ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่ ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย ๑๖ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  29 ก.พ. 2559
หมายเลข  27508
อ่าน  1,518

เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม รองประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และคณะฯ ได้เดินทางไปยังอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อเยี่ยมเยียนเด็กๆ และครอบครัว ที่ท่านเป็นผู้ให้การอุปการะมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ จนปัจจุบัน ณ ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรียไตรนิมิตวนาราม

ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม จะเดินทางมาที่นี่ในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกๆ ปี ปีละหนึ่งครั้ง พร้อมกับคณะฯ และ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ซึ่งเมตตาร่วมเดินทางมากับคณะด้วยทุกครั้ง เพื่อมาเยี่ยมเยียน แจกจ่ายสิ่งของอุปโภคบริโภคและเลี้ยงอาหารกลางวันและไอศครีมแก่เด็กๆ และชาวบ้านในบริเวณนี้ "คุณยายดวงเดือน" คือ คำเรียกขานของเด็กๆ ที่นี่ ทุกคนจะรอคอยการมาของคุณยายดวงเดือนอย่างใจจดใจจ่อ เพราะรู้ว่า คุณยายดวงเดือนของพวกเขา เป็นผู้ที่มีใจดี มีเมตตาอย่างยิ่ง ให้การดูแลช่วยเหลือ อุปการะแก่ทุกคนที่นี่ ด้วยความจริงใจ

อาคารเรียนของเด็กๆ ที่นี่ สร้างขึ้นจากเงินบริจาคของท่าน ตลอดจนสิ่งของที่จำเป็นที่คุณครูศุภชัย พลทิพย์ คุณครูผู้เสียสละและมีจิตใจดี ร้องขอ จากการที่ท่านอาจารย์ดวงเดือนได้แสดงเจตจำนงค์ที่จะให้การช่วยเหลือไว้ เมื่อคราวที่ท่านมาที่นี่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๔๗ คือ เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา

คุณครูศุภชัย พลทิพย์ ได้เล่าไว้ในบันทึกของท่านเมื่อปี ๒๕๕๕ มีความตอนหนึ่งว่า "...ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๔๗ ขณะที่ผู้เขียน สอนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนบ้านเด็กป่า ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ผู้เขียน ร่วมกับเพื่อนชาวอังกฤษ ริเริ่มขึ้นมา เพื่อจัดการเรียนการสอน ให้กับเด็กด้อยโอกาส เนื่องจากขณะนั้น การจัดการศึกษาของรัฐฯ ยังไม่ได้ครอบคลุมถึง ทำให้เด็กเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวนมากในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ ตามแนวตะเข็บชายแดน และ ในเมืองอุตสาหกรรม ที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่ ตกอยู่ในสถานะที่ไม่ได้รับการศึกษา.."

"...เช้าวันหนึ่ง ขณะที่ผู้เขียน (ครูศุภชัย พลทิพย์) กำลังจะพาเด็กนักเรียน ไปเรียนการทำบ้านดิน กับ อาสาสมัครชาวไทย และ ต่างชาติ ที่บ้านเวียคะดี้ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสังขละบุรี ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ขณะที่กำลังรอรถสองแถวที่นัดหมายไว้มารับ คุณสุพจน์ (คุณพจน์ เจ้าของพนธ์นทีรีสอร์ท) ซึ่งเป็นเพื่อน โทรศัพท์มาหา บอกว่ามีลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯมีความประสงค์อยากไปเยี่ยมโรงเรียนที่ผมทำ ซึ่งคุณพจน์ก็ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ผมบอกกับคุณพจน์ว่า ผมไม่สะดวกในตอนนี้เนื่องจากกำลังจะขึ้นรถ พาเด็กไปเรียนการทำบ้านดินแต่คุณพจน์ก็ยังพยายามพูดจาให้เหตุผลต่างๆ นานา ให้ผมแวะไปพบกับลูกค้ากลุ่มนี้ ที่พนธ์นทีรีสอร์ท ให้ได้ จนสุดท้ายผมรับปาก ว่าจะแวะเข้าไปพบแล้วจะให้พี่วี (วีราวรรณ พลทิพย์) พี่สาว ซึ่งในขณะนั้นทำหน้าที่ดูแลเด็กที่ไม่สบาย ทั้งในโรงเรียน และ ตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นคนพาลูกค้าคุณสุพจน์มาเยี่ยมเด็กๆ ที่โรงเรียน

พอรถมา ผมจึงได้เดินทางไปพนธ์นทีรีสอร์ท พร้อมทั้งเด็กๆ ที่จะไปเรียนทำบ้านดิน เมื่อเดินทางมาถึง คุณพจน์จึงได้พามาแนะนำกับคณะของลูกค้า ที่บริเวณร้านอาหารของรีสอร์ท จำได้ว่า มีอยู่ประมาณ ๖ - ๗ ท่าน ซึ่งในกลุ่มท่านเหล่านั้น มีคุณดวงเดือน และ ท่านอาจารย์สุจินต์ รวมอยู่ด้วย เมื่อพบกันจึงได้แนะนำตัว แล้วเรียนกับคณะฯว่า ผมเองไม่สะดวกที่จะพาไปโรงเรียน แต่จะให้พี่สาว เป็นคนพาไป ซึ่งได้โทรศัพท์นัดพี่สาวไว้แล้ว หากผู้เขียนจำไม่ผิด น่าจะเป็นคุณดวงเดือน ที่ผมแนะนำตัว เมื่อพี่สาวมาถึง จึงได้ลาคณะของคุณดวงเดือน เดินทางไปยังบ้านเวียงคะดี้ เพื่อพาเด็กไปเรียนทำบ้านดินตามแผน ตอนเย็น หลังกลับจากโรงเรียน จึงได้พบกับพี่วี พี่วีจึงได้ให้เบอร์โทรศัพท์ ของคุณดวงเดือน พร้อมกับบอกว่า คุณดวงเดือนฝากบอกมาว่า หากต้องการความช่วยเหลือเรื่องใด ให้โทรฯไปที่เบอร์นี้ ผมเก็บเบอร์โทรฯไว้ในกระเป๋าสตางค์ พร้อมทั้งได้จดบันทึกไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัว

จนมาปลายปี ๒๕๔๗ จึงได้เริ่มเข้าไปที่ วัดซองกาเรีย หลังจากที่มีชาวบ้านที่รู้ว่า ผมทำโรงเรียนให้เด็กๆ แล้วเห็นว่า ผมทำจริงๆ จึงมาพบ แล้วเล่าให้ฟังว่า ที่หมู่บ้านซองกาเรีย ยังมีเด็ก อีกจำนวนมาก ไม่ได้เรียนหนังสือ เนื่องจากพ่อแม่ ไม่ใช่คนไทย จึงไม่มีบัตร ลูกจึงเข้าเรียนไม่ได้ ผมจึงรับปากจะเข้าไปดู หลังจากนั้น เมื่อผ่านไปสอนหนังสือที่วัดเตาถ่าน จึงได้ไปพบพระและชาวบ้าน ที่วัดซองกาเรีย ท่านเจ้าอาวาสยังพูดกับผมว่า จะเอาจริงหรือโยมชัย ก.ศ.น. (ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนสังขละบุรี) เคยมาสอน สุดท้าย มาสอนไม่นานแล้วก็ทิ้งเด็กๆ ไป ผมรับปากท่านว่า ผมจะทำ และ ถ้าหากทำแล้ว ผมจะไม่ทิ้งเด็กๆ

หลังจากนั้น ผมยังเดินทางเข้าออกหลายรอบ เพื่อสำรวจข้อมูลของเด็ก หาสถานที่ คุยกับหลวงพ่อและชาวบ้าน คิดหาแหล่งเงิน ที่จะมาต่อเติมอาคารที่มีอยู่ ซึ่งหลวงพ่ออนุญาติให้ใช้ แต่ท่านเอง ก็ไม่มีกำลังที่จะทำให้ สุดท้าย มานึกถึงเบอร์โทรฯคุณดวงเดือนที่ให้ผมไว้ ผมเชื่อว่า หลายคนคิดเหมือนกันว่า หากเป็นไปได้ เราอยากเป็นผู้ให้ มากกว่าเป็นผู้ขอ หรือ เป็นผู้รับด้วย การเริ่มต้นของการขอ ต้องมีเหตุผลที่ดี เขาจะอึดอัดใจไหม? เขาจะเดือดร้อนเกินไปไหม? ควรเริ่มต้นพูดอย่างไร? ยิ่งไม่คุ้นเคย เห็นหน้าก็แว๊บเดียว ยิ่งลำบากใจ แต่สุดท้าย ก็ต้องลอง สำเร็จหรือไม่ ค่อยว่ากัน

ในที่สุด จึงได้โทรฯขอความช่วยเหลือจากคุณดวงเดือน ผมยังจำได้หลังจากเรียนให้คุณดวงเดือนทราบแล้ว คุณดวงเดือนให้ผมไปคิดค่าใช้จ่ายมา เมื่อได้แล้ว ให้โทรฯมาแจ้ง แล้วท่านจะช่วย เช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเสร็จจากการสอน ที่วัดเตาถ่าน ผมจึงแวะหาหลวงพ่อที่วัดซองกาเรีย รบกวนให้ท่านช่วยคิดค่าวัสดุก่อสร้าง ค่าแรงงานในการก่อสร้าง เพราะตอนนั้น โรงเรียนมีแต่หลังคาและพื้น จึงต้องทำฝา ใส่หน้าต่าง ประตู ทำพื้นใหม่ รวมเบ็ดเสร็จ ต้องใช้เงินทั้งหมด ๗๐,๐๐๐ บาท จึงกลับมาเรียนคุณดวงเดือน ท่านก็เมตตาโอนเงินให้

ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย ได้รับเงินช่วยค่าอาหารกลางวัน และ เงินค่าตอบแทนครูพี่เลี้ยง จากคุณดวงเดือน นับแต่วันก่อตั้ง จนถึงปัจจุบัน (ปีการศึกษา ๒๕๕๕) นับเป็นเวลา ๘ ปีแล้ว มีเด็กมากกว่า ๔๐๐ ชีวิต ที่เริ่มการศึกษาขั้นพื้นฐาน จากที่นี่ (ท่านที่สนใจ สามารถอ่านประวัติความเป็นมาโดยละเอียดได้ที่นี่ ... ท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่ ศูนย์เด็กเล็กวัดซองกาเรีย ๖ - ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

"...สละวัตถุสิ่งของให้ทาน สละความโกรธความขุ่นเคืองใจในผู้อื่น มีความอดทน ทุกอย่างที่จะบำเพ็ญความดี ทุกอย่าง นี้แหละ เป็นการเติมความดีอยู่เรื่อยๆ อกุศล ไม่มีประโยชน์ มีแต่โทษโดยส่วนเดียว..."

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๐)

"...มีชีวิตเป็นไปตามการสะสม แต่เมื่ออาศัยพระธรรม มีศรัทธา ก็ทำให้ฟังและเข้าใจเพิ่มขึ้น การละเว้นในสิ่งที่ไม่ดี ก็มีเพิ่มขึ้น ตามกำลังของปัญญา กล่าวได้ว่าปัญญาเพิ่มขึ้น ทำให้มีการรักษาศีลได้ดียิ่งขึ้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นกระจกวิเศษที่ส่องให้เห็นกิเลสที่ตนเองได้สะสมมาตามความเป็นจริง แม้จะมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย ใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด แต่ก็ยังเป็นทุกข์ เพราะไม่มีทรัพย์ที่ประเสริฐที่เป็นอริยทรัพย์..."

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๙๙)

"...บุคคลที่สะสมมาดี ก็จะเป็นคนดี มีการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น มีเมตตา ไม่มักโกรธ ฯลฯ ในทางตรงกันข้าม ถ้าสะสมมาไม่ดี ก็จะเป็นคนมักโกรธ ริษยา ตลอดจนมีความไม่ดีประการต่างๆ อีกมากมาย ดีร้าย คล้อยไปตามจิตจริงๆ ถ้าอกุศลเจตสิกเกิดร่วมกับจิต จิตนั้นก็เป็นจิตไม่ดี เป็นอกุศลจิต ทำให้กาย วาจา ไหวไปในทางที่ไม่ดี ถ้ามีโสภณเจตสิก เกิดร่วมกับจิต ก็ปรุงแต่งให้จิตนั้นเป็นจิตที่ดี เป็นกุศลจิต ทำให้กาย วาจา เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร..."

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๑)

...พระธรรม ย้ำแล้วย้ำอีก ว่า แต่ละคนนั้น มีกิเลสมากจริงๆ เพื่อจะได้ไม่ประมาทในการเจริญกุศล ขัดเกลากิเลส เพราะเห็นโทษของกิเลส จึงมีการเจริญกุศลยิ่งขึ้น พระธรรม นั่นแหละ ที่จะทำให้ดีขึ้น

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๙๙ )

...ถ้าไม่มีความเข้าใจจะไปไหน? ก็ไปทางที่ไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นมานานแสนนาน แต่เมื่อเริ่มมีความเข้าใจถูก ก็จะเป็นเหตุให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้นต่อไปได้ ทุกคนเสมอกัน มีตาด้วยกัน และก็เห็นเหมือนกัน แต่ใจต่างกัน เพราะฉะนั้น สำคัญที่ใจ คนที่มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล แต่ใจเดือดร้อน ทุกข์อยู่ที่ไหน ถ้าไม่ใช่เพราะกิเลส

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๐ )

...แต่ละคนก็แต่ละอัธยาศัย เราต้องอยู่ร่วมกับคนมากมายหลายอุปนิสัย แล้วเราจะไป กังวลอะไรกับการที่จะไปแก้ไขคนอื่น? ถ้าเราสามารถจะเข้าใจทุกคนได้ ว่าไม่มีใครเลยที่อยากจะเป็นคนไม่ดี หรืออยากจะโกรธ หรืออยากจะมีกาย วาจา ที่ไม่ดี แต่ทุกอย่างที่เกิด เป็นการสะสม ถ้าเราระลึกถึงธรรมและรู้ความจริง เราก็จะรู้ว่า แท้ที่จริงก็คือ ทั้งหมดจะเป็นมิตรหรือเป็นศัตรู หรือเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏก็เพียงชั่วขณะที่เห็น แล้วก็เกิดความคิดเห็นต่างๆ แล้วแท้ที่จริงก็เป็นแต่เพียงจิต เจตสิก รูปทั้งหมด แล้วก็ใส่ชื่อเข้าไป โลภะเกิดเราก็ใส่ชื่อคนโน้นคนนี้ แต่ความจริงลักษณะของโลภะเกิดกับใครก็เป็นโลภะ ก็ควรที่เห็นโลภะแทนที่จะเห็นคนนั้นคนนี้ มีการกระทำของหลายๆ คน ทางกาย ทางวาจา ซึ่งถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะขุ่นเคือง แต่ถ้ารู้ว่าก็เป็นเพียงจิต เจตสิก รูป ชั่วขณะ แล้วก็ดับหมด ก็คงจะไม่หวั่นไหว...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๓)

...ทุกท่านที่เกิดมาในโลกนี้ ก่อนจะเกิดก็ไม่ทราบว่าจะพบอะไรบ้าง จะกระทำกรรมอะไรบ้าง และกรรมที่ได้กระทำแล้วนี้ จะเป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิในวันใด ในที่ใด หลังจากจุติจากโลกนี้แล้ว ท่านก็ไม่ทราบ เรื่องของการที่จะมีชีวิตเป็นไปนั้น เป็นเรื่องที่ควรจะได้ทราบเหตุและผล แล้วก็สะสมความรู้ในสภาพของชีวิตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อละความไม่รู้ ที่ทำให้ทำกรรมต่างๆ ที่เป็นอกุศลกรรม แล้วก็เป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ทรมานอย่างสาหัสทีเดียว ตราบใดที่ท่านยังไม่ได้ดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) โลภะยังมี โทสะยังมี โมหะยังมี ความริษยายังมี อกุศลธรรมอื่นยังมี วันหนึ่งจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านกระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรม ที่จะทำให้ไปสู่นรกขุมต่างๆ แล้วก็ได้รับความทุกข์ทรมานได้

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๑)

...ประโยชน์ของการเกิดเป็นมนุษย์ ก็คือ ควรที่จะได้ขัดเกลา ละคลายกิเลส ถ้ามีปัญญาแล้ว จะไม่หวั่นเกรงต่อความตายเลย เพราะอย่างไรก็จะต้องตายอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ก่อนตายจึงสำคัญมาก ทำดี หรือ ทำชั่ว? ขอให้ "ฟังพระธรรม" ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ "คิดเอง" ไปเรื่อยๆ

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๒)

...วันที่เราคลอดจากท้องแม่ แม่เจ็บที่สุด ควรอย่างยิ่งที่จะได้รู้ถึงพระคุณของท่าน และตอบแทนพระคุณของท่าน ที่จะตอบแทนพระคุณของท่านได้อย่างแท้จริง คือ ให้ท่านได้มีศรัทธา น้อมไปในทางกุศลธรรม มีปัญญา ยิ่งขึ้น ตอบแทนพระคุณของผู้มีพระคุณ ต้องด้วยคุณความดีเท่านั้น ไม่ใช่ตอบแทนด้วยการกระทำชั่ว กระทำในสิ่งที่ผิด...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๔)

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่มที่ ๒๔ - หน้าที่ ๓๐๐

๓. วิตตสูตร *

[๒๐๒] เทวดาทูลถามว่า อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอที่บุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ อะไรหนอ เป็นรสดีกว่าบรรดารสทั้งหลาย คนมีชีวิตเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ.

[๒๐๓] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า ศรัทธา เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างประเสริฐของคนในโลกนี้ ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความจริงเท่านั้นเป็นรสที่ดียิ่งกว่ารสทั้งหลาย คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ.

...ถ้าเห็นว่า "พระพุทธศาสนา ดี ควรศึกษา" ผู้นั้นก็จะต้องศึกษาด้วย ไม่ใช่อยากให้คนอื่นศึกษา แต่ตนเองไม่ศึกษา โดยเฉพาะอยากให้เด็กศึกษา แต่ผู้ใหญ่กลับไม่ศึกษา ถ้าผู้ใหญ่ไม่ศึกษา แล้วเด็กจะศึกษาจากใครล่ะ ตอนเป็นเด็ก อยู่ไม่สุข ก็เพียงเพราะเล่นซุกซน แต่พอโตมา อยู่ไม่สุขเป็นอย่างมาก มากกว่าเด็กเสียอีก ปัญหาสารพัด เพราะกิเลสที่เกิดขึ้น...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕)

...ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ทุกคนก็จะต้องรู้ความจริงว่า วันหนึ่งก็ต้องตาย เหมือนคนอื่นๆ ซึ่งตายไปแล้ว เพียงแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น แต่ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ควรที่จะได้พิจารณาว่า วันที่จะจากโลกนี้ไป จะจากไปด้วยปัญญา ที่ได้อบรมจนกระทั่งเจริญขึ้น หรือว่าจะจากไปโดยที่ว่า ไม่สนใจที่จะมีการอบรม เจริญปัญญา

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๕ )

...ถ้าใครเป็นผู้มักโกรธ ขุ่นเคืองใจไม่พอใจบุคคลอื่นง่ายๆ หรือว่าไม่ลืมซึ่งความโกรธ ความขุ่นเคืองนั้น ก็ควรที่จะระลึกรู้ความจริงว่าพบกันเพียงชาตินี้ชาติเดียวจริงๆ แล้วจะไม่พบกันอีกเลย เพราะฉะนั้นควรจะดีต่อกัน มีเมตตากัน หรือว่าควรจะโกรธกัน? เพราะว่าการเห็นกันครั้งหนึ่งๆ ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ว่าจะเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้ายหรือไม่? เพราะถ้าคิดว่าอาจเป็นการเห็นกันครั้งสุดท้าย ก็อาจจะทำให้จิตใจอ่อนโยน แล้วมีความเมตตากรุณาต่อกัน

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๖)

...แต่ละท่านก็ลองพิจารณาตนเอง จะคิด จะพูด จะทำ จะชอบจะไม่ชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่เฉพาะชาตินี้ ชาติเดียว แต่ว่าต้องเคยคิด เคยทำ เคยพูด เคยชอบ เคยไม่ชอบ อย่างนั้นๆ มาแล้วในอดีต จนกระทั่งเป็นปัจจัยทำให้เกิด "คิด" หรือ "พูด" หรือ "ทำ" ให้ขณะนี้เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าจะด้วยกุศลจิต หรือ อกุศลจิตประเภทใดๆ ก็ตาม...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๗)

...กุศลขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นความสงบของจิต และปัญญา จะเจริญขึ้นได้ ก็เพราะ มี ธรรมทาน ทรัพย์ของท่านทั้งหมดที่มีอยู่กับ ปัญญา ทรัพย์อะไรจะประเสริฐกว่ากัน? สำหรับผู้ที่เห็นค่าของปัญญาแล้ว ก็ย่อมเห็นว่า ปัญญานั้น ประเสริฐกว่าทรัพย์ทั้งหมด...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๘)

...บุญ หมายความถึง กุศลธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป อย่างที่ท่านทำบุญเมื่อวานนี้ ก็เป็นเมื่อวานนี้ ทำไปแล้ว เสร็จไปแล้ว จิตที่ทำบุญเป็นกุศลจิตก็ดับไปแล้ว แล้วจิตอื่นก็เกิดสืบต่อมากมาย แต่ว่าจิตที่เป็นเหตุที่เป็นเจตนาที่จะสละวัตถุให้เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น เป็นกุศลเจตนา เป็นเหตุ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตภายหลังเกิดต่อ เป็นจิตที่ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้รู้โผฏฐัพพะต่างๆ ที่ดี

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๐๙)

...ถ้าท่านคบหาสมาคมกับคนดี ท่านก็ย่อมมีผู้ที่ชักนำ ชักจูง ให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่คบหาสมาคมกับผู้ที่มีความประพฤติชั่ว ท่านก็ย่อมจะถูกชักจูง โน้มเอียงไปในทางชั่ว ทีละเล็ก ทีละน้อย ฉันใด แม้ความเห็น ที่จะถูก หรือจะผิด ก็ขึ้นอยู่กับการคบหาสมาคม เช่นเดียวกัน ถ้าท่านคบหาสมาคมกับคนเห็นผิด โน้มเอียงไปในทางความเห็นผิด ขาดการพิจารณา ไตร่ตรองโดยแยบคาย ท่านก็ย่อมจะคล้อยตาม โน้มเอียงไปในความเห็นผิดนั้น แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่คบหาสมาคมกับผู้ที่มีความเห็นถูก ท่านก็จะได้รับการชักจูงโน้มเอียงไปในการที่จะเป็นผู้ละเอียด และเป็นผู้ที่พิจารณาคล้อยตามคลองของธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นความเห็นถูกด้วย สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นความเห็นถูกนั้น ย่อมต้องอาศัยปัจจัย คือ ความได้สดับแต่บุคคลอื่นด้วย แล้วก็การพิจารณาโดยแยบคายของตนเองด้วย

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๐)

...บางคนอาจจะเห็นว่า สัตว์บางชนิดสบายมาก ไม่ต้องทำการงาน ไม่ต้องเดือดร้อนหลายอย่าง หลายประการ แต่ให้เลือกจะเป็นอย่างไหน? จะเป็นมนุษย์ แม้ว่าจะประสบความทุกข์ยากต่างๆ สักเพียงไรก็ตาม แต่ยังมีการฟังธรรมได้เข้าใจได้ พิจารณาเหตุผลได้ เจริญอบรมกุศล จนกระทั่งอาจจะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๑)

...ถ้าตราบใดยังไม่ประจักษ์ในลักษณะของสภาพธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรม จะมีความเห็นผิดเกิดมากมายหลายประการ เนื่องมาจากการไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง นอกจากนั้นจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่มีแต่ความเห็นผิดเท่านั้น กิเลสอื่นที่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น เมื่อได้ปัจจัยควรแก่กิเลสนั้นๆ ก็เกิด ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือวาจา หรือใจ ก็ย่อมประกอบไปด้วยกิเลสนานาประการ...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๒)

...ทำไมถึงจะต้องพรรณนาคุณความดีของตนเอง เพื่ออะไร? ขณะที่พร่ำรำพันถึงคุณความดีของตนเอง ไม่รู้หรอกว่า ขณะนั้นจิตใจเป็นอะไร ผูกพันในตัวตน แล้วก็ปรารถนาที่จะให้ตัวเองนั้น เป็นที่รักของบุคคลอื่น ขณะใดที่พรรณนาถึงความห่วงใย ความหวังดี ความผูกพันของตนเองที่มีต่อบุคคลอื่น มุ่งประสงค์ที่จะให้บุคคลอื่นเห็น แล้วตนเองก็จะเป็นที่รัก ขณะนั้นก็ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นกิเลสหรือเปล่า?..

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๓)

...ไม่มีมิตรแท้ สำหรับผู้ที่มีปิสุณาวาจา (วาจาส่อเสียด) มีเจตนาที่จะ มุ่งทำลายบุคคลอื่น เพราะฉะนั้น ผลของกรรมที่เป็นวาจาส่อเสียด มุ่งทำลายผู้อื่นนั้น อย่างเบาที่สุด ก็จะทำให้เป็นผู้ที่แตกจากมิตร...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๓)

...บุคคลผู้ที่ฉลาด ย่อมหากุศลของคนอื่น เพื่อจะได้อนุโมทนา (ยินดีในกุศลที่ผู้อื่นได้กระทำ) และหาโทษของตนเองเพื่อจะได้ขัดเกลา แต่ถ้าเป็นผู้ไม่ฉลาด ก็จะตรงกันข้ามกัน คือ หากุศลของตนเอง และหาโทษของบุคคลอื่น ขณะที่หาโทษของบุคคลอื่น อกุศลก็เกิดขึ้น ขณะที่หากุศลของตนเอง ขณะนั้น ก็อาจจะเกิดความทะนงตน ความสำคัญตนได้ ซึ่งเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่ฉลาดจริงๆ ย่อมหาโทษของตนเอง ว่ามีโทษอะไรบ้าง ที่คนอื่นอาจจะไม่เห็น อาจจะไม่รู้ ตนเองเท่านั้นที่จะรู้ดี และในขณะเดียวกัน ที่มีการเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่น ก็หากุศลของคนอื่น เพื่อจะได้อนุโมทนา ถ้าเป็นอย่างนี้ทุกวันๆ กุศลจิตย่อมเจริญ...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๓)

...เห็นกำลังของกิเลสไหม? ความดีแท้ๆ ของคนอื่น สรรเสริญไม่ได้ กล่าวไม่ได้ กิเลสอกุศลทำให้ปกปิดความดีของคนอื่น แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของคนอื่น จะกล่าวอะไรถึงไม่ถูกถาม แม้ถูกถามก็ไม่เปิดเผยความดีของผู้อื่นตระหนี่จริงๆ ในการที่จะสรรเสริญความดีของบุคคลอื่น ขณะนั้นต้องเป็นกิเลส อกุศลแน่นอน เป็นลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งสะสมมา มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นอย่างนั้น ในขณะนั้น ขัดขวางไว้ เหมือนกับความตระหนี่ บางทีตั้งอกตั้งใจว่าจะให้ ถึงเวลาจริงๆ ทำไมไม่ให้ เกิดขึ้นแล้วความตระหนี่สะสมมาแล้วที่จะเกิดก็เกิด...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๔)

...ความเสียหายของคนอื่น เขาอยากจะให้คนอื่นรู้ไหม? ไม่อยาก น่าเห็นใจไหม? เมื่อเห็นใจในการกระทำที่พลั้งพลาด ในความพลั้งพลาดของบุคคลนั้น ก็ไม่ควรที่จะให้ล่วงรู้ถึงบุคคลอื่น แต่ว่าควรที่จะได้ช่วยให้เขาเห็นว่า ควรที่จะประพฤติในสิ่งที่ถูก ในสิ่งที่ควรอย่างไร แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความเสียหายของบุคคลนั้นให้คนอื่นรู้ ถ้าเป็นอย่างนี้ ขณะนั้นก็เป็นความเมตตา เป็นความกรุณา เป็นความเห็นใจ เป็นกุศลจิตในขณะนั้น...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๔)

...ในแต่ละวัน กุศลจิตเกิดน้อยมาก เทียบส่วนกับอกุศลจิตไม่ได้เลย ยิ่งถ้ามีความประมาทในชีวิตแล้ว ก็ยิ่งจะเกื้อหนุนต่อการที่จะทำให้อกุศลเกิดเพิ่มมากขึ้นไปอีก แต่ละคนเหลือเวลากันอีกไม่มากแล้วที่จะมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เพราะชีวิตสั้นมากจริงๆ ...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๔)

...การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก ไม่ยั่งยืนเลย เป็นที่พักชั่วคราวจริงๆ เกิดมาในแต่ภพแต่ละชาติ ก็ต้องสิ้นสุดที่ความตายทั้งนั้น พักเพียงชั่วคราว แล้วก็ต้องไปต่อ ยังต้องเดินทางต่อไปในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดอยู่ร่ำไป ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม นั่นเอง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรม เท่านั้น...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๔)

...ถ้าไม่มีความติดข้องต้องการจะสบายมากเลยทีเดียว ลองคิดดูว่า วันนี้อยากจะรับประทานอะไรแล้วสิ่งนั้นไม่มี เดือดร้อนไหม? นี่แหละ เป็นเพราะความติดข้องต้องการ เพราะติดข้องแล้ว เมื่อไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ ก็เป็นทุกข์ เดือดร้อน...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๕ )

...บางท่านอาจจะเห็นว่าการช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ดี มีความเข้าใจถูก ว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ในขณะที่ควรจะทำ กลับไม่ทำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะขณะนั้นอกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำ ไม่สามารถที่จะกระทำแม้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ที่ควรสงเคราะห์ได้ การพิจารณาอย่างแยบคาย ก็ย่อมจะเห็นคุณของกุศลธรรม และเห็นโทษของอกุศลธรรมที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ต่อไปด้วยการละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ซึ่งก็ย่อมจะเป็นไปทั้งในชาตินี้ และต่อๆ ไปในชาติหน้าด้วย ถ้าเริ่มเจริญกุศลตั้งแต่ในชาตินี้...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๖)

...วันหนึ่งๆ ทุกท่านก็แสวงหาความเพลิดเพลินยินดี ไม่ว่าจะเป็นความเพลิดเพลินยินดีในธิดา ในบุตร ในทรัพย์ ในการเล่น ในการฟ้อน การขับประโคมดนตรีต่างๆ แต่ว่าความยินดีนั้นๆ ทั้งหมด ยังสัตว์ให้ตกไปในสังสารวัฏฏ์ แล้วเสวยทุกข์โดยแท้ ต่างกับความยินดีของผู้แสดงธรรมก็ดี ผู้ฟังธรรมก็ดี ผู้กล่าวสอนธรรมก็ดี ความยินดีในธรรมเห็นปานนี้แหละ ประเสริฐกว่าความยินดีทั้งปวง...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม... ครั้งที่ ๑๑๗)

...ถ้าหากว่าในแต่ละวัน ชีวิตเต็มไปด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน ยินดี ติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมทำให้เป็นผู้เหินห่างจากการฟังพระธรรม ไม่ได้ไตร่ตรองพิจารณาถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง ตัณหา หรือโลภะ จึงเป็นธรรมเครื่องเนิ่นช้า ทำให้ปัญญาไม่เจริญขึ้น หรือ แม้แต่ผู้ได้ยินได้ฟังพระธรรม มาบ้าง แต่เป็นผู้มีความหวัง มีความต้องการที่จะให้ได้ผลโดยเร็วจากการศึกษาพระธรรม อยากให้สติเกิด อยากให้ปัญญาเกิด นี่ก็เป็นเครื่องเนิ่นช้าด้วยเช่นกัน เพราะความอยาก ความต้องการ เป็นอกุศลธรรม

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๑๘)

...ไม่มีเราเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ใครก็ตามซึ่งเป็นคนหมกมุ่นในการนอนสบาย นอนเพลิน ก็ย่อมไม่กระทำหน้าที่ของตนให้ถูกต้องตามควรที่จะกระทำอย่างนั้น ก็ย่อมจะไม่เป็นที่รักที่ชอบใจของใคร นับว่าเป็นการดี ถ้าหากว่ามีโอกาสได้ทำหรือมีชีวิตอยู่จนกระทั่งได้ทำกุศลตามที่ตั้งใจเอาไว้แต่ทีแรก แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่เจริญกุศลทุกครั้งที่มีโอกาสหรือมีทางที่จะกระทำได้ มัวแต่รอวันคืนที่จะทำกุศลที่ตนปรารถนาไว้เท่านั้น ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำกุศลที่จะรอคอยว่าจะทำนั้น ก็ได้

...อย่าคิดว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นของง่าย เพียงในชาตินี้ชาติเดียว ถ้าดูชีวิตของพระสาวกที่ท่านรู้แจ้งอริยสัจธรรมมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ท่านอบรมปัญญาและการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นกัปป์ๆ นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ครั้งสมัยของพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ หลายพระองค์ กว่าที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ผิดจากการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในขณะนี้...

...ไม่ควรจะลืมเลยว่า ต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน แล้ววันไหนก็ไม่ทราบด้วย แต่ว่าโดยมากทุกท่านหลงชีวิต แล้วก็ลืมเสียจริงๆ ว่าจะต้องสิ้นชีวิต ไม่ได้คิดถึงเลยว่าจะต้องจากโลกนี้ไป เดี๋ยวก็หลงไปตามรูปชั่วครู่หนึ่ง เดี๋ยวก็หลงไปตามเสียงยังไม่ทันไรก็หลงไปตามกลิ่น หลงไปตามรส หลงไปตามโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ลืมความจริงข้อนี้ คือ ไม่ลืมความจริงว่าจะต้องตายแล้ว ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านเจริญกุศลทุกประการ...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๔)

...สาวกในครั้งอดีต เมื่อฟังพระธรรมแล้ว ก็อยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ ด้วยการมีชีวิตอยู่ด้วยการฟังธรรมปฏิบัติธรรม ถ้าเป็นชีวิตที่อยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ย่อมจะศึกษาฟังธรรม และประพฤติปฏิบัติธรรม โดยการเป็นผู้ที่เข้าใจในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วระลึกศึกษาเพื่อรู้ชัดในสภาพธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง...

(คัดจาก ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๗)

...การที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ว่า ธรรมใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ก็จะไม่พ้นไปจากความเห็นผิด หรือมงคลตื่นข่าว ซึ่งถ้ามีความสนใจนิดหนึ่ง ก็จะพาไปสู่ความสนใจและความขวนขวายยิ่งขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย จนในที่สุดก็จะไม่แสวงหาพระธรรมที่แท้จริง และจะไม่พิจารณาเหตุผลโดยละเอียด...

(คัดจาก ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๘)

...ในความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคน มีคนโน้นบ้าง คนนี้บ้างมากมายเหลือเกิน มิตรสหายเพื่อนฝูง วงศาคณาญาติ แต่สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปัญญาจะต้องรู้ คือ หามีไม่สักคนเดียว คนอื่นก็ไม่มี แม้แต่ตัวท่านเองก็ไม่มี เพราะเหตุว่าเป็นเพียงสภาพธรรมของจิตที่คิดเท่านั้นเอง...

(คัดจาก ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๘)

...ตราบใดที่ท่านเป็นผู้ไม่ตรง คือ เอียงๆ อยู่เรื่อยๆ จะตรงได้อย่างไรต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า แม้อกุศลธรรมเกิดขึ้น ก็ไม่เห็น ก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ยิ่งกระทำกรรม สะสมอกุศลธรรมคือความเอียงนั้นมากขึ้น ... ธรรมไม่ใช่อยู่ที่อื่น เพราะเหตุว่าบางท่านเข้าใจว่า ชีวิตประจำวันไม่ควรจะเป็นสภาพธรรม นั่นหมายความว่า ท่านไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ว่าแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เป็นสภาพธรรม ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมอื่นเลย ขณะนี้ เดี๋ยวนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ!!!

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๙)

...ถ้าไม่เจริญกุศลทุกประการเป็นเครื่องประกอบแล้ว ก็ย่อมยากแก่การที่จะดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่าถ้ากุศลไม่เกิด อกุศลก็ย่อมเกิดสะสมเพิ่มขึ้น การที่จะดับกิเลสเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ยากขึ้น...

(คัดจาก ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๓๐)

...ฟังพระธรรม แต่ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้ง ก็ใช้คำว่า ฟังไว้ก่อน เก็บไว้ก่อน สะสมไว้ในใจ เหมือนเราที่จะซื้อสิ่งที่แสนประเสริฐ หายาก แล้วไม่มีทุนทรัพย์ แม้สักนิดเดียว จะไปได้สิ่งนั้นก็ไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ปัญญาที่สามารถจะรู้แจ้งความจริง มากมายมหาศาลในความประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด แล้วถ้าเรามีความเข้าใจทีละเล็ก ทีละน้อย ที่เหมือนกับการฟังไว้ก่อน เก็บไว้จนมากๆ ถึงเวลาก็สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ จะไปมุ่งหวังที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในทันที เป็นไปไม่ได้...

...เพราะฉะนั้น ฟังไว้ เพื่อเข้าใจไว้ เพื่อเก็บไว้ จนกว่าจิตจะน้อมไปสู่ทุกคำที่ได้ฟัง กว่าจะถึงเวลาทุกคำที่ได้ฟัง ก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาต่อไปอีก เป็นผู้ที่ตรง ก็จะไม่เชื่อคำของคนอื่น ที่ไม่เป็นคำจริง ไม่ใช่คำที่มาจากการรู้แจ้งความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ...

(คัดจาก ปันธรรม-ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๑๒๘)

...ทำดี และ ศึกษาพระธรรม...

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม (คุณยายดวงเดือน ของเด็กๆ)

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 1 มี.ค. 2559

ขอกราบขอบพระคุณ และขอร่วมอนุโมทนาในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wirat.k
วันที่ 2 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 2 มี.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของพี่วันชัย ภู่งามเป็นอย่างยิ่ง

และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 2 มี.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ผ้าเช็ดธุลี
วันที่ 2 มี.ค. 2559

กราบอนุโมทนา ในกุศลธรรมท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านอาจารย์ดวงเดือน และ ผู้หมั่นในการเจริญกุศล ทุกท่านครับ

กราบขอบพระคุณ ในเมตตาปันภาพ กะ บรรยายเหตุ เพื่อการอนุโทนา ยิ่งๆ ครับ สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Noparat
วันที่ 3 มี.ค. 2559

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม ที่เคารพยิ่ง

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณวันชัย ภู่งาม และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
สุปรีชา
วันที่ 4 มี.ค. 2559

อนุโมทนาครับ/อยากร่วมทีมไปทำกุศลด้วยจังครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 4 มี.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Tommy9
วันที่ 5 มี.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Guest
วันที่ 8 มี.ค. 2559

กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม น้อมกราบเท้าท่านทั้งสอง ด้วยความเคารพยิ่งครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 11 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ