จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
เพราะฉะนั้นธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูป อันมีอยู่ในภายในว่า เรายังมีความกำหนัดในรูปในภายใน อย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ ... ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวลาที่กระทบกับอิฏฐารมณ์แล้วมีความยินดี พอใจในอารมณ์ที่ปรากฏ
7524 เห็นรูปด้วยจักษุ เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนดในรูป
สำหรับข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
[๘๒] ดูกรอุปวาณะ ก็ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุแล้วเป็นผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายใน อาการที่ภิกษุเป็นผู้เห็นรูปด้วยจักษุ แล้วเป็นผู้เสวยรูป แต่ไม่เสวยความกำหนัดในรูป และรู้ชัดซึ่งความกำหนัดในรูปอันไม่มีในภายในว่า เราไม่มีความกำหนัดในรูปในภายในอย่างนี้แล เป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน ฯ
ไม่ว่าจะเกิดความยินดี หรือไม่ยินดีในอารมณ์ที่ปรากฏ ทุกๆ ขณะเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง
ไม่ใช่พูดลอยๆ แล้วไร้ประโยชน์ แต่จะมีประโยชน์เวลาที่ท่านผู้ฟังพิจารณาแล้วก็ประจักษ์จริงๆ ว่า พระผู้มีพระภาคทรงอนุศาสนีย์ พร่ำสอนว่า ธรรมใดเป็นธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง และไม่ใช่ให้รอเวลาด้วย ถ้าสามารถจะเห็นเองในขณะนี้เอง เพราะเหตุว่ากำลังมีการเห็น ทรงเตือน ทรงอนุเคราะห์ ด้วยการทรงแสดงธรรมว่า ธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เป็นธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
เท่านั้นยังไม่พอ ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
นี่คืออนุศาสนีย์ที่ทรงแสดง ที่ทรงพร่ำสอน ในขณะที่กำลังฟังในขณะนี้เอง ที่จะน้อมเข้ามาพิจารณารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในขณะที่กำลังคิดนึก คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
สติเกิดบ้างหรือยังคะ ประโยชน์คือเมื่อได้ฟังแล้วก็ทราบว่า ธรรมใดผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ทุกๆ ขณะนี้ ขณะไหนก็ได้ กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส
7525 ควรเรียกให้มาดู หมายถึงเรียกตนเองหรือเรียกผู้อื่น
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะ
ถาม ธรรมอันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง อันนี้ก็ไม่สงสัยหรอก เพราะว่าผู้มีปัญญา เวลาเห็นรูปแล้ว สุขเวทนาเกิดก็รู้ ทุกขเวทนาเกิดก็รู้ แต่ว่าเรียกให้มาดู ก็ในเมื่อความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นในภายใน เรียกคนอื่นให้มาดู จะเห็นหรือครับ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่คนอื่นค่ะ ผู้นั้นเองค่ะ ที่กำลังสุขปรากฏ ทุกข์ปรากฏ
ผู้ถาม ก็พยัญชนะบอกว่า ควรเรียกให้มาดู
ท่านอาจารย์ ดูจิตของตัวเอง ดูความรู้สึกของตัวเอง แน่นอนค่ะ
ผู้ถาม นึกว่าเรียกคนอื่นมาดู แล้วจะเห็นอะไร
ท่านอาจารย์ เวลานี้ไงคะ สุขมี พระผู้มีพระภาคทรงอนุศาสนีย์ว่า เป็นสภาพธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ใช่คนอื่นเห็น ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง
ผู้ถาม ใช่ครับ ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ก็รู้แล้วว่า ผู้บรรลุ ก็หมายถึงตัวเอง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ตัวเองน่ะค่ะจะเห็นเอง
ผู้ถาม ทีนี้ควรเรียกให้มาดู ผมเข้าใจว่า เรียกคนอื่น
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้เผลอไป ไม่ได้ดู ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นก็เรียก คือ ให้รู้ว่า นี่เป็นธรรมที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง เพราะฉะนั้นระลึกเสีย พิจารณาเสีย รู้เสีย เห็นเองเสีย เรียกให้มาเห็นเอง
ผู้ถาม นี่ซิครับ พยัญชนะมันหลอก เลยคิดว่า เรียกคนอื่นมาดู เอ คนอื่นจะไปเห็นได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ตาใครมี ใครเห็น สุขเวทนาของใครเกิด ทุกขเวทนาของใครเกิด ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง แทนที่จะปล่อยไป หลงลืมสติไป แล้วก็ไม่รู้
เพราะฉะนั้นเรื่องการอบรมเจริญปัญญา เป็นเรื่องที่อบรมได้ทุกขณะ เพราะเหตุว่ามีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีการคิดนึกอยู่ตลอดเวลา และถ้าไม่ระลึก ไม่พิจารณาก็ไม่รู้ แล้วก็ต้องเป็นธรรมเหล่านี้เอง ที่ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง
7526 ถ้าข้อปฏิบัติคลาดเคลื่อน ไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส - อุทกสูตร
แต่ถ้าข้อปฏิบัติคลาดเคลื่อนไปจากการที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส แต่ว่าทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติผิด เข้าใจผิด คิดว่าสามารถที่จะดับกิเลสได้ ซึ่งไม่ใช่มีแต่เฉพาะยุคนี้สมัยนี้ แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานก็มี ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค อุทกสูตร ข้อ ๑๕๑ มีว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า อุทกดาบสรามบุตรย่อมกล่าววาจาอย่างนี้ว่า เราขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะก่อนโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดเสียแล้วซึ่งมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว
ท่านผู้ฟังก็คงจะทราบว่า อุทกดาบสเป็นใคร เป็นอาจารย์ที่พระผู้มีพระภาคได้เสด็จไปทรงศึกษาอรูปฌานจิตจนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน แต่ด้วยพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญมา ก็ทรงทราบว่า อุทกดาบสไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่เข้าใจว่าตนเองรู้แจ้งอริยสัจธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบสรามบุตรยังเป็นผู้ไม่ถึงซึ่งเวท ก็กล่าวว่าเราเป็นผู้ถึงซึ่งเวท ยังเป็นผู้ไม่ชนะก่อน ก็กล่าวว่าเราเป็นผู้ชนะก่อน ยังไม่ได้ขุดมูลรากแห่งทุกข์ ก็กล่าวว่า เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ได้แล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะกล่าวข้อนั้นโดยชอบ ควรกล่าวว่า เราขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะก่อนโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว
7527 ภิกษุเป็นผู้ถึงซึ่งเวทอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ถึงซึ่งเวทอย่างไร
คือไม่ได้ทรงแสดงแต่เพียงว่า ผู้ที่บรรลุถูกเท่านั้นที่ควรจะบอกว่า เป็นผู้ที่ขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้ หรือว่าเป็นผู้ที่ถึงเวทแล้ว แต่พระผู้มีพระภาคก็ยังได้ทรงแสดงหนทางว่า การที่จะถึงซึ่งเวท คือ ความรู้ ญาณอย่างนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมรู้ตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖
คือขณะที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงที่ปรากฏทางหู ได้กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก รู้รสที่ปรากฏทางลิ้น รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย และในขณะที่คิดนึก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมเป็นผู้ถึงซึ่งเวทอย่างนี้แล
7528 ภิกษุย่อมเป็นผู้ชนะก่อนอย่างไร
ภิกษุย่อมเป็นผู้ชนะก่อนอย่างไร
ภิกษุรู้แจ้งตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออกแห่งผัสสายตนะ ๖ เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะไม่ถือมั่น ภิกษุย่อมเป็นผู้ชนะก่อนอย่างนี้แล
7529 คันฑมูล - มูลรากแห่งทุกข์ที่ใครๆ ขุดไม่ได้ ภิกษุขุดได้แล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้ อันภิกษุขุดได้แล้วอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย คำว่า "คัณฑะ" นี้ เป็นชื่อของกายนี้ อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตรูป ๔ ซึ่งมีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เติบโตขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น แตกสลายกระจัดกระจายเป็นธรรมดา คำว่า "คัณฑมูล" นี้ เป็นชื่อของตัณหา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ตัณหาภิกษุละเสียแล้ว ให้มีรากขาดแล้ว ทำให้เป็นเหมือนตาลยอดด้วน ทำให้ไม่มี ไม่ให้เกิดขึ้นต่อไปเป็นธรรมดา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มูลรากแห่งทุกข์ที่ใครๆ ขุดไม่ได้ ภิกษุขุดเสียแล้วอย่างนี้แล
7530 ภิกษุเมื่อจะกล่าวข้อนี้โดยชอบ ควรกล่าวว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ได้ยินว่า อุทกดาบสรามบุตร ย่อมกล่าววาจาอย่างนี้ว่า เราขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราชนะก่อนโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดเสียแล้วซึ่งมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุทกดาบสรามบุตรยังเป็นผู้ไม่ถึงซึ่งเวท ก็กล่าวว่า เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวท ยังเป็นผู้ไม่ชนะก่อน ก็กล่าวว่า เราชนะก่อน ยังขุดมูลรากแห่งทุกข์ไม่ได้ ก็กล่าวว่า เราขุดมูลรากแห่งทุกข์เสียแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อจะกล่าวข้อนี้โดยชอบ ควรกล่าวว่า เราขอบอก เราเป็นผู้ถึงซึ่งเวทโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราเป็นผู้ชนะก่อนโดยส่วนเดียว เราขอบอก เราขุดมูลรากแห่งทุกข์ที่ใครขุดไม่ได้โดยส่วนเดียว ฯ
จบสูตรที่ ๑๐
จบ ฉฬวรรคที่ ๕
7531 ถ้าไม่ระลึกสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ จะบอกว่าบรรลุแล้วไม่ได้
ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วจะบอกว่าหมดทุกข์ ดับทุกข์ รู้แจ้งอริยสัจธรรม หรือจะกล่าวว่าได้บรรลุวิปัสสนาญาณนั้น วิปัสสนาญาณนี้ หรือเป็นพระอริยบุคคลขั้นนั้น ขั้นนี้ ได้ไหมคะ ผู้ที่ตรงต่อความเป็นจริงกล่าวไม่ได้ นอกจากผู้ที่เข้าใจผิด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดๆ ก็ตามที่ทรงแสดงโดยปรมัตถธรรม เป็นจิต เจตสิก รูป ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สภาพธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงโดยละเอียด จะพ้นไปจากขณะเห็น ขณะได้ยิน ขณะได้กลิ่น ขณะลิ้มรส ขณะสัมผัส และขณะที่คิดนึกทางใจไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นการที่ปัญญาจะเกิดขึ้นรู้จักโลก รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องเกิดเพราะสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้กลิ่น ขณะที่ลิ้มรส ขณะที่กระทบสัมผัส และในขณะที่คิดนึก
นี่เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะตรวจสอบได้จากพระไตรปิฎกทั้งหมด ในพระไตรปิฎกมีข้อความแสดงไว้ชัดเจนในเรื่องของสภาพธรรมที่จะต้องรู้ด้วยตนเอง เห็นด้วยตนเอง บรรลุด้วยตนเอง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
7532 เสยยสูตร ข้อ ๑๕๘ เมื่ออะไรมี จึงมีความยึดมั่นด้วยความสำคัญตน
ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค เสยยสูตร ข้อ ๑๕๘ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ที่ตรัสถามภิกษุทั้งหลายเอง
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออะไรมี เพราะยึดมั่นอะไร ถือมั่นอะไร จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา ฯ
เมื่อได้ทรงแสดงธรรมมากแล้วนะคะ ทรงอนุเคราะห์ด้วยการสอบถามความเข้าใจของผู้ฟังซึ่งเป็นสาวก พระภิกษุในครั้งนั้นว่า มีความเข้าใจธรรมที่ได้ฟังเพียงไร ซึ่งท่านผู้ฟังตอนนี้ตอบได้แล้ว ใช่ไหมคะ ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง ๓ ปิฎก อย่าลืมค่ะ ที่ทรงแสดงพระธรรมวินัยโดยนัยต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะรู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะทรงสอบถามประการใดๆ ผู้ที่มีความเข้าใจชัดว่า โลกปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดง ปรากฏ สามารถที่จะพิสูจน์ สามารถที่จะบรรลุ สามารถที่จะเห็นเองได้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้นไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะตรัสถามประการใด คำตอบก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์มีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเหตุ ฯ
เพราะภิกษุทั้งหลายไม่สามารถที่จะตรัสรู้ธรรมด้วยตนเอง แต่ว่าเพราะอาศัยฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้แล้วทรงแสดง และประพฤติปฏิบัติตาม พระภิกษุทั้งหลายจึงมีพระผู้มีพระภาคเป็นต้นเหตุของธรรมทั้งหลาย
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อจักษุมี เพราะยึดมั่นจักษุ ถือมั่นจักษุ จึงมีความสำคัญตนว่า
ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา ฯลฯ
วันหนึ่งๆ เป็นอย่างนี้หรือเปล่าคะ เรื่องตา เคยพูดกันบ้างไหมคะ ตาใครดีกว่าตาใคร ใครเห็นดีกว่าใคร ชัดเจนกว่า หรือว่าตาใครเสื่อมมากกว่าตาใคร หรือว่าตาใครเป็นโรคภัยต่างๆ หรือว่าตาใครมีสุขภาพอนามัยสมบูรณ์ดี
ถ้าไม่มีตา จะพูดเรื่องตาในลักษณะที่ว่า ประเสริฐกว่า เสมอกัน หรือว่าเลวกว่าได้ไหม ก็ไม่ได้นะคะ แล้วก็ย่อมจะไม่พ้นจากเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสต่อไปว่า
เมื่อใจมี เพราะยึดมั่นใจ ถือมั่นใจ จึงมีความสำคัญตนว่า ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขาหรือว่าเลวกว่าเขา
7533 เมื่อรู้ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ จะพึงสำคัญตนอีกหรือไม่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน จักษุเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ
ภิ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า ฯ
ภิ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่ยึดมั่นสิ่งนั้นแล้ว จะพึงมีความสำคัญตนว่า เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา บ้างหรือหนอ ฯ
ภิ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯลฯ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสถามตลอดไปจนกระทั่งถึง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งก็ไม่เที่ยง ตอนท้ายของพระสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในจักษุ ฯลฯ ทั้งในใจ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มี ฯ
7534 ทุกข๋ไม่ใช่อื่น แต่ต้องเป็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับ
เพราะฉะนั้นทุกข์ไม่ใช่อย่างอื่น ต้องเป็นความไม่เที่ยงของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจในขณะนี้
7535 คิดเรื่องโลก ไม่ใช่รู้ลักษณะของโลกที่เกิดดับ
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในตอนนี้
ถาม เรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นโลก และตา หู จมูก ลิ้น กาย นี้เป็นทุกขสัจ ทุกขสัจพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ควรกำหนดรู้ แต่ว่าอจินไตยมีอยู่ข้อหนึ่ง เรื่องของโลกนี้ไม่ควรคิด ถ้าใครคิดเรื่องของโลกแล้วจะเป็นบ้า อันนี้จะไม่ขัดกันหรือ
ท่านอาจารย์ คิดเรื่องโลก ไม่ใช่รู้ลักษณะของโลกที่กำลังเกิดดับ คิดว่าโลกมีตั้งแต่เมื่อไร นั่งคิดไปซิคะ พยายามค้นหาว่า โลกเกิดตั้งแต่เมื่อไร โลกจะแตกทำลายไปเมื่อไร จะได้ประโยชน์อะไรในเมื่อไม่ได้รู้ลักษณะของโลกที่ปรากฏเพราะเห็นทางตา
นี่คือโลกที่จะต้องรู้ค่ะ ในขณะที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าขณะนี้ถ้าไม่เห็นเลย ไม่ได้ยินเลย ไม่ได้กลิ่นเลย ไม่รู้รสเลย ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย ไม่คิดนึกใดๆ เกิดขึ้นเลย จะมีโลกไหนๆ ไหมคะ แต่พอเห็น มีโลกทางตาปรากฏ เป็นโลกที่กว้างใหญ่ เป็นเรื่องโลกที่ปรากฏ แต่ยังไม่ใช่การรู้ลักษณะของโลก
เพราะฉะนั้นอย่าลืมซิคะว่า ถึงแม้ว่าจะอยู่ในโลกมานานหลายปี แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ไม่ชื่อว่า รู้จักโลก ทั้งๆ ที่ยังคงอยู่ในโลก แต่อยู่ด้วยความไม่รู้จักโลก แล้วก็มีสุขบ้าง ทุกข์บ้าง วนเวียนไป โดยที่เมื่อยังไม่รู้จักโลก ก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากโลก ก็ยังจะต้องเป็นสุข เป็นทุกข์เรื่อยๆ ไป แล้วในวันหนึ่งๆ ในกาลสมัยต่อไป ก็เข้าใจว่า ทุกข์จะมากกว่าสุข แต่ก็หนีไม่พ้นค่ะ ต่อให้ทุกข์ยิ่งกว่านี้ ก็ไม่พ้นจากโลก ตราบใดที่ยังไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่คิดเรื่องโลก แต่เป็นการรู้ลักษณะของโลกแท้ๆ ที่กำลังปรากฏ
ก่อนอื่นต้องทราบว่า ไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริง กำลังอยู่ในโลก ซึ่งไม่ใช่โลกตามความเป็นจริง ถ้าตราบใดที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าสภาพนั้นๆ จะปรากฏโดยความไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ผู้ถาม ก็หมายความว่า เรื่องของโลกนี้รู้ได้ แต่คิดไม่ได้ อย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ คิดว่าโลกเกิดมาตั้งแต่เมื่อไร ไม่ใช่รู้ลักษณะของโลกที่กำลังปรากฏ โลกทางตา โลกทางหู โลกทางจมูก โลกทางลิ้น โลกทางกาย โลกทางใจ ที่จะต้องแยกโลกออกเป็นโลกแต่ละขณะ ถึงจะประจักษ์ว่า โลกจริงๆ นั้นคืออย่างไร เพราะเหตุว่าถ้ายังรวมโลกทั้ง ๖ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะการเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว ทางตาที่กำลังเกิดดับ เฉพาะเพียงทางตา ก็ยังไม่ได้รู้จักโลกทางตาตามความเป็นจริง เพราะเมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป จึงปรากฏเป็นสัณฐานต่างๆ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน
ถ้าเกิดแล้วดับทีละขณะไม่ต่อกัน ไม่สามารถที่จะปรากฏสัณฐานของสัตว์ บุคคล ตัวตนได้ ตอนเป็นเด็ก
7536 ยามเมื่อมองดูเมฆในท้องฟ้าแล้วจินตนาการเป็นสิ่งต่างๆ ตอนเด็กๆ
ทุกท่านคงจะเคยมองดูท้องฟ้า แล้วก็เห็นเมฆเป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ เกิดจินตนาการว่า เป็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ชั่วครู่เดียวก็หายไปหมด เพราะไม่ใช่ของจริง เป็นแต่เพียงปรากฏสัณฐาน ทำให้คิดนึกว่าเป็นสิ่งนั้นบ้าง สิ่งนี้บ้าง ฉันใด ไม่ต้องเป็นเมฆในท้องฟ้า แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ เมื่อไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปทีละขณะอย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ยึดถืออาการสัณฐานซึ่งสืบต่อ เพราะฉะนั้น จึงเป็นโลกของความฝัน ของการไม่รู้ลักษณะของโลก ซึ่งเกิดดับจริงๆ
โลกไหนจริงคะ ตอนนี้ โลกของรูปร่างสัณฐาน วัตถุสิ่งต่างๆ หรือว่าโลกที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ในขณะที่ได้ยินเสียง โลกทางตาปรากฏไม่ได้ นี่จึงจะเป็นความจริง แต่ถ้าตราบใดในขณะนี้ที่ยังเห็นและได้ยินด้วย โลกยังไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริง เมื่อโลกทางตากับโลกทางหู ยังไม่ได้แยกขาดจากกันเลย สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ก็ย่อมสืบต่อไปถึงมโนทวาร ซึ่งจำสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วก็ตรึกนึกถึงสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏ หลังจากนั้นก็ยังนึกถึงชื่อ นึกถึงคำต่างๆ เป็นเรื่องเป็นราวอยู่ตลอดเวลา
เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะรู้ลักษณะของโลกตามความเป็นจริงได้โดยง่าย แต่เมื่อได้ศึกษาก็เริ่มเข้าใจ พร้อมกันนั้นก็มีหนทางที่จะเจริญปัญญาให้รู้ลักษณะของโลกที่กำลังปรากฏทีละโลก ตามความเป็นจริงได้
7537 การจำแนกจิตโดยประเภทของทวาร
ไม่ทราบท่านผู้ฟังมีข้อสงสัยอะไรหรือเปล่าคะ ในเรื่องของการจำแนกจิต โดยประเภทของโลกียะและโลกุตระที่ได้กล่าวถึงแล้ว ถ้าไม่มี วันนี้ก็จะได้กล่าวถึงการจำแนกจิต โดยประเภทของทวาร
เรื่องของโลกเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก โลกย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่ขณะไหน ที่ไหน แล้วก็มีสติระลึกได้ ก็รู้ว่าลักษณะของโลก คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่การรู้จักโลก ไม่ใช่การรู้ลักษณะของโลก แต่เป็นการนึกคิดเรื่อง “โลก” ซึ่งไม่ใช่การรู้ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นการยึดถืออาการสัณฐานของโลกที่ปรากฏ โดยความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นโลกที่สมมติขึ้น หรือว่าเป็นโลกโดยนัยของสมมติสัจจะ ไม่ใช่โดยนัยของปรมัตถสัจจะ
เพราะฉะนั้นในวันหนึ่งๆ ทุกท่านก็ทราบได้ว่า ท่านอยู่ในโลกของสมมติมาก หรือกำลังรู้ลักษณะของโลกแท้ๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่การที่จะรู้ความจริงว่า เป็นโลกไหน ก็จะต้องอาศัยทวาร หรือทางรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่าจิตจะเป็นสภาพรู้ ในขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050