จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029


    นามขันธ์ทั้ง ๔ คือ จิตและเจตสิกต้องเกิดร่วมกัน

    เพราะฉะนั้นเวลานอนหลับสนิท จิตเป็นชาติวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม ซึ่งทำให้คนนั้นยังไม่ตาย จึงเพียงหลับ ดำรงภพชาติอยู่ และเมื่อจิตเกิดขึ้นก็ย่อมมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย และเวทนาเจตสิกนั้นเกิดกับจิตทุกดวง แต่เมื่อจิตเป็นชาติวิบาก เป็นผลของอดีตกรรม เวทนาที่เกิดพร้อมกับภวังคจิตซึ่งเป็นวิบากจิตนั้นก็เป็นชาติวิบากด้วย และรู้อารมณ์เดียวกัน คือ ไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ในขณะที่ตื่น แต่ว่าเวทนาก็มี ถ้าจิตเกิด เวทนาเจตสิกก็ต้องเกิดร่วมด้วย มีความรู้สึกในอารมณ์ ซึ่งไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้

    เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่การที่รู้สึกตัว เหมือนทางตาที่กำลังเห็น ทางหูที่กำลังได้ยิน แต่ว่าเวทนาเจตสิกนั้นต้องเกิดขึ้นพร้อมกับจิตและดับพร้อมกับจิต

    เพราะฉะนั้นไม่มีใครสามารถที่จะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิก ซึ่งเกิดในขณะที่กำลังหลับได้

    7300 เมื่อตื่นขึ้น อะไรตื่น

    ก็ไม่ต้องเป็นห่วงกังวล ใช่ไหมคะ ในขณะที่หลับ แต่เมื่อตื่นขึ้นนี้ ก็น่าที่จะคิดอีกว่า อะไรตื่น ตอนหลับก็น่าคิดว่า อะไรหลับ รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่นามธรรมเป็นสภาพรู้ เมื่อไม่รู้อารมณ์ที่ปรากฏในโลกนี้ จึงชื่อว่า “หลับ” เพราะเหตุว่ายังไม่ตาย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่ตื่นนี้ อะไรตื่น จิต เจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ทางใจ รู้อารมณ์ของโลกนี้ขณะใดก็เป็นการตื่นขึ้นขณะนั้น

    7301 พิจารณาธรรมให้ละเอียดขึ้นไปอีก เพื่อเกื้อกูลการเจริญสติปัฏฐาน

    แต่ก็น่าที่จะพิจารณาให้ละเอียดขึ้นไปอีกนะคะ เพื่อประโยชน์แก่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะการที่จะพูดถึงธรรม เพื่อจุดประสงค์เดียวคือ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้นก็เป็นวิริยารัมภกถา คือ คำพูดที่อุปการะเกื้อกูลให้เกิดวิริยะ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ก็ควรที่จะได้คิดว่า ขณะที่ตื่น คือจิตและเจตสิกเกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลกนี้ตามที่เข้าใจกัน แต่ก็น่าที่จะคิดให้ลึกซึ้งไปอีกว่า อะไรตื่น

    ธรรมหลายอย่างค่ะ มีจิตหลายชนิด มีเจตสิกที่เกิดพร้อมกับจิตตื่นขึ้น วิบากจิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รู้รสที่ปรากฏทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งยับยั้งไม่ได้เลย วิบากจิตเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น

    7302 จะหลับอยู่ตลอดไปได้หรือไม่

    จะหลับอยู่ตลอดไปได้ไหมคะ ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย กรรมไม่ได้ทำให้เกิดขึ้น แล้วหลับไปจนกระทั่งตาย แต่ว่ามีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย เพื่อที่จะให้จิตเกิดขึ้น เห็นสิ่งที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เป็นผลของอกุศลกรรม มีหูเพื่อจะให้วิบากจิตเกิดขึ้น ได้ยินเสียงที่ดี เป็นผลของกุศลกรรม ได้ยินเสียงไม่ดี เป็นผลของอกุศลกรรม

    เพราะฉะนั้นวิบากจิตเกิดขึ้น ตื่นขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นอกจากนั้นมีอะไรอีกไหมคะ ตื่นขึ้นนี่ล่ะค่ะ ชีวิตประจำวัน เรียนเรื่องจิตกับเจตสิก ก็ต้องรู้ว่า เมื่อตื่นแล้ว นอกจากวิบากจิตเกิดขึ้นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสแล้ว อะไรตื่นอีก

    7303 กิเลสตื่นบ่อยในชีวิตประจำวัน

    อะไรตื่นบ่อย อกุศลหรือกุศล เริ่มตื่น หลับอยู่ดีๆ มีอนุสัยกิเลส แต่ว่ากิเลสในขณะนั้นไม่ได้เกิดขึ้นทำกิจยินดี ยินร้าย เพราะเหตุว่ายังไม่มีการเห็น การได้ยินอารมณ์ของโลกนี้ ยังหลับสนิทอยู่ กิเลสก็หลับ แต่เวลาที่ตื่นขึ้นขอให้ทราบว่า กิเลสตื่นทันที หลังจากที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ดีไหมคะ

    จำแนกจิตโดยภูมิ ๔ คือ เป็นกามาวจรจิต เป็นรูปาวจรจิต เป็นอรูปาวจรจิต เป็นโลกุตตรจิต ประณีตขึ้นตามลำดับ แต่สำหรับจิตของคนส่วนมาก ก็เป็นไปกามภูมิ นอกจากจะเป็นภูมิที่ต่ำที่สุดแล้ว โดยชาติ ก็ยังเป็นชาติที่เลว คือ เป็นอกุศลที่ตื่นขึ้นเป็นประจำ เวลาที่กุศลจิตไม่เกิด เมื่อมีการเห็น ยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น เมื่อมีการได้ยิน ก็ปกติยินดี พอใจในเสียงที่ได้ยิน เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่แล้ว โลภมูลจิตเกิดบ่อยกว่าโทสมูลจิต ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่แช่มชื่น และเป็นสภาพจิตที่หยาบกระด้าง แต่เวลาที่แม้ว่าเป็นชาติที่เลว คือ เป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลขั้นกามาวจรภูมิ กามาวจรจิตก็เป็นจิตที่ดี แต่ถ้าเป็นกุศลที่เป็นรูปาวจรจิตอีกขั้นหนึ่ง ก็เป็นจิตที่ดีกว่า ถ้าเป็นจิตที่เป็นโลกุตตรจิต ก็เป็นจิตที่ดีที่สุด แต่ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านมีจิต เจตสิก เกิดดับ และเมื่อตื่นขึ้นก็มีจิตที่เป็นขั้นกาม เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ก็เป็นชั้นเลว คือ เป็นอกุศล

    ต้องยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็จะอบรมเจริญกุศล ให้พ้นจากสภาพของจิตชั้นเลวไม่ได้ คือว่ายังคงเป็นอกุศลจิตอยู่มากเหลือเกิน แล้วยังมีความยินดีพอใจในอกุศลนั้นๆ ด้วย ไม่เห็นว่าเป็นโทษ

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า ที่ตื่นขึ้นมาส่วนใหญ่แล้ว กิเลสตื่นทั้งนั้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วแต่ว่ากิเลสของใครจะวุ่นวายสักแค่ไหน จะทำให้เกิดความเดือดร้อนใจและกายสักแค่ไหน แต่ว่าเมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็ยังจะมีการขวนขวายที่จะอบรมเจริญกุศลให้เกิด เพราะรู้ว่าเป็นผู้ที่มีอกุศลมาก ไม่ว่าจะเป็นโดยขั้นของทาน ขั้นของศีล ขั้นของความสงบของจิต หรือว่าขั้นที่เป็นสติปัฏฐาน ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    7304 คุณของกุศล คุณของการอบรมเจริญสติปัฏฐาน

    มีใครที่ยังไม่เห็นคุณของกุศล หรือว่าการอบรมเจริญสติปัฏฐานไหมคะ ว่าสามารถที่จะทำให้ละคลายอกุศลให้น้อยลง จนกระทั่งสามารถจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    นี่คือการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนา ก็เป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจได้ ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง

    7305 ไม่มีตัวตนที่จะดับกิเลส นอกจากปัญญาที่เจริญขึ้น

    เพราะฉะนั้นสภาพธรรมทั้งหลาย ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดมีอำนาจที่จะยับยั้ง หรือที่จะดับอกุศลได้ ทั้งๆ ที่รู้ว่า มีอกุศลมาก มีกิเลสมาก ก็ยังไม่สามารถมีตัวตนที่ดับกิเลสและอกุศลเหล่านั้น นอกจากปัญญาที่ค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น จนกระทั่งสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเสียก่อน แล้วจึงจะละคลายโลภะ โทสะ โมหะ ลงได้ แต่ว่าไม่ใช่ใครสามารถละโลภะได้เสียก่อน แล้วจึงจะอบรมเจริญปัญญาที่จะเป็นพระโสดาบันในภายหลัง

    ถึงแม้ว่าโลภะจะเกิดขึ้นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และปัญญาก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดดับ

    7306 ถ้าไม่รู้ลักษณะของเวทนา อาจจะคิดว่า อกุศล เป็น กุศล

    สำหรับเวทนา ๕ ก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า สุขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณจิต ๑ ดวง ทุกขเวทนาเกิดกับกายวิญญาณจิต ๑ ดวง โทมนัสเวทนาเกิดกับโทสมูลจิต ๒ ดวง โสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนาเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ ที่เป็นอกุศลก็ได้ ที่เป็นวิบาก ที่เป็นกิริยาก็ได้ แต่สำหรับโทมนัสเวทนานั้นเกิดกับจิตที่เป็นกุศล วิบาก กิริยาไม่ได้ โทมนัสเวทนานั้นจะเกิดได้เฉพาะกับจิตที่เป็นอกุศล คือ โทสมูลจิตเพียง ๒ ดวงเท่านั้น

    ถ้าไม่รู้อย่างนี้ บางท่านอาจจะคิดว่า อกุศลเป็นกุศล เช่น เวลาที่เกิดความรู้สึกสงสาร เวลาที่เห็นบุคคลอื่นประสบกับความทุกข์ยากเดือดร้อน ใคร่ที่จะช่วยเหลือให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ยาก ในขณะที่เกิดจิตที่ประกอบด้วยความกรุณา สภาพธรรมที่เป็นกรุณาเจตสิก ขณะนั้นเป็นกุศลจิต แต่ต้องระวังนะคะ จะต้องรู้ลักษณะของเวทนาในขณะนั้นว่า เป็นความไม่แช่มชื่นหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นประกอบด้วยความรู้สึกโทมนัส เสียใจ ไม่แช่มชื่น ในขณะนั้นเป็นอกุศลจิต

    ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะละคลายความรู้สึกที่เสียใจ โทมนัส หรือไม่แช่มชื่น แล้วสามารถที่จะช่วยเหลือบุคคลอื่นให้พ้นจากความทุกข์ยากด้วยจิตที่ไม่ได้โทมนัส ไม่ได้เสียใจ หรือว่าไม่แช่มชื่น แต่ต้องรู้ว่า เป็นอกุศล จึงจะละได้ จึงจะคลายได้ เพราะว่าโดยมากบางท่านเข้าใจว่า ถ้าเห็นคนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อน ก็จะต้องพลอยเศร้าโศกเสียใจ เป็นทุกข์กับบุคคลนั้นด้วย แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกเสียใจ ความโทมนัสเป็นอกุศล ไม่ใช่กุศล

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เห็นบุคคลอื่นเดือดร้อน ก็พอที่จะระลึกถึงสภาพเวทนา ความรู้สึกของท่านได้ว่า ขณะนั้นเป็นความรู้สึกประเภทใด ถ้าเป็นความรู้สึกโทมนัส ทราบได้ทันทีว่าเป็นอกุศล ซึ่งไม่ควรจะให้เกิดขึ้น สามารถที่จะช่วยบุคคลอื่นได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นทุกข์ โทมนัส หรือว่าเดือดร้อนใจ

    7307 เวลาเจอสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ ควรจะเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะเกี่ยวกับเวทนาเจตสิก

    ผู้ฟัง ทีนี้ผมก็คิดต่อไปว่า ถ้าเราไปพบสิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ เราควรจะอย่างไรล่ะครับ

    ท่านอาจารย์ ควรได้ค่ะ ควรเป็นกุศล แล้วแต่กุศลจะเกิดหรือไม่เกิด

    ผู้ฟัง เราดีใจก็เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ อนุโมทนาในสิ่งที่คนนั้นได้รับซึ่งเป็นผลชองอดีตกุศลกรรมของเขา ได้ไหมคะ ใครก็ตามที่มีทุกอย่างที่น่าชื่นชมยินดี แล้วเราก็นึกถึงเหตุ คือ บุญกุศลที่บุคคลนั้นได้กระทำมาดีแล้ว แล้วก็อนุโมทนาในกุศลซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับผลของบุญนั้น

    7308 จักขุสัมผัสสชาเวทนา กับ การระลึกรู้ลักษณะของเวทนา

    ผู้ฟัง แล้วผมก็คิดไปอีกหน่อยหนึ่งว่า เวทนาในพระสูตรหลายๆ สูตร โดยมากก็ไปลงเอยที่ว่า เช่นทางตา ก็ว่าเป็นจักขุสัมผัสสชาเวทนา ที่เห็นแล้ว ดีใจ เสียใจ หรือเฉยๆ ทั้ง ๖ ทางก็อย่างนี้ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ จักขุสัมผัสชาเวทนา หมายเฉพาะเวทนาเจตสิกที่เกิดกับจักขุวิญญาณดวงเดียว

    ผู้ฟัง ข้อความภาษาไทยต่อไปที่ว่า เห็นแล้วดีใจ เห็นแล้วเสียใจ เห็นแล้วเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ อันนั้นหลังจากเห็นค่ะ

    ผู้ฟัง เราจะทราบได้ก็เห็น ๓ อันนี้ใช่ไหมครับ ส่วนที่ว่า เวลาเห็นแล้ว เวทนาจะต้องเป็นอุเบกขาเวทนา เรามีโอกาสจะทราบไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ความรู้สึกเฉยๆ มีจริงนะคะ กำลังเป็นความรู้สึกเฉยๆ แล้วสติระลึกรู้ในลักษณะของความเฉยๆ ซึ่งไม่ง่ายเลย ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่าลักษณะของนามธรรมนี้ไม่ใช่รูปธรรม เป็นแต่เพียงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ และสำหรับวิญญาณขันธ์ซึ่งเป็นจิต เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์แต่ละทาง เช่น สีสันวรรณะปรากฏทางตา สีมีมากเหลือเกิน ไม่ว่าน้ำเน่าก็สีหนึ่ง น้ำขังก็อาจจะอีกสีหนึ่ง หรือว่าน้ำฝนก็อาจจะเป็นอีกสีหนึ่ง ก็แล้วแต่ แต่ไม่ว่าจะเป็นสีน้ำชนิดใดก็ตาม ต่างกันเล็กน้อยหรือต่างกันอย่างไรก็ตาม จักขุวิญญาณเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะนั้นเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ซึ่งเห็นจริงๆ ในสิ่งที่ปรากฏ ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐาน แต่เห็นทุกอย่าง ถ้าจะมีเพชรสักเม็ดหนึ่งตกลงไปในโคลนตม หรือว่าในแม่น้ำลำคลอง จักขุวิญญาณก็ยังเห็นสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง คือ สีที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสีอะไรทั้งหมด นอกจากเพชร แล้วก็อาจจะเป็นเครื่องประดับอย่างอื่น อัญญมณีชนิดอื่น จักขุวิญญาณก็เห็นความต่างกันของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นที่ปรากฏ เพราะเหตุว่านามธรรมเป็นเพียงสภาพรู้หรือธาตุรู้ แต่ไม่ใช่เพียงจิตเท่านั้นซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ เจตสิกก็เป็นสภาพรู้อารมณ์ แต่มีลักษณะและกิจการงานต่างกับจิต เพราะเหตุว่าจิตเป็นเพียงสภาพที่รู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏแต่ละทาง ทางหู เสียงต่างๆ ชนิด จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งเสียงต่างๆ ชนิด แต่ว่าเจตสิกอื่นรู้อารมณ์เดียวกับจิต พร้อมกับจิต แต่ไม่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เพราะเจตสิกแต่ละชนิดก็มีลักษณะต่างกัน มีกิจการงานต่างกัน

    เพราะฉะนั้นเวทนาเจตสิกไม่ใช่จิตซึ่งรู้แจ้งในอารมณ์ต่างๆ ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏ แต่ว่าเวทนาเจตสิกเป็นสภาพที่รู้สึกทันทีที่จิตรู้อารมณ์ เพราะฉะนั้นก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นความรู้สึก ถ้าไม่ใช่การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นชีวิตปกติประจำวัน ถ้าถามดูว่า รู้สึกอย่างไร ตอบกันได้ทุกคน ใช่ไหมคะ เฉยๆ หรือว่าดีใจ หรือว่าหงุดหงิด ไม่แช่มชื่น ไม่สบายใจ อาจจะบอกได้ว่า วันนี้ไม่สบายใจ บอกได้ทุกอย่าง ลักษณะสภาพของความรู้สึก แต่เวลาที่สติจะระลึกตรงลักษณะของความรู้สึก หาเจอไหมคะ อยู่ที่ไหน ความรู้สึก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมซึ่งเกิดพร้อมจิต จิตกำลังเห็นทางตา ความรู้สึกเกิดทันที พร้อมกับจักขุวิญญาณที่เห็น

    ในขณะที่โสตวิญญาณได้ยินเสียง ขณะนี้ที่เสียงปรากฏ มีสภาพที่ได้ยินเสียงที่ปรากฏ และมีความรู้สึกที่เกิดพร้อมกับสภาพที่ได้ยินเสียง ในขณะนั้นเมื่อมีการกระทบสัมผัสอารมณ์แล้ว ที่จะไม่ให้เกิดเวทนา หรือความรู้สึกนี้ไม่ได้เลย ใครจะยับยั้งไม่ให้เวทนาเจตสิกเกิดไม่ได้ เมื่อมีการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ มีการรู้อารมณ์เกิดขึ้น เวทนาเจตสิกต้องเกิดขึ้นรู้สึกในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ทุกครั้ง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม ซึ่งเป็นความรู้สึก รู้ยากใช่ไหมคะ ไม่เหมือนกับเวลาที่ตอบง่ายๆ ว่า เสียใจ ดีใจ หรือว่าเฉยๆ เพราะเหตุว่าเป็นนามธรรม รู้สึกยังไงคะ เมื่อกี้นี้ ต้องมีความรู้สึกแน่นอนค่ะ ถ้าสติไม่ระลึกก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นรู้สึกอย่างไร ทันทีที่ได้ยินแล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้นเรื่องของเวทนาเจตสิกซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรม ซึ่งทำให้จิตต่างๆ กันออกไป สามารถที่จะให้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นจิตบ้าง หรือว่าเป็นเวทนาเจตสิก เป็นความรู้สึกบ้าง จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งถ้าได้รู้เรื่องของสภาพธรรมเหล่านั้นเพิ่มขึ้น ก็จะเป็นปัจจัยเกื้อกูลให้ไม่หลงลืม เวลาที่เฉยๆ หรือเวลาที่ดีใจ หรือเวลาที่เป็นทุกข์ เวลาที่เป็นสุข เวลาที่เสียใจ แทนที่จะยิ่งเสียใจใหญ่ ก็เป็นสติที่ระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงความรู้สึกที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย นั่นเป็นคุณประโยชน์ของสติปัฏฐาน ที่ทำให้ละคลายความทุกข์ แม้ในขณะที่รู้สึกไม่แช่มชื่น

    7309 เจตสิกที่เกิดกับจิตทำให้จิตต่างกันโดยชาติ โดยภูมิ

    ขอกล่าวถึงอรรถ คือ ความหมายที่เป็นลักษณะของจิตประการที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

    อนึ่ง จิตแม้ทุกดวง ชื่อว่า จิต เพราะเป็นธรรมชาติวิจิตรตามสมควร โดยอำนาจแห่งสัมปยุตตธรรม

    เจตสิกที่เกิดกับจิต ทำให้จิตต่างกันไป ซึ่งก็ได้กล่าวถึงแล้ว โดยนัยของชาติ ๔ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑ เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ ต่างออกไป โดยภูมิ ๔ ทำให้จิตต่างกันเป็นภูมิ ๔ คือ เป็นกามาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นอรูปาวจรจิตประเภทหนึ่ง เป็นโลกุตตรจิตประเภทหนึ่ง และสัมปยุตตธรรมยังจำแนกให้จิตต่างกัน โดยเวทนาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกดวง ทำให้จิตประกอบด้วยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อุเบกขาเวทนาบ้าง โสมนัสเวทนาบ้าง โทมนัสเวทนาบ้าง

    นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า จิตเกิดดับ จึงได้ต่างกันไป เพราะเหตุว่าในขณะที่เป็นทุกขเวทนา ย่อมจะเป็นสุขเวทนาร่วมด้วยไม่ได้ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นทุกขเวทนาต้องดับก่อน แล้วจึงจะมีปัจจัยให้เวทนาอื่นเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรจะยึดถือว่าเป็นจิต ซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ หรือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะว่าตามความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเกิดดับทุกขณะ

    7310 เจตสิกที่เกิดกับจิตทำให้จิตต่างกันโดยเวทนา

    สำหรับสัมปยุตตธรรมที่จำแนกให้จิตต่างกันออกไป ประเภทต่อไป คือ โดยสัมปยุตต์และวิปปยุต์

    เวลาที่ศึกษาเรื่องของจิต จะรู้ได้เลยว่า จิตนั้นเป็นชาติอะไร กุศล หรืออกุศล หรือวิบาก หรือกิริยา

    จะรู้โดยภูมิว่า จิตนั้นเป็นภูมิอะไร เป็นกามาวจรจิต หรือรูปาวจรจิต หรืออรูปาวจรจิต หรือโลกุตตรจิต

    จะรู้ได้ว่า จิตนั้นเป็นเวทนาอะไร เวลาที่จิตประเภทนั้นเกิดขึ้น เวทนาที่เกิดร่วมด้วยจะเป็นเวทนาอะไร เช่น เวลาที่อกุศลวิบากจิตเกิดขึ้นทางกาย เวทนาต้องเป็นทุกขเวทนา จะเป็นอุเบกขาเวทนา หรือโสมนัสเวทนา หรือสุขเวทนาไม่ได้

    หรือเวลาที่อกุศลจิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น เวทนา ความรู้สึกที่เกิดร่วมด้วย จะต้องเป็นเวทนาอะไร เช่นเวลาที่จิตประกอบด้วยโทสะ สภาพที่หยาบกระด้าง ซึ่งทุกคนรู้จักในลักษณะที่เป็นความโกรธ เวลาที่จิตโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเวทนาต้องเป็นโทมนัสเวทนา จะเป็นโสมนัสเวทนา หรืออุเบกขาเวทนาไม่ได้

    7311 จิตจำแนกต่างกันโดยสัมปยุต และ วิปยุต มี ๕ ประการ

    สำหรับประการต่อไป คือ จิตจำแนกโดยสัมปยุตต์และวิปปยุตต์

    ท่านผู้ฟังได้ทราบความหมายของสัมปยุตตธรรม ซึ่งหมายความถึงเจตสิกที่เกิดกับจิต นัยหนึ่ง แต่เวลาที่กล่าวถึงจิตประเภทต่างๆ จะมีจิตที่ต่างกันโดยเป็นสัมปยุตต์กับวิปปยุตต์ ซึ่งมีอยู่ ๕ ประการ คือ

    จิตที่ประกอบด้วยทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต เกิดกับโลภมูลจิต ประเภทหนึ่ง ซึ่งถ้าโลภะนั้นเกิดขึ้นไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดแล้ว จะชื่อว่า ทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ถ้าประกอบกับเจตสิกนั้น ชื่อว่า “สัมปยุตต์” ถ้าไม่ประกอบด้วยเจตสิกนั้น ชื่อว่า “วิปปยุตต์” เช่น โลภมูลจิต มี ๘ ดวง ต่างกันโดยเป็นสัมปยุตต์ ๔ ดวง โดยเป็นวิปปยุตต์ ๔ ดวง คือ โลภมูลจิต ๔ ดวง ประกอบด้วยความเห็นผิด จึงเป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ส่วนโลภมูลจิตอีก ๔ ดวง ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด จึงเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์

    ถ้าไม่ประกอบด้วยเจตสิกนั้น ก็เป็นวิปปยุตต์ ถ้าประกอบด้วยเจตสิกนั้นก็เป็นสัมปยุตต์

    ซึ่งโดยนัยของสัมปยุตต์และวิปยุตต์ มีอยู่ ๕ นัย คือ เป็น ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์ เกิดโลกมูลจิต ๑ เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ คือ สภาพที่หยาบกระด้าง เป็นโทสะ ซึ่งเกิดกับโทสมูลจิตเท่านั้น ไม่เกิดกับจิตอื่น ๑ เป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เกิดกับโมหมูลจิต ๑ เป็นอุทธัจจสัมปยุตต์ เกิดกับโมหมูลจิต ๑ เป็นญาณสัมปยุตต์ เกิดกับกุศลจิต หรือโสภณจิต ๑ และญาณวิปปยุตต์ ก็เกิดกับโสภณจิตเช่นเดียวกัน ๑

    เพราะฉะนั้นโดยนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์ ๕ เป็นอกุศลสัมปยุต ๔ คือ เป็นทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ๑ เป็นปฏิฆสัมปยุตต์ ๑ เป็นวิจิกิจฉา สภาพที่สงสัย ไม่แน่ใจในสภาพธรรม ๑ เป็นอุทธัจจะ เป็นสภาพที่ไม่สงบ ๑ และเป็นญาณสัมปยุตต์ หรือวิปปยุตต์ อีก ๑ โดยรวมเป็นนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์แล้ว มี ๕ นัย

    มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในเรื่องนี้ ความจริงยังไม่ถึงนะคะ เพียงแต่แสดงให้เห็นว่า เมื่อศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียดแล้ว ก็จะมีจิตที่จำแนกออกเป็นนัยอะไรบ้าง เช่น โดยนัยของชาติ โดยนัยของภูมิ โดยนัยของเวทนา โดยนัยของสัมปยุตต์และวิปปยุตต์

    7312 ทิฏฐิสัมปยุต ๔ ทิฏฐิวิปยุต ๔ ทำให้โลภมูลจิต ๘ ดวงมีความต่างกัน

    ถาม โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตกับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตนี้ อาจารย์พอจะมีตัวอย่างบ้างไหมครับที่ว่า ขณะใดที่เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต ขณะใดเป็นทิฏฐิคตวิปปยุต

    ท่านอาจารย์ โลภมูลจิตทั้งหมดโดยจำนวน มี ๘ แล้วก็เป็นทิฏฐิคตสัมปยุต ๔ เป็นทิฏฐิคตวิปปยุต ๔ ก่อนอื่นก็ควรที่จะสงสัยว่า เจตสิกอื่นๆ ก็เกิดกับโลภมูลจิตเหมือนกัน ทำไมจึงไม่ยกเจตสิกอื่นๆ ขึ้นมาเป็นธรรมที่สัมปยุตหรือวิปปยุตกับโลภมูลจิต ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่าทิฏฐิที่เกิดร่วมกับโลภะ ทำให้เห็นความต่างกันของโลภะที่มีอยู่ว่า โลภะนั้นที่ประกอบด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดก็มี และที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดก็มี แต่ว่าจิตทุกดวงต้องเกิดกับผัสสเจตสิก เวทนาเจตสิก สัญญาเจตสิก เป็นต้นอยู่แล้ว

    เพราะฉะนั้นจะยกผัสสเจตสิกขึ้นมากล่าว ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกก็ย่อมเกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว แล้วก็ยังมีโมหเจตสิก


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    16 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ