวงนั้นจะมีอารมณ์อย่างนั้นหรือมีลักษณะอย่างนั้นเป็นอารมณ์ได้

    ท่านอาจารย์ โดยการรู้ลักษณะของสติปัฏฐานว่า สติปัฏฐานไม่ใช่เป็นขั้นคิด

    ผู้ถาม อย่างตอนแรกฟังใหม่ๆ พอมีอะไรเกิดขึ้น ก็นี่เป็นนามธรรม นั่นเป็น รูปธรรม นานๆ ก็ชักชิน พอ ... ก็ไม่ใช่สติปัฏฐานอีก พอรู้สึกตัวอีก ตอนนี้ก็ เลยเฉยๆ ไม่อยากคิด ไม่อยากอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จะบังคับความรู้สึกว่าจะคิดหรือจะไม่คิด แต่ให้ทราบว่า สติปัฏฐาน คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะ อย่าลืมนะคะ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ในขณะที่ กำลังรู้ลักษณะ จะคิดพร้อมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นสติปัฏฐาน คือ เมื่อลักษณะ ปรากฏแล้ว ศึกษาในขณะนั้น คือ สังเกต น้อมไปที่จะรู้ลักษณะของสิ่งที่ ปรากฏว่า เป็นสภาพรู้ หรือไม่ใช่สภาพรู้ คือ ต้องชิน หรือน้อมไปที่จะรู้ ลักษณะของสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา เวลาที่สติ ปัฏฐานไม่เกิด ก็เป็นเรารู้ทั้งหมด คือ เราเห็น เราได้ยิน เราได้กลิ่น เราคิดนึก เราสุข เราทุกข์ แต่ให้ทราบว่า ผู้ที่ตรัสรู้แล้วรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็น ลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้แต่ละลักษณะ

    เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นเรา ก็ต่อเมื่อรู้ในลักษณะสภาพรู้หรือธาตุรู้ ค่อยๆ เข้าใจเพิ่มขึ้น แล้วก็จะค่อยๆ ระลึกได้บ่อยขึ้น จนกว่าวันหนึ่งก็จะรู้ชัดในลักษณะของสภาพรู้ จริงๆ

    ผู้ถาม อย่างนี้ก็น้อมไป พิจารณาไป

    ท่านอาจารย์ เรื่อยๆ ค่ะ อีกนานแสนนาน คิดเสียว่าอย่างนั้น อย่าไปคิดว่าจะเร็ว แต่ไม่ต้องท้อถอยค่ะ เพราะว่าผู้ที่อดทนย่อมเป็นผู้ที่สามารถจะบรรลุผลได้

    7902 วจีวิญญัติรูป

    ถาม ขอถามเรื่องวิจีวิญญัติรูป อย่างกายวิญญัติรูปก็ยังพอเข้าใจ ถ้าวจีวิญญัติรูป ผมอ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ กำลังพูดนี่ไงคะ

    ผู้ถาม กำลังพูด มองที่ปากก็รู้ความหมาย

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ เป็นรูปที่ทำให้เกิดเสียงซึ่งมีความหมาย

    ผู้ถาม ถ้าอย่างนั้นเสียงก็ไม่ใช่ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ถ้าตบมือ ไม่ใช่วจีวิญญัติรูป เพราะว่าเสียงนั้นเกิดจากการกระทบกัน ของมือ ๒ ข้างที่เป็นวัตถุที่แข็งกระทบกัน เพราะฉะนั้นไม่ใช่วจีวิญญัติรูป แต่ ว่าวิจีวิญญัติรูปต้องหมายความว่า รูปในขณะนั้นเกิดขึ้นเพราะจิต ทำให้รูปมี การเคลื่อนไหวกระทบฐานที่ทำให้เกิดเสียง ที่ทำให้เข้าใจความหมาย

    7903 การที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ

    การที่จะเข้าใจธรรมจริงๆ ต้องเป็นผู้ที่ตรงและเป็นผู้ที่พิจารณาในเหตุผล มิฉะนั้น แล้วจะไม่พ้นจากความเห็นผิด เพราะเหตุว่าแม้เพียงด้วยความเป็นผู้ขวนขวายในการถือ มงคลตื่นข่าว ก็จะต้องพิจารณาแล้วว่า มงคลตื่นข่าวคืออะไร ถ้ายังไม่ทราบว่า มงคลตื่น ข่าวคืออะไร ก็อาจจะไม่ทราบว่า ตัวท่านกำลังเป็นผู้ขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าว พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่มีเหตุผล แต่ต้องเป็นผู้พิจารณาเหตุผลโดยละเอียด รอบคอบจริงๆ

    ยังมีข้อสงสัยในเรื่องมงคลตื่นข่าวอะไรอีกบ้างไหมคะ เพราะมิฉะนั้นแล้วจะไม่ทราบ เลยว่า เพียงสนใจและขวนขวายในการถือมงคลตื่นข่าวแม้เพียงเล็กน้อย ก็ยังทำให้ไกล จากการยึดมั่นในกรรมของตน เพียงแต่สนใจขวนขวายนิดหน่อย ก็จะเป็นทางให้เกิด ความเลื่อมใส หรือเกิดการสนใจ หรือเกิดการเห็นผิด ขาดการพิจารณาในเหตุผล ในที่ สุดก็จะทำให้ค่อยๆ เคลื่อนจากการเป็นผู้ตรงต่อธรรม และเมื่อเคลื่อนจากการเป็นผู้ตรง ต่อธรรม ก็จะห่างไกลจากธรรมไปทุกที

    เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตาม เหตุการณ์ใดก็ตาม แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ รอบๆ ตัวในชีวิตประจำวัน ก็จะต้องพิจารณาโดยละเอียดจริงๆ ว่า เป็นเหตุให้ใกล้หรือให้ไกล จากพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว

    เพราะฉะนั้นการที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ว่า ธรรมใดเป็น คำสอนที่แท้จริงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ก็จะไม่พ้นไป จากความเห็นผิด หรือมงคลตื่นข่าว ซึ่งถ้ามีความสนใจนิดหนึ่ง ก็จะพาไปสู่ความสนใจ และความขวนขวายยิ่งขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็จะไม่แสวงหาพระธรรมที่แท้ จริง และจะไม่พิจารณาเหตุผลโดยละเอียด

    7904 เหตุผลโดยละเอียดของการศึกษาพระวินัย

    ที่อังกฤษ ได้สนทนากับชาวต่างประเทศท่านหนึ่ง คือ คุณมัลคอล์ม เป็นผู้ที่กำลัง ปริญญาเอกทางพระวินัย ซึ่งได้สนทนากันว่า ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการบวชจริงๆ แล้ว ย่อมไม่สามารถเข้าใจพระธรรมได้ เพราะเหตุว่าจะไม่ทราบว่า พระวินัยแต่ละข้อที่ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัตินั้น เพื่อป้องกันการกำเริบของอกุศลธรรมประเภทไหน ทาง ใด

    เพราะฉะนั้นจะศึกษาเพียงแต่พระวินัยอย่างเดียว โดยไม่เข้าใจเหตุผลที่ละเอียด ของจุดประสงค์ของการบวช หรือจุดที่แตกต่างกันจริงๆ ระหว่างคฤหัสถ์กับบรรพชิต เพราะเหตุว่าจะไม่เข้าใจเลยว่า การบวชนั้นเพื่ออะไร เพราะเหตุว่าผู้ที่เป็นคฤหัสถ์ก็ สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรม เป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะฉะนั้นอะไรที่ทำให้ต่างกันระหว่าง ชีวิตของบรรพชิตและคฤหัสถ์

    7905 แม้คำว่า อนัตตา

    แล้วก็ได้สนทนากันถึงคำว่า “อนัตตา” ที่ว่า คำว่า “อนัตตา” เพียงคำเดียว แต่ถ้า พิจารณาศึกษาจริงๆ จะทำให้สามารถเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้ แต่ ถ้าเป็นผู้ที่ผิวเผิน ไม่มีทางที่จะเข้าใจพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง

    คำว่า “อนัตตา” คำเดียว ทุกคนที่อ่านออก ก็อ่านได้ ใช่ไหมคะ พอเห็นคำว่า “อนัตตา” ก็อ่านได้ว่า อนัตตา หรือถ้าจะเขียนเป็นภาษาอังกฤษ คนที่ศึกษาธรรมภาษา อังกฤษ ก็จะอ่านคำว่า “อนัตตา” ได้ แต่ใครจะเข้าใจแม้ความหมายของคำว่า “อนัตตา” หรืออรรถของอนัตตา

    ถ้าเป็นผู้สนใจก็จะดูพจนานุกรมว่า อนัตตาหมายความว่าอะไร ก็จะมีคำแปลว่า อนัตตาหมายถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา ก็จะพูด ตามกันต่อไปอีกใช่ไหมว่า อนัตตา คือ สภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา พูดตาม ง่ายจริงๆ แต่ที่จะเข้าใจตาม หรือเข้าใจจริงๆ จนกระทั่งซาบซึ้งใน ความหมายของคำว่า “อนัตตา” ต้องเป็นการพิจารณาโดยละเอียด เช่น เมื่อไม่ใช่ อนัตตาแล้ว สภาพธรรมนั้นเป็นอะไร เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏ หรือ สิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นอัตตานั้น ถ้าเป็นอนัตตาแล้ว เป็นอนัตตาอย่างไร เพราะเหตุใดจึง เป็นอนัตตา เช่นทางตาที่กำลังเห็น ก็เห็นอยู่ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลาย ต้องหมายถึงธรรมทั้งหลายจริงๆ ไม่เว้นเลย ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นใน ขณะที่เห็นต้องเป็นอนัตตาด้วย เพราะฉะนั้นคนที่ละเอียดจริงๆ แม้เพียงคำว่า “อนัตตา” ที่จะเข้าใจจริงๆ ก็จะไม่ผ่านเลยไป เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงอ่านคำแปลว่า อนัตตา หมายถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา แต่เมื่อไม่ใช่ อัตตา ธรรมทั้งหลายแม้การเห็นก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นใน ขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้เป็นอนัตตาอย่างไร

    นี่คือผู้จะพิจารณา และจะอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งสามารถประจักษ์แจ้งใน ลักษณะของอนัตตา โดยไม่ใช่เพียงพูดตามได้ว่า อนัตตา หมายถึง สภาพธรรมที่ไม่ใช่ สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อัตตา

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรม ก็จะต้องพิจารณาในขณะที่กำลังเห็นที่จะให้รู้ว่า เป็น อนัตตาอย่างไร

    7906 สิ่งที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ บุคคล

    ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เห็นสิ่งที่ปรากฏไม่ใช่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ผู้ยังไม่ ตรัสรู้อริยสัจธรรม จะปฏิเสธไม่ได้ว่า กำลังเห็นคน กำลังเห็นวัตถุ กำลังเห็นสิ่งต่างๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่อนัตตา ต้องรู้ว่า ยังไม่เข้าใจในลักษณะที่เป็นอนัตตาของสิ่งที่ กำลังปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้นจะอบรมเจริญอย่างไร จึงจะประจักษ์สภาพความเป็นอนัตตาของ สภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วจึงจะเข้าใจ ความหมายของอนัตตาแท้ๆ ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ ที่เคยเห็นเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่ง ต่างๆ ยังเป็นอัตตาอยู่

    เพราะฉะนั้นก็จะต้องเริ่มเข้าใจว่า เห็นอะไร ที่กำลังเห็น เป็นโลกสว่างที่คนตาบอด ไม่มีโอกาสจะเห็น นี่คือสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ถ้าลองคิดถึงคนที่ตาบอด ไม่มี โอกาสรู้ลักษณะของโลกสว่าง ของสภาพสว่างที่กำลังปรากฏทางตาเลย ก็จะค่อยๆ ระลึกได้ว่า นี่เป็นโลกหนึ่ง เป็นสภาพหนึ่ง เป็นของจริงอันหนึ่งซึ่งคนตาบอดไม่มีโอกาส จะเห็นเลย

    เพราะฉะนั้นคนตาดี ชินกับการเห็น เลยเห็นว่าการเห็นเป็นปกติ เป็นธรรมดา ซึ่งความจริงต่างกับความมืดสนิทจริงๆ ถ้าลองหลับตาอยู่นานๆ ให้มืดสนิทจริงๆ นานๆ ก็จะเห็นได้ว่า โลกที่ลืมตาขึ้นมา เป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นโลกของความจริง เป็นโลกที่ สว่าง

    7907 นิมิตของสิ่งที่ปรากฏทางตา

    แต่ถ้าพิจารณาจริงๆ ไม่ผ่านไปอีกที่จะเข้าใจว่า “นิมิต” นั้นหมายความถึงอะไร ที่ใช้คำว่า “นิมิตและอนุพยัญชนะ” ทางตา

    โดยศัพท์ “นิมิต” หมายความถึงความฝันหรือสิ่งที่ไม่จริง เพราะฉะนั้นถ้าจะ พิจารณาก็จะต้องทราบว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เห็นเป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นนิมิตของธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เพราะเหตุว่าธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็งเวลาที่กระทบ สัมผัสทางกาย แต่ที่ใดก็ตามที่มีธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลมแล้ว จะต้องมีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชะ คือ อาหารด้วย

    เพราะฉะนั้นในที่ใดก็ตามที่มีสี ที่นั่นเป็นนิมิต คือ เครื่องหมายว่า ในที่นั้นมีธาตุ ดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ที่จะเข้าใจได้ถึงสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ ตัวตนทางตา ก็จะต้องมีการพิจารณาในขณะที่กำลังเห็น ซึ่งกำลังเป็นของจริง ใช่ไหม คะ เวลานี้มีสีสันกำลังปรากฏทางตา ทำให้รู้ว่า ที่ใดที่มีสีสันปรากฏ ที่นั้นมีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ทำไมไม่พยายามจับอากาศ เพราะ เหตุว่าไม่มีนิมิตหรือรูปร่างสัณฐานว่า ในที่นั้นมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่ทุก ท่านสามารถจะนั่งบนเก้าอี้ หรือหยิบอาหารรับประทาน หรือทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ ถ้า กระทบสัมผัส ก็คือว่ากระทบสัมผัสธาตุดินที่อ่อนแข็งเท่านั้น หรือธาตุไฟที่เย็นหรือร้อน หรือธาตุลมที่ตึงหรือไหว แต่ว่าทางตาไม่สามารถกระทบสัมผัสธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้ แต่สามารถรู้ได้ว่า ที่ใดมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เพราะเหตุว่าเห็นนิมิตของสิ่ง ที่ปรากฏทางตา ซึ่งเป็นสีสันวัณณะต่างๆ

    เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาอย่างนี้ ก็จะทำให้รู้ความจริงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทาง ตาที่เป็นโลกสว่าง มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ซึ่งทำให้เกิดนิมิตปรากฏทางตา เป็นสีสัน วัณณะต่างๆ เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้าใจผิด ก็ยึดถือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมว่า เป็นคนกำลังนั่งที่ เก้าอี้ นั่นเป็นความเห็นผิด ความเข้าใจผิดที่ยึดถือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลมว่าเป็นคน ว่าเป็น เก้าอี้ แต่ถ้าเป็นการพิจารณาที่ถูกต้องและเริ่มถูก ก็จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา รูปร่าง สัณฐาน สีสันวัณณะทั้งหลายเป็นแต่เพียงนิมิตหรือเครื่องหมายของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้นเอง

    เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจถูกอย่างนี้ ก็ไม่มีคนกำลังนั่งเก้าอี้ เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏ เป็นแต่เพียงนิมิต คือ เครื่องหมายของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เวลาที่กระทบสัมผัสเท่านั้น การที่จะประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่ง ต่างๆ จะต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละทางตามความเป็นจริง

    รูปร่างกายของคน ซึ่งยึดถือว่าเป็นเรา ลักษณะของรูป ก็คืออ่อนหรือแข็ง รูป วัตถุที่ยึดถือว่าเป็นเก้าอี้ ก็คืออ่อนหรือแข็ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ธาตุอ่อนหรือธาตุแข็ง คือ ปฐวีธาตุ เมื่อไรที่ประจักษ์ความจริงอย่างนี้ เมื่อนั้นจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่โต๊ะ ไม่ใช่เก้าอี้ ไม่ ใช่วัตถุใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ในขณะที่ลืมตาเห็น ก็รู้ว่า เห็นเพียงนิมิต คือ เครื่องหมายของ ดิน น้ำ ไฟ ลม เท่านั้นเอง เพราะเหตุว่ารูปสามารถปรากฏทางตา เป็นสีสันวัณณะต่างๆ สามารถปรากฏเวลากระทบกาย เป็นเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว เพราะฉะนั้น จึงเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าไม่พิจารณาอย่างนี้ ก็ ผ่านไป ทางตาที่จะเป็นอนัตตา จะเป็นได้อย่างไร ในเมื่อไม่เคยพิจารณาเลยว่า สิ่งที่ ปรากฏทางตาเป็นนิมิต เป็นเพียงสัณฐาน เป็นเพียงเครื่องหมายของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ว่า ในที่นั้นมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เท่านั้นเอง จริงไหมคะ

    เหตุผลที่จะต้องพิจารณา จนกระทั่งสติสามารถระลึกถูกต้องตรงตามความเป็น จริง และสามารถเข้าใจอรรถของคำว่า “อนัตตา” โดยไม่เพียงแต่ผ่านไป และคิดว่า เข้า ใจแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา

    7908 ที่กำลังเห็นเป็นอนัตตาอย่างไร

    ถ้าใครคิดว่า เข้าใจแล้วว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขอให้ทราบว่ายัง ผิวเผินมาก เพราะเหตุว่าถ้าเข้าใจจริงๆ ทางตาเป็นอนัตตาอย่างไรที่กำลัง เห็น ทางหูเป็นอนัตตาอย่างไรที่กำลังได้ยินทางจมูกเป็นอนัตตาอย่างไรที่ กำลังได้กลิ่น ทางลิ้นเป็นอนัตตาอย่างไรที่กำลังลิ้มรส ทางกายเป็นอนัตตา อย่างไรที่กำลังกระทบสัมผัส


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 19
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ