จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006


    ถ้านอนหลับสนิท โลกนี้ไม่ปรากฏเลย โลกนี้จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จะเย็น หรือจะร้อน จะมีเสียงอะไร เสียงฟ้าร้อง เสียงฝนตก เสียงลมพัด ของโลกนี้ทั้งหมดไม่ปรากฏในขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะเหตุว่าภวังคจิตไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้

    6854 จุติจิตยังไม่ถึง วันหนึ่งก็จะเกิดขึ้น

    จุติจิตยังไม่ถึง วันหนึ่งก็จะเกิดขึ้น แต่ว่าขณะที่จุติจิตเกิด ก็ไม่ใช่วิถีจิต คือ ไม่ใช่ขณะที่เห็น จิตที่เห็นก็เห็น ไม่ใช่กระทำกิจเคลื่อนจากการเป็นบุคคลนี้ เพราะว่าจิตแต่ละดวงแต่ละประเภทก็เกิดขึ้นกระทำกิจเฉพาะของตนๆ จิตดวงหนึ่งก็กระทำกิจหนึ่ง เช่น จิตเห็นก็กระทำกิจเห็น ไม่ได้กระทำกิจได้ยิน ไม่ได้กระทำกิจภวังค์ หรือไม่ได้ทำกิจจุติ

    6855 ถ้าหลับสนิทตลอดคืนหมายถึงทั้งคืนนั้นไม่มีวิถีจิตเลยหรือไม่

    ถาม ถ้าเราหลับสนิทมาตลอดคืน หมายความว่าคืนนั้นทั้งคืนไม่มีวิถีจิตเลย

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ ถ้าอารมณ์ของโลกนี้ไม่ปรากฏขณะใด ขณะนั้นเป็นภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต แต่ถ้าอารมณ์ของโลกนี้ปรากฏ จะปรากฏทางตา จิตที่รู้อารมณ์นั้นก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต ถ้าอารมณ์เป็นเสียง จิตที่เกิดขึ้นรู้เสียงก็เป็นโสตทวารวิถีจิต จิตใดที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ของโลกนี้ จิตนั้นเป็นวิถีจิต

    6856 ถ้าฝันอยู่แล้วจำความฝันได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นภวังค์หรือไม่

    ถาม ถ้าเป็นเช่นนั้น ในระหว่างที่หลับแล้วฝัน แล้วจำความฝันนั้นได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อันนี้จิตคงเป็นภวังค์ตลอดเวลา

    ท่านอาจารย์ เวลาฝันไม่ใช่ภวังค์

    ผู้ฟัง อย่างไรครับ

    ท่านอาจารย์ กุศลจิตหรืออกุศลจิตฝัน

    ผู้ฟัง หมายความว่า ต่อจากภวังคจิตเกิดดับๆ เป็นภวังค์ต่อไป แล้วก็มี

    ท่านอาจารย์ วิถีจิตเกิดขึ้นสลับ

    ผู้ฟัง ขณะนั้นเรียกว่าวิถีจิตแล้ว

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ขณะใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จิตนั้นๆ เป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง แต่หลับนะครับ

    ท่านอาจารย์ หลับเป็นอะไรคะ

    ผู้ฟัง หลับเป็นภวังค์

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นไม่ใช่วิถีจิต จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จิตนั้นเป็นวิถีจิต

    ฝัน เป็นมโนทวารวิถีจิต เพราะว่าทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑ ทางกาย ๑ ทางใจ ๑

    เพราะฉะนั้นจึงรู้ว่าฝันไงคะ ไม่ใช่ภวังค์ ถ้าเป็นภวังค์แล้ว อารมณ์จะไม่ปรากฏเลย ตัดขาดจากอารมณ์ใดๆ ทั้งสิ้นของโลกนี้ ฝัน ฝันถึงอะไร อารมณ์ที่เคยเห็นในโลกนี้หรือเปล่า

    6857 ภวังคจิตประกอบด้วยเวทนาอะไร

    ถาม ภวังคจิตประกอบด้วยเวทนาอะไรครับ

    ท่านอาจารย์ จิตทุกดวงจะต้องประกอบด้วยเวทนาเจตสิก เพราะเหตุว่าจิตเป็นสังขารธรรม ขณะใดที่จิตเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง และใน ๗ ดวงนั้นเป็นเวทนาเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ซึ่งเป็นสัญญาขันธ์ ส่วนเจตสิกอื่นเป็นสังขารขันธ์

    ผู้ฟัง แต่ทีนี้ เวทนามี ๕ มีสุข มีทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา อยากจะถามว่า ภวังคจิตประกอบด้วยเวทนาประเภทไหน

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ปฏิสนธิจิต ถ้าปฏิสนธิจิตประกอบด้วยโสมนัสเวทนา ภวังคจิตก็ประกอบด้วยโสมนัสเวทนา เพราะภวังคจิตเกิดขึ้นเพราะกรรมเดียวกับปฏิสนธิจิต กรรมที่เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิเกิด ไม่ได้ทิ้งขว้างให้แค่ปฏิสนธิ แต่ยังให้ผลสืบต่อ คือให้กระทำกิจภวังค์สืบต่อไป เพราะฉะนั้นปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเวทนาอะไร ภวังคจิตก็ประกอบด้วยเวทนานั้น

    6858 เวลาที่เป็นภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต ดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง เมื่อครั้งก่อนอาจารย์ก็ได้พูดว่า ขณะที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ขณะนั้นก็มีความสุข เพราะว่าหลังจากการเห็นแล้ว ก็ต้องมีความชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้าง หลังจากการได้ยินแล้ว ก็จะต้องมีชอบใจ ไม่ชอบใจบ้าง ทีนี้ภวังคจิตไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่นนี้ ฉะนั้นก็จะต้องมีความสงบสุข เหมือนกับเห็นพระนิพพาน เป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ไม่คิดนึก นี้ดีหรือไม่ดี

    ผู้ฟัง ก็ต้องว่าดี ดีฮะ

    ท่านอาจารย์ คราวก่อนบอกว่า ไม่ดี เพราะว่าไม่เห็น แสดงว่าอยากเห็น แล้วก็อยากได้ยิน อยากได้กลิ่น อยากลิ้มรส อยากรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ในครั้งก่อน

    การฟังธรรม ก็จะเข้าใจขึ้นเพิ่มขึ้นเป็นขั้นๆ ในขั้นที่ยังพอใจที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย เวลาที่รู้ว่า จะไม่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การได้กระทบสัมผัสกาย ก็ไม่ชอบ เพราะเหตุว่าอยากจะเห็น อยากจะได้ยิน

    ผู้ฟัง อยากจะเห็นสิ่งที่ดีๆ เท่านั้น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นภวังค์ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ดีไหมคะ

    6859 ภวังคจิต กับ นิพพาน เหมือนกันหรือไม่

    ผู้ฟัง ก็พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ว่า “นิพพาน” นี้เป็นสันติสุข เพราะว่ามีความสงบ มีความสุข ไม่ได้เร่าร้อนอะไร เพราะนิพพานนี้ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่ถูกต้องสัมผัส ผมก็เลยคิดว่า ภวังคจิตกับนิพพานนี้จะเหมือนกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่เหมือนค่ะ เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าภวังคจิตจะไม่เห็น จะไม่ได้ยิน จะไม่ได้กลิ่น จะไม่ลิ้มรส จะไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ แต่ก็เกิดขึ้นและดับไป แล้วก็ไม่ใช่จะเป็นภวังค์อยู่ตลอดไปเป็นนิจนิรันดร เพราะมีปัจจัยที่จะให้เห็นเกิดขึ้น เลือกไม่ได้ว่าจะให้เห็นสิ่งใด ซึ่งทุกคนยังไม่จุติ ยังจะต้องเห็น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่รู้ว่าจะเห็นอะไร เมื่อไร จะได้ยินอะไรเมื่อไร เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะให้เห็น เห็นก็เกิดขึ้น มีปัจจัยที่จะให้ได้ยิน ได้ยินก็เกิดขึ้น ภวังคจิตเพียงสลับคั่น ระหว่างวิถีจิตที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึกในขณะนี้เท่านั้น ไม่มีใครจะหยุดยั้งวิถีจิตต่างๆ ไม่ให้วิถีจิตต่างๆ เกิด เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นภวังคจิตไม่ใช่นิพพาน เพราะเหตุว่าเป็นเพียงจิตที่เกิดสืบต่อดำรงภพชาติ คั่นจิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตที่คิดนึก

    6860 กำลังคิด กำลังพูดอยู่นี้ มีภวังคจิตหรือไม่

    ถาม ผมฟังๆ อาจารย์ที่พูดนี้ ภวังคจิตนี้รักษาภพชาติ ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ดำรงภพชาติ เมื่อยังไม่สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้

    ผู้ฟัง กำลังคิด ขณะที่ผมกำลังพูดกับอาจารย์อยู่อย่างนี้ มีภวังคจิตไหม

    ท่านอาจารย์ คั่นค่ะ มีช่องว่างคั่นอยู่เรื่อยๆ ระหว่างเห็นกับได้ยิน ต้องมีช่องว่าง เห็นจึงไม่ได้เห็นอยู่ตลอดไป ถูกไหมคะ

    ขอกล่าวถึงเป็นทางๆ ไป เริ่มตั้งแต่เห็นกับได้ยิน ต้องมีช่องว่างคั่น เพราะเหตุว่าไม่ได้เห็นอยู่ตลอดไป ช่องว่าง คือ ภวังคจิต ภวังคจิตเกิดคั่น

    ผู้ฟัง แต่ที่ผมกำลังพูดกับอาจารย์ มีภวังคจิตไหม

    ท่านอาจารย์ มีซิคะ ระหว่างเห็นกับได้ยิน ก็มีภวังคจิตคั่น ระหว่างได้ยินกับคิดนึกก็มีภวังคจิตคั่น

    ผู้ฟัง แล้วภวังคจิตจะไปรักษาภพชาติได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ดำรงภพชาติ ก็ยังยืนอยู่ ยังไม่ได้จุติลงไปนี่คะ ยังคงเป็นบุคคลนี้อยู่ ตราบใดที่จุติจิตยังไม่เกิด ใครจะทำลายความเป็นบุคคลนี้ไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถที่จะทำลายนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และไม่มีใครที่จะให้บุคคลนี้ดำรงความเป็นบุคคลนี้ต่อไปได้ ถ้าจุติจิตเกิดขึ้นและดับไป สิ้นสุดทันที ไม่เหลือความเป็นบุคคลนี้อีกเลย จะไปแสวงหาที่ไหนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่านามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วแต่ละขณะ ซึ่งความจริงแล้วก็เป็นการตายอยู่ทุกๆ ขณะ ตามความเป็นจริง แต่มองไม่เห็น

    6861 การกระทบของรูปและอายุของรูป กับ อตีตภวังค์

    สำหรับวิถีจิตยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมคะ คงจะเข้าใจแล้วไม่ลืมว่า ขณะใดที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้วเป็นวิถีจิตทั้งหมด

    เพราะฉะนั้นก็ควรที่จะทราบให้ละเอียดยิ่งขึ้นว่า วิถีจิตทั้งหมดนั้นมีอะไรบ้าง กำลังนอนหลับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ภวังคจิตเกิดดับสืบต่อ ดำรงภพชาติอยู่ แต่ไม่ใช่ตลอดไป เวลาที่มีอารมณ์กระทบทวารหนึ่งทวารใด ซึ่งเป็นทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้นๆ เช่น แม้ในขณะที่กำลังนอนหลับสนิท กรรมก็เป็นปัจจัยทำให้จักขุปสาทรูปเกิดดับสืบต่อดำรงอยู่ ยังไม่ใช่บุคคลที่ตาบอด ถ้าขณะใดกรรมนั้นยุติการเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิด บุคคลนั้นถึงตื่นก็ไม่สามารถจะเห็นอะไรได้

    เพราะฉะนั้นใครก็ตามที่ลืมตาตื่นขึ้นเห็น ก็เป็นเพราะกรรมเป็นปัจจัยให้จักขุปสาทรูปเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป ตลอดเวลา แล้วก็มีรูปารมณ์กระทบจักขุปสาท แต่ว่าขณะนั้นจิตยังไม่เห็น เพราะเหตุว่ากำลังเป็นภวังค์อยู่ ขณะใดที่รูปารมณ์เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาท ขณะนั้นกระทบกับภวังค์ แสดงให้เห็นว่า รูปที่เกิดขึ้นกระทบจักขุปสาท พร้อมกับภวังคจิตที่ถูกกระทบนั้น ชื่อว่า “อตีตภวังค์”

    ยังเป็นภวังค์อยู่ จึงไม่ใช่วิถีจิต อย่าลืมค่ะว่า จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิต จึงจะเป็นวิถีจิต ถ้าจิตใดยังเป็นภวังค์อยู่ จิตนั้นไม่ใช่วิถีจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่อารมณ์เกิดขึ้นกระทบกับจักขุปสาททางตา หรือว่าเสียงเกิดขึ้นกระทบกับโสตปสาททางหู กระทบภวังค์ ยังไม่ได้ยิน จะได้ยินทันทีไม่ได้ เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้นทันทีที่รูปเกิดขึ้นกระทบโสตปสาท ขณะนั้นกระทบภวังค์เท่านั้น ยังไม่ได้ยิน ภวังคจิตที่สัททรูป คือ เสียงกระทบกับโสตปสาท และกระทบ ภวังค์นั้นชื่อว่า อตีตภวังค์

    ที่ใช้คำว่า อตีตภวังค์ เพื่อแสดงให้รู้ถึงอายุของรูปว่า อายุของรูปๆ หนึ่งจะมีอายุเท่ากับการเกิดดับของจิต ๑๗ ขณะ เพื่อที่จะให้รู้ว่า รูปจะดับเมื่อไร เวลาที่รูปเกิดกระทบกับโสตปสาท กระทบภวังค์ จะใช้คำว่า ภวังค์เฉยๆ ก็ได้ แต่ถ้าใช้คำว่า “ภวังค์” จะไม่รู้ว่า รูปจะดับเมื่อไร แต่เพื่อที่จะให้รู้ว่า รูปนั้นเกิดเมื่อไรและดับเมื่อไร เวลาทันทีที่รูปนั้นเกิดกระทบกับโสตปสาท กระทบกับภวังค์ จึงหมายเอาภวังค์ที่ถูกกระทบว่า เป็น “อตีตภวังค์” เพื่อที่จะแสดงอายุของรูปว่า เมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะแล้ว รูปก็ดับไป ยังไม่เห็น เพราะจิตเกิดดับเร็วมาก ทันทีที่กระทบก็ต้องกระทบภวังค์

    6862 ภวังคจลนะ

    อตีตภวังค์ดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้ภวังคจิตดวงต่อไป “ไหว ที่จะรู้อารมณ์ใหม่ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยินอะไรเลย แต่เมื่อมีอารมณ์กระทบกับปสาทก็ต้องกระทบภวังค์ ภวังคจิตที่ถูกระทบดับไปแล้ว ภวังค์ดวงต่อไปก็ไหว หมายความว่า เริ่มที่จะรู้ถึงอารมณ์ที่ปรากฏที่กระทบ แต่ในขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่เป็นวิถีจิต ยังเป็นภวังคจิตอยู่

    6863 ภวังคุปัจเฉทะ

    เมื่อภวังคจิตซึ่งเป็น ภวังคจลนะ ดับไป ก็ยังมีภวังคจิตเกิดสืบต่ออีก ๑ ดวง เป็นดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ นี่แสดงให้เห็นถึงการเกิดดับสืบต่อของจิตที่เร็ว ยับยั้งไม่ได้เลยว่า จิตจะเกิดขึ้นแล้วดับไปๆ ๆ ตามกำลัง ตามปัจจัย ที่ว่าเมื่อภวังคจลนะดับไปแล้ว ภวังคจิตที่เกิดต่อ เป็น “ภวังคุปัจเฉทะ คือเป็นภวังคจิตดวงสุดท้ายของกระแสภวังค์ หมายความว่า หลังจากนั้นแล้ว วิถีจิตจะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จะมีการเห็นแต่ละครั้ง ให้ทราบว่า อารมณ์กระทบภวังค์ มีอารมณ์จริงๆ ถ้าเป็นทางทวารทั้ง ๕ คือ ทางตา มีรูปารมณ์กระทบกับจักขุปสาท ทางหู มีสัททารมณ์ (เสียง) กระทบกับโสตปสาท ที่กำลังได้ยินอยู่เดี๋ยวนี้ ถ้าเป็นทางจมูก มีคันธารมณ์ (กลิ่น) ก็กระทบฆานปสาท ถ้าเป็นทางลิ้น มีรสารมณ์ (รส) กระทบกับชิวหาปสาท ถ้าเป็นทางกาย มีโผฏฐัพพารมณ์ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ก็กระทบกับกายปสาท

    6864 ปัญจทวาราวัชชนจิต

    เวลาที่ภวังคุปัจเฉทจิตดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้วิถีจิตเกิดต่อ จิตใดก็ตามที่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่ภวังคจิต ไม่ใช่จุติจิตแล้วเป็นวิถีจิต จิตทุกดวงมีงานทำ จิตทุกดวงที่เกิดขึ้นทำกิจการงานตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ดับไป แต่เวลาที่ภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตดวงแรกที่เกิดจาก “ภวังคุปัจเฉทะ” กระทำ อาวัชชนกิจ เป็นภาษาบาลี “อาวัชชนกิจ” ภาษาไทย หมายถึง ถ้าแปลโดยศัพท์ รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตที่ทำอาวัชชนกิจ เป็น ปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตดวงหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทางหนึ่งทางใดใน ๕ ทาง กระทำอาวัชชนกิจ คือ รำพึง หรือนึกถึงอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ถึงแม้ว่ารสกระทบกับชิวหาปสาท แต่ยังไม่ได้ลิ้ม เพราะเมื่อเกิดกระทบกับชิวหาปสาท กระทบกับภวังค์ เป็น อตีตภวังค์ ดับไป เป็น ภวังคจลนะ” ดับไป เป็น ภวังคุปัจเฉทะ” ดับไป แล้ว “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เกิดขึ้นรำพึง คือ คิดถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวาร แล้วแต่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย จิตดวงนี้เกิดขึ้น คิดถึงอารมณ์ที่กระทบทวาร เพราะจิตที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร ได้ทั้ง ๕ ทวาร จึงชื่อว่า “ปัญจทวาราวัชชนจิต” เป็นจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นกระทำกิจนี้

    เหมือนคนที่รู้ว่าแขกมา แต่ยังไม่เห็นแขก ใช่ไหมคะ เพียงแต่รู้ว่า มีแขกมา แต่ยังไม่รู้ว่าใคร ยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นทุกท่านมีแขกมาเสมอ ใช่ไหมคะ เวลานี้มีแขกมาหาหรือเปล่าคะ ไม่มีหรือคะ แขกมาหรือยังคะ มาหรือไม่มา ทางตานี้ สีสันวัณณะเป็นแขก เราอาจจะคิดถึงคนใช่ไหมคะ ว่าวันนี้แขกมา แต่ว่าทางตาที่เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแขก ทางหูที่ได้ยิน เสียงเป็นแขก เมื่อกี้ก็ไม่ได้มา อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แต่ในขณะที่ได้ยินเสียง เสียงเป็นแขก จิตเกิดขึ้นรู้แขกที่มาหาว่าเป็นเสียง เป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางหู

    เพราะฉะนั้นโดยสมมติบัญญัติ คนมาหา แขกมาหา โดยปรมัตถ์ รูปมาหา เสียงมาหา กลิ่นมาหา รสมาหา เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว มาหาทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    6865 แขก

    ตอนนี้รู้จักคนที่มาหาดีหรือยังคะ ว่าแท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่คน อารมณ์ต่างๆ ที่ปรากฏทางตา เป็นแขกประเภทหนึ่ง เสียงต่างๆ ที่ปรากฏทางหู ก็เป็นแขกประเภทหนึ่ง กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ก็เป็นแขกประเภทหนึ่ง รสที่ปรากฏทางลิ้น แต่ก่อนก็เป็นอาหารรสนั้น รสนี้ รสชา รสกาแฟ แต่เดี๋ยวนี้พอรสปรากฏ รู้เลยค่ะ ว่าเป็นแขก เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งปรากฏทางลิ้น

    เพราะฉะนั้นมีแขกอยู่ตลอดเวลาหรือเปล่าคะ ชอบไหมคะ ชอบแขกไหมคะ ท่านที่เป็นผู้ใหญ่ ท่านก็รู้สึกเหงาค่ะ เพราะตลอดชีวิตมาท่านก็พบปะบุคคลนั้นบุคคลนี้ ระหว่างที่ยังไม่ใช่ผู้ที่สูงอายุก็มีการพบปะบุคคลมากหน้าหลายตา มีการรื่นเริงสนุกสนานกับญาติมิตรสหาย พอเวลาที่ท่านสูงอายุขึ้น แขกซึ่งเป็นคนในความรู้สึกของท่านก็ลดน้อยลง เพราะเหตุว่าไม่ได้กระทำการงานอาชีพใดๆ แล้วบางท่านก็บอกว่า เวลาที่ถามท่านว่า ท่านชอบอะไรมากที่สุด ท่านบอกว่าท่านชอบคน คือ ชอบให้คนมาหา เพื่อที่จะได้เพลิดเพลิน มีการสนทนาคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ เป็นที่พอใจ แต่ให้ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว ทุกคนมีแขกอยู่ตลอดเวลาที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย

    ชอบแขกหรือไม่ชอบแขกค่ะ คิดดูดีๆ ซิคะ ชอบไหมคะ ชอบหรือคะ อยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้ามีแขกมาก็โลภมูลจิตเกิด พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย

    6866 แขกมีหลายประเภท

    ถาม ขอโทษนะครับ ผมสงสัยนิดหนึ่ง ที่ว่ามีแขกมาหานี้ เป็นคำของพระพุทธเจ้า หรือว่าอาจารย์เปรียบเทียบ

    ท่านอาจารย์ คงจะไม่ได้ใช้คำว่า แขก แต่อาจจะใช้คำอื่น ซึ่งจะขอกล่าวถึงต่อไป ถ้าเป็นคำอื่นที่ไม่มีในพระไตรปิฎก แต่ว่าจะช่วยให้เข้าใจได้ จะยอมรับไหมคะ เพราะว่าถ้าศึกษาต่อไปก็อาจจะอยู่ตอนหนึ่งตอนใดในพระไตรปิฎก แม้ว่าพยัญชนะอาจจะคล้ายคลึง เพราะแขกมีหลายประเภท ใช่ไหมคะ จริงหรือไม่จริง แขกคนนี้ไม่อยากเจอ มีไหมคะ ไม่อยากให้มาหา แขกบางคนก็รอ เมื่อไรจะมา ถูกไหมคะ

    เพราะฉะนั้นแขกก็มีประเภทต่างๆ ถ้าเป็นโจร คงไม่มีใครต้องการแขกชนิดนั้น ใช่ไหมคะ แต่ถ้าเป็นญาติสนิท มิตรสหาย ก็รอว่าเมื่อไรจะมา เพราะฉะนั้นแขกก็มีหลายประเภท แต่ว่าตามความเป็นจริง รูปเป็นเพียงรูปธรรม ไม่ได้มีเจตนาหวังดี หวังร้ายอะไรกับใคร เพราะเหตุว่ารูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ เสียงที่กำลังปรากฏเป็นแต่เพียงรูปธรรม เพราะฉะนั้นแขกที่เป็นโจร หรือแขกที่เป็นญาติ จะเป็นในขณะไหน เพราะเหตุว่ารูปธรรมเป็นเพียงรูปธรรม กุศลจิตหรืออกุศลจิตเกิดขึ้นในขณะที่มีอารมณ์นั้นปรากฏ อารมณ์กำลังปรากฏ ถ้าพอใจในอารมณ์นั้น โจรอยู่ที่นั่นเพราะเหตุว่าเป็นอกุศลธรรม อกุศลไม่เป็นมิตรกับใคร กุศลเหมือนญาติสนิท ซึ่งจะคอยเกื้อกูลอุปการะช่วยเหลือ ไม่ว่าจะยามใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นต้องรู้ลักษณะของจิตที่ต่างกัน อกุศลเป็นโทษ ไม่เป็นมิตร เป็นโจร

    6867 อกุศลเป็นแขกที่เป็นโจร - กุศลเป็นแขกที่เป็นญาติ

    เวลาที่ท่านผู้ฟังคิดถึงโจรผู้ร้าย มีความรู้สึกว่า น่ากลัว และไม่อยากที่จะให้เป็นแขกเลย แต่ว่าโจรนั้นมาพร้อมกับอกุศลจิต เพราะฉะนั้นเหตุอยู่ที่ตัวท่านค่ะ ขณะใดที่มีการเห็น และเกิดความยินดีพอใจ เป็นโลภะ หรือโทสะ นั่นเป็นต้นเหตุที่จะให้มีแขกที่เป็นโจรข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่าวันไหน แต่ขณะใดที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการลิ้มรส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วกุศลจิตเกิด ขณะนั้นมีญาติสนิทมิตรสหาย พร้อมที่จะเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า เพราะเหตุว่ากุศลนั้นเป็นเหตุเป็นตัวมิตรสหาย เพราะฉะนั้นก็ย่อมนำมาซึ่งมิตรสหายข้างหน้า ซึ่งเป็นกุศลจิต และจะนำมาซึ่งกุศลวิบากข้างหน้าด้วย

    เพราะฉะนั้นเหตุไม่ได้อยู่ที่คนอื่นเลย รูปทั้งหมดไม่ใช่สภาพรู้ ไม่มีเจตนาใดๆ ทั้งสิ้น เสียงที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพรู้ ที่ต้องการให้ใครได้ยิน ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง ให้คนนี้ได้ยิน ให้คนนั้นไม่ได้ยิน เสียงเป็นเพียงรูปธรรมซึ่งเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะกระทบกับโสตปสาท เป็นแขกของใคร หรือจะไม่ใช่แขกของใคร

    6868 กรรมนำแขกมาให้

    บางคนนอนหลับสนิท ไม่ได้ยินเสียงฟ้าร้องซึ่งเป็นเสียงที่น่ากลัว เพราะฉะนั้น ฟ้าร้องนั้นก็ไม่เป็นแขกของคนนั้น แต่เป็นแขกของคนที่สะสมอกุศลจิต เพราะฉะนั้นเวลาที่เสียงประเภทนั้นเกิดขึ้นก็เป็นแขกของบุคคลนั้น ตามเหตุตามปัจจัย ไม่ใช่คนอื่นนำมาให้ค่ะ แต่ว่ากรรมของตนเองนำมาให้

    6869 ไม่รู้เลยว่าแขกไหนจะมา แต่กำลังมีแขกแล้วนั่นคือวิถีจิต

    ถ้าระลึกรู้อย่างนี้ สติจะเกิดขึ้นบ้างไหมคะ กำลังมีแขกแล้ว ไม่รู้เลยว่า แขกไหนจะมา เสียงอะไรจะเกิดปรากฏ หรือว่ากลิ่นอะไร หรือว่ารสอะไร หรือว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ประเภทไหน เป็นแขกจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่รู้ใช่ไหมคะ นั่นคือวิถีจิต

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า วิถีจิตทั้งหมด มี ๗ ประเภท

    ปัญจทวาราวัชชนจิต” เป็นวิถีจิตแรกที่กระทำกิจ “อาวัชชนกิจ” คือ รำพึงหรือคิดถึงอารมณ์ที่กระทบที่ทวาร แต่ว่ายังไม่ได้กระทำกิจเห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้นเวลาที่วิถีจิตทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ทางใจ จะเกิดขึ้น จะต้องมีจิตที่กระทำ “อาวัชชนกิจ” คือ รำพึงหรือคิดถึงอารมณ์ที่ปรากฏ ก่อนวิถีจิตอื่นๆ ทุกครั้ง เพราะฉะนั้นก็เป็นวิถีจิตแรก ถ้าเป็นทางทวารทั้ง ๕ จิตที่กระทำกิจนี้ก็เป็น “ปัญจทวาราวัชชนจิต”

    ซึ่งเพื่อที่จะให้จำได้ อาจจะใช้คำว่า “ปัญจทวาราวัชชนวิถีจิต” ก็ได้ เพื่อที่จะให้รู้ว่า เป็นวิถีจิต แล้วก็แยกออกไป ถ้าเป็นทางตา ก็เป็นจักขุทวารวิถีจิต


    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 18
    15 ก.ย. 2566

    ซีดีแนะนำ