จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
7432 โกรธง่าย ทำยังไงถึงจะไม่โกรธ ทำยังไงถึงจะหายโกรธ
หรือว่าบางท่านก็ยังเป็นผู้ที่มากไปด้วยความโกรธ เพราะว่าโดยมากท่านผู้ฟังจะถามว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่โกรธ ทำอย่างไรจึงจะหายโกรธ แม้ในวันนี้เองก็มีท่านผู้หนึ่งก็ถามว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่โกรธ เพราะว่าท่านโกรธง่ายจริงๆ กำลังฟังธรรมอยู่ก็โกรธ ก็มีปัจจัยที่จะโกรธโดยรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นท่านก็อยากที่จะไม่โกรธ เป็นความอยากชนิดหนึ่ง คือ อยากที่จะไม่โกรธ แล้วกิเลสอื่นไม่สนใจเลย โลภะเกิดไม่เป็นไร เพราะไม่ได้ถามว่า ทำอย่างไรโลภะจึงจะไม่เกิด นี่ก็แสดงว่า เวลาที่กิเลสอื่นเกิดไม่เดือดร้อน แต่ว่าเดือดร้อนเวลาที่โทสะเกิด เพราะฉะนั้นก็อยากจะดับแต่โทสะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามยังมากด้วยความยินดี พอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ยังมากไปด้วยความโกรธ เวลาที่กระทบกระทั่งกับอารมณ์ต่างๆ ซึ่งไม่น่าพอใจ ยังมีมัจฉริยะ ความตระหนี่ ยังมีความริษยา ยังมีมานะ ความสำคัญตนอย่างมาก แล้วจะให้สติเกิดได้เนืองๆ บ่อยๆ ให้ปัญญาคมกล้าประจักษ์ลักษณะที่เกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่ลึกซึ้ง โดยที่จะไม่อาศัยการฟังธรรมอื่นๆ ประกอบ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
7433 ธรรมทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลสัตว์ที่งมงายต่างกันเป็น ๓ เหล่า
เพราะฉะนั้นพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เพื่อที่จะเกื้อกูลบุคคลที่ต่างกันเป็น ๓ เหล่า ซึ่งข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา มีว่า
บรรดาสัตว์ ๓ จำพวกเหล่านั้น สัตว์ผู้งมงายใน “นาม” จะรู้เข้าใจขันธ์ได้ เพราะแจก “นาม” ไว้ ๔ อย่างในขันธ์นั้น
สัตว์ผู้งมงายใน “รูป” จะรู้เข้าใจอายตนะได้ เพราะแจก “รูป” ไว้ ๑๐ อย่าง กับอีกครึ่งอายตนะ เพราะเหตุว่าสำหรับธัมมายตนะนั้นมีทั้งนามธรรมและรูปธรรม
สัตว์ผู้งมงายในนามและรูปทั้งสอง จะรู้เข้าใจธาตุได้ เพราะแจกนามและรูปทั้งสองไว้ในจำพวกธาตุนั้นโดยพิสดาร
เพราะฉะนั้นท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่งมงายในนามเท่านั้น หรือว่าเป็นผู้ที่งมงายในรูปเท่านั้น หรือว่าเป็นผู้ที่งมงายอยู่ในทั้งในรูปและนาม ถ้างมงายอยู่ทั้งในรูปและนาม ก็จะต้องอาศัยการฟังธรรมโดยประการต่างๆ ที่จะให้เกิดกุศลประการต่างๆ เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติตามความเป็นจริงได้
ตามความเป็นจริงในขณะนี้ มีทั้งปรมัตถสัจจะและสมมติสัจจะ ถ้ายังไม่เข้าใจลักษณะที่ต่างกันโดยละเอียด โดยลึกซึ้ง โดยชัดเจน แล้วสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมได้ไหม
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจก่อน อย่าเพิ่งปฏิบัติทันที โดยที่ไม่มีความเข้าใจในลักษณะของปรมัตถธรรม
7434 จะรู้ได้อย่างไรว่างมงายในรูป - งมงายในนาม - งมงายในรูปและนาม
ท่านอาจารย์ มีข้อสงสัยอะไรบ้างไหมคะในตอนนี้
ถาม ที่ว่างมงายในรูป งมงายในนาม ในทั้งรูปทั้งนาม เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เวลานี้เราเป็นผู้งมงายรูปหรืองมงายนาม
ท่านอาจารย์ รู้ลักษณะของรูปหรือเปล่า รู้ลักษณะของนามหรือเปล่า
ผู้ฟัง ก็รู้อยู่ครับ
ท่านอาจารย์ เห็นอะไรคะ วิธีพิสูจน์นี้ เห็นอะไร
ผู้ฟัง ถ้าหลงลืมสติเมื่อไร ก็เห็นเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ทุกทีล่ะครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นต้องทราบซิคะว่า ขณะใดเป็นสัมมุติ ขณะใดเป็นปรมัตถ์ เพื่อที่สติจะได้ระลึกตรงลักษณะของปรมัตถธรรม
ผู้ฟัง ในครั้งพุทธกาล เรื่องนี้มักจะต้องอาศัยพึ่งอาจารย์ บางทีเขาจะรู้นิสัย จริตของบุคคลนั้น ว่าเป็นจริตชนิดไหน นิสัยของคนนั้นหลงยึดถือรูปมาก หรือนามมาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะต้องพึ่งพาอาศัยอาจารย์
ท่านอาจารย์ สมัยนี้ไม่มีเสียแล้วค่ะ เพราะฉะนั้นต้องพึ่งตัวเอง
7435 สติเกิดขึ้นจะพิจารณารูปารมณ์ให้ชัดอย่างไร
ผู้ฟัง แล้วอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการปฏิบัติ เมื่อกี้อาจารย์กล่าวว่า เห็นช้อน เห็นส้อม เห็นถ้วย เห็นจาน ขณะใดที่หลงลืมสติ ก็เห็นเป็นช้อน เป็นถ้วย เป็นจาน แต่ว่าขณะที่มีสติ จะเห็นว่าเป็นรูปารมณ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏได้ทางตา แต่ว่าสิ่งที่ปรากฏได้ทางตานี้ ปรากฏไม่ใช่รูปารมณ์ แต่ปรากฏเป็นช้อน เป็นส้อม ทั้งๆ ที่สติเกิดขึ้น เห็นก็รู้ว่า นั่นเป็นช้อน นั่นเป็นส้อม ทีนี้ในเมื่อสติเกิดขึ้น รูปารมณ์ที่ปรากฏ แต่ว่ารู้ไม่ชัด จะพิจารณาอย่างไรครับ
ท่านอาจารย์ ระลึกบ่อยๆ เนืองๆ หนทางเดียวค่ะ ท่านผู้ฟังไม่ต้องการเหตุเลยนะคะ ต้องการผลค่ะ ว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ แต่พอบอกว่าระลึกบ่อยๆ เนืองๆ รู้สึกว่าไม่ต้องการ ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ ก็ระลึกมามากแล้ว
ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะไม่ต้องการจะระลึกอีกต่อไป เพราะว่ามากแล้ว เพราะฉะนั้นต้องการรู้เหมือนกับต้องการตกน้ำ แล้วว่ายเป็นทันที ไม่ต้องหัด
ผู้ฟัง เรื่องนี้ที่ท่านอาจารย์ว่า ตกน้ำว่ายเป็นทันทีก็มี มีตัวอย่าง
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้นะคะ แม้แต่เพียงฟังคาถาสั้นๆ ก็ยังประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบ้าง เช่น ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือบางท่านก็สามารถที่จะเป็นถึงพระอรหันต์ได้โดยรวดเร็ว เป็นเอตทัคคะในการรู้แจ้งโดยพลัน เช่น ท่านพระพาหิยทารุจิริยะ แต่ไม่ได้หมายความว่า โดยไม่มีเหตุที่สะสมมา
เพราะฉะนั้นอยากจะรู้ แต่เบื่อตอนที่จะต้องระลึกบ่อยๆ เนืองๆ แล้วไม่รู้สักที เมื่อยังไม่รู้ ก็ยังไม่รู้ค่ะ จะให้ขณะที่ยังไม่รู้เป็นความรู้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องอดทน วิริยะอยู่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญวิริยารัมภกถา คำพูดที่จะให้เกิดวิริยะ ความเพียร ไม่ใช่ให้ไปเพียรทำอย่างอื่นเลย เพียรระลึกรู้สิ่งที่ปรากฏ แล้วยังไม่รู้ ให้ค่อยๆ รู้ขึ้นๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งจริงๆ ได้ ซึ่งถ้าไม่อาศัยการค่อยๆ ระลึก ค่อยๆ รู้ แล้วจะประจักษ์แจ้ง ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการประจักษ์แจ้งต้องมาจากเหตุ คือ การอดทนที่จะระลึกศึกษารู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏไปเรื่อยๆ จนกว่าความรู้จะเกิดขึ้น
7486 อุปสรรคของการระลึก ระลึกแล้วยังไม่รู้ว่าระลึกหรือยัง จะระลึกอย่างไร
ถาม คือช่วงนี้มันเป็นอุปสรรคแก่ผู้ปฏิบัติหลายท่านทีเดียว ที่อาจารย์กล่าวว่า ระลึกบ่อยๆ ก็เข้าใจ แต่ว่าขณะที่สติเกิดขึ้น แล้วก็ระลึก ขณะที่ระลึก ระลึกแล้วบางครั้งก็ยังไม่รู้ ว่า เอ เราระลึกแล้วหรือยัง แล้วก็จะระลึกอย่างไร
ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วใครล่ะคะจะช่วยได้ ในเมื่อขณะนั้นความจริงเป็นอย่างนั้น ก็เป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นทุกคนถึงได้รู้ว่า การอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องยาก แสนยากจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่จะทำสำเร็จได้ในเร็ววัน คือ ในเดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง หรือชาติหนึ่ง กัปๆ นั้นเอาไปทิ้งไว้ที่ไหนล่ะคะ จนถึงพันกัป หมื่นกัป แสนกัป จะย่นย่อให้เหลือเพียงชั่วขณะนี้ ช่วยสอนให้หน่อย ช่วยบอกให้หน่อย ว่าจะระลึกอย่างไร ซึ่งทุกคนนี้ต้องอาศัยการฟัง การพิจารณา จนเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ยังไม่พอ เพราะเหตุว่าการฟัง การพิจารณาและการเข้าใจจะเป็นสังขารขันธ์ เป็นเครื่องปรุง เป็นเครื่องประกอบที่จะให้ปัญญาข้างหน้าเกิดขึ้น
ถ้าจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง ไม่มีตะปู ไม่มีส่วนประกอบ ไม่มีอะไรเลย แล้วจะให้เป็นบ้านหลังหนึ่งเกิดขึ้นก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในทางวัตถุก็ยังต้องอาศัยวัสดุเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้นการฟัง การเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟังแต่ละขณะนี้ไม่ได้หายไปไหนเลย เป็นอุปกรณ์ซึ่งเก็บสะสมไว้ เพื่อที่จะให้ปัญญาที่สมบูรณ์เกิดขึ้นข้างหน้า แล้วนี่ไม่ใช่การสร้างบ้านธรรมดา ปราสาทราชวัง เรือนยอด ซึ่งเป็นโลกุตรธรรม แล้วจะไม่อาศัยการฟัง ไม่อาศัยการเข้าใจ เป็นเครื่องอุปกรณ์ แล้วอยู่ดีๆ ก็หวังที่จะสร้างบ้านเปล่าๆ ขึ้นมาได้อย่างไร
เพราะฉะนั้นทุกท่านรู้เลยว่า แต่ละท่านยังมีอวิชชาหนาแน่น เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง เพียงแต่ฟัง มีโอกาสที่จะได้ฟัง มีโอกาสที่จะได้พิจารณา มีโอกาสที่จะได้เข้าใจว่า พระผู้มีพระภาคตรัสรู้อะไร ทรงแสดงอะไร และสิ่งที่ทรงแสดงนั้นเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่พิสูจน์ได้ และตัวท่านทุกคนนี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ปัญญาพอหรือยังที่จะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรม แม้ว่าจะมีความเข้าใจเรื่องปรมัตถธรรมแล้ว
เพราะฉะนั้นเรื่องเข้าใจนี้เป็นเบื้องต้น แล้วเรื่องการอบรมเจริญความรู้ก็เป็นการที่จะอบรมเจริญไป จนกว่าความรู้นั้นสามารถที่จะเป็นปัญญาที่แทงตลอดลักษณะของสภาพธรรมที่พระผู้มีพระภาคและพระอริยสาวกทั้งหลายท่านได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
แต่ว่าเรื่องยากเป็นเรื่องยากค่ะ ทุกคนก็จะต้องดิ้นรน กระเสือกกระสนไปตามหนทางซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ จากการที่เข้าใจ และกว่าจะเป็นสติที่เกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง ค่อยๆ รู้บ้าง ไม่รู้บ้างไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะคมกล้า นั่นเป็นหนทางเดียวค่ะ เบื่อไหมคะ เลิกไหม ก็ดีนะคะ รู้อย่างนี้ ก็เพียรต่อไป ไม่เลิก
7487 ฟังก็รู้ แต่เมื่อไรปัญญาจะรู้ว่าเป็นรูปารมณ์เท่านั้น
ผู้ฟัง ตรงนี้ต้องถามให้มากๆ หน่อย คือว่าขณะที่หลงลืมสติ ก็เห็นว่าเป็นถ้วย เป็นจาน ขณะที่มีสติก็เห็นว่าเป็นถ้วย เป็นจาน แล้วมันจะต่างกันอย่างไรครับ ปัญญาเมื่อไรจะรู้ว่า เป็น รูปารมณ์ เป็นสภาพที่ระลึกทางตาเท่านั้น ที่อาจารย์กล่าวไว้ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏได้ทางตาเท่านั้น จานไม่มี ถ้วยไม่มี การฟังก็รู้อยู่ แต่เห็นทีไร มันก็เป็นจาน เป็นถ้วยทุกที ไม่ว่าจะมีสติ หรือหลงลืมสติ ก็เป็นอย่างนั้นทุกที
ท่านอาจารย์ หมายความว่าการระลึกยังไม่พอ ท่านผู้ฟังก็จะตอบว่า พอแล้ว เพราะว่ามากแล้ว บ่อยแล้ว ถ้าพอแล้ว คือ ประจักษ์ แต่ก็ยังไม่จบนะคะ เพราะแม้แต่พระโสดาบันบุคคลก็ยังเป็นพระเสกขบุคคล คือ ผู้ที่ยังต้องศึกษาต่อไป จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์
7488 จะอยู่เมืองไทยต่อไปจนกว่าสติจะเกิดรู้รูปนามทั้ง ๖ ทวาร
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่มาอยู่เมืองไทย ท่านก็สนใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็พยายามจะอยู่เมืองไทยต่อไปให้นานเท่าที่ท่านบอกว่า สติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้ ๖ ทวาร
แสดงว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายใช่ไหมคะ ที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทวารได้ ต้องค่อยๆ ระลึกลักษณะของนามธรรมบ้าง หรือรูปธรรมบ้าง ทางตาที่กำลังเห็นบ้าง หรือทางหูบ้าง หรือทางจมูกบ้าง หรือทางลิ้นบ้าง หรือทางกายบ้าง หรือทางใจบ้าง แต่ว่าเมื่อไรก็แล้วแต่ค่ะ แต่ไม่ใช่เรื่องเร็ว แต่ว่ารู้ว่าทางตาสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แม้ว่ายังเห็นเป็นจาน เป็นช้อน เป็นส้อม แต่ก็เริ่มที่จะมีความรู้สึก หรือการพิจารณาว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่อย่าลืมว่า ไม่เร็วและไม่ง่ายที่สภาพธรรมจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา ต้องอาศัยจากการค่อยๆ เกิดขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ถ้าวันหนึ่งๆ ไม่เคยระลึกได้เลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ความที่จะไม่ใส่ใจในสัตว์ ในบุคคล จะลดลงบ้างไหมคะ ก็ย่อมจะต้องเหมือนเดิมใช่ไหมคะ เพราะไม่เคยระลึกได้เลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตานี้แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง แต่โดยอาศัยการระลึกได้แม้ว่าจะเคยเห็น แล้วก็รู้ว่า เห็นใคร แต่อาศัยที่ระลึกได้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ค่อยๆ น้อมไปที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะทำให้ละการสนใจยึดถือในความเป็นบุคคลทีละเล็กทีละน้อย แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาพธรรมจะปรากฏโดยความเป็นอนัตตา หรือเกิดดับทันที แต่ต้องอาศัยการค่อยๆ น้อมไปที่จะระลึกรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่กำลังเห็นอย่างนี้ ขอให้ค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แล้วจะค่อยๆ คลายการที่เห็นว่า สิ่งนั้นเป็นวัตถุ เป็นบุคคลต่างๆ แต่ถ้าไม่เคยระลึกอย่างนี้เลย ก็ย่อมจะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ละคลายการยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ
ต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ น้อมไปสู่การที่จะรู้ว่า สภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเป็นเพียงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตาเท่านั้น
7489 การจะดับการยึดถือนามรูป ต้องรู้ว่าไม่ใช่เราจริงๆ เป็นเพียงธาตุแต่ละชนิด
เพราะฉะนั้นการที่จะดับความยึดถือนามธรรมและรูปธรรม หรือ”รูปขันธ์” “เวทนาขันธ์” ความรู้สึกซึ่งเกิดดีใจบ้าง เสียใจบ้าง เฉยๆ บ้าง “สัญญาขันธ์” ซึ่งจำลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เมื่ออกุศลจิตเกิด สัญญานั้นก็เป็นอกุศลสัญญา จำผิด เห็นว่าเที่ยง ไม่เกิดดับ เมื่อเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ต่างๆ นั่นเป็นอกุศลสัญญา จำผิด หรือว่า “สังขารขันธ์” โลภะบ้าง ความชอบใจ ความสนุก ความเพลิดเพลิน ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ หรือว่าความเมตตา ความกรุณา หรือความริษยา ความตระหนี่ ซึ่งเกิดเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
การที่จะรู้จริงๆ ว่า สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรา อย่าลืมนะคะ สภาพธรรมเหล่านี้ไม่ใช่เรา ยากไหมคะ ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นธาตุแต่ละชนิด โลภเจตสิก สภาพที่ยินดี เพลิดเพลิน ต้องการ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นโลภธาตุ โทสะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง โมหะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง อโลภะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง อโทสะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง อโมหะเป็นธาตุชนิดหนึ่ง จักขุวิญญาณ การเห็น เป็นธาตุชนิดหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เสียงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง สภาพที่รู้เสียง ที่ได้ยินเสียงเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นธาตุแต่ละลักษณะ จึงไม่ใช่เรา การที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่เราจริงๆ ถ้ายังไม่ใช่เราเล่นๆ รู้ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป โดยการศึกษา แต่ว่าเราสุข เราต้องการปฏิบัติ ทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นเราอยู่ แต่การที่จะดับความยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ ต้องไม่ใช่เราจริงๆ ทั้งหมด เพราะเหตุว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเลย สิ่งใดๆ ก็ตามซึ่งดับไปแล้ว จะเป็นของใครคะ จะเป็นของใครได้ไหม ดับไปแล้ว ถ้าใครยังยึดถือว่าเป็นของเรา ก็เป็นผู้ที่ไม่ฉลาดเลย เพราะเหตุว่าแม้ไม่มีแล้ว ก็ยังกล่าวว่าของเรา ของเรา ทั้งๆ ที่สภาพธรรมนั้นก็ดับไปแล้ว
และในขณะนี้เอง สภาพธรรมทั้งหมดเกิดดับ ไม่มีสภาพธรรมไหนเลยที่เกิดแล้วไม่ดับ
ความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เห็น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ได้ยิน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นแต่เพียงธาตุแต่ละลักษณะที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป เวลาที่ดับไปแล้ว ท่านผู้ฟังก็พิจารณาเห็นได้ว่า ไม่สมควรที่จะยึดถือสิ่งที่ดับไปแล้วว่า เป็นของเรา หรือเป็นเรา สำหรับสิ่งที่ดับไปแล้ว พอที่จะเห็นได้ ใช่ไหมคะ แต่สิ่งที่ยังไม่ดับ ยังไม่ยอมที่จะเห็นว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้ารู้ว่า แม้สิ่งซึ่งเพิ่งเกิดเมื่อกี้นี้ แล้วยังไม่ดับ ก็ดับไปหมดแล้ว
เพราะฉะนั้นจะยังหลงยึดถือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา ก็ไม่สมควร แม้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ก็ดับอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่ของเรา
แต่ไม่ใช่เพียงฟังอย่างนี้ แล้วก็จะดับกิเลสได้ แต่ต้องเป็นการประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เท่านั้น จึงจะเห็นจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
7490 เผาหญ้าในพระวิหารเชตวัน - ไม่เดือดร้อนในสภาพธรรมที่เป็นอนัตตา
ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เวลาที่มีใครเผาหญ้าในพระเชตวันมหาวิหาร แต่ละท่านในพระวิหารเชตะวันก็ไม่เดือดร้อน เพราะเขาไม่ได้เผาตัวท่าน แต่ว่าเพียงเผาหญ้าในพระวิหารเชตวัน ฉันใด “รูป” ธาตุดินที่หญ้าในพระวิหารเชตวันเป็นแต่เพียงธาตุดิน ฉันใด “รูปแข็ง” ซึ่งทุกท่านมีอยู่ และยึดถือว่าเป็นของท่านก็เป็นแต่เพียงธาตุดิน ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องประจักษ์จริงๆ ว่า ดิน คือ ธาตุที่แข็ง สภาพที่แข็ง ไม่ว่าจะที่ร่างกายหรือที่หญ้า ก็เป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเสมอเหมือนกัน คือ เป็นเพียงธาตุดิน ถ้าเป็นเพียงธาตุดินแล้ว ท่านจะเดือดร้อนไหมคะ กับดินที่กาย ที่เคยยึดถือว่าของเรา ถ้ารู้จริงๆ และการอบรมเจริญสติปัฏฐานนี้ เป็นการอบรมจนกระทั่งปัญญาประจักษ์จริงๆ ในสภาพที่เป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นความรู้สึกจะเหมือนกับการเผาหญ้าที่พระวิหารเชตวัน ฉันใด การที่ธาตุดินนี้จะมีอาการเกิดขึ้นและดับไปก็เหมือนกัน ฉันนั้น ไม่มีความต่างกันเลย เพราะเป็นเพียงธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดดับ จึงจะไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้นถ้าปัญญายังไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ แล้วก็ยังไม่ประจักษ์ในความเกิดขึ้นและดับไปจริงๆ จะกล่าวว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นแต่เพียงเงา หรือเป็นแต่เพียงคำพูด เป็นแต่เพียงคำซึ่งพูดตาม แต่แท้ที่จริงแล้ว ในความรู้สึกจริงๆ ยังไม่เป็นอย่างนั้น แต่การอบรมเจริญปัญญาจะต้องชะล้างการยึดถือสภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นเรา โดยการรู้แจ้ง โดยการประจักษ์จริงๆ ในสภาพของธรรมแต่ละลักษณะ โดยความเป็นธาตุแต่ละลักษณะ ซึ่งไม่ใช่เรา
7491 ถ้าไม่เคยเห็นว่าเงินดับไป ปุถุชนจึงต้องยึด
ถาม ถ้าผู้ที่เห็นว่ามันดับไป ใครจะไปยึด มันก็ไม่ยึด แต่ปุถุชนนี้ยังไม่เคยเห็นว่ามันดับ ก็เงินของเราเก็บไว้ เห็นเมื่อไร ก็ยังอยู่เมื่อนั้น ก็ต้องยึดซิครับว่าเงินของเรา ไม่เคยเห็นว่าเงินดับเลยนี่ครับ วันนี้อยู่อย่างไร ถ้าไม่ถูกขโมย พรุ่งนี้ไปดูอีกมันก็ยังอยู่ ก็ยังยึดว่า เป็นเงินของเรา ไม่เห็นว่ามันดับเลยนี่ครับ เพราะฉะนั้น ต้องยึดครับ
ท่านอาจารย์ นั่นเป็นปุถุชน อย่าลืมนะคะ ความต่างกันของปุถุชนกับพระอริยเจ้า มิฉะนั้นพระอริยบุคคลก็ไม่ต่างกับปุถุชน แต่นี่ต่างกันค่ะ จนกระทั่งไม่มีความเป็นปุถุชน เพราะเป็นพระอริยบุคคล ซึ่งจะไม่ย้อนกลับมาสู่ความเป็นปุถุชนอีก แต่ว่ากิเลสเหนียวแน่นนะคะ อย่าลืม ซึ่งการเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ แต่ไม่มีความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนที่เที่ยง
เป็นเรื่องที่บรรลุถึงได้ แต่ต้องเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น พร้อมทั้งปฏิบัติถูกด้วย ถ้าเข้าใจผิดแม้เพียงเล็กน้อย จะทำให้การปฏิบัตินี้ผิด คลาดเคลื่อน ซึ่งจะไม่เป็นเหตุที่จะให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ยังมีข้อสงสัยอะไรอีกไหมคะในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ถึงแม้ว่าจะคิด ก็ไม่ใช่จะประจักษ์ เพียงแต่เข้าใจได้ว่า ปัญญาจะต้องอบรมเจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้สภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้ โดยความไม่ใช่เราจริงๆ มิฉะนั้นแล้วก็ยังคงมีความเป็นเราหลงเหลืออยู่ว่า เรากำลังมีสติ เรากำลังทำสติ เรากำลังจะสงบ หรือเรากำลังจะรู้ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรา ไม่ใช่การรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม
7492 บัญญัติกับสมมติต่างกันอย่างไร
ถาม บัญญัติกับสมมติต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ สมมติหมายความถึงไม่จริง ต่างกับปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่มีจริงเป็นปรมัตถธรรม ได้แก่ จิต เจตสิก รูป ขณะใดที่ไม่ได้รู้ลักษณะของจิต เจตสิก รูป ขณะนั้นเป็นสมมติ
ผู้ถาม แล้วบัญญัติล่ะครับ
ท่านอาจารย์ บัญญัติหมายถึงคำหรือชื่อ ซึ่งใช้เพื่อจะเรียกสิ่งที่มี ไม่ว่าเป็นสิ่งที่จริงหรือไม่จริง เช่นคำว่า “เวทนา” เป็นคำ เป็นบัญญัติ เพื่อให้เข้าใจอรรถของความรู้สึกซึ่งมีจริงๆ แต่ว่าบัญญัติบางคำก็หมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริง
ผู้ถาม เวทนานี้เป็นสมมติหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ความรู้สึก สมมติหรือเปล่าคะ ต้องเข้าใจเวลาพูดถึงเวทนาว่า หมายถึงอะไร เวทนาเป็นสภาพที่รู้สึกดีใจ หรือเสียใจ หรือเฉยๆ มีจริงหรือเปล่าคะ
ผู้ถาม มีจริงครับ
ท่านอาจารย์ มีจริง ก็เป็นปรมัตถธรรม
7493 บัญญัติที่หมายถึงสิ่งที่มีจริงจะต้องตรงสภาวะใช่หรือไม่
ผู้ถาม บัญญัติสิ่งที่มีจริงต้องตรงกับสภาวะใช่ไหมครับ
ท่านอาจารย์ บัญญัติให้รู้อรรถของสิ่งที่มีจริง หรือให้รู้ในสิ่งที่ไม่มีจริง
ซึ่งข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีมีว่า
ก็บัญญัติที่มีความแตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือว่า บัญญัติหมายถึงสิ่งที่มีจริง หรือบัญญัติที่หมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริง หรือว่าหมายถึงสิ่งที่ไม่มีจริงกับสิ่งที่ไม่มีจริงด้วยกัน หรือว่าหมายถึงสิ่งที่มีจริงกับสิ่งที่มีจริงด้วยกัน หรือหมายถึงสิ่งที่ไม่มีกับสิ่งที่มี หรือหมายถึงสิ่งที่มีกับสิ่งที่ไม่มีรวมกัน ซึ่งต่างออกไปเป็นบัญญัติ ๖
ก็บัญญัติที่มีความแตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วด้วยประการฉะนี้ แม้จะไม่มีอยู่โดยปรมัตถ์ ก็เป็นอารมณ์แห่งจิตตุปาท
คือจิตที่เกิดขึ้นขณะหนึ่งๆ เรียกว่า “จิตตุปาท” จิต กับ อุปาท รวมเป็น จิตตุปาท หมายความถึงขณะจิตหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้น
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 001
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 002
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 003
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 004
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 005
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 006
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 007
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 008
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 009
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 010
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 011
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 012
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 013
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 014
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 015
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 016
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 017
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 018
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 019
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 020
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 021
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 022
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 023
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 024
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 025
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 026
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 027
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 028
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 029
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 030
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 031
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 032
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 033
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 034
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 035
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 036
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 037
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 038
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 039
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 040
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 041
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 042
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 043
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 044
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 045
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 046
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 047
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 048
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 049
- จิตปรมัตถ์ ตอนที่ 050