จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
7406 เวลาที่ระลึกต้องรู้ไหมว่าขณะนี้จิตนี้เป็นโสภณ อโสภณ มีกี่เหตุ
เวลาที่ระลึกต้องรู้ไหมคะว่า ขณะจิตนี้เป็นโสภณ หรืออโสภณ มีโสภณจิตที่เป็นเหตุ เกิดร่วมด้วยกี่เหตุ ไม่ต้องใส่ชื่อเลย แต่ว่าสตินี้สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นจิต หรือว่าเจตสิก หรือเป็นรูป ตรงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง
เช่นขณะที่กำลังระลึกสภาพรู้ทางตา ในขณะนี้ไม่ใช่ระลึกลักษณะของเจตสิกหนึ่งเจตสิกใด ใช่ไหมคะ เพราะเหตุว่ากำลังรู้ว่า มีสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของสภาพรู้ยากที่จะปรากฏ เพราะเหตุว่าเป็นเพียงธาตุรู้ อาการรู้ ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย ไม่ว่าจะเป็นขณะที่คิดนึกเรื่องหนึ่งเรื่องใด ก็เป็นสภาพที่กำลังรู้ กำลังคิดเรื่องที่กำลังมีอยู่ในขณะนั้น เรื่องที่กำลังปรากฏ
ขณะที่กำลังได้ยิน ไม่ใช่ทุกคนมีแต่เห็น ขณะนี้ก็ได้ยิน ขณะที่กำลังได้ยิน มีเสียงปรากฏ เพราะเหตุว่ามีธาตุรู้เสียงที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้นยากไหมคะที่จะรู้ลักษณะของธาตุรู้ สภาพรู้ อาการรู้ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งไม่ต้องใส่ชื่อ อย่าลืม แต่เรื่องของการศึกษาสภาพธรรมทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจิตประเภทต่างๆ ลักษณะของจิตที่สามารถจะรู้ได้ว่า มีอรรถ คือ ลักษณะอย่างไรบ้าง หรือว่าจำแนกออกโดยประเภทอย่างไรบ้าง ประกอบด้วยเจตสิกอย่างไรบ้าง จำแนกโดยชาติ ๔ จำแนกโดยธรรมหมวด ๓ จำแนกโดยเหตุ จำแนกโดยอสังขาร สสังขาร หรือจำแนกโดยโสภณ อโสภณ ก็เพื่อที่จะน้อมนำให้เข้าใจในสภาพที่เป็นอนัตตาของธรรมทั้งหลาย เพื่อที่จะให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งมีลักษณะต่างๆ กันไปตามที่ได้ศึกษา เช่น ลักษณะของรูป ไม่ใช่ลักษณะของนาม ลักษณะของรูปทางตา ลักษณะของรูปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ลักษณะของจิตที่เป็นกุศล ลักษณะของจิตที่เป็นอกุศล ลักษณะของจิตที่เป็นอัพยาคตะ
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้มีการใฝ่ใจ ใส่ใจ น้อมไปที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็ศึกษาในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จนกว่าลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจะปรากฏ โดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทีละอย่าง ทีละขณะ ไม่ใช่พร้อมกันอย่างในขณะนี้
เพราะฉะนั้นอย่าลืมจุดประสงค์ เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง
7407 เหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้แผนกหนึ่ง
ข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งเป็นอรรถกถาของอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความว่า
ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้แผนกหนึ่ง
คือ เจตสิกมี ๕๒ ประเภท แต่ว่าเวทนาเจตสิก ๑ แยกเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ แยกเป็นสัญญาขันธ์ สำหรับเจตสิกอื่น ๕๐ ที่เหลือ รวมเป็นสังขารขันธ์ หมายความว่า เจตสิกแต่ละดวง ทุกดวงของ ๕๐ ดวงนั้น ล้วนเป็นสังขารขันธ์
จึงมีคำถามว่า ก็เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้แผนกหนึ่ง
แก้ว่า เพราะ “เวทนา” เป็นความยินดีในวัฏฏธรรม และ “สัญญา” เป็นอุปกรณ์เกื้อหนุนความยินดีนั้น เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแยกเวทนาและสัญญาไว้ต่างหาก เพราะเป็นเหตุที่เป็นประธานแห่งสังสาระ ฉะนี้แล
สมจริงดังคำที่ท่านอาจารย์กล่าวไว้ว่า เพื่อแยกแสดงส่วนที่ยินดีในวัฏฏธรรมและส่วนที่คอยส่งเสริมส่วนที่ยินดีนั้นต่างหาก พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกขันธ์ ๒ อย่างขึ้นแสดงไว้
นี่ก็เป็นความจริงในชีวิตประจำวันนะคะ
เวทนา คือ ความรู้สึก เป็นสภาพที่ยินดีในวัฏฏะ ถ้ายังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม จะไม่สามารถดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการคิดนึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเหตุวายังไม่ได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ถ้าตราบใดลักษณะที่ไม่เที่ยง ที่เกิดดับยังไม่ปรากฏ เมื่อนั้นใครจะแยกความรู้สึกยินดี เปลี่ยนให้เป็นความรู้สึกไม่ยินดีในสภาพธรรมซึ่งดูเสมือนเที่ยง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะคิดว่าไม่ยินดี แม้จะพูดว่าไม่ยินดี แต่เมื่อยังไม่ประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับ จะกล่าวไม่ได้ว่า เป็นความไม่ยินดีโดยแท้จริง ตรงกันข้ามกลับเป็นเพียงโทสะ ความเบื่อ ความระอา แต่ไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ความเกิดดับ
7408 สมมติ
7409 ไม่รู้ปรมัตถสัจจะ จึงถือรูปและนามที่เกิดดับว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พอจะทราบได้ว่า ได้ศึกษาคำว่า “ปรมัตถธรรม” “ปรมัตถสัจจะ” มีความเข้าใจว่า ปรมัตถธรรม ได้แก่ จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพที่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ เจตสิกปรมัตถ์ เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมเกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต เกิดที่เดียวกับจิต
รูป ไม่ใช่สภาพรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะสมุฏฐานต่างๆ เช่น บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรม มีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นร้อน เป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน
แต่ในขณะนี้เอง จิต เจตสิก รูป กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว จนไม่ปรากฏอาการที่เกิดขึ้นและดับไปของจิต เจตสิก รูป เมื่อไม่รู้ปรมัตถสัจจะอย่างนี้ จึงถืออาการของรูปและนาม ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นคือ สัมมุตติ
ขณะนี้รูปกำลังเกิดดับทั้งภายในที่ตัวเอง และภายนอกที่ปรากฏ ที่เห็นทางตา หรือได้ยินทางหู แต่เพราะไม่ประจักษ์ว่า เป็นเพียงสภาพธรรมที่เป็นรูปแต่ละลักษณะ
รูปทางตาก็เกิดดับ รูปทางหูก็เกิดดับ รูปทางจมูกก็เกิดดับ รูปทางลิ้นก็เกิดดับ รูปที่กายที่กำลังกระทบสัมผัสก็เกิดดับ แต่เพราะไม่ประจักษ์ รูปที่เกิดดับสืบต่อกันทางตา จึงปรากฏสัณฐาน อาการ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น นั่นคือ “สัมมุตติ”
เพราะฉะนั้นทุกท่านที่ไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงอยู่ในโลกของสมมติสัจจะ มีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการ โดยสัณฐาน ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้น แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะค่อยๆ ศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าลักษณะของปรมัตถธรรมจะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้น ก็สามารถที่จะประจักษ์แม้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จึงจะไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะจริงๆ ตามที่ได้ศึกษามา
แต่ให้ทราบความต่างกันในความลึกซึ้งของธรรมที่ได้ศึกษามาว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนของจิต เจตสิก และรูป ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตราบนั้นก็ยังเห็นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังมีความยึดถือในสมมติสัจจะอยู่ว่า เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนต่างๆ
7410 ยึดถือสภาพธรรมเพราะไม่รู้ปรมัตถธรรม
เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น แล้วก็มีนามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อกันเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการคลอดจากครรภ์มารดา มีตาเห็น มีหูได้ยิน มีกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสสิ่งที่ปรากฏ แต่ใครไปพูดอะไรด้วย เข้าใจไหม เด็กที่เพิ่งเกิด ไม่รู้เรื่องเลย แต่ว่ามีการเห็นสิ่งที่ปรากฏ ได้ยินเสียงที่ปรากฏ ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส และเมื่อไม่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ก็ยึดถือในอาการที่ปรากฏซึ่งเสมือนไม่เกิดดับว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้นก็มี “สัมมุตติ” คือ การยึดถือสภาพธรรม เพราะไม่รู้ปรมัตถธรรม ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กๆ หรือว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือว่าจะเป็นคนซึ่งเจริญเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้ว การเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ยังคงไม่เปลี่ยน เพราะเหตุว่ายังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ
เพราะฉะนั้นเมื่อตอนที่เป็นเด็ก เคยเห็นอาการที่ปรากฏซึ่งไม่เกิดดับ แล้วก็ยึดถือเป็นสมมติต่างๆ เกิดขึ้นอย่างไร เวลาที่โตขึ้น ก็ยังคงเป็นสิ่งนั้น ซึ่งเคยเห็นเหมือนกับเป็นวัตถุ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ
7411 เพียงแข็งที่ปรากฏแล้วดับไป
แต่ว่าตามความเป็นจริง สภาพแข็งเป็นสภาพที่แข็ง ไม่ว่าจะเป็นถ้วย หรือว่าเป็นจาน หรือว่าเป็นช้อน หรือว่าเป็นส้อม ก็เป็นเพียงธาตุแข็ง เป็นปฐวีธาตุ แต่ในวันหนึ่งๆ เห็นอะไร สัมผัสกระทบอะไร ในขณะที่กระทบสัมผัส ไม่เคยคิดว่าเพียงกระทบสัมผัสสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นสภาพที่แข็ง แต่มีความรู้สึกว่าสัมผัสช้อน หรือส้อม หรือจาน หรือถ้วย ตามที่เคยยึดถือในอาการที่ปรากฏ ที่เกิดดับสืบต่อกัน โดยสัณฐาน ทั้งๆ ที่เมื่อกระทบสัมผัสช้อนก็แข็ง ส้อมก็แข็ง ถ้วยก็แข็ง จานก็แข็ง ลักษณะที่แท้จริงเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่แข็ง แต่โดยสัณฐานที่จดจำไว้ ถ้วยไม่ใช่จาน ไม่ใช่ชาม ช้อนไม่ใช่ส้อม นั่นโดยสัณฐานอาการที่ไม่ปรากฏความเกิดดับ แล้วยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพราะฉะนั้นทั้งๆ ที่สภาพธรรมที่มีจริงซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นเพียงแข็ง แต่ก็ยังมีสัมมุตติความยึดถือสภาพธรรมโดยสมมติว่า จานสำหรับใส่ข้าว ถ้วยสำหรับใส่แกง ช้อนสำหรับตักอาหาร ส้อมสำหรับจิ้มอาหาร แล้วก็ยังมีการยึดถือสิ่งที่ประชุมรวมกัน นอกจากธาตุแข็ง เช่น เอาเหล็ก เอาวัสดุต่างๆ มาประกอบกัน ประชุมกัน ยึดถือว่าเป็นวิทยุ เป็นโทรทัศน์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ทั้งหมดนั้น คือ การไม่ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นปรากฏแต่ละลักษณะแล้วก็ดับไป
นี่คือสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วแต่ว่าการประดิษฐ์จะประดิษฐ์วัตถุใดๆ เพิ่มขึ้น การยึดถือในสภาพของสิ่งซึ่งมาควบคุมประชุมรวมกัน ก็ยึดถือในสิ่งต่างๆ เป็นวัตถุต่างๆ เพิ่มขึ้น แต่ให้ทราบว่า ในขณะเหล่านั้นทั้งหมด เป็น “สัมมุตติ” หรือเป็น “สมมติสัจจะ” ไม่ใช่ “ปรมัตถสัจจะ”
7426 อาศัยบัญญัติจากเสียงให้รู้ความหมาย
และนอกจากนั้นยังไม่พอ ยังต้องอาศัยเสียง ซึ่งเป็นบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งซึ่งยึดถือ ทุกคนมีตา เห็นสิ่งต่างๆ ยึดถือสัณฐานของสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นรูปร่างสัณฐานต่างๆ รู้ในอรรถของสิ่งที่สมมติ
สัตว์เดรัจฉานก็เห็น แต่ผู้ที่เป็นมนุษย์สามารถที่จะใช้เสียงสำหรับบัญญัติเรียกสิ่งที่สมมติขึ้นให้เข้าใจว่า หมายความถึงสิ่งอะไร วัตถุอะไร ในขณะที่สัตว์เดรัจฉานไม่มีความสามารถพอที่จะใช้เสียงได้อย่างมนุษย์ ที่จะบัญญัติโดยละเอียด
เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะได้ทราบว่า ในเวลาที่มีการพูด มีการใช้เสียง เสียงที่ใช้สำหรับบัญญัติเรียกสิ่งต่างๆ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เสียงมีจริงไหมคะ เสียงนั้นมีจริงหรือไม่จริง เสียงจริง บัญญัติจริงหรือไม่จริง
นี่คือเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน ที่จะต้องรู้ชัดว่า สภาพธรรมใดเป็นปรมัตถธรรม สภาพธรรมใดเป็นสัมมุติ สัมมุติ หมายความถึง สิ่งที่ไม่จริง
เพราะฉะนั้นอาการสัณฐานต่างๆ ซึ่งปรากฏให้เป็นถ้วย เป็นชาม เป็นช้อน เป็นส้อม ทั้งหมด เป็นสัมมุติ เป็นสิ่งที่ไม่จริง ส่วนสิ่งที่จริง คือ สภาพที่แข็ง และเมื่อมีสิ่งที่จริง แต่เพราะไม่รู้ความจริง ก็เกิดการสมมติขึ้นในสิ่งที่ปรากฏ ที่ไม่เกิดดับ แล้วยังไม่พอ ยังมีการบัญญัติเรียกสิ่งที่ปรากฏ ที่สมมติขึ้น เพื่อให้เข้าใจว่า หมายความถึงสิ่งใด แต่ว่าเสียงเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็เป็นสิ่งซึ่งใช้คำว่า “นาม” เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีเสียง “นาม” คือ ชื่อ หรือคำทั้งหลายก็มีไม่ได้ จริงหรือไม่จริงคะ
มีตาเห็น แต่ไม่มีเสียง จะมีชื่อ หรือมีคำที่ใช้เรียกชื่อของสิ่งที่เห็นได้ไหม ถ้าไม่มีเสียงเลย เพราะฉะนั้นที่เรียกชื่อต่างๆ เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ ก็ให้ทราบว่า เพราะเสียง
เพราะฉะนั้นในบรรดาชื่อทั้งหลายเป็นต้น ซึ่งทุกคนติดกันมากเหลือเกิน ในชื่อของสมมติต่างๆ “บัญญัติ” คือ ชื่อ ซึ่งเรียกสิ่งที่สมมติขึ้น หรือว่าสิ่งที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจความหมาย เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง คือ เสียง ซึ่งเป็น “สัททรูป"
เสียงเป็นสิ่งที่มีจริง ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นเสียงก็เป็นรูปธรรม และเสียงไม่ใช่ภาษาบาลี ไม่มีคำว่า “เสียง” ในภาษาบาลี แต่มีคำว่า “สัทท” ในภาษาบาลี เพราะฉะนั้นเสียง คือ “สัททรูป” เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงซึ่งปรากฏทางหู
7427 ปรมัตถธรรม - สมมติธรรม - บัญญัติธรรม
ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ซึ่งเป็นฎีกาของอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความอธิบายเรื่อง ปรมัตถธรรม สมมติธรรม และบัญญัติธรรม ซึ่งท่านผู้ฟังพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า เป็นสภาพธรรมที่เป็นชีวิตประจำวัน แต่ก็มีความลึกซึ้งที่ควรที่จะได้มีความเข้าใจโดยถูกต้อง แม้แต่เรื่องชื่อต่างๆ ซึ่งจะมีได้ก็เพราะมีเสียง
ข้อความใน อภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา มีว่า
ด้วยเหตุนี้ เสียง คือ “สัททรูป” จึงชื่อว่า “นาม” (หมายความถึง ชื่อ ไม่ใช่นามธรรม ซึ่งเป็นสภาพรู้) เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย
จริงหรือไม่จริงคะ วันหนึ่งถ้าไม่พูดเลยก็เห็น แต่เวลาที่พูดนี้ พูดเรื่องอะไร พูดทำไม พูดเพื่อให้คนเข้าใจเรื่อง เข้าใจสิ่งที่หมายถึง เพราะฉะนั้น “สัททรูป” จึงชื่อว่า “นาม” เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย
อยู่ด้วยกัน ๒ คน เห็นกันอย่างนี้ ถ้าไม่พูด จะไม่รู้เรื่องเลย จะไม่เข้าใจเลยว่า ต้องการอะไร ถูกไหมคะ แต่เวลาที่จะให้คนอื่นต้องการ หรือเข้าใจ ต้องทำอย่างไรคะ ต้องใช้เสียง คือ ต้องพูด ถ้าไม่มีเสียง แล้วไม่มีทางเลยที่จะเข้าใจได้ ด้วยเหตุนี้เสียงหรือสัททรูป ชื่อว่า “นาม” เพราะอรรถว่า น้อมไปในอรรถทั้งหลาย
7428 ชื่อมี ๒ อย่างด้วยอำนาจแห่งนามที่คล้อยตามอรรถ และ ตามนิยม
ด้วยเหตุนี้ “ชื่อ” จึงมี ๒ อย่าง ด้วยอำนาจแห่งนาม คือ ชื่อที่คล้อยตามอรรถ ๑ และนาม คือ ชื่อตามนิยม ๑
แล้วแต่ใครจะนิยมใช้ภาษาอะไร ให้มีความมุ่งหมายว่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เข้าใจเรื่องราว
หรือว่า ชื่อ หมายความถึงอรรถของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ต้องการจะให้รู้
เช่น ใช้ชื่อว่า โต๊ะ หมายความถึงอะไร ใช้ชื่อว่า เก้าอี้ หมายความถึงอะไร ใช้ชื่อว่า คนต่างๆ หมายความถึงขันธ์ ๕ ไหน ขันธ์ ๕ นี้ หรือขันธ์ ๕ โน้น เป็นต้น นั่นก็เป็นเรื่องของ “นาม”
7429 นามชื่อโดยนัย ๔ คือ สามัญนาม - คุณนาม - กิริยานาม - ยถิตชนาม
นอกจากนั้นข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินี ก็ยังกล่าวถึง “นาม” คือ ชื่ออีกหลายนัย นอกจาก “นาม” ชื่อ โดยนัย ๒ ก็ยังมี “นาม” ซึ่งเป็นชื่อ โดยนัย ๔
คือ ชื่อ มี ๔ อย่าง ด้วยสามารถแห่ง “สามัญนาม” คือ ชื่อทั่วไป ฟ้า ฝน ลม ข้าว พวกนี้เป็นชื่อทั่วไป “คุณนาม” คือ ชื่อตามคุณความดี เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คนอื่นจะชื่อนี้ได้ไหมคะ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยคุณซึ่งเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นก็ยังมีชื่อของการกระทำต่างๆ เป็น “กิริยานาม” และยังมีชื่อตามใจชอบ เป็น “ยถิจฺนาม”
นี่เป็นเรื่องของบัญญัติต่างๆ ซึ่งมีโดยละเอียด ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า การศึกษาธรรมไม่มีวันที่จะจบ ถ้าจะศึกษาให้จบง่ายๆ ก็ได้ คือบอกว่า จิตมีจำนวนเท่าไร เจตสิกมีจำนวนเท่าไร รูปมีจำนวนเท่าไร เท่านั้นก็จบแล้ว รู้แล้ว แต่ว่าไม่เป็นเหตุที่จะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นแล้วดับไป
เพราะฉะนั้นพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมไว้มาก
7431 เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมเป็นอันมาก
ซึ่งข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ปริจเฉทที่ ๗ มีข้อความว่า
ถามว่า เพราะเหตุไร แม้พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงธรรมไว้เป็นอันมากอย่างนั้น
แก้ว่า เพราะทรงประสงค์การอนุเคราะห์สัตว์ ๓ เหล่า จริงอยู่สัตว์มี ๓ เหล่า ด้วยอำนาจความหลงงมงายในนาม ๑ ในรูป ๑ และในนามและรูปทั้ง ๒ นั้น ๑ ด้วยอำนาจอินทรีย์แก่กล้า ๑ ไม่แก่กล้านัก ๑ อ่อน ๑ และด้วยอำนาจชอบคำย่อ ๑ ขอบคำปานกลาง ๑ ชอบคำพิสดาร คือ ละเอียด ๑
ท่านผู้ฟังชอบอย่างไหนคะ ชอบคำย่อ หรือว่าคำปานกลาง หรือว่าคำละเอียด ในสมัยที่ยังไม่รู้ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไร และทรงแสดงธรรมอะไร ก็อาจจะคิดว่า ย่อๆ ก็พอ สั้นๆ ก็พอ จะได้เร็วๆ ดี ใช่ไหมคะ แต่เมื่อศึกษาแล้วก็รู้ว่า การที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยอาศัยการบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ได้ทรงได้รับคำพยากรณ์แล้ว พระธรรมที่ทรงแสดงย่อมเป็นประโยชน์มาก เพราะเหตุว่าบางท่านในตอนแรก อยากจะให้มีแต่คำที่เป็นเรื่องของสติปัฏฐานเท่านั้น คล้ายๆ กับว่า เรื่องอื่นก็ไม่สนใจเลย อยากจะเจริญสติ อบรมเจริญปัญญา เพื่อดับกิเลสโดยรวดเร็ว เป็นไปได้ไหมคะ ที่คนที่ยังติดในนามธรรม ในรูปธรรม ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในการยึดถือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นเรา ตลอดหมด พร้อมด้วยความพอใจยินดีอย่างยิ่งในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ จะมีสติและปัญญาเกิดรู้แจ้งแทงตลอดในความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน โดยรวดเร็ว โดยที่ไม่ได้ฟังธรรมจนกระทั่งเข้าใจโดยลึกซึ้ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050