วิเวกสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๒
คือ
วิเวกสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ ๓๕๓
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ ๓๕๓
๑. วิเวกสูตร ว่าด้วยเทวดาเตือนพระภิกษุ
[๗๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :- สมัยหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่ง พำนักอยู่ในแนวป่าแห่งหนึ่ง ในแคว้นโกศลสมัยนั้นแล ภิกษุรูปนั้น พักผ่อนกลางวัน ตรึกอกุศลวิตกอันลามก อิงอาศัยเรือน
[๗๖๒] ครั้งนั้น เทวดาที่สิงอยู่ในป่านั้น มีความเอ็นดูใคร่ประโยชน์แก่ภิกษุนั้น หวังจะให้เธอสลดใจ จึงเข้าไปหาแล้ว กล่าวกะเธอด้วยคาถาว่า
ท่านใคร่วิเวก จึงเข้าป่า ส่วนใจของท่านแส่ซ่านไปภายนอก ท่านเป็นคน จงกำจัดความพอใจในคนเสีย แต่นั้น ท่านจักเป็นผู้ มีความสุข ปราศจากความกำหนัด ท่านมีสติ ละความไม่ยินดีเสียได้ เราเตือนให้ท่านระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ ธุลีคือกิเลส ประดุจบาดาลที่ข้ามได้ยาก ได้แก่ ความกำหนัดในกาม อย่าได้ครอบงำท่านเลย นกที่เปื้อนฝุ่น ย่อมสลัดธุลีที่แปดเปื้อน ให้ตกไป ฉันใด ภิกษุผู้มีความเพียร มีสติ ย่อมสลัดธุลีคือกิเลส ที่แปดเปื้อนให้ตกไป ฉันนั้น ดังนี้
ลำดับนั้น ภิกษุนั้นเป็นผู้อันเทวดานั้นเตือนให้สังเวช ถึงซึ่งความสลดใจแล้วแล
จบวิเวกสูตรที่ ๑
อรรถกถาวิเวกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในวิเวกสูตรที่ ๑ แห่งวนสังยุตต่อไปนี้ :-
บทว่า โกสเลสุ วิหรติ ความว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง เรียนกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปอยู่ในแคว้นโกศลนั้น เพราะชนบทนั้นหาภิกษาได้ง่าย
บทว่า สํเวเชตุกามา ได้แก่ ใคร่เพื่อจะให้ภิกษุนั้นถึงวิเวก
บทว่า วิเวกกาโม คือ ปรารถนาวิเวก ๓
บทว่า นิจฺฉรติ พหิทฺธา คือ เที่ยวไปในอารมณ์เป็นอันมากที่เป็นภายนอก
บทว่า ชโน ชนสฺมึ ความว่า ท่านจงละฉันทราคะในคนอื่น
บทว่า ปชหาสิ แปลว่า จงละ
บทว่า ภวาสิ แปลว่า จงเป็น
บทว่า สตํ ตํ สารยามเส ความว่าแม้เราย่อมยังบัณฑิตผู้มีสติให้ระลึกถึงธรรมนั้น หรือว่า เราย่อมยังผู้นั้นให้ระลึกถึงธรรมของสัตบุรุษ
บทว่า ปาตาลรโช ความว่า ธุลีคือกิเลสที่เรียกว่าบาดาลเพราะอรรถว่า ไม่มีที่ตั้ง
บทว่า มา ตํ กามรโช ความว่า ธุลีคือกามราคะนี้อย่าครอบงำท่าน อธิบายว่า อย่านำไปสู่อบายเลย
บทว่า ปํสุกุณฺฑิโต แปลว่า เปื้อนฝุ่น
บทว่า วิธุนํ แปลว่า กำจัด
บทว่า สิตํ รชํ ได้แก่ ฝุ่นที่ติดตัว
บทว่า สํเวคมาปาทิ ความว่า ชื่อว่า แม้เทวดาย่อมยังเราเท่านั้นให้ระลึกถึง ฉะนั้น จึงชื่อว่า ถึงวิเวก หรือว่า ประคองความเพียรอันสูงสุดแล้วปฏิบัติให้เป็นวิเวกอย่างยิ่ง
จบอรรถกถาวิเวกสูตรที่ ๑
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
วิเวกสูตร
(ว่าด้วยเทวดาเตือนพระภิกษุ)
พระภิกษุรูปหนึ่ง อาศัยอยู่ในป่า แต่มากไปด้วยอกุศล ตรึกไปด้วยอกุศลวิตก เทวดาที่อยู่ในป่านั้น มีความมุ่งหวังประโยชน์ต่อท่าน ประสงค์ที่จะให้ท่านเกิดความสลดใจ จึงได้เข้ามาหาท่านแล้วกล่าวด้วยคาถา ซึ่งเป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง เตือนด้วยพระธรรมให้เห็นโทษภัยของกิเลส ซึ่งเป็นสิ่งที่ข้ามพ้นได้ยาก ควรอย่างยิ่งที่จะมีความเพียรในการอบรมเจริญปัญญาเพื่อสลัดออกซึ่งธุลี (สิ่งสกปรก) คือกิเลสที่แปดเปื้อนให้ตกไป เหมือนกับนกที่มีฝุ่นเปื้อนตามตัว ก็สลัดฝุ่นนั้นให้ตกไป ฉะนั้น
ในที่สุดพระภิกษุรูปนั้นเมื่อได้รับการเตือนจากเทวดาแล้วก็เกิดสลดใจ
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างครับ
วิเวก ๓ [ปริสาสูตร]
กรรมฐานกับสติปัฏฐานกิเลสหมายถึงอะไร
ไม่ศีกษาพระธรรม ดับกิเลสไม่ได้
สลดใจ กับ สังเวชใจ
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...