สมถภาวนา ตอนที่ 12


    ทางนั้นไม่อาจจะไม่มี หามิได้ ทางนั้นมีอยู่ และจักมีแน่นอน เราจักแสวงหาทางนั้น เพื่อความหลุดพ้นไปจากภพ ท่านผู้ฟังทุกคนทราบ ว่าท่านต้องจากโลกนี้ไปแน่ แต่ว่าท่านเห็นโทษของความหลง ตาย ก็เป็นทุกข์ ไหมคะ ท่านจากโลกนี้ไป ด้วยความหลง หรือว่าด้วยความไม่หลง ในขณะที่กำลังมีชีวิตอยู่ในขณะนี้ หลงไหมคะ ถ้าไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หลงยึดถือสิ่งทีไม่มีสาระว่าเป็นสาระ หลงยึดถือสิ่งที่ปรากฏเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน นี่คือความหลง เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค ในครั้งที่เป็น สุเมธดาบส ก็ได้มีความคิดว่า ความหลงตาย ก็เป็นทุกข์ เพราะว่าตายไป โดยที่ยังไม่ได้ตื่นขึ้น ยังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง หลงอย่างไร ก็หลงอย่างนั้น บางท่านก็หลงเพิ่มขึ้นไม่ได้หลงน้อยลงเลย เพราะฉะนั้น ความหลงตายก็ย่อมเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่า ย่อมจะต้องเกิดแก่ อีก เป็นธรรมดา แล้วก็มีความป่วยไข้อีก เป็นธรรมดา

    4969 หนทางแก้กิเลสมี แต่ไม่แสวงหา ก็โทษใครไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ข้อความต่อไปมีว่า เมื่อมีความเจริญ แม้ความเสื่อม ก็จำต้องปรารถนา อุปมาเหมือนเมื่อมีทุกข์ แม้ชื่อว่าสุขก็ย่อมมีได้ เมื่อมีไฟ ๓ อย่างคือราคะ โทสะ โมหะ นิพพาน ธรรมที่ดับไฟ ก็จำต้อง ปรารถนา อุปมาเหมือนเมื่อมีร้อน ก็ย่อมมีเย็นแก้ เมื่อมีความเกิด ก็จำต้องปรารถนาความไม่เกิด อุปมาเหมือน แม้เมื่อมีความชั่ว ถึงความดี ก็ย่อมมีได้ เมื่อ

    มีน้ำสำหรับล้างมลทิน คือกิเลส อยู่ในสระ คือ อมตะ บุคคลไม่แสวงหาสระนั้น จะโทษสระคือ อมตะ ได้ไฉน อุปมาเหมือนบุรุษที่ตกหลุมคูถ เห็นสระซึ่งมีน้ำขังอยู่เต็ม แล้วไม่แสวงหาสระนั้นจะโทษสระได้ไฉน เมื่อหนทางอันปลอดโปร่ง มีอยู่ บุคคลผู้ถูกกิเลสล้อมไว้แล้ว ไม่แสวงหา หนทางนั้น จะโทษหนทางอันปลอดโปร่งนั้น ได้ไฉน อุปมาเหมือนบุรุษผู้ถูกพวกข้าศึกล้อม ไว้รอบด้าน เมื่อหนทางสำหรับจะหนีไปได้ มีอยู่ ย่อมไม่หนี เอาตัวรอด จะโทษหนทางได้ไฉน บุคคลผู้มีระทมทุกข์ ถูกพยาธิ คือกิเลสบีบคั้น ไม่แสวงหาอาจารย์ จะโทษอาจารย์ผู้แนะนำนั้นได้ไฉน อุปมาเหมือนบุรุษผู้เจ็บป่วย เมื่อหมอผู้รักษามีอยู่ ไม่ให้หมอรักษาพยาธินั้น จะโทษหมอผู้เยียวยานั้นได้ไฉน โทษใครไม่ได้เลย ถ้าท่านจะจากโลกนี้ไปด้วยความหลง ก็เป็นเพราะ อกุศล กิเลส หรือว่าความผิดของตนเองเท่านั้น

    4970 ปัญญาของสุเมธดาบสที่คิดจะสละกายอันน่ารังเกียจ

    ท่านอาจารย์ ข้อความต่อไปมีว่า เราไม่ควรห่วงใย ไม่ควรต้องการทรัพย์สมบัติ ทิ้งกายอันเปื่อยเน่านี้ ซึ่งเป็นที่สั่งสมซากศพต่างๆ ไปเสียเถิด อุปมาเหมือนบุรุษแก้ซากศพ ที่น่า สะอิดสะเอืยน ซึ่งผูกไว้ที่คอ ได้แล้ว พึงไปอยู่เป็นสุข เสรี ตามลำพังตน ฉะนั้น เราจะทิ้งกายนี้ ซึ่งเต็มด้วย ซากศพต่างๆ ไปเสีย เหมือนถ่ายอุจจาระลงในส้วม เสร็จแล้วออกไป อุปมาเหมือนบุรุษ และสตรี ถ่ายอุจจาระลงในส้วมแล้ว ไม่ห่วงใย ไม่ต้องการ ไปเสียฉะนั้น เราจะทิ้งกายนี้ ซึ่งมีช่อง ๙ ช่อง อันไหลเยิ้มอยู่เป็นนิจไปเสีย ดุจเจ้าของทั้งหลาย ทิ้งเรือที่เก่าคร่ำคคร่าฉะนั้น ข้อนี้มีอุปมา เหมือนพวกเจ้าของเรือ ทิ้งเรือที่เก่าคร่ำคร่า ชำรุดทรุดโทรม ที่รั่วไม่มีความเยื่อใย ไม่ต้องการไป เสียฉะนั้น เราจะละ กายนี้ซึ่งเปรียบด้วยมหาโจรไปเสีย เพราะ กลัวจะชิน อกุศลอุปมาเหมือนบุรุษถือห่อสิ่งของ เดินไปกับพวกโจร ทิ้งโจรไปเสีย เพราะเห็นภัย คือโจรจะชิงสิ่งของฉะนั้น ครั้นเราคิดอย่างนี้แล้ว ได้ให้ทรัพย์ตั้งหลายร้อยโกฏิแก่คน ทั้งที่ไม่ใช่คนอนาถา ทั้งที่เป็น อนาถา แล้วเข้าใไปยังป่าหิมวัน ถึงแม้ว่าท่านผู้ฟังจะไม่คิดอย่าง สุเมธดาบส โดยตลอดทั้งหมดที่จะมีความตั้งมั่นในการที่จะแสวงหาพระนิพพาน แต่ก็ควรจะระลึกบ้าง เพื่อที่จิตจะได้สงบ อย่างข้อความที่ว่าเราจะทิ้งกายนี้ซึ่งเป็นด้วยซากศพต่างๆ ไปเสีย เหมือนถ่ายอุจจาระเสร็จแล้ว ออกไป นี่เป็นกิจที่กระทำกันอยู่ทุกวัน แต่ว่าปัญญาไม่ได้นึกเปรียบเทียบเลยว่า ควรที่จะทิ้งนามรูป ที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ที่เกิดดับ ที่น่ารังเกียจอย่างนี้ ที่จะต้องแก่ และตาย อย่างนี้ ไปสู่สภาพซึ่งไม่มีการเกิดอีก แล้วก็ไม่มีการตายอีก เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวัน สำหรับบุคคลที่ ใคร่ที่จะได้อบรมเจริญกุศลให้ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคืออบรมเจริญปัญญา ที่สามารถที่จะดับกิเลสได้ ย่อมน้อมเห็นสภาพธรรม แม้ปกติในชีวิตประจำวัน แล้วก็มีความรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

    4971 ความคิดที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ข้อความต่อไปมีว่า ข้อความต่อไปมีปรากฏใน อัฏฐสาลินี ที่แสดงถึงที่จงกรมที่เหมาะสม ในขณะที่สุเมธดาบสได้ไปยังป่าหิมวันแล้ว แล้วก็สุขของสมณะ ๘ ประการ โทษของผ้าสาดก โทษของ บรรณศาลา และคุณของโคนไม้ แล้วก็โทษของอาหารที่ดี ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า เมื่อเราคือ สุเมธดาบส ถึงความสำเร็จ เป็นผู้ชำนิ ชำนาญ ในศาสนาอย่างนี้แล้ว พระชินเจ้าทรงพระนามว่า ทีปังกร ผู้ทรงเป็น นายกของโลก ก็เสด็จอุบัติ เรามัวอิ่มเอิบอยู่ด้วยความยินดีในฌาน จึงไม่ได้เห็นนิมิต ๔ คือ ๑ เมื่อพระองค์เสด็จอุบัติ ๒ ทรงประสูติ ๓ ตรัสรู้ ๔ ทรงแสดงธรรม ซึ่งสมัยต่อมา พวกมนุษย์ ก็มีใจยินดี นิมนต์พระผู้มีพระภาค ให้เสด็จไปในเขตประเทศ ปลายแดน แล้วก็ได้พากันแผ่วถางทางที่ พระองค์จะเสด็จมา พระผู้มีพระภาค ตรัสเล่าว่า ในสมัยนั้น เราครองผ้าคากรอง ออกจากอาศรมของตน เหาะไปในท้องฟ้า ในกาลนั้นได้เห็นชนเกิดความร่าเริงบัญเทิงใจ แล้วลงจากท้องฟ้า จึงถามพวกมนุษย์ ในขณะนั้นว่า มหาชนผู้เกิดความร่าเริงบันเทิงใจ ย่อมแผ่วถางทาง เป็นที่มาเพื่อใคร พวกเขาถูกเราถามแล้ว จึงตอบว่า พระชินเจ้าทรงพระนาม ทีปังกร เป็นพระพุทธเจ้า ไม่มีใครจะเทียบถึง ทรงเป็นนายกของโลก เสด็จอุบัติมาในโลก มหาชนย่อมแผ่วถางทาง เป็น ที่เสด็จมาเพื่อพระองค์ เพราะได้ฟัง ชื่อว่าพุทโธ ก็เกิดปีติในทันทีทันใด เรากล่าวอยู่ว่าพุทโธๆ ได้เสวยโสมนัสแล้ว เราทั้งๆ ที่ยินดี ยืนอยู่ ณ ที่นั้นก็สลดจิต คิดว่า เราจะปลูกพืชทั้งหลายไว้ในที่นี้ กาลเวลา อย่าได้ล่วงเลยไปเสีย ถ้าหากพวกท่านแผ่วถางทาง เพื่อพระพุทธเจ้า ก็จงให้ทางส่วน ๑ แก่เรา เถอะ ก็เราจะแผ่วถางทางเพื่อเป็นที่เสด็จดำเนินมา พวกเขาได้ให้ทางส่วน ๑ แก่เรา เพื่อจะแผ่วถางทางในกาลนั้น เราคิดว่าพุทโธๆ พลางแผ่งถางทางในกาลนั้น เมื่อทางบางส่วนของเรา ยังไม่สำเร็จ พระชินเจ้าผู้มหามุนี ทรงพระนามว่าทีปังกร พร้อมด้วยพระขีณาสพผู้ทรงคุณจำนวนใหญ่ ก็เสด็จดำเนินมาตามหนทางนั้น การตอนรับก็กำลังเป็นไปอย่างเปี่ยมด้วยศรัทธา ทั้งเทวาด และมนุษย์ ข้อความต่อไปมีว่า ส่วนเรา สะยายผมออก แล้ว เปลื้องผ้าคากอง แล้วลาดหนังเสือไว้บนเปลือกตม นั้นแล้วนอน

    คว่ำอยู่ ด้วยคิดว่าพระพุทธเจ้า จงทรงเหยียบเราเสด็จไปพร้อมทั้งหมู่สาวก อย่าได้เหยียบบเปลือกตมเลย พระองค์จักอำนวยประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เรานอนบนแผ่นดิน ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า วันนี้เมื่อเราปรารถนา ก็จะฆ่าเหล่ากิเลสได้ การกระทำธรรมให้แจ้งด้วยเพศที่คนเขาไม่รู้จักในที่นี้ จะมีประโยชน์ อะไรแก่เราเล่า เราจะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้วจะเป็นพระพุทธเจ้า ในมนุษย์ โลกพร้อมทั้งเทวโลก ความเป็นบุรุษ ผู้แสดงความสามารถ ข้ามพ้นได้คนเดียว จักมีประโยชน์ อะไร แก่เราเล่า เราบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ แล้ว จะยังมนุษย์โลกพร้อมทั้งเทวโลกให้ข้ามพ้น ความเป็นบุรุษผู้มีบุญญาธิการซึ่งแสดงความสามารถข้ามพ้นได้คนเดียวนี้ จะมีประโยชน์ อะไรแก่เราเล่า เราบรรลุพระสัพพัญญุตตญาณแล้ว จะยังประชุมชนเป็นอันมากให้ ข้ามพ้น เราจะตัดกระแสแห่ง สังสารจักร์ กำจัดภพทั้ง ๓ แล้วขึ้นธรรมนาวาให้พวกมนุษย์ และเทวดาข้ามพ้น ท่านผู้ฟังคิดอย่างนี้หรือเปล่าคะ คิดที่จะอนุเคราะห์คนอื่นๆ เป็นจำนวนมากให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เพียงแต่ คิดที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเฉพาะตนคนเดียว

    ผู้ถาม.

    ท่านอาจารย์ คะ เพราะฉะนั้น เวลาที่คิดแล้ว อนุเคราะห์เกื้อกูลบุคคลอื่นไหมคะ ในขณะนี้ ทุกทางที่ท่านสามารถจะกระทำได้ ไม่ว่าจะด้วยการสนทนาธรรม การเกื้อกูล การให้หนังสือธรรม เพื่อบุคคลอื่นจะได้อ่าน ได้พิจารณา ได้อบรมเจริญปัญญาขึ้น ท่านผู้ฟังอาจจะมีหนทาง มากมาย แล้วแต่ความสามารถ ความเกื้อกูลของท่าน ซึ่งจะเกื้อกูลอนุเคราะห์บุคคลอื่น ให้ได้เข้าใจพระธรรมยิ่งขึ้น แล้วแต่ท่านจะทำได้ ในขณะนั้น แม้จะไม่เท่ากับความคิดของสุเมธดาบส ที่จะคิดเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เพียงเป็นผู้ที่บรรลุธรรมแล้วก็เป็นประโยชน์เฉพาะตนเท่านั้น แต่ก็จะเห็นได้ว่า พระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นมีมากเพียงใด เพราะว่าวันนี้เมื่อเราปรารถนาก็จะฆ่าเหล่ากิเลสได้ เพราะว่เาป็นผู้ที่มีปัญญามาก แต่ว่าการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ในวันนั้น คะ แต่ว่าต้องอีก ๔ อสงไขยแสนกัปป ในการที่จะบำเพ็ญพระบารมีประการอื่นๆ ให้พร้อมถึงความที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระองค์เอง

    4972 พระทีปังกรทรงตรัสคำพยากรณ์แก่สุเมธดาบส

    ท่านอาจารย์ ข้อความต่อไปมีว่า พระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่า ทีปังกร ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องสักการะที่เขานำมาถวาย ประทับยืนอยู่ที่ ภาคพื้นเบื้องศีรษะของเรา ได้ตรัสคำนี้ว่า พวกเธอจงดูดาบสนี้ ผู้เป็นชฏิล มีตบะแก่กล้า ในกัปปนับไม่ถ้วน นับแต่กัปปนี้ไป เธอจักเป็นพระพุทธเจ้า ในโลก เธอจะเป็นพระตถาคตเสด็จออกจากนคร อันมีนามว่า กบิลพัสดุ์ ที่น่ารื่นรมณ์ ทรงตั้งความเพียร ทำทุกรกิริยา ประทับนั่งโคนต้นไม้ อชปาลนิโครธ ทรงรับข้าวปายาส ณ ที่นั่นแล้ว จะเข้าไปประทับ ณ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา พระชินเจ้า เสวยข้าวปายาส ที่ฝั่งแม่น้ำ เนรัญชรา แล้ว จะเสด็จมาประทับ ณ โคนต้นโพธิ์ โดยหนทางที่เขาแต่งไว้เป็นอันดี แต่นั้น จะทรงทำประทักษิณบัลลังก็ อันเป็นที่ผ่องใส แห่งพระโพธิญาณ แล้วจะตรัสรู้ธรรมอันเยี่ยมยอด เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระยศอันยิ่งใหญ่ ที่โคน ต้นอัสสัตถพฤกษ์ พระมารดา ผู้ชนนีของดาบสนี้ จักทรงพระนามว่า มายา พระบิดาจักทรงพระนามว่า สุทโธทนะ ดาบสนี้จักเป็นพระโคดม พระเถระ ๒ รูป คือ โกลิต และ อุปติสส ผู้ไม่มีอาสวะ ปราศจาก ราคะ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น จักเป็นอัครสาวก ภิกษุ พุทธอุปัฏฐาก ชื่อว่า อานนท์ จักอุปัฏฐาก พระพุทธเจ้านั้น นางเขมา และนางอุบลวรรรณา ผู้ไม่มีอาสวะ ปราศจาก ราคะ มีจิตสงบ มีจิตตั้งมั่น จักเป็นอัครสาวิกา ไม้เป็นที่ตรัสรู้พระผู้มีพระภาค ชื่อว่าอัสสตถ พวกมนุษย์ และเทวดาได้ยินพระดำรัสของพระมเหษีเจ้า ผู้ซึ่งไม่มีใครเสมอเหมือนนี้ว่า ผู้นี้จะเป็นหน่อพุทธางกูลผู้รู้แจ้ง ดังนี้แล้ว ก็พากันชื่นชม ทุกทั่วหน้า เสียงโห่ร้องก็บันลือลั่น พวกมนุษย์ และพวกเทวดาทั้งหมื่นโลกธาตุ ก็ปรบมือ กระพุ่มหัต นมัสการ ตั้งความปรารถนาไว้ว่า แม้ถ้าว่า พวกเราจะพลาดจากความศาสนาของพระโลกนาถนั้น ต่อไปในอนาคตกาล พวกเราก็จะพบกันกับดาบสนี้ เฉพาะพระพักตร์ ถ้าหากว่าพวกเราทุกคนพลาดจากพระชินเจ้าพระองค์นี้เสีย ต่อไปในอนาคตกาล พวกเราก็จะพบกันกับดาบสนี้ เฉพาะพระพักตร์ อุปมาเหมือนพวกมนุษย์ จะข้ามนทีธาร พลาดจากท่าตรงข้าม ครั้นมายึดท่าตอนล่างได้แล้ว ก็ข้ามมหานทีได้ ฉะนั้น ต้องคอยนานไหมคะ เพราะเหตุว่า การอบรมเจริญปัญญาที่จะดับกิเลส ไม่ใช่รวดเร็ว เพราะฉะนั้น มนุษย์ ในครั้งพระทีปังกร เมื่อได้ฟังคำพยากรณ์ของพระทีปังกร อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังคิดว่า แม้พวกท่านเหล่านั้น ถ้าพลาดจากศาสนาของพระทีปังกร สัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังได้มีโอกาสพบกับดาบสนี้เฉพาะพระพักตร์ ใน ๔ อสงไขยแสนกัปป บุคคลในครั้งนั้นไม่ได้ประมาทธรรมเลย ไม่ได้คิดว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยง่าย เพราะว่ากว่าที่พระสุเมธดาบสจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังจะต้องบำเพ็ญบารมี แล้วก็ได้รับคำพยากรณ์ จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกถึง ๒๔ พระองค์ รวมทั้งพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วย แต่คนในครั้งนั้นไม่ได้ท้อถอย กับปรบมือยินดีว่า ถึงแม้ว่าพลาดจากศาสนาของพระทีปังกรก็ยังมีโอกาสที่จะได้พบกับ สุเมธดาบสเฉพาะพระพักตร์เมื่อตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พอที่จะซาบซึ้งในพระมหากรุณาคุณไหมคะ

    4973 ความซาบซึ้งในพระพุทธคุณวัดได้จากกุศลจิตที่เจริญขึ้น

    ผู้ถาม. นีผมก็ยังมาสงสัยว่า การสวดมนต์ ขณะที่สวดมนต์ ระลึกถึง ก็ไม่ได้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ก็สวดไป เช่น อิติปิโส อย่างนี้ อรหัง ภควา ก็ท่องไปตามที่มี ขณะนั้นชื่อว่า เจริญพุทธานุสติหรอืไม่

    ท่านอาจารย์ ท่องคะ

    ผู้ถาม. ขณะที่ท่อง ไม่ได้เจริญพุทธานุสติ

    ท่านอาจารย์ อนุสติ เป็นการระลึกถึงพระคุณ ด้วยความเข้าใจในพระคุณ ถ้าไม่รู้ในพระคุณแล้ว จะเข้าใจไหมคะว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงมีพระมหากรุณาคุณอย่างไรบ้าง ในเมื่อไม่เข้าใจพระคุณของพระองค์เลย แต่เมื่อเข้าใจแล้ว สามารถที่จะระลึกถึงได้ตลอดวัน และคืน ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามที่ได้แสดงแล้ว หลายท่านเคยเป็นคนที่โกรธง่าย โกรธมาก โกรธแรง แต่เวลาที่สามารถบันเทาลงได้ เพราะระลึกถึงพระธรรม จะซาบซึ้งในพระคุณทันทีว่า ด้วยเหตุใด อกุศลของท่านในขณะนั้นจึงลดลง แล้วเหตุใดกุศลจึงเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ใช่ด้วยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดงไว้ เพราะฉะนั้น การเห็นพระคุณ จะเห็นได้ตลอดในขณะที่กุศลจิตที่ไม่เคยเกิด เกิดขึ้น แม้แต่ความเมตตา นี่คะ อาจจะเกิดน้อยมากในกาลก่อน แต่เมื่อได้เห็นคุณ เห็นอานิสงส์ เห็นประโยชน์ ว่าสิ่งใดเป็นคุณ สิ่งใดเป็นโทษ ธรรมที่ได้ยินได้ฟัง นี่คะ ก็เกื้อกูลเป็นปัจจัยให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญงอกงามขึ้น ขณะใดที่เกิดกุศล น้อมระลึกถึงคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทันที เกิดความสงบ เกิดความปีติ ในขณะที่ระลึกถึงพระคุณ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ท่อง คะ แต่เป็นการระลึกถึงพระคุณ เพราะฉะนั้น แต่ก่อนนี้เคยท่องเท่านั้น แต่เวลาที่มีความเข้าใจในพระธรรมยิ่งขึ้น ขณะที่ท่อง ระลึกถึงพระคุณด้วย หรือเปล่า แล้วแต่ขณะจิต เพราะว่าแต่ละขณะ ไม่เหมือนกัน บางครั้งก็อาจจะเป็นเพียงท่อง จบแล้ว ไม่ระลึกถึงพระคุณเลย หรืออาจจะพยายามระลึกบ้าง นิดๆ หน่อยๆ แต่บางครั้งก็เป็นไปด้วยความระลึกถึงพระคุณ ในขณะที่กล่าวถึงพระคุณ

    4974 ขณะสวดมนต์เป็นกุศลหรืออกุศลขึ้นอยู่กับสภาพจิต

    ผู้ถาม. ในเมื่อไม่ใช่เป็นการเจริญพุทธานุสติ แต่ว่าขณะที่สวดมนต์ ขณะนั้นจิตก็เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ แน่ใจหรือคะ แน่ใจหรือคะ

    ผู้ถาม. ก็ได้ยินว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ มิได้คะ แต่ละท่านไม่เหมือนกัน ให้เด็กๆ กล่าวถึงคำ ภาษาบาลี ซึ่งผู้ใหญ่เข้าใจดีว่า คำนั้นมีความหมายว่าอะไร แต่เด็กไม่เข้าใจ แต่เด็กท่องได้ จะสามารถรู้ไหมคะ เด็กที่กำลังท่อง เป็นกุศล หรือไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น กุศลจิตมีลักษณะสภาพของกุศลจิตให้รู้ว่าเป็นกุศล อกุศลจิตก็มีลักษณะสภาพของอกุศลจิตให้รู้ว่าเป็นอกุศล ซึ่งบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น แต่ละท่านตอบแทนกันไม่ได้ แต่ละท่านต้องพิจารณาสภาพจิตในขณะนั้น ตามความเป็นจริงซึงกุศลจิต และ อกุศลจิตเกิดดับสืบต่อกันเร็วมาก ยากที่จะรู้ ถึงแม้ในขณะนี้ ถ้าสติไม่เกิด ไม่สังเกตุ ไม่สำเหนียกไม่รู้จนชิน ในความต่างกันอย่างรวดเร็วของ กุศล และ อกุศล ก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า ใในขณะใดเป็นกุศล ในขณะใดเป็นอกุศล แตถ้าสติมีความชำนาญ แล้วก็สังเกตุรู้ลักษณะของกุศลจิต และ อกุศลจิต จนคล่องแคล่ว ก็สามารถที่จะรู้ว่า ในช่วงนั้น ขณะใดเป็นกุศล ขณะใดเป็นอกุศล แล้วกุศลมมาก หรืออกุศลมาก

    4975 จิตของผู้สวดมนต์บาลีอาจจะไม่เป็นกุศลเสมอไป

    ผู้ถาม. เรื่องนี้ ก็เพิ่งจะได้ยิน คนทั่วๆ ไป เขาก็กล่าวกัน ว่าขณะที่สวดมนต์ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ ใครสวด อย่าลืม นะคะ บุคคลที่เป็นพุทธศาสนิกชน มีศรัทธา หรือว่าบุคคลอื่น ซึ่งศึกษาภาษาบาลี แต่ไม่ได้มีความเลื่อมใสในพระศาสนา เพราะบทสวดเป็นภาษาบาลี ผู้ที่เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในทางภาษาบาลี มีมาก อาจจะกล่าวคำนั้นก็ได้ ท่องซ้ำไป ซ้ำมา เ หลาย ครั้งเพื่อจะดิดหาคำแปลที่ถูกต้อง ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าในขณะนั้นมีศรัทธา หรือว่ามีความเลื่อมใสที่เป็นกุศลจิต ธรรมเป็นเรื่องจริง แล้วก็เป็นเรื่องละเอียดด้วย แล้วก็มีสภาพปัจจัย แต่ละขณะที่จะเกิดขึ้น เป็นชาติกุศล หรือ เป็นชาติ อกุศล ตามเหตุ ตามปัจจัย ไม่สามารถที่จะกล่าวรวมไปได้ว่าจะต้องเป็นกุศลตลอดไป หรือ อกุศลเสมอไป แล้วแต่เหตุปัจจัย

    4976 กล่าวน้อยหรือกล่าวมากต้องรู้เองว่าเป็นกุศลจิตหรือไม่

    ผู้ถาม. แล้วก็มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องจริง เรื่อง ๑ คือ พระที่ท่านขณะที่นั่งสมาธิ แล้วก็ท่องพุทโธๆ ๆ ท่านก็ไม่ได้ระลึก ไม่ได้รู้คุณของพระพุทธเจ้า ว่าคุณของพระพุทธเจ้า มีอย่างไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทำไมถึงทราบเล่าคะ

    ผู้ถาม. ท่านกล่าวๆ

    ท่านอาจารย์ จิตของท่านเอง ท่านรู้คะ

    ผู้ถาม. ท่านก็กล่าวว่า ก็ในสมัยนั้น ท่านก็ไม่ได้ศึกษาอะไรมากมายแล้วก็ ไม่รู้ซึ้งอะไรมากมาย หรอก

    ท่านอาจารย์ ท่านทราบไหมคะ ว่าพุทโธ หมายความถึงใคร

    ผู้ถาม. ก็หมายความถึงผู้ที่ตรัสรู้ๆ

    ท่านอาจารย์ ท่านมีความเลื่อมใสในบุคคล นั้นไหมคะ

    ผู้ถาม. มี แต่ว่าคุณของท่านมีอะไรบ้าง ท่านก็ยังรู้ไม่มาก หรือ ไม่รู้เลย ก็ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าเกิดปีติ เลื่อมใส แม้เล็กน้อย ในความหมายของพุทโธ ขณะนั้นเป็นกุศลได้ไหม

    ผู้ถาม. ได้สิครับ แต่ทีนี้ท่านก็ใช้คำว่า ภาวนา ท่านก็ภาวนาว่าพุทโธๆ ๆ จนกระทั่ง เวลา ๑ ท่านเกิดปีติ ตัวเบา จนกระทั่งขนชูชัน เสร็จแล้วน้ำตาไหล เกิดจากการปีติ เพราะฉะนั้น การที่ว่าท่องพุทโธๆ ๆ ๆ นี่นะ ถึงแม้จะไม่รู้คุณของพระพุทธเจ้า ว่ามีอะไรบ้าง อานิสงส์ก็มีอยู่ เท่าที่พระท่านเล่า มันก็เป็นอานิสงส์ ทำให้จิตสงบได้ แล้วก็ทำให้สบายได้ โดยไม่ได้รู้คุณของพระพุทธเจ้า ว่ามีอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ แล้วอย่างไรคะ เป็นกุศลได้ ใช่ไหมคะ ในขณะนั้น แม้ว่าจะน้อยหรือจะมาก แต่ว่าท่านผู้นั้นต้องรู้เอง คะ

    4977 การกราบพระสวดมนต์ส่วนใหญ่เป็นกุศลขั้นศีล

    ท่านอาจารย์ สำหรับเรื่องการกราบพระ สวดมนต์ ที่เคยปฏิบัติกันตามประเพณีตั้งแต่เล็กจนกระทั่งโต ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า ส่วนมากแล้วเป็นกุศลขั้นศีล ขั้นอัปจายนะ การน้อบน้อมต่อบุคคลที่ควรน้อบน้อม แม้แต่การแสงความเคารพต่อผู้ที่ควรเคารพ เช่นครู อาจารย์ ญาติ ผู้ใหญ่ หรือว่าผู้มีคุณความดีต่างๆ นั่นก็เป็นกุศลขั้นศีล หรือ อัปจายนะ เพราะฉะนั้น การกราบพระสวดมนต์ โดยที่ไม่ได้ระลึกถึงพระคุณ ในขณะนั้นเป็น กุศลขั้นศีล ไม่ใช่ขั้นสมถภาวนา เพราะว่าในขณะนั้น เมื่อไม่ได้ระลึกถึงพระคุณ จิตไม่สงบ แต่เป็นกุศลที่แสดงความน้อบน้อมต่อพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศล แต่เป็นว่าเป็นกุศลขั้นศีล

    4978 พระพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยสัมปทา ๓

    ผู้ถาม. สำหรับเรื่องเกี่ยวกับการ ตะกี้นี้ท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องการกราบพระ ถ้าหากว่าเป็นสมัยก่อนนี้ ก็ การกราบพระครั้ง ๑ ก็ถึงจะมีกุศลจิตเกิดครั้ง๑ เมื่อดิฉันได้ฟังอาจารย์บรรยายแล้ว แล้วก็ประพฤติปฏิบัติตามที่อาจารย์บรรยายทุกประการ ก็ทำให้รู้สึกว่า ความซาบซึ่งในพระมหากรุณคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้นสมบูรณ์ทุกประการ คะ แต่ก่อนนี้ก็รู้เหมือนกันคะ เคยได้ยินว่าพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ แต่ก็รู้แต่เพียงชื่อเท่านั้นเอง ส่วนลักษณะของพระคุณที่แท้จริงนั้น ถ้าหากว่ายังไม่ได้เจริญสติ จนกระทั่งสามารถที่จะ พึ่งพระธรรม พอที่จะปกป้องความเดือดร้อนได้เป็นบางครั้ง บางคราวแล้ว ก็เห็นจะมียากคะ เข้าใจยากด้วยคะ แต่ว่าถ้าหากว่าเจริญสติมานาน พอสมควรแล้ว คำว่า พุทธคุณ พระมหากรุณาคุณ ซาบซึ้งทีเดียวคะ อันนี้เป็นความจริงอย่างยิ่ง

    ท่านอาจารย์ ก็ขออนุโมทนา แล้วก็ขอกล่าวถึงผลของการบำเพ็ญบารมี ของพระผู้มีพระภาค ด้วย ซึ่งเมื่อเหตุคือการบำเพ็ญพระบารมี ถึงพร้อมแล้ว ก็เป็นเหตุให้พระองค์ได้ รับผล สัมปทา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงถึงพร้อมด้วย สัมปทา ๓ คือ ๑ เหตุสัมปทา ๒ พลสัมปทา ๓ สัตตรูปการสัมปทา สำหรับเหตุสัมปทาก็คือ การถึงพร้อมด้วยเหตุคือพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญ ๔ สองไขยแสนกัปป ทำให้ทรงบรรลุพละ หรือผล สัมปทา ๔ คือ ๑ ญาณสัมปทา ซึ่งเป็นการถึงพร้อมด้วยมรรคญาณ อันเป็นที่ตั้งแห่งพระสัพพัญญุตญาณ และพระทศพลญาณ และพระเวสารัชชญาณ และพระญาณทั้งหมดซึ่งสมบูรณ์พร้อมในพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพราะเหตุว่าได้ทรงบำเพ็ญ พระบารมี ถึงการที่จะได้บรรลุคุณธรรม เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อบรรลุคุณธรรม เป็นเพียงพระอริยสาวก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 4
    4 ม.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ